Last Updated on 22 ธันวาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์

ประวัติทางการแพทย์ส่วนบุคคล หรือประวัติครอบครัวของบุคคลที่อาจมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งทางที่ถ่ายทอดทาางพันธุกรรม ได้แก่:

  • เป็นมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อยผิดปกติ
  • เป็นมะเร็งหลายประเภทเกิดขึ้นในคนคนเดียวกัน
  • เป็นมะเร็งในอวัยวะทั้งสองข้าง เช่น ไตทั้งสองข้างหรือหน้าอกทั้งสองข้าง
  • ญาติสายตรงหลายคน (พ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกๆ) เป็นมะเร็งประเภทเดียวกัน (เช่น แม่ ลูกสาว และน้องสาวที่เป็นมะเร็งเต้านม) สมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ สมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • เกิดกรณีที่พบไม่บ่อยของมะเร็งบางประเภท (เช่น มะเร็งเต้านมในผู้ชาย)
  • มีความบกพร่องแต่กำเนิดที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอาการของมะเร็งที่สืบทอดมา เช่น ก้อนที่ผิวหนัง และความผิดปกติของโครงกระดูกที่เกิดจากโรคท้าวแสนปม (นิวโรไฟโบรมาโทซิส ประเภทที่ 1 : Neurofibromatosis type 1)
  • มีเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์ ที่ทราบกันว่ามีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งที่สืบทอดมาในครอบครัวเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยงข้างต้นอย่างน้อยหนึ่งอย่าง
  • สมาชิกในครอบครัวหลายคนที่เป็นมะเร็ง

หากใครมีความกังวลว่าพวกเขาจะเสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในครอบครัวของตน เบื้องต้นแนะนำให้สมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งควรได้รับคำปรึกษาและการทดสอบทางพันธุกรรมก่อน เพื่อจะได้ทราบว่าคนที่เป็นมะเร็งนั้นมียีนที่จะส่งต่อให้ในครอบครัวหรือไม่ หรือเกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สืบทอดมา

การตรวจยีนมะเร็ง มักจะมีประโยชน์ และให้ข้อมูลได้มากกว่า หากสามารถตรวจในสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็งแล้วในอดีตหรือปัจจุบัน มากกว่าการตรวจในคนที่ไม่เคยเป็นมะเร็ง

หากพบว่าบุคคลในครอบครัวมียีนที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว สมาชิกในครอบครัวที่เหลือควรพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมด้วย แม้ว่าพวกเขาจะ (ยัง) ไม่เป็นมะเร็งก็ตาม การทราบถึงความเสี่ยงอาจช่วยป้องกันมะเร็งในอนาคตได้