Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์

อยู่ๆ ก็วีน อยู่ๆ ก็นอยด์ จนคนรอบข้างตามไม่ทัน โดยเฉพาะสามีที่รัก อาจงงอยู่พักใหญ่ อีกหนึ่งปัญหาหนักใจที่คนท้องอยากบอก โปรดเข้าใจอารมณ์คนท้อง please!!!!

คนรอบข้างมักตั้งคำถาม ทำไมคนท้องถึงเอาแต่ใจ อารมณ์สวิงขึ้นๆ ลงๆ แม้แต่คนท้องเองบางทีก็ยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่า ตนเองมีอารมณ์แปรปรวน เผลอหงุดหงิด เอาแต่ใจใส่คนรอบข้าง ซึ่งบางคนอาจไม่เข้าใจ นำมาซึ่งปัญหาความสัมพันธ์ที่แย่ลง

ดังนั้น  การทำความเข้าใจอารมณ์คนท้องแต่ละไตรมาส ตั้งแต่ท้องไตรมาสแรก (1-3 เดือน) ท้องไตรมาส 2 (4-6 เดือน) ท้องไตรมาส 3 (7-9 เดือน)อาจช่วยให้ญาติๆ เพื่อนและคุณสามี เข้าใจอารมณ์คนท้องมากขึ้น และช่วยเทคแคร์ ดูแล เอาใจใส่คนท้องได้ดียิ่งขึ้น คนท้องเองก็ควรทำความเข้าใจอารมณ์คนท้องแต่ละไตรมาสด้วยเช่นกัน เพื่อรู้เท่าทัน เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของคนท้องในแต่ละไตรมาส

แม่ท้องควรรู้! คนท้องอารมณ์แปรปรวน เกิดจากอะไร

คนท้องอารมณ์แปรปรวน เกิดจากฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนที่สูงขึ้นกว่าปกติหลายเท่า ซึ่งเป็นฮอร์โมนคนท้องที่เกิดขึ้นกับคนท้องทุกคน ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยฮอร์โมนคนท้อง เป็นผลให้ระดับสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาทในกลุ่มแคททีโคลามีน (cathecholamines) โดยเฉพาะนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) มีความไม่สมดุล ส่งผลให้คนท้องอารมณ์แปรปรวน มีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย หากรับมือไม่ได้ อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพคุณแม่ และพัฒนาการทารกอีกด้วย 

ก่อนที่จะเตรียมรับมือกับอารมณ์คนท้อง ควรรู้เท่าทัน อารมณ์ของคนท้องแต่ละไตรมาสกันก่อนเลยค่ะ เพื่อรู้ว่า อารมณ์คนท้องตลอดการตั้งครรภ์ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

อารมณ์คนท้องไตรมาสแรก

ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก 1-3 เดือน คุณแม่จะเริ่มรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น เต้านมขยายใหญ่ขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น อาจทำให้คุณแม่บางท่านรู้สึกกังวลมากเป็นพิเศษ รับมือไม่ทันในช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เกิดความกังวล หงุดหงิดตามมาได้ และนอกจากนี้ช่วงท้องไตรมาสแรกระดับฮอร์โมนคนท้องที่สูงขึ้น แน่นอนว่าส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้คุณแม่บางท่านมีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ ลุกปัสสาวะบ่อยครั้งในช่วงกลางคืน ทำให้อ่อนล้า เหนื่อยง่ายทั้งวัน และอารมณ์คนท้องระยะแรก จะรู้สึกอ่อนไหวได้ง่าย หากใครพูดกระทบกระเทือนจิตใจ อาจรู้สึกน้อยใจ หรืออยากร้องไห้ หรืออาการที่เห็นได้ชัดในบางราย จะหงุดหงิดกับคนรอบข้าง โดยเฉพาะสามี รู้สึกว่าคนรอบข้าง หรือสามี ทำอะไรก็ผิดไปหมด แต่อารมณ์คนท้องระยะแรกเช่นนี้ ในคุณแม่บางท่านอาจมีอาการที่แตกต่างไป ขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนที่แตกต่างกัน และการดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ

“ข้อแนะนำ” ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก คนรอบข้างควรคอยให้กำลังใจ อยู่ข้างๆ คอยรับฟัง จะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลาย ลดความกังวลลงได้ และนอกจากนี้คนท้องเอง ก็ควรดูแลสุขภาพร่างกาย ไปพร้อมๆ กับการดูแลสุขภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย การรับวัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนท้อง และการเข้ารับการฝากครรภ์ เพื่อประเมินสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

วัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนท้อง (https://link.healthsmile.co.th/q5c )

อารมณ์คนท้องไตรมาส 2

ช่วงตั้งครรภ์ 4-6 เดือน เข้าสู่ท้องไตรมาส 2 คุณแม่จะเริ่มรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นในช่วงท้องไตรมาสแรกได้ และอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้จะดีขึ้น แต่ท้องไตรมาส 2 นี้ คุณแม่จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอีกหลายอย่างตามมา เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนท้องอาจอยู่ในท่าหลังแอ่นเพื่อทำให้เกิดความสมดุลของร่างกาย ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว ปวดเอว ปวดหลัง ปวดต้นขาตามมา และบางคนจะเริ่มมีอาการขาหรือเท้าบวม ปวดท้องน้อย ขาเป็นตะคริว ทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งร่างกายที่เปลี่ยนแปลงช่วงท้องไตรมาส 2 เหล่านี้ อาจส่งผลให้คุณแม่เกิดความเครียด มีอารมณ์คนท้อง เช่น รู้สึกไร้ค่า เพราะช่วยเหลือตนเองได้น้อยลง หรือรู้สึกเหงา เพราะต้องดูแลตนเองอยู่บ้านเพียงลำพัง

“ข้อแนะนำ” ช่วงท้องไตรมาส 2 นอกจากร่างกายของคุณแม่ที่เปลี่ยนไปมากขึ้น ทารกในครรภ์ก็มีการเติบโตมากขึ้นเช่นกัน ทำให้คุณแม่อาจรู้สึกได้ว่าลูกเริ่มดิ้น เพื่อคลายเหงา และเสริมพัฒนาการทารกในครรภ์  แนะนำคุณแม่ทำการนับลูกดิ้น และพูดคุย อ่านหนังสือ เปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟังบ่อยๆ ไปพร้อมกับลูบท้องเบาๆ เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทารกด้านการรับรู้ตั้งแต่ในครรภ์ และหากคุณแม่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แนะนำออกกำลังกายด้วยท่าง่ายๆ ที่ไม่หักโหมมาก เช่น การเล่นโยคะ จะช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้น อีกทั้งช่วยผ่อนคลาย ลดความเครียด ความกังวล ความเหงาลงได้

อารมณ์คนท้องไตรมาส 3

ท้องไตรมาส 3 อายุครรภ์ 7-9 เดือน คุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า และทารกในครรภ์เริ่มมีพัฒนาการทารกอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่มีท้องที่ใหญ่มาก ส่งผลให้การเคลื่อนไหว ลุก นั่งลำบาก ไม่คล่องแคล่วเหมือนเคย และหายใจถี่มากขึ้น และคุณแม่จะเริ่มมีความกังวลกับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นในคนท้อง เช่น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ปัญหาภาวะน้ำคร่ำ ท้องแข็ง มีมูกเลือด และเกิดความกังวลเกี่ยวกับการคลอดที่จะมาถึงในไม่ช้า กังวลถึงอนาคตในการเลี้ยงลูก ซึ่งเรียกได้ว่า ช่วงท้องไตรมาส 3 คุณแม่จะต้องรับมือหนักทั้งสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจ ซึ่งความกังวลต่างๆ เหล่านี้ อาจทำให้คุณแม่เกิดความเครียดมากขึ้น จนไม่สามารถรับมือได้เอง

“ข้อแนะนำ” คนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว เพื่อน สามีควรช่วยดูแล เอาใจใส่ทั้งสุขภาพร่างกายและอารมณ์ของคนท้องมากขึ้นกว่าเดิม และคอยสังเกตพฤติกรรม ลักษณะอาการที่คนท้องแสดงออกมา อาจบอกได้ว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า และคนท้องเองก็ควรสังเกตตนเองด้วยเช่นกัน ทั้งด้านสุขภาพจิตใจ หากรู้สึกว่ารับมือกับความเครียด ความกังวลไม่ได้ อาจขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญทันทีจะดีที่สุด และควรหมั่นสังเกตสุขภาพตนเอง หากพบว่า มีมูกเลือด มีน้ำเดิน ลูกดิ้นน้อยลง ควรรีบทำการพบแพทย์ทันที

เช็ก! อาการที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้า  

( https://link.healthsmile.co.th/9c2 )

อารมณ์คนท้อง หากไม่รับมือ ระวัง! โรคซึมเศร้ามาเยือน ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทารกในครรภ์

คนท้องจะเห็นได้ว่า แต่ละไตรมาส ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และคนท้องอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย เพราะระดับฮอร์โมนคนท้องที่สูงขึ้น ทำให้คุณแม่หลีกเลี่ยงได้ยาก นำมาซึ่งความเครียด ความวิตกกังวล ซึ่งหากคุณแม่ไม่รู้จักวิธีรับมือ หรือจัดการกับความเครียด ความวิตกกังวล อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ และต่อเนื่องเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดได้

ภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ แน่นอนว่าทำให้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ และเกิดความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนรอบข้าง มีปัญหาครอบครัว ที่สำคัญคุณแม่ที่มีความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าสูงในระหว่างตั้งครรภ์ จะส่งผลให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด ส่งไปถึงทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทารก ด้านสติปัญหา ด้านอารมณ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทารกอาจมีภาวะอารมณ์แปรปรวน และมีพฤติกรรม ความรู้สึก นึกคิด ที่ผิดแปลกจากคนทั่วไปในระยะยาวเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

ดังนั้น การดูแลอารมณ์คนท้องให้มีภาวะสุขภาพจิตที่ดี จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพร่างกาย เพราะหากรับมือได้ ก็เลี่ยงโรคซึมเศร้า และลดผลเสียต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลทางอ้อมต่อคุณภาพชีวิตของลูกน้อย เพราะคุณแม่ที่มีความสุข ก็จะสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ดี และส่งเสริมพัฒนาการทารกได้ดีตั้งแต่ในครรภ์ และเมื่อคลอดก็จะเลี้ยงลูกด้วยความสุข ทำให้ลูกมีสุขภาพจิตใจที่ดีตามไปด้วย

การเตรียมพร้อมจิตใจคุณแม่ ตั้งแต่การดูแลอารมณ์คนท้องระยะแรก ถือเป็นปัจจัยแรกที่เราสามารถเตรียมส่งเสริมพัฒนาการทารกได้นะคะ ดังนั้น มาดูแลสุขภาพจิตใจ รับมือกับทุกความกังวลช่วงตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ ไปกับนักจิตวิทยาคลินิกจาก HealthSmile กันค่ะ คุณแม่จะได้รับการประเมินโรคซึมเศร้า และพูดคุย ปรึกษา เพื่อหาแนวทางรับมือกับภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ สนใจทักหาเราได้ที่ 📱 Line ID : @healthsmilecenter

หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ👉https://lin.ee/CDUgd8d

📂บทความที่เกี่ยวข้อง 📂

ปั้นลูกให้มีพัฒนาการดีตั้งแต่ในครรภ์ คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ ทำได้ไม่ยากอย่างที่คิด! (https://healthsmile.co.th/blog/%e0%b8%9b%e0%b8%b1%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%a5%e0%b8%b9%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b9%89%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b8%b2%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b8%94%e0%b8%b5/ )

แม่ท้องระวัง! เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงภาวะแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์ (https://healthsmile.co.th/blog/%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%97%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%87-%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%b2%e0%b8%ab%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%82%e0%b8%93%e0%b8%b0/ )

เป็นแม่ควรจะอิ่มเอิบใจ แต่ทำไมกลับเศร้า อาจเป็นเพราะ “ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด” (https://healthsmile.co.th/blog/why-mother-feel-sad-post-partum-blue-baby-blue/ )