อย. สหรัฐอนุมัติขึ้นทะเบียน การทดสอบการก้าวสู่ “วัยทอง”

องค์การอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนวิธีการทดสอบทางการแพทย์เพื่อวินิจฉัยการเข้าสู่ช่วงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือนในผู้หญิง ด้วยการทดสอบหาฮอร์โมนแอนติมัลเลอร์เรี่ยน (anti-Müllerian hormone; AMH) หรือฮอร์โมน AMH ในกระแสเลือด

          ฮอร์โมน AMH คือฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากรังไข่ของเพศหญิง ที่ทำหน้าที่กักเก็บไข่เอาไว้และปลดปล่อยออกมาในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรือการตกไข่นั่นเอง เมื่อเข้าสู่วัยทองระดับของฮอร์โมน AMH จะลดลงจึงเป็นหนึ่งในหลายๆตัวบ่งชี้ว่า บุคคลนั้นได้เข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว อย่างไรก็ตามทาง อย. ของสหรัฐได้แนะนำให้มีการตรวจโดยวิธีอื่นร่วมกัน เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัย

          ช่วงวัยทองคือช่วงที่ผู้หญิงจะสิ้นสุดการมีประจำเดือน และไม่มีการตั้งครรภ์อีกต่อไป ซึ่งแพทย์จะทำการประเมินจากการขาดประจำเดือนมาแล้ว 12 เดือน จึงบอกว่าบุคคลนั้นเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว โดยก่อนหน้านั้นจะเรียกว่าช่วงก่อนวัยทอง เกิดในผู้หญิงอายุเฉลี่ย 45 – 55 ปี จะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) มีระดับไม่คงที่ จึงอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ได้แก่

          –  ประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ

          –  ช่องคลอดแห้ง

          –  อาการร้อนวูบวาบ

          –  เหงื่อออกตอนกลางคืน ขณะนอนหลับ

          –  มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

          –  อารมณ์แปรปรวน

          –  น้ำหนักขึ้น และการเผาผลาญลดลง

          แม้ว่าการเข้าสู่ช่วงวัยทองคือการเป็นไปตามธรรมชาติ แต่การเข้าสู่วัยทองอาจเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพบางอย่าง จากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกบาง และกระดูกพรุน เป็นเหตุให้กระดูกหักได้หากเกิดการกระแทก หรือหกล้ม หรืออาจส่งผลให้มีระดับของไขมันไม่ดีเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจได้

         เนื่องจากอาการของช่วงวัยทองมีความหลากหลาย รวมถึงช่วงอายุที่จะเข้าสู่ช่วงวัยทองเป็นช่วงกว้างจึงยากแก่การวินิจฉัย ผู้เชี่ยวชาญทางนารีเวชจึงให้ความสำคัญกับการวินิจฉัยว่าบุคคลใด ได้เข้าสู่ช่วงวัยทองจริงหรือไม่ เพราะมีหลายๆโรคที่ทำให้มีอาการคล้ายกันเช่น   ภาวะเยื่อบุผนังมดลูกเจริญภายนอกมดลูก (ปกติต้องเจริญที่ภายในมดลูกก่อนมีประจำเดือน) หรือภาวะฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำ  ซึ่งสาเหตุที่แตกต่างกันจะมีแนวทางการรักษา การใช้ยาที่ต่างกัน รวมถึงหากผู้ป่วยเข้าสู่ช่วงวัยทองจริง แพทย์จำเป็นต้องสั่งใช้ยาป้องกันโรคกระดูกพรุน และยาลดไขมันในเส้นเลือดเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอีกด้วย

          Dr.Courtney Lias ผู้อำนวยการแผนกสารเคมีและสารพิษประจำศูนย์เครื่องมือและรังสิวิทยาของ อย. สหรัฐฯ กล่าวว่า “ผลวินิจฉัยการเข้าสู่ช่วงวัยทองจะช่วยทำให้มีการสั่งใช้ยาเพื่อป้องกันอาการของหญิงวัยหมดประจำเดือนอย่างทันท่วงที” นอกจากนี้ Dr.Lias ยังกล่าวอีกว่า “การตรวจระดับฮอร์โมน AMH เมื่อนำมาใช้พิจารณาร่วมกับอาการทางคลีนิกอื่นๆ และผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม จะทำให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยมากขึ้น ส่งผลให้วางแผนการรักษาได้ดียิ่งขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของการป้องกันการลดลงของมวลกระดูก หรือการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด”

          ในปัจจุบันบุคคลากรทางการแพทย์มีแนวทางการวินิจฉัยการเข้าสู่ช่วงวัยทองจากอาการทางคลีนิกของผู้ป่วยร่วมกับตรวจระดับฮอร์โมนบางชนิดในกระแสเลือดได้แก่ ฮอร์โมนกระตุ้นการสุกของไข่ (Follicle-stimulating hormone; FSH) หรือ ฮอร์โมน FSH ฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนไธรอยด์ (Thyroid-stimulating hormone; TSH) หรือ ฮอร์โมน TSH โดยระดับของฮอร์โมน FSH และฮอร์โมนเอสโตรเจนจะต่ำลงในหญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน ส่วนฮอร์โมน TSH นั้นใช้ในการวินิจฉัยแยกโรคฮอร์โมนไธรอยด์ต่ำเนื่องจากทำให้มีอาการคล้ายกับหญิงวัยหมดประจำเดือน พิจารณาจากระดับฮอร์โมน TSH ที่ลดลงจะเป็นสัญญาณของการทำงานของต่อมไธรอยด์ที่ผิดปกติ

          ซึ่งก่อนการอนนุมัติการตรวจวัดฮอร์โมน AMH ทางอย.สหรัฐ ได้ทำการทบทวนข้อมูลของผู้หญิง 690 คน ที่มีอายุ 42 – 62 ปี ที่ได้ทำการตรวจระดับฮอร์โมน AMH  ได้ผลว่ามีความสอดคล้องกันระหว่างระดับฮอร์โมน AMH ที่ลดลงกับการมีประจำเดือนครั้งสุดท้ายขงแต่ละคนทั้งในผู้หญิงที่เพิ่งหมดประจำเดือนไป และหมดประจำเดือนไปแล้ว 5 ปี

          สุดท้ายนี้ทาง  อย.สหรัฐยังกล่าวอีกว่า  “การตรวจระดับฮอร์โมน  AMH  เป็นเพียงหนึ่งในวิธีที่จะช่วยในการวินิจฉัยการเข้าสู่ช่วงวัยทองเท่านั้น  ในการประเมินการรักษายังมีอีกหลายสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้มีอาการคล้ายกับหญิงวัยทอง รวมถึงความสำคัญของการใช้ยาคุมกำเนิดในหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ต้องการมีบุตร และการตรวจระดับฮอร์โมน AMH ไม่สามารถที่จำประเมินการตั้งครรภ์ หรือการรักษาอื่นๆได้”