การเล่นกับลูกถือเป็นการส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย (เด็กแรกเกิด-6 ปี) มีพัฒนาการ 5 ด้าน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านควรทำ เพราะเป็นพื้นฐานของเด็กเล็กใช้ต่อยอดในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้ดีเมื่อถึงวัยที่เขาเติบโตขึ้น โดยครั้งที่แล้วเราได้นำเสนอการส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้านด้วยวิธีเล่นกับลูกวัย 2 เดือน-1 ขวบ ไปแล้ว ครั้งนี้เราได้นำทริคเล่นกับลูกวัย 1-6 ขวบ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้านของเด็กปฐมวัย และช่วยพัฒนาทักษะ EF (executive function) ซึ่งปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญกับเด็กเล็กไม่แพ้กับพัฒนาการ 5 ด้านเลยค่ะ โดยเฉพาะกับเด็กเล็กวัย 3-6 ขวบ มีงานวิจัยพบว่า เป็นช่วงที่สมองเด็กสามารถพัฒนาทักษะ EF ได้ดีกว่าช่วงวัยเรียน จนถึงวัยผู้ใหญ่

พัฒนาการ 5 ด้านจำเป็นแค่ไหน

การส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้าน เป็นการส่งเสริมพัฒนาการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนเลยก็ว่าได้ เพราะหากเด็กมีพัฒนาการครบทั้ง 5 ด้าน จะช่วยให้เด็กสร้างความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดี ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนๆ และเขาสามารถพูดสื่อสารได้ เข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด มีพัฒนาการด้านสติปัญญา คิด แก้ปัญหา มีเหตุผล และสิ่งสำคัญคือมีกล้ามเนื้อที่ช่วยเคลื่อนไหวร่างกายได้แข็งแรงไม่บกพร่อง เช่น การจับปากกา ดินสอ คลาน ยืน เดิน วิ่งได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ด้านอื่นๆ ต่อไป

ดังนั้น การเฝ้าดูหรือคอยประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้ง 5 ด้านอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทุกบ้านควรทำ เพราะจะช่วยให้สังเกตเห็นพัฒนาการช้าของเด็กได้ตั้งแต่เนิ่นๆ รู้ว่าเด็กมีพัฒนาการตามวัยต่างๆ หรือไม่ หรือเด็กพัฒนาการช้ากว่าเพื่อนๆ วัยเดียวกัน และหากพบว่าเด็กพัฒนาการช้าได้เร็วเท่าไหร่ ย่อมแก้ไขหรือหาวิธีช่วยกระตุ้นพัฒนาการได้เร็วเช่นกัน ซึ่งดีต่อตัวเด็ก

สำหรับผู้ปกครองที่กังวลกับการประเมินพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของลูก ไม่แน่ใจว่าพฤติกรรมหรืออาการที่เด็กแสดงออกมาเป็นไปตามพัฒนาการเด็กปฐมวัยหรือเด็กพัฒนาการช้าหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่สามารถเช็กพัฒนาการเด็ก 5 ด้าน ผ่าน Milestone checklist จาก HealthSmile Center เพื่อเป็นการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยไปในตัวได้เลยค่ะ พร้อมทั้งรับแนวทางการส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้าน ที่แนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีกิจกรรมแนะนำที่หลากหลายให้ผู้ปกครองทดลองนำไปฝึกลูกเองที่บ้านผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทั้งหมดนี้เปิดให้ใช้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

📲 เริ่มเช็กพัฒนาการเด็ก 5 ด้านผ่านออนไลน์ คลิกเลย https://milestone.healthsmile.co.th

ทักษะ EF สร้างได้ง่ายๆ ผ่านการเล่นกับลูกหรือกิจกรรมการเล่นของเด็ก 

EF คือ Executive functions คือ ทักษะความสามารถของสมองส่วนหน้าในการบริหารจัดการขั้นสูง ทั้งด้านความคิด อารมณ์ ซึ่งจำเป็นต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้การจัดการที่ดีเพื่อให้ถึงเป้าหมายหรือบรรลุผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังส่งผลต่อการเรียนรู้ได้ดีอีกด้วย ซึ่ง Executive functions คือ ทักษะ 9 ด้าน ประกอบไปด้วยทักษะ ดังนี้

1.การจดจำได้ดี สามารถนำความจำเหล่านี้ออกมาใช้งานและคิดประมวลผลได้ตามสถานการณ์ที่ต้องการ

2.การรู้จักยั้งคิด สามารถยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของตนเองได้

3.การยืดหยุ่นความคิด สามารถปรับเปลี่ยนความคิด หรือคิดแก้ปัญหาสถานการณ์ได้โดยไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ

4.มีสมาธิจดจ่อ ไม่วอกแวกง่าย สามารถทำสิ่งนั้นๆ อย่างต่อเนื่องได้นานจนสำเร็จ

5.การควบคุมอารมณ์ สามารถจัดการอารมณ์เครียดและความกังวลได้ ช่วยให้มีภาวะทางอารมณ์ที่มั่นคง

6.การวางแผนและการจัดการงาน สามารถจัดลำดับความสำคัญของงาน และดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

7.รู้จักประเมินตนเอง เพื่อหาจุดบกพร่องที่ต้องปรับปรุงแก้ไข และรู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำเกิดประโยชน์อะไร

8.รู้จักการเริ่มลงมือ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง 

9.การมีความมุ่งมั่น พยายามที่จะไปสู่เป้าหมายให้สำเร็จ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

การส่งเสริมพัฒนาการ 5 ด้าน หรือพัฒนาทักษะ EF คือ Executive functions ทั้ง 9 ทักษะที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ปกครองสามารถทำได้ที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับลูก หรือการส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ของเด็กในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น การหัดให้ลูกได้ฝึกช่วยเหลือตนเอง หรือจะเลือกของเล่นของเด็กที่ช่วยเสริมพัฒนาการ ให้กับลูก ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยกระตุ้นพัฒนาการเด็กการเรียนรู้ การฝึกฝนทักษะรอบด้าน ซึ่งเด็กจะได้ฝึกให้สมองได้คิด ดังนั้น เรามาดูกันว่า กิจกรรมอะไรบ้างที่ควรนำไปเล่นกับลูก เพื่อเกิดการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย

กิจกรรมการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย 1-6 ปี

กิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการตามวัยต่างๆ เราจะแบ่งออกเป็นช่วงอายุเด็ก ดังนี้ค่ะ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้เลือกการเล่นกับลูกได้อย่างเหมาะสมตามวัย ซึ่งการรู้จักวิธีเล่นตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้ลูกเกิดการเรียนรู้อย่างสมวัย  มีความสามารถในการเล่นทำให้ไม่เครียดจนเกินไป

การเล่นกับลูก 1.6 ขวบ

พัฒนาการเด็ก 1.6 ขวบ เด็กจะเริ่มรู้จักสิ่งของทั่วไปและรู้ว่าใช้ทำอะไร เช่น โทรศัพท์ แปรง ช้อน และเด็กจะพูดได้หลากหลายคำ เมื่อต้องการอะไร มักจะชี้ในสิ่งที่ต้องการ และเริ่มวิ่งหรือเดิน พร้อมกับจับของเล่นไปด้วยได้ และเด็กวัยนี้จะรู้จักการเล่นบทบาทสมติง่ายๆ ได้แล้วค่ะ ดังนั้น เรามาเล่นบทบาทสมมติ (Role Play) กับลูกกันค่ะแม่ๆ

“ป้อนอาหารน้องตุ๊กตา”

เด็กวัยนี้จะยังไม่ค่อยเข้าใจการเล่นที่ซับซ้อนมากนัก แนะนำการเล่นบทบาทสมมติกับลูกง่ายๆ เลยค่ะ โดยการชวนลูกป้อนอาหารน้องตุ๊กตา ซึ่งคุณแม่อาจจะให้น้องสวมบทบาทเป็นพี่สาว ส่วนน้องตุ๊กตาก็สวมบทบาทเป็นน้องสาว แล้วตั้งสถานการณ์สมมติขึ้นมาว่า เรากำลังจะป้อนอาหารให้น้อง เดี๋ยวน้องหิว พร้อมพูดคุยเล่นกับน้องตุ๊กตา จะทำให้เด็กได้ใช้ทักษะการจินตนาการ ฝึกใช้ภาษาในการสื่อสาร เสริมสร้างการสังเกต เพื่อเกิดการจดจำ และการเล่นกับลูกวิธีนี้จะช่วยฝึกให้ลูกรู้จักความเห็นอกเห็นใจ การเอาใจใส่ผู้อื่นอีกด้วย

การเล่นกับลูก 2 ขวบ

พัฒนาการเด็ก 2 ขวบ จะเริ่มแสดงความเป็นตัวเองมากขึ้น ชอบอิสระ จึงมักวิ่งเล่นไล่จับกับเพื่อนๆ และในด้านภาษาและการสื่อสาร เด็ก 2 ขวบจะมีพัฒนาการมากขึ้น สามารถพูดเป็นประโยคได้ 2-4 คำ และเด็กบางคนมักพูดซ้ำคำกับผู้อื่น เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นที่กำลังจะฝึกพูด เริ่มรู้จักชื่อสิ่งของ มักชี้ไปที่สิ่งนั้นเมื่อได้ยินชื่อ ดังนั้น ในวัยนี้เรามาช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์ให้กับลูกกันค่ะ

“จับคู่ให้ถูก คู่หูอยู่ไหน”

การเล่นกับลูกด้วยวิธีนี้อาจจะต้องใช้อุปกรณ์ในการเล่นนิดหนึ่งนะคะ ซึ่งคุณแม่และคุณพ่ออาจจะหาของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการ อย่างเช่น บล็อกรูปทรงต่างๆ หรือบล็อกสีต่างๆ หรือจะเป็นรูปภาพสัตว์ ผลไม้ต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการเล่นครั้งนี้ จากนั้นอุปกรณ์พร้อมแล้วชวนลูกมาเล่นเกมส์จับคู่กันค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่และลูกช่วยกันจับคู่สัตว์ สิ่งของ หรือคู่สีที่เหมือนกัน เมื่อหยิบสิ่งไหนขึ้นมา ก็เรียกชื่อสิ่งนั้นไปด้วย พร้อมชี้ไปที่สิ่งนั้นๆ จะทำให้ลูกได้ฝึกพูดตาม จดจำว่าสิ่งนี้เรียกว่าอะไร และยังได้ฝึกการสังเกตลักษณะของสิ่งที่แตกต่างหรือเหมือนกัน

การเล่นกับลูก 3 ขวบ

พัฒนาการเด็ก 3 ขวบ เริ่มเลียนแบบพฤติกรรมและท่าทางผู้อื่น และเด็ก 3 ขวบ จะเริ่มแต่งตัวและถอดเสื้อผ้าเองได้ มักปีนป่าย วิ่งได้คล่องแคล่ว เดินขึ้นลงบันไดทีละก้าวเป็น ส่วนในด้านภาษาและการสื่อสารเด็ก 3 ขวบจะมีพัฒนาการพูดได้ 2 ถึง 3 ประโยค พูดสื่อสารกับผู้อื่นได้ดีขึ้น ซึ่งเด็ก 3 ขวบจะเริ่มทำอะไรด้วยตัวเองเป็นแล้ว ดังนั้น เรามาฝึกให้ลูกใช้ทักษะทางด้านความคิดกันค่ะ

“ต่อให้สูง นับให้ถูก”

วิธีนี้อาจจะต้องหาตัวช่วยเป็นของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการ อย่างชุดตัวต่อของเล่น บล็อกตัวต่อ ที่สามารถนำมาต่อเรียงกันขึ้นเป็นชั้นๆ ได้ โดยวิธีเล่นให้คุณพ่อคุณแม่ต่อชุดตัวต่อเรียงกันขึ้นเป็นชั้นๆ พร้อมนับเลขไปด้วยว่าต่อได้ชั้นที่เท่าไหร่แล้ว และชี้ชวนให้ลูกดูวิธีการเล่นด้วย จะทำให้เด็กเกิดการจดจำและนำไปเลียนแบบการเล่น หากลูกต่อตัวต่อได้เองและต่อเพิ่มขึ้นได้ทีละชั้น อย่าลืมให้รางวัลด้วยการชมลูกด้วยนะคะ  ซึ่งวิธีการเล่นกับลูกแบบนี้ถือเป็นการปลูกฝังให้ลูกอยากเรียนรู้การนับเลขโดยไม่ใช่การบังคับ และฝึกให้เขาได้ใช้ทักษะในการคิด การแก้ปัญหาว่าจะต้องทำด้วยวิธีไหน เพื่อต่อตัวต่อขึ้นไปได้สูงๆ และการที่พ่อแม่ชื่นชมว่าเขาทำได้ จะสร้างความมั่นใจในตัวเด็กได้ค่ะ

● การเล่นกับลูก 4 ขวบ

พัฒนาการเด็ก 4 ขวบ จะมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น จึงชอบการทำสิ่งใหม่ๆ ที่สำคัญมีพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ที่แข็งแรงมากขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ และมีพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารเริ่มก้าวกระโดด ทำให้เด็กวัยนี้สามารถร้องเพลงหรือพูดประโยคจากความทรงจำจากนิทานหรือการ์ตูนได้ ดังนั้น การเล่นกับลูกหรือการทำกิจกรรมกับเด็กเล็กในวัยนี้ควรเป็นการเล่นที่ช่วยฝึกการทรงตัว หรือเรียนรู้เรื่องสี ตัวอักษร 

“ภาพสีสันสดใส สะท้อนตาลุกวาว”

คุณพ่อคุณแม่อาจจะหาของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการเป็นหนังสือนิทานสักเล่มที่มีภาพสีสันสดใส เพื่อใช้ชี้ชวนให้ลูกเปิดดูหนังสือทีละหน้า อาจจะเล่านิทานไปด้วยพร้อมชี้ไปที่ภาพภายในหนังสือ ในระหว่างเล่านิทานควรกระตุ้นให้ลูกเล่าเรื่องราวจากหนังสือที่คุณอ่านให้เขาฟังด้วย หรือจะใช้เป็นการ์ดภาพสีสันสดใสที่เป็นรูปตัวอักษรต่างๆ ก็ได้เช่นกัน โดยให้คุณพ่อคุณแม่ยกขึ้นมาทีละภาพ พร้อมชี้ไปที่ภาพและพูดชื่อตัวอักษร และพูดชื่อสีด้วย การเล่นกับลูกวิธีนี้จะกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้เรื่องสี ช่วยเพิ่มคลังคำศัพท์มากมาย

การเล่นกับลูก 5-6 ขวบ

พัฒนาการเด็ก 5 ขวบ พัฒนาการเด็ก 6 ขวบ เด็กจะเริ่มมีพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์มากขึ้น แสดงความเป็นตัวเอง อยากเป็นอิสระ รู้จักเอาใจเพื่อน เพื่อทำให้เพื่อนพึงพอใจ สามารถเขียนตัวอักษร วาดรูปคนได้แล้วด้วย และที่สำคัญเป็นวัยที่เขาจะต้องเริ่มเข้าโรงเรียนออกไปเจอสังคมใหม่ๆ แล้ว ดังนั้น กิจกรรมควรเป็นการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อให้เขาสามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้

“ออกไปลุย คุยกับเพื่อน”

ผู้ปกครองควรสังเกตสิ่งที่ลูกให้ความสนใจและพาเขาไปทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งนั้น เพื่อให้เขารู้สึกตื่นเต้น ไม่น่าเบื่อ หรือไม่รู้สึกว่าเป็นการบังคับให้ทำ เช่น หากลูกชอบสัตว์ก็ให้พาเขาไปสวนสัตว์ หรือหากลูกชอบวิ่งเล่น ให้พาลูกไปสนามเด็กเล่นพื้นที่กว้างๆ เพื่อให้เขาได้วิ่งเล่นกับเด็กคนอื่นๆ ด้วย รวมถึงให้เขาได้เลือกกิจกรรมที่อยากทำร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ด้วยตัวเอง วิธีนี้จะเป็นการเตรียมพร้อมให้เขาเข้ากับเพื่อนๆ และปรับตัวเข้ากับสังคมนอกบ้านได้เมื่ออยู่ที่โรงเรียนหรือเล่นกับเด็กคนอื่นๆ เป็น

รู้พัฒนาการแต่ละช่วงวัยของเด็ก ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง

ผู้ปกครองจะเห็นได้ว่า กิจกรรมที่ใช้เล่นกับลูกสามารถครีเอทเพื่อให้เข้ากับพัฒนาการเด็กวัย 1-3 ขวบ พัฒนาการเด็กวัย 3-6 ปี ได้เลย ซึ่งการที่ผู้ปกครองรู้ว่า พัฒนาการแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร ย่อมครีเอทกิจกรรมการเล่นได้หลากหลาย และเหมาะกับลูกเราได้เลยโดยไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่เข้าใจการเล่น