เมื่อเปลี่ยนบทบาทเข้าสู่ความเป็น “แม่” หลายคนคาดหวังถึงครอบครัวสุขสันต์ มีความสุข ตื่นเต้นที่ได้ให้กำเนิดลูกน้อย แต่ทำไมความรู้สึกกลับพลิกผัน ความรู้สึกสับสน เศร้า เหงา จึงมาแทนที่ความสุข หรือแค่เป็นเพราะ…ฮอร์โมนคนท้องเปลี่ยนแปลง อารมณ์คนท้องแปรปรวน

คนท้องอารมณ์แปรปรวน คุณแม่หลายท่านมักเกิดความชะล่าใจ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ เดี๋ยวก็ดีขึ้น เดี๋ยวก็หายเมื่อคลอดลูก ทำให้มองข้าม ปล่อยผ่านภาวะเครียดตอนท้อง ขาดการดูแลเอาใจใส่สุขภาพจิตใจของตนเอง แต่รู้หรือไม่ว่า การไม่รู้จักวิธีรับมือ จัดการกับอารมณ์แปรปรวนช่วงตั้งครรภ์ อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอดได้

ภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ น่ากลัวกว่าที่คิด หากยังไม่รู้จักรับมือ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจคุณแม่ และยังส่งผลให้ความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวลดลง โดยเฉพาะกับผู้เป็นสามี ที่สำคัญส่งผลต่อพื้นฐานด้านอารมณ์ จิตใจ พัฒนาการทารกในครรภ์ ไปจนถึงเติบโตอีกด้วย

บทความนี้จึงอยากพาหญิงตั้งครรภ์ทุกท่าน ไปลองสำรวจพฤติกรรม ลักษณะอาการที่แสดงออกมาช่วงตั้งครรภ์ แล้วทำแบบประเมินความเครียด เพื่อเช็กว่า เข้าข่ายอาการซึมเศร้าหรือไม่ พร้อมเตรียมวิธีรับมือกับอารมณ์ของคนท้อง ที่อาจนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอด

รู้หรือไม่? หญิงตั้งครรภ์ 1 ใน 4 ( 14 – 23 % ) มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์

ตามสถิติของ The American Congress of Obstetricians and Gynecologists ( AGOG ) ได้ระบุว่าหญิงตั้งครรภ์ 1 ใน 4 ( 14 – 23 % ) มีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ได้ โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ปัญหาภายในครอบครัว มีภาวะแทรกซ้อนช่วงตั้งครรภ์ เป็นต้น และองค์การอนามัยโลก ได้ระบุอีกว่า 1 ใน 5 ของหญิงตั้งครรภ์หลังคลอดบุตร ในประเทศกำลังพัฒนา มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และตัวเลขอาจเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จักกับวิธีรับมือ และได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีจากจิตแพทย์

อ่านเพิ่มเติม : ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ( https://healthsmile.co.th/blog/why-mother-feel-sad-post-partum-blue-baby-blue/ )

คนท้องต้องรู้! “ไม่ใช่แค่ฮอร์โมนคนท้อง” ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์

คนท้องหลายท่าน อาจจะคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากฮอร์โมนคนท้อง ส่งผลให้คนท้องอารมณ์แปรปรวน จนนำไปสู่ภาวะเครียดตอนท้อง แต่จริงๆ แล้วสาเหตุการเกิดโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยทางด้านฮอร์โมนภายในร่างกาย

คนท้องจะมีฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นกว่าปกติหลายเท่า ทำให้ระดับสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) สารสื่อประสาทในกลุ่มแคททิโคลามีน (cathecholamines) โดยเฉพาะนอร์อิพิเนฟริน (norepinephrine) มีความไม่สมดุล ส่งผลให้คนท้องอารมณ์แปรปรวนตามมา จึงมีแนวโน้มเกิดภาวะโรคซึมเศร้า

ปัจจัยทางด้านสุขภาพจิตก่อนตั้งครรภ์

ประวัติก่อนตั้งครรภ์ ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ได้ โดยคนท้องที่เคยมีประวัติการเจ็บป่วยทางจิตเวช ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ความกังวลต่อรูปร่างที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงการถูกคุมคามทางเพศ การถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนตั้งครรภ์ ถือว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะโรคซึมเศร้า หรือมีอาการของโรคทางจิตเวชที่เป็นอยู่เกิดอาการรุนแรงขึ้น

ปัจจัยทางด้านจิตใจช่วงตั้งครรภ์

เมื่อมีการเปลี่ยนบทบาทเข้าสู่ความเป็นแม่ คนท้องหลายคนมักมีความคาดหวังว่าการมีลูกจะเติมเต็มความสุข เพราะภาพครอบครัวสุขสันต์จากสื่อต่างๆ สะท้อนถึงความสุขในการมีลูก การให้กำเนิดลูก แต่ในความเป็นจริงความรู้สึกกลับไม่สอดคล้องกับความคาดหวัง เพราะรู้สึกว่า “ตนเองอาจเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ” ทำให้คนท้องรู้สึกผิดหวังที่ตนไม่ได้รู้สึกเช่นนั้น จึงส่งผลให้คนท้องเกิดภาวะโรคซึมเศร้าได้

ปัจจัยทางด้านสังคม

หากคุณแม่ขาดคนรอบข้างที่คอยสนับสนุน ให้กำลังใจ ยิ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากคุณแม่อาจรู้สึกว่าไม่มีคนคอยช่วยเหลือ คอยรับฟัง หรือคอยอยู่ข้างๆ เมื่อมีปัญหา ทำให้คุณแม่เกิดความรู้สึกเหงา และโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทัศนคติเชิงลบของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สามี เพื่อน สังคมการทำงาน ก็ส่งผลต่อโรคซึมเศร้าในคนท้องได้เช่นเดียวกัน

จะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ของคนท้อง ที่เกิดจากฮอร์โมนคนท้องเพียงอย่างเดียว ซึ่งสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อการเกิดภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ได้เช่นกัน หรือเมื่อมีภาวะเครียดตอนท้องจากเรื่องต่างๆ แต่ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาทางสุขภาพจิต จึงไม่ได้มีการรับมือ จัดการกับความรู้สึก อารมณ์ของคนท้อง ส่งผลให้เกิดอาการโรคซึมเศร้าตามมาได้

ภาวะซึมเศร้ายิ่งรู้เร็ว ยิ่งรับมือได้ทัน! เช็กก่อนชัวร์กว่า ภาวะซึมเศร้าอาการเป็นอย่างไร

ภาวะซึมเศร้าอาการเป็นอย่างไร? คนท้องหลายท่าน เมื่อมีอาการเศร้า กังวล หงุดหงิด อาจจะยังสับสน ลังเลว่า อารมณ์ของคนท้องที่ตนเองเป็นอยู่ เข้าข้ายอาการซึมเศร้าหรือไม่ ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับอารมณ์คนท้องเบื้องต้น ที่คนท้องสามารถทำได้เอง คือการสังเกตพฤติกรรม ลักษณะอาการของตนเอง แล้วลองทำแบบประเมินความเครียด เพื่อทราบว่าตนเองเข้าข่ายอาการซึมเศร้าแล้วหรือยัง หากใช่จะได้หาวิธีจัดการกับอาการซึมเศร้าได้ทันท่วงที

เช็กอาการเสี่ยงโรคซึมเศร้าตามเกณฑ์ DSM-V หรือการวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าของสมาคมจิตเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) โดยใช้เกณฑ์ของ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders V (DSM-V) ซึ่งหากเข้าข่ายภาวะซึมเศร้าจะมีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัย ดังนี้  

1.มีอาการซึมเศร้า โดยมีอาการเกือบทั้งวัน

2.ความสนใจ หรือความเพลิดเพลินในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก

3.เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง หรือเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ใน 1 เดือน

4.นอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากกว่าปกติ

5.กระวนกระวาย หรือทำอะไรเชื่องช้าลง

6.อ่อนเพลียไม่มีแรง

7.รู้สึกตนเองไร้ค่า หรือรู้สึกผิดอย่างไม่สมเหตุสมผล

8.สมาธิลดลง หรือเกิดความลังเลใจ

9.มีความคิดเรื่องการตาย หรือการฆ่าตัวตาย

ถ้าหากหญิงตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ขึ้นไป ไม่ว่าจะมาก หรือน้อย ถือเป็นความเสี่ยงภาวะซึมเศร้า ควรพบนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป

ดังนั้น การสังเกตพฤติกรรม ลักษณะอาการของตนเองในเบื้องต้น จะช่วยให้คนท้องรู้ว่าอารมณ์ ความรู้สึกมีความผิดปกติไปจากเดิมหรือไม่ พร้อมทั้งสามารถทำแบบประเมินความเครียดข้างต้นได้ถูกต้องตามความรู้สึก พฤติกรรมที่เป็นอยู่จริง หรือหากใครไม่มั่นใจก็สามารถเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตกับนักจิตวิทยาโดยตรงได้ เพื่อวัดผลที่แม่นยำมากขึ้น ทั้งนี้คนรอบข้างเองก็สามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการโรคซึมเศร้าในคนท้องได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการหมั่นสังเกตพฤติกรรม อารมณ์คนท้อง ที่อาจเข้าข่ายความเสี่ยงโรคซึมเศร้าตามเกณฑ์ DSM-V

ภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ อันตรายกว่าที่คิด ผลกระทบต่อพัฒนาการทารกในครรภ์

หญิงตั้งครรภ์ หลายๆ ท่าน อาจไม่ได้ตระหนักถึงภาวะเครียดตอนท้อง จนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ส่งผลให้เกิดผลเสียตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาทิ หญิงตั้งครรภ์อาจเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ และนอกจากนี้สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ ได้รายงานว่า ภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์อาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ ดังนี้

●ทารกเกิดมามีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์

●ทารกคลอดก่อนกำหนด

●ทารกเกิดมามีพัฒนาการเรียนรู้บกพร่อง

●ทารกในครรภ์มีพัฒนาการช้า

อารมณ์แม่ส่งผลต่ออารมณ์ พัฒนาการทารกในครรภ์อย่างไร

สุขภาพจิตใจ และอารมณ์ของคุณแม่เป็นตัวหล่อหลอมว่า เมื่อเด็กโตขึ้น จะมีสุขภาพจิต บุคลิกภาพ หรือมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์แบบไหน เนื่องจากสุขภาพจิตของเด็กจะถูกปลูกฝัง และพัฒนามาตั้งแต่ช่วงที่คุณแม่กำลังตั้งครรภ์

จากงานวิจัยล่าสุดของประเทศฟินแลนด์ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่คุณแม่มีภาวะเครียดตอนท้องระดับรุนแรง ทำให้ลูกที่เกิดมามีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ เช่น มีความผิดปกติทางจิตที่แสดงออกมาในรูปแบบของพฤติกรรม การนึกคิด และความรู้สึกที่ผิดแปลกไปจากคนทั่วไปมากขึ้น 9.53 เท่า และแม่มีภาวะเครียดตอนท้องระดับปานกลาง โอกาสเกิดภาวะผิดปกติทางบุคลิกภาพของลูกอยู่ที่ 4 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มแม่ตั้งครรภ์ที่ไม่มีภาวะเครียดตอนท้องเลย

นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยอื่นๆ พบว่า คุณแม่ที่มีความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรงในช่วงตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ร่างกายเกิดการหลั่งฮอร์โมนความเครียด เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ที่สูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ ส่งผลต่อสติปัญญาของเด็ก พัฒนาการทางด้านอารมณ์ ที่อาจมีภาวะอารมณ์แปรปรวน และพฤติกรรมการแสดงออกของเด็กในระยะยาวเมื่อเขาเติบโตขึ้น

ดังนั้น การดูแลสุขภาพจิตใจของคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการโรคซึมเศร้า จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการพัฒนาบุคลิกภาพของเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีสุขภาพจิตใจที่ดี และมีพื้นฐานทางอารมณ์ที่มั่นคง การเตรียมสุขภาพจิตใจคุณแม่ให้พร้อม ถือเป็นปัจจัยแรกที่สามารถเตรียมพร้อมพัฒนาการทารกในครรภ์ได้

ภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ รักษาอย่างไร

การรักษาโรคซึมเศร้า คนท้องอาจจะไม่สามารถจัดการ รับมือได้เอง อาจจะต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาโรคซึมเศร้ากับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งวิธีรักษาจะเหมือนกับการรักษาโรคซึมเศร้าทั่วๆ ไป ดังนี้

1.ให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัดเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น เช่น การบำบัดด้านความคิดและพฤติกรรม (CBT) การบำบัดด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

2.การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนต่าง ๆ

3.การบำบัดด้วยการกระตุ้นสมอง เช่น การกระตุ้นด้วยคลื่นไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy) ซึ่งเป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าชนิดอ่อนเข้าสู่สมอง

4.การใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า สำหรับวิธีนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการปรึกษา และอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อดูแล และป้องกันถึงผลข้างเคียงของยาบางชนิดที่อาจส่งผลกระทบต่อตัวคุณแม่ และลูกน้อยในครรภ์

ดังนั้น หากคุณแม่ไม่อยากเสี่ยงเกิดอาการโรคซึมเศร้า แนะนำ ดูแลสุขภาพจิตใจช่วงตั้งครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยงโรคซึมเศร้า ที่อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของคุณแม่ รวมไปถึงทารกในครรภ์  

รับมืออย่างไร? เมื่อคุณแม่รู้สึกเครียด กังวล หงุดหงิด

1. ทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ

เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือละคร หรือทำกิจกรรมใหม่ๆ ที่อยากลอง เช่น งานศิลปะ จัดดอกไม้ วาดรูป เล่นโยคะ จะช่วยให้คุณแม่ไม่หมกมุ่นกับความรู้สึกเครียด และหลีกเลี่ยงการเกิดอาการโรคซึมเศร้า  


2. หาคนพูดคุย ระบายความอึดอัดให้ใครสักคนฟัง  

เช่น สามี คนในครอบครัว เพื่อนๆ หรือคุณแม่ที่ตั้งครรภ์เหมือนกัน เพื่อระบายความอึดอัด ความกังวลภายในใจ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นการลดโอกาสเกิดอาการโรคซึมเศร้าในหญิงตั้งครรภ์ได้ดีระดับหนึ่ง


3. นึกถึงลูกในครรภ์

เมื่อเกิดภาวะเครียดตอนท้องการนึกถึงลูกน้อยที่รัก จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายได้ และการลูบ การสัมผัสหน้าท้อง พร้อมพูดคุยกับลูกในท้องบ่อยๆ จะช่วยให้ผ่อนคลายได้มากขึ้น อีกทั้งช่วยกระตุ้นพัฒนาการทารกในครรภ์อีกด้วย


4. สร้างความสุขให้ตัวเอง

ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านกับสามี เพื่อน หรือคนในครอบครัว อย่างการนัดกินข้าวกับเพื่อน ชวนสามีไปเที่ยวต่างจังหวัด ทำกิจกรรมร่วมกับคนที่รัก จะช่วยให้ผ่อนคลาย ลดโอกาสการเกิดอาการโรคซึมเศร้าได้


5. คิดบวก

ไม่เก็บเรื่องต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ มาคิดให้เกิดความเครียด ความกังวล หมั่นฝึกจิตใจให้มองโลกในแง่บวกกับทุกๆ เรื่องที่ทำให้เครียด จะช่วยให้ผ่อนคลายลงได้

6. นั่งสมาธิ

การนั่งสมาธิ ส่งผลดีต่อแม่ และลูกในครรภ์ เพราะเมื่อนั่งสมาธิคุณแม่จะรู้สึกสงบมากขึ้น ลดโอกาสเกิดอาการโรคซึมเศร้า พร้อมทั้งทำให้ลูกน้อยในครรภ์รู้สึกสงบตามไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทารกในครรภ์ที่ดีทั้งด้านสมอง และจิตใจ

👩‍⚕📋 หากคุณแม่รู้สึกว่าช่วงตั้งครรภ์กำลังประสบปัญหาทางสุขภาพจิต อยากปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่มั่นใจว่า ภาวะเครียดตอนท้องที่เป็นอยู่ เข้าข่ายอาการซึมเศร้าหรือไม่ หรืออยากทราบว่าอาการโรคซึมเศร้า มีลักษณะอาการเหมือนที่เป็นอยู่หรือไม่ คุณแม่สามารถทำแบบทดสอบ แบบประเมินความเครียดกับนักจิตวิทยาคลินิกโดยตรงกับทาง HealthSmile พร้อมพูดคุย ปรึกษาถึงความกังวล เพื่อวางแผนแนวทางการช่วยเหลือจากนักจิตวิทยาคลินิก ได้ที่ 📱 Line ID : @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ👉https://lin.ee/CDUgd8d

เขียนโดย ปรางค์ทิพย์ ทาบุราณ content creator

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการแพทย์ในบทความ โดย วริษฐา ถิ่นถลาง นักจิตวิทยาคลินิก และ นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565