เชื่อว่า ลูกน้อย คือแก้วตาดวงใจของคนเป็นพ่อ เป็นแม่ ดังนั้น พ่อแม่จึงทุ่มเทแรงกายและแรงใจในการเลี้ยงลูก อยากทำได้ดีในทุกบทบาทในการทำทุกอย่างเพื่อลูก ไม่ว่าจะเป็นบทบาทด้านการทำงาน บทบาทของความเป็นพ่อ เป็นแม่ เพื่อให้ลูกเติบโตอย่างมีคุณภาพ และเป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้
เมื่อความคาดหวังที่มากจนเกินไป จนทำให้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก หรือความเป็นจริงอาจสวนทางกับที่คาดหวังไว้ ทำให้คุณพ่อ คุณแม่รู้สึกเหนื่อยและท้อ จนเกิด “ภาวะ burnout” ตามมาได้ และหากไม่สามารถรับมือได้ มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้เช่นกัน
รู้จักกับ burn out คืออะไร
ภาวะ Burnout คือ ภาวะหมดไฟ ที่เกิดจากความเหนื่อยล้าในเรื่องเดิมๆ สะสมเป็นระยะเวลานาน จนกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง ซึ่งปัญหาที่พบได้บ่อย เช่น ภาวะหมดไฟในการทำงาน หมดไฟในการใช้ชีวิต ซึ่งเราจะเห็นสื่อต่างๆ พูดถึงเป็นอย่างมาก นั่นบ่งบอกว่า ภาวะ Burnout คือ ปัญหาที่ไม่ควรปล่อยไว้ และภาวะหมดไฟคือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ระบุให้ภาวะหมดไฟคือ โรคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า โรคเบิร์นเอาต์ (burnout syndrome) ซึ่งโรคเบิร์นเอาต์ (burnout syndrome) ต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดจากโรคเบิร์นเอาต์ (burnout syndrome) อาทิ โรคซึมเศร้า
Burn Out on Parenting นิยามคำศัพท์ใหม่ ที่ถูกพูดถึงใน New York Magazine
Burn Out on Parenting เป็นนิยามคำศัพท์ใหม่ที่ถูกพูดถึงใน New York Magazine ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่หลายท่าน อาจจะเคย หรือไม่เคยได้ยินมาก่อน โดย Burn Out on Parenting เป็นนิยามความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงดูลูกวัยเด็กเล็ก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่ต้องทุ่มเท และใช้เวลาเกือบ 24 ชม. ในการดูแลเด็กเล็ก ความขัดแย้งในการเลี้ยงเด็กกับคนภายในครอบครัว จนทำให้คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านไม่มีความสุขในการเลี้ยงลูก ตกอยู่ในภาวะหมดไฟ (burn out)
โดยผลสำรวจจากนักวิจัยในหลายประเทศพบว่า มีคุณแม่เกือบ 13% และคุณพ่อ 11.6% เคยเกิดภาวะรู้สึกหมดแรง และรู้สึกว่าตัวเองมีความสามารถน้อยลง และมักจะเกิดอาการอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งคล้ายกับการหมดไฟในการทำงาน ซึ่งนักวิจัยเรียกว่า ‘high burnout’
ใครเสี่ยง? ภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก (Burn Out on Parenting)
คุณพ่อ คุณแม่ที่เข้าข่ายภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก มักมีปัญหา ดังนี้
1.พ่อแม่ที่ต้องดูแลลูกเองเกือบ 24 ชม.
เกิดจากขาดคนรอบข้างช่วยดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็น คนในครอบครัว หรือสามี จนทำให้ไม่มีเวลาดูแลตนเอง ไม่มีเวลาทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ชื่นชอบ
2. มีปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างสามี ภรรยา
หลายคู่เมื่อเปลี่ยนบทบาทเข้าสู่สถานะพ่อ แม่ ทำให้เกิดความห่างเหิน อาจรู้สึกว่า ไม่ได้รับความใส่ใจจากอีกฝ่ายเหมือนเช่นเคย หรือรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่ช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงลูก หรือแนวทางการเลี้ยงลูกขัดแย้งกัน
3.ความขัดแย้งในแนวทางการเลี้ยงลูกของคนภายในครอบครัว
หลายบ้านอาจเป็นครอบครัวใหญ่ มีคุณปู่ คุณย่า หรือคุณตา คุณยาย ที่คอยช่วยดูแลเด็ก ซึ่งบางครั้งแนวทางการเลี้ยงเด็กของคนในครอบครัว หรือผู้ใหญ่ อาจขัดใจคุณพ่อ คุณแม่ หรือมีความเห็นไม่ตรงกัน
4.ความหวังจากบทบาทพ่อ แม่ หรือความกดดันจากครอบครัว
คุณพ่อ คุณแม่ อาจเกิดความคาดหวัง หรือวาดฝันไว้ว่า ตนเองจะเป็นพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ เลี้ยงลูกได้สมบูรณ์แบบ เพื่อให้ลูกเติบโตไปเป็นอย่างที่คาดหวังไว้ แต่ความจริงไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ หรือคนในครอบครัวมีความคาดหวังในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่รู้สึกกดดันที่ต้องแบกความหวังไว้ อาจทำให้เกิดความเครียดตามมา
5.ไม่รู้วิธีการรับมือและจัดการกับเด็กตามช่วงวัย
ช่วงเด็กเล็กจะมีพัฒนาการที่เปลี่ยนผ่านของช่วงวัยอย่างรวดเร็ว หรือเด็กมีพฤติกรรมท้าทายตามการเปลี่ยนผ่านช่วงวัย หากคุณพ่อ คุณแม่ที่ไม่ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการของลูกมาก่อน หรือไม่มีทักษะในการเลี้ยงเด็ก อาจไม่รู้ความหมายต่างๆ ที่เด็กจะสื่อ และไม่รู้ว่าต้องตอบสนอง หรือรับมืออย่างไร
6.มีปัญหา แต่ไม่มีคนคอยเคียงข้างให้ระบายความรู้สึกได้
เมื่อมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเหน็ดเหนื่อยการเลี้ยงลูก ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาความขัดแย้งในชีวิตคู่ แต่ไม่สามารถระบายความรู้สึก หรือปรึกษาปัญหาเหล่านี้กับใครได้ และไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร
อาการเตือน! คุณพ่อ คุณแม่อาจเข้าข่าย ภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก (Burn Out on Parenting)
เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ ได้ทราบปัญหาที่อาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูกแล้ว หากรู้สึกว่าตนเองมีปัญหาเหมือน หรือคล้ายกับปัญหาดังที่กล่าวมา นั่นแสดงว่า คุณอาจเกิดภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูกได้ ดังนั้น ไม่ควรปล่อยผ่านนะคะ เพราะหากเราไม่รู้ตัวหรือมองผ่าน อาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดตามมาได้ ซึ่งเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก่อนที่จะมั่นใจได้ว่า เรามีภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก ลองมาเช็กอาการที่เข้าข่ายกันก่อนดีกว่าค่ะ
อาการเตือนที่บ่งบอกว่า คุณตกอยู่ในภาวะเลี้ยงลูกจนหมดไฟ
1.รู้สึกเหนื่อยล้าจนขาดความผูกพันกับลูก และไม่อยากดูแลลูก
2.รู้สึกไม่มีความสุขกับการเป็นพ่อแม่
3.มีความอดทนต่ำ หงุดหงิดง่าย
4.รู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา แม้นอนพักก็ไม่หาย
5.มีอาการหลงลืม หรือเบลอ
6.มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
7.เมื่อลูกร้อง มักมองลูกในแง่ลบ
8.รู้สึกผิดหวังในตัวเองว่า เป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีพอ เลี้ยงลูกไม่ดีพอ
9.อยากมีเวลาส่วนตัวอยู่บ่อยครั้ง
10.ขาดความสนใจกับกิจกรรมอื่นๆ แม้ว่างจากการเลี้ยงลูก ก็ไม่รู้จะทำอะไร
อาการข้างต้น อาจใช้ประเมินด้วยตนเองได้เบื้องต้น แต่ก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ 100% เพราะต้องพิจารณาจากสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูกร่วมด้วย หรือบางกรณีที่มีอาการดังกล่าว อาจพบว่า เข้าข่ายภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็ได้เช่นกัน ดังนั้น เมื่อพบว่า ตนเองเข้าข่ายสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก และมีอาการเลี้ยงลูกจนหมดไฟ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรพบผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ และค้นหาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก และค้นหาปัญหา หรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดด้วย
ภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก เสี่ยง! โรคซึมเศร้าหลังคลอด
ภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก (Burn Out on Parenting) มักเกิดจากภาวะเหนื่อยล้าจากการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะเลี้ยงดูลูกวัยเด็กเล็ก คุณพ่อ คุณแม่ต้องใช้พลังอย่างมากในการเลี้ยงลูก ทำให้บางท่านเกิดความเหน็ดเหนื่อยจากการเลี้ยงลูก เพราะต้องรับมือกับพฤติกรรมท้าทายตามการเปลี่ยนผ่านช่วงวัยของลูก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากสำหรับคนเป็นพ่อ เป็นแม่
เมื่อรู้สึกหมดไฟในการเลี้ยงลูก หลายท่านอาจมองข้าม เพราะอาจรู้สึกว่า คงเหมือนๆ กับภาวะที่เรารู้สึกเบื่องาน เบื่ออะไรเดิมๆ ในชีวิต จึงมองเป็นเรื่องเล็ก ไม่หาวิธีรับมือหรือจัดการความรู้สึก แต่รู้หรือไม่ว่า นั่นเป็นตัวทำร้ายสุขภาพจิตใจของคุณและลูก เพราะหากไม่มีวิธีรับมือ หรือปล่อยให้ความรู้สึกเลี้ยงลูกจนหมดไฟเรื้อรัง ก็มีโอกาสกลายเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอด และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจ และสุขภาพร่างกายของตนเอง และสุขภาพจิตลูก อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
ซึ่งหากคุณพ่อ คุณแม่ มีสุขภาพจิตใจที่อ่อนไหว แน่นอนว่า อาจเกิดการเพิกเฉยต่อการเลี้ยงลูก เลี้ยงลูกได้ไม่เต็มที่ และไม่สามารถเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตที่ดีได้ แต่หากรู้ว่าตนเองรู้สึกหมดไฟในการเลี้ยงลูก แล้วมีการดูแลสุขภาพจิตใจตนเอง และจัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ ก็จะส่งผลให้คุณแม่มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง สามารถเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ภาวะหมดไฟจากการเลี้ยงลูก เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไปเลยนะคะ เพราะนอกจากจะทำให้ความสามารถในการเลี้ยงลูกลดลงแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมาอีกด้วย ซึ่งเชื่อว่าปัญหานี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น นั่นคือ การเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจ อารมณ์ และพัฒนาการเด็กต่อไปจนถึงเติบโต และหากอาการรุนแรง อาจมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือฆ่าลูกตนเองได้เลยค่ะ
อ่านเพิ่ม : เป็นแม่ควรจะอิ่มเอิบใจ แต่ทำไมกลับเศร้า อาจเป็นเพราะ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” ( https://healthsmile.co.th/blog/why-mother-feel-sad-post-partum-blue-baby-blue/ )
คุณพ่อ คุณแม่คงเห็นแล้วใช่ไหมคะว่า สุขภาพจิตใจเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอด ที่ต้องคอยเลี้ยงลูกเกือบ 24 ชม. ควรให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพจิตใจ ไม่แพ้กับการดูแลสุขภาพร่างกายเลยค่ะ คุณพ่อ คุณแม่ควรสังเกตอารมณ์ ความรู้สึกตนเองด้วยนะคะ เพื่อประเมินตนเองเบื้องต้นว่า เราเข้าข่ายอาการผิดปกติ ที่ควรจะขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หรือผู้เชี่ยวชาญหรือยัง เพื่อจะได้รับการบำบัดรักษาสุขภาพจิตจากผู้เชี่ยวชาญได้ทันเวลา และรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญถึงวิธีรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม และป้องกันการเกิดโรคซึมเศร้าหลังคลอด
ดังนั้น หากพบปัญหาในการจัดการอารมณ์ หรือขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการความรู้สึกด้านลบของตนเอง และขาดทักษะในการเลี้ยงลูก ให้ผู้เชี่ยวชาญจาก HealthSmile เป็นเพื่อนคู่คิด เคียงข้างคุณพ่อ คุณแม่ในการดูแลสุขภาพจิตใจ ไปพร้อมกับการดูแลลูกน้อยนะคะ หากคุณพ่อ คุณแม่อยากพูดคุย ปรึกษาความกังวลในการเลี้ยงลูก ปัญหาครอบครัว คู่ชีวิต รวมถึงวิธีจัดการความรู้สึกเชิงลบ ทักหาเราที่ได้ 📱 Line ID : @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ👉https://lin.ee/CDUgd8d ผู้เชี่ยวชาญของเรายินดีดูแลสุขภาพจิตใจคุณพ่อ คุณแม่ทุกท่านค่ะ
เขียนโดย ปรางค์ทิพย์ ทาบุราณ content creator
ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการแพทย์ในบทความ โดย วริษฐา ถิ่นถลาง นักจิตวิทยาคลินิก และ นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2565
Reference
https://club.b2s.co.th/th/knowledge-detail/404/Parenting-burnout
Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์