การเล่นกับลูก 5 ปีแรก รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่เรื่องไร้สาระและเสียเวลาเลยสักนิด แต่เป็นการส่งเสริมพัฒนาการวัยทารก ทั้งพัฒนาการ 5 ด้าน เพราะเด็กเล็กจะสามารถเรียนรู้ผ่านการเล่นได้ดี โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก 5 ปีแรก ซึ่งเป็นวัยที่มีพัฒนาการเด็กอย่างรวดเร็วทั้งด้านสมอง การใช้ภาษา ทักษะทางสังคม ทางอารมณ์ และการเคลื่อนไหว ดังนั้น นอกจากเลือกของเล่นของทารกที่ช่วยเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัยแล้ว ผู้ปกครองควรหันมาใส่ใจเล่นกับลูกให้มากขึ้นด้วยนะคะ โดยเฉพาะกับวัยทารก ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่สามารถรู้ความมากนัก แต่การที่ทารกได้ร่วมเล่นกับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดู นอกจากได้ความสนุก ยังสร้างความผูกพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก และเป็นกุญแจสำคัญนำไปสู่การส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้านอีกด้วยค่ะ

พัฒนาการ 5 ด้าน มีอะไรบ้าง

เรามาดูกันว่าการเล่นกับลูกช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้านอย่างไร และพัฒนการ 5 ด้านประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

1.พัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ คือการที่เด็กมีการแสดงออกและควบคุมอารมณ์ได้เหมาะสมตามวัย รวมถึงสามารถสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ

2.พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร คือการที่เด็กเข้าใจในคำถาม คำสั่ง หรือเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นกำลังสื่อสาร และเด็กสามารถโต้ตอบได้ทั้งในการใช้ท่าทาง การพูด เพื่ออธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ

3.พัฒนาการด้านความคิด การเรียนรู้ ทักษะการแก้ปัญหา คือการที่เด็กมีพัฒนาการด้านสติปัญญา มีความสามารถในการเรียนรู้ การลงมือทำ ตลอดจนสามารถคิดแก้ไขปัญหา มีความคิดสร้างสรรค์ และรู้จักคิดอย่างมีเหตุมีผล

4.พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก คือความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ในการใช้หยิบจับสิ่งของอย่างสมดุล เช่น สามารถจับช้อนซ้อมรับประทานอาหารได้ จับดินสอสีขีดเขียนได้

5.พัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือการที่เด็กสามารถใช้กล้ามเนื้อบริเวณลำตัว แขน ขา ให้ทรงตัวและเคลื่อนไหวได้ดี เช่น คลาน เดิน และวิ่งได้อย่างมั่นคง คล่องแคล่ว

ผู้ปกครองจะเห็นได้ว่าพัฒนาการ 5 ด้านที่กล่าวมาล้วนสำคัญต่อพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็กและจำเป็นในการต่อยอดการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ในอนาคต ซึ่งการส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้าน ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมพัฒนาการวัยทารกผ่านการเล่นกับลูกได้ตั้งแต่ลูกยังเป็นวัยทารกได้เลยที่บ้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เสียเงินทอง เพียงแค่ใช้เวลาทุ่มเทและใส่ใจในการเล่นกับลูกมากขึ้นเท่านั้นเองค่ะ 

ไอเดียกิจกรรมเล่นกับลูกวัย 2 เดือน-1 ขวบ ช่วยในการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

การเล่นกับลูกจะเกิดผลลัพธ์ของพัฒนาการแต่ละช่วงวัยได้ ก่อนอื่นผู้ปกครองควรเข้าใจพัฒนาการตามวัยต่างๆ ของเด็กวัย 2 เดือน-1 ขวบ เพราะทักษะการเล่นจะสอดคล้องกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัย ซึ่งพัฒนาการตามวัยต่างๆ ของทารกมีความแตกต่างกันออกไป จึงควรเลือกกิจกรรมเล่นกับลูกที่เหมาะกับพัฒนาการตามวัยต่างๆ จึงจะทำให้เด็กไม่เครียด เล่นได้อย่างสนุก เข้าใจการเล่น ดังนั้นมาดูกันว่ากิจกรรมที่ใช้เล่นกับลูก นอกจากได้ความสนุกแล้ว ยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการวัยทารกอีกด้วย จะมีกิจกรรมอะไรกันบ้าง ตามมาดูกันได้เลยค่ะ อย่าลืมจดลิสต์ไปร่วมเล่นกับลูกๆ ที่บ้านกันนะคะ

กิจกรรมเล่นกับลูกวัย 2-3 เดือน

พัฒนาการเด็ก 2 เดือน-3 เดือน เริ่มมีปฏิกิริยากับเสียงที่ได้ยิน โดยการหันมองตามเสียง มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหว เริ่มจ้องมองหน้าผู้ปกครอง นอกจากนี้เขาจะเริ่มขยับแขนขาได้มากขึ้น ยกคอขณะคว่ำได้แล้วนะคะ ดังนั้น ขอแนะนำกิจกรรมเล่นกับลูก เพื่อกระตุ้นให้เด็กรู้จักมองตามเสียง มองสิ่งของรอบตัว ดังนี้เลยค่ะ

“กรุ๊งกริ๊งเสียงนี้มาจากไหน”

เล่นกับลูกโดยการเขย่าสิ่งของที่มีสีสันสดใส เช่น กรุ๊งกริ๊ง โดยเขย่าขึ้น-ลงใกล้หน้าลูกในระดับสายตา เพื่อกระตุ้นให้เด็กหันมองตามเสียง ก่อนเล่นกับลูกผู้ปกครองอย่าลืมจับน้องนอนคว่ำด้วยนะคะ เพราะวิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกยกศีรษะขึ้นจากการเล่นกับพ่อแม่ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กแต่ละเดือนด้านการเคลื่อนไหว ช่วยให้กล้ามเนื้อคอแข็งแรง และเป็นการฝึกการได้ยินของลูกอีกด้วยค่ะ นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะเล่นกับลูกด้วยการพูดคุย พร้อมสบตา หยอกล้อกับเด็กจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ได้ดีอีกด้วยค่ะ

กิจกรรมเล่นกับลูกวัย 4-5 เดือน

พัฒนาการเด็ก 4 เดือน-5 เดือน พัฒนาการเด็กแต่ละเดือนในช่วงวัยนี้ เด็กจะเริ่มพลิกคว่ำได้ เป่าน้ำลาย เอามือเข้าปาก พยายามเอื้อมมือไขว่คว้าของมาเล่น ตอบสนองต่อความรู้สึกของตนเองให้ผู้อื่นรับรู้ เช่น ยิ้มหรือขมวดคิ้ว ดังนั้น ขอเสนอไอเดียในการเล่นกับทารกวัยนี้ ดังนี้เลยค่ะ

“จ๊ะเอ๋ ใครอยู่หลังผ้า”

การเล่นจ๊ะเอ๋กับลูก อาจเป็นกิจกรรมที่ดูจะแสนธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่า เป็นตัวช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ได้ดีเลยค่ะ ช่วยให้ลูกรู้จักการตอบสนองความรู้สึก แถมเด็กได้ความสนุก ยิ้ม หัวเราะ อารมณ์ดี ซึ่งวิธีการเล่นก็แสนจะง่ายมากๆ เลยค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่หาอุปกรณ์ตัวช่วยเป็นผ้าอ้อมผืนเล็กๆ ที่บังใบหน้าเราได้ หรือจะใช้มือ 2 ข้างของเราเองก็ได้เช่นกันค่ะ จากนั้นเริ่มเล่นจ๊ะเอ๋กับลูกได้เลย โดยการเอามือหรือผ้าบังใบหน้า แล้วเคลื่อนผ้าหรือมือลงให้เห็นใบหน้าเรา พร้อมพูดว่า “จ๊ะเอ๋” เพื่อให้เด็กสนใจมอง โดยทำซ้ำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เลยค่ะ

กิจกรรมเล่นกับลูกวัย 6-8 เดือน

พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พัฒนาการทารก 8 เดือน จะเริ่มมีพัฒนาการด้านต่างๆ ที่มากขึ้นเลยทีเดียวค่ะ เช่น หันหน้าตามเสียงเรียกชื่อ นั่งทรงตัวได้เอง แต่ยังไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไหร่ และเริ่มเคลื่อนที่ไปด้านหน้าได้ คว้าของโดยใช้มือเดียวได้ เริ่มได้ยินเสียงต่างๆ รอบตัวชัดมากขึ้น และมีการส่งเสียงเรียกผู้เลี้ยงดูเมื่อเดินผ่านหน้าเขา นอกจากนี้ก็มักจะแสดงท่าทางต้องการให้อุ้ม ดังนั้น ขอเสนอไอเดียเล่นกับลูกน้อยของเราดังนี้เลยค่ะ

“กระดึ๊บ กระดึ๊บ เข้ามาอีกนิด”

คุณพ่อคุณแม่จับลูกนอนคว่ำ หรือพยายามให้ลูกพลิกตัวนอนคว่ำ แล้วหาของเล่นของทารกสีสันสดใสมาวางไว้ด้านหน้าบนพื้น เพื่อหลอกล่อเด็กให้สนใจ โดยวางสิ่งของให้ไกลเกินเอื้อมถึง พร้อมเรียกชื่อลูก โดยคุณพ่อคุณแม่เรียกอยู่ด้านหน้า เพื่อให้เด็กได้ยินเสียงเรียกชื่อ แล้วพยายามกระดึ๊บๆ ไปคว้าสิ่งของที่อยู่ด้านหน้าจนได้ กิจกรรมนี้จะช่วยฝึกการได้ยิน การเข้าสังคม และส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่อีกด้วยค่ะ  

กิจกรรมเล่นกับลูกวัย 9-11 เดือน

พัฒนาการเด็ก 9 เดือน -11 เดือน เด็กเล็กวัยนี้จะเริ่มคลาน ชอบรื้อค้นของ มองหาของที่ถูกซ่อน ชอบเลียนแบบเสียงและท่าทางของผู้อื่น แสดงอารมณ์ดีใจและโกรธเมื่อถูกขัดใจเป็น ดังนั้น เราขอเสนอไอเดียเล่นกับลูกวัยนี้ เพื่อฝึกลูกให้เป็นนักสังเกต ดังนี้เลยค่ะ

“เล่นซ่อนของ มองให้เห็น”

คุณพ่อคุณแม่อาจจะหาของเล่นของทารกที่เป็นตุ๊กตายาง ลูกบอลนิ่มๆ ซ่อนไว้ในกล่อง โดยชี้ให้ลูกเห็นว่าเราหย่อนของลงในกล่องนี้นะ เพื่อให้เขาสนใจตามหาหรือค้นหาสิ่งของที่เราหย่อนลงไป จะช่วยฝึกให้เขาเป็นคนช่างสังเกต สงสัย จดจำสิ่งต่างๆ รอบตัวได้ค่ะ และยังช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิด การแก้ปัญหาได้ดีอีกด้วยค่ะ รับรองว่าลูกเราอาจเป็นนักสังเกต นักสำรวจตัวยงเมื่อโตขึ้นเลยค่ะ

กิจกรรมเล่นกับลูกวัย 1-1.5 ปี

พัฒนาการเด็ก 1-1.5 ปี จะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดด เพราะเด็กๆ เริ่มโตกันแล้วค่ะ โดยจะมีพัฒนาการตามวัย เช่น ชอบยืนขึ้นเองบ่อยๆ เริ่มจะก้าวเดิน และออกเสียงคำที่มีความหมาย รู้จักส่ายหัว โบกมือบ๊ายบาย ส่งจูบ และขยับมือรำตามเสียงเพลงได้ ดังนั้น ขอเสนอไอเดียเล่นกับลูกวัยนี้ดังนี้เลยค่ะ

“ขยับมือรำตามเสียงเพลง”

คุณพ่อคุณแม่อาจจะเปิดเพลงหรือร้องเพลงที่มีจังหวะที่กระตุ้นให้ลูกร้องตามได้หรือขยับมือตามเป็นจังหวะได้ เช่น “จับปูดำ ขยำปูนา” โดยทำท่าทางประกอบเพลงเป็นตัวอย่างให้ลูก ให้ลูกเลียนแบบท่าทาง หรือทำไปพร้อมๆ กับลูก และช่วยเคาะจังหวะ จะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการทางด้านภาษา และมีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง ได้ฝึกการทรงตัว มีความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย

เห็นไหมคะว่า กิจกรรมบางอย่างไม่จำเป็นต้องใช้สิ่งของราคาแพงเลยค่ะ ขอแค่เวลาจากคุณพ่อคุณแม่ เพียงแค่นี้ก็สามารถส่งเสริมพัฒนาการตามวัยต่างๆ ของลูกน้อยผ่านการเล่นหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำที่บ้านได้เลยค่ะ  โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเข้าคอร์สส่งเสริมพัฒนาการราคาแพงๆ เลยค่ะ เพราะอย่าลืมว่าพ่อแม่คือของเล่นของทารกที่ดีที่สุดนะคะ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัย 1-6 ปี ไม่ต้องน้อยใจไปนะคะ เดี๋ยวครั้งหน้าเราจะพาไปหาไอเดียเล่นกับลูกวัย 1-6 ปีกันค่ะแม่ๆ