Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
เมื่อสัมผัสแรกของคำว่า “แม่” ชีวิตย่อมแปรเปลี่ยนไปจากเดิม จึงเป็นธรรมดาที่หญิงตั้งครรภ์จะเกิดความกังวลมากกว่าปกติ เช่น กังวลว่าจะทำหน้าที่แม่ไม่ดีพอ กังวลความสัมพันธ์กับสามี กังวลร่างกายเปลี่ยนไปจากเดิมไม่เหมือนเมื่อก่อน ทำให้แม่ท้องหลายท่านอาจรับมือไม่ทันกับความรู้สึกเหล่านี้ และส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกตนเอง ยิ่งนานไปความกังวลเหล่านี้ย่อมสะสม จนแม่ท้องอาจตกอยู่ในภาวะเครียด สำคัญไปกว่านั้น หากแม่ท้องไม่รู้จักรับมือกับความเครียดที่กำลังเผชิญ โรคจิตเวชอาจมาเยือนไม่รู้ตัวได้ค่ะ ดังนั้น ครั้งนี้เราขออาสาพาหญิงตั้งครรภ์ทุกท่านไปทำความรู้จักกับ 4 โรคจิตเวชให้มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้เร็วยิ่งขึ้น
ทำความรู้จัก โรคจิตเวชคืออะไร
โรคจิตเวชคือ อาการป่วยทางจิตชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากความรู้สึก นึกคิด หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องทนทุกข์และส่งผลกระทบถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการของโรคทางจิตเวชมีแนวโน้มเป็นต่อเนื่องระยะยาว หรือหายแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เมื่อขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางสาธารณะสุขและองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้ความสำคัญของโรคทางจิตเวช เพราะโรคจิตเวชคือโรคที่พบได้บ่อย และส่งผลกระทบต่อร่างกาย และจิตใจอย่างมาก นำมาซึ่งการสูญเสีย
จากการสำรวจขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคทางจิตเวชจัดเป็นโรคที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเวชเรื้อรังจะสูญเสียความสามารถเทียบเท่าได้กับผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต นี่จึงเป็นสาเหตุที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการรณรงค์ให้ความรู้ถึงเรื่องนี้กันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคทางจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต มีด้วยกันหลายปัจจัย ดังนี้
ปัจจัยอะไรบ้างที่ส่งผลให้เกิดโรคจิตเวช หรืออาการป่วยทางจิต
1. การทำงานของสมองผิดปกติ
ระบบประสาทหลั่งสารสื่อประสาท (Neurotransmitters) มีระดับมากหรือน้อยเกินไป จึงกระทบต่อการทำงานของสมอง สะท้อนความผิดปกติออกมาในรูปแบบพฤติกรรม ความคิดและอารมณ์
2.การบาดเจ็บทางสมอง
สาเหตุอาจเกิดจากโรคทางร่างกาย จึงส่งผลต่อเนื่องไปยังสมอง เช่น ผู้ที่เป็นโรคลมชัก หรือการใช้สารเสพติด ติดสุรา เป็นผลให้ทำลายระบบประสาทและสมอง ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้า กังวล เหม่อลอย
3.การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด
หญิงตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) จะเพิ่มขึ้นและลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยที่เพิ่มโอกาสความผิดปกติทางอารมณ์ ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่ายขึ้น
4.เกิดเหตุการณ์สะเทือนใจในวัยเด็ก
ส่งผลให้จิตใจบอบช้ำอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดภายในครอบครัว เช่น เห็นพ่อแม่ถูกทำลายร่างกาย หรือเคยประสบอุบัติเหตุ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกรังแก ถูกทำร้ายร่างกาย
5.มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตครอบครัวที่ไม่ดีนัก
พ่อแม่หย่าร่าง หรือหย่าร่างกับภรรยาหรือสามี ทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวย่ำแย่
6.ความเป็นจริงสวนทางกับค่านิยมในปัจจุบัน
ค่านิยมในปัจจุบันมองว่า ผู้หญิงผอมถึงจะสวย เมื่อมีรูปร่างที่อ้วนขึ้น จึงเกิดความเครียด ความกังวลใจตามมา
7.ความเครียด ความกดดันจากสภาพแวดล้อมและจากความรู้สึก นึกคิดของตนเอง
การว่างงาน มีปัญหาการเงิน ไม่มีความหยืดหยุ่นต่อเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต หรือมักรู้สึกกังวลกับเรื่องเล็กน้อย
การเกิดโรคทางจิตเวชมีปัจจัยมากมายเลยค่ะ ซึ่งทุกๆ คน รวมถึงแม่ท้องเองก็สามารถเป็นได้ และเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากๆ โดยเฉพาะแม่ท้อง ดังนั้น เราเลยอยากชวนแม่ท้องทุกๆ คน มาเริ่มทำความรู้จักกับ 4 โรคจิตเวช เพื่อรู้ทันสาเหตุและอาการ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้เร็ว ซึ่งเราได้คัดมาแล้วว่า มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับแม่ท้องในช่วงตั้งครรภ์ จนถึงหลังคลอดเลยค่ะ
4 โรคจิตเวช มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
- โรควิตกกังวล (Anxiety disorder)
- โรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar)
- โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD (Obsessive-Compulsive Disorder)
1.โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
ภาวะโรคซึมเศร้าถือเป็นหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในคนท้อง เนื่องจากอีกปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มโอกาสเกิดอาการซึมเศร้าในแม่ท้อง คือ ระดับฮอร์โมนในร่างกายอย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนสูงขึ้นกว่าปกติหลายเท่า ทำให้ระดับสารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) มีความไม่สมดุล ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ เมื่อมีบางสิ่งมากระทบกระเทือนจิตใจ จึงทำให้แม่ท้องรู้สึกอ่อนไหว เครียด ท้อแท้ได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ไม่เพียงเท่านี้หลังคลอดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างรวดเร็ว แม่ท้องจึงมีอารมณ์อ่อนไหวได้ง่าย วิตกกังวล หงุดหงิดง่ายเช่นเดียวกับช่วงตั้งครรภ์ ภาวะนี้เรียกว่า อาการเบบี้บลู (Baby Blue)
ส่วนมากผู้ที่เข่าข่ายภาวะซึมเศร้าจะมีภาวะซึมเศร้าอาการเกือบทั้งวัน ไม่สนุกกับกิจกรรมรอบตัว เบื่ออาหารหรือกินมากเกินไป นอนไม่หลับหรือนอนหลับมากกว่าปกติ กระวนกระวาย คิดหรือทำอะไรช้าลง สมาธิลดลง รู้สึกไร้ค่าแบบไม่มีเหตุผล คิดเกี่ยวกับการตาย โดยมีอาการต่อเนื่อง 2 สัปดาห์ขึ้นไป หากแม่ท้องท่านใดมีอาการใดอาการหนึ่ง เบื้องต้นแนะนำควรได้รับการประเมินอาการจากจิตแพทย์ เพื่อรับการทดสอบทางการแพทย์อย่างถูกต้อง และหากพบว่าอยู่ในภาวะโรคซึมเศร้าจะได้เข้าสู่กระบวนรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
1.1 หญิงตั้งครรภ์เป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) ส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
การเกิดภาวะโรคซึมเศร้าช่วงตั้งครรภ์ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดครรภ์เป็นพิษ แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด อีกทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสมองทารกในครรภ์ และถือเป็นพื้นฐานอารมณ์เด็กเมื่อเติบโตขึ้นได้ และจากงานวิจัยล่าสุดของประเทศฟินแลนด์ พบว่า แม่ท้องที่มีภาวะเครียดตอนท้องระดับรุนแรง ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีโอกาสเกิดความผิดปกติทางด้านจิตใจ โดยจะแสดงออกมาในรูปแบบพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึกที่แตกต่างจากคนทั่วไปมากถึง 9.53 เท่า
1.2 การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder)
การรักษาจะแบ่งจากระดับความรุนแรงของภาวะอาการซึมเศร้า ซึ่งหากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่า มีภาวะซึมเศร้าอาการเล็กน้อย ภาวะซึมเศร้าอาการไม่ได้เข้าขั้นรุนแรงมาก อาจใช้วิธีรักษาด้วยการทำจิตบำบัด และแนะนำแม่ท้องทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด โดยอาจไม่ได้พึ่งยารักษา แต่ในกรณีที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่า แม่ท้องมีอาการซึมเศร้าอยู่ในระดับปานกลางถึงระดับรุนแรง อาจทำการรักษาโดยการทำจิตบำบัดร่วมกับการใช้ยารักษา ซึ่งแพทย์จะต้องพิจารณาให้ยารักษาอย่างปลอดภัยต่อแม่ท้องและทารกในครรภ์
2.โรควิตกกังวล (Anxiety disorder)
โรควิตกกังวลเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบว่า อัตราการเกิดโรควิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์ไม่ต่างจากคนทั่วไป ซึ่งหลายคนรวมถึงแม่ท้องเองอาจเกิดความเอะใจเมื่อได้ยินชื่อโรคและสับสนว่าอาการกังวลที่เป็นอยู่ตอนนี้เข้าข่ายอาการโรควิตกกังวลหรือไม่ เพราะแม่ท้องเองจะมีเรื่องให้คิดมากมาย ไหนจะคิดเรื่องลูก เรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ แถมยังมีเรื่องคนรอบข้างที่เข้ามาให้ปวดหัวไม่หยุดหย่อน แต่ช้าก่อนค่ะ อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปกันใหญ่ เพราะโรควิตกกังวล คือ โรคที่เกิดจากสภาวะจิตใจที่กำลังว้าวุ่น เพราะคิดกังวลกับเรื่องต่างๆมากจนเกินเหตุ และไม่สามารถควบคุมความคิด ความรู้สึกกังวลได้ ซึ่งอาการวิตกกังวลนี้จะเกิดขึ้นมากกว่าปกติตามธรรมชาติของมนุษย์ และอาจส่งผลกระทบถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน
โดยโรควิตกกังวลอาการของผู้ที่เข้าข่าย ส่วนมากจะมีอาการวิตกกังวลมากเกินไป พะวงกับเรื่องนั้นๆตลอดเวลา ไม่สามารถหยุดคิดได้ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แม้สิ่งกระตุ้นความเครียดหมดไป แต่ความกังวลยังคงอยู่ โดยอาจมีอาการหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น มือสั่น ตัวสั่น ท้องปั่นป่วน ลุกลี้ลุกลนร่วมด้วย
2.1 หญิงตั้งครรภ์เป็นโรควิตกกังวล (Anxiety disorder) ส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
อาการวิตกกังวลในแม่ท้องอย่างรุนแรงและมีอาการวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์และคุณแม่ได้ค่ะ เช่น วิตกกังวลอย่างต่อเนื่องจนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด และเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ นอกจากนี้ส่งผลให้คลอดก่อนกำหนด ทารกในครรภ์โตช้า มีพัฒนาการด้านร่างกายและระบบประสาทล่าช้า หรือหลังคลอดทารกมีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน เป็นต้น
2.2 การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรควิตกกังวล (Anxiety disorder)
แม่ท้องที่มีอาการโรควิตกกังวล ต้องได้รับการรักษาด้วยการบำบัดจิต และบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม หรือบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย แต่การพิจารณาแพทย์จะทำอย่างเหมาะสมและเห็นสมควรเท่านั้น เพราะการใช้ยามีข้อจำกัด และควรคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดในหญิงตั้งครรภ์
3.โรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar)
อารมณ์สองขั้วหรือโรคไบโพลาร์ คือ อีกหนึ่งโรคที่อยู่ในกลุ่มแสดงออกทางด้านอารมณ์เช่นเดียวกับอาการโรคซึมเศร้า ซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นได้กับแม่ท้อง เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์ภาวะฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่ออารมณ์คนท้อง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายสลับกัน หรือคนทั่วไปเรียกว่า อาการไบโพลาร์ ซึ่งโรคไบโพลาร์สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของสารสื่อประสาท โดยในช่วงอารมณ์ซึมเศร้า สารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) และสารนอร์เอพิเนฟริน (Epinephrine) จะต่ำลง ส่วนในช่วงอารมณ์ร่าเริง สารสื่อประสาทซีโรโทนิน (Serotonin) จะต่ำลง แต่สารนอร์เอพิเนฟริน (Epinephrine) จะสูงขึ้น นอกจากนี้โรคไบโพลาร์สาเหตุเกิดจากความเครียดที่สะสมก็ได้เช่นกัน และหากแม่ท้องเคยเป็นโรคอารมณ์สองขั้วมาก่อนจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโรคจิตหลังคลอดได้
โดยแม่ท้องที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ มีอาการซึมเศร้าและร่าเริงสลับกัน โดยบางช่วงมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้า บางช่วงอารมณ์ดีมาก คึกคัก ร่าเริง สนุกสนานมากกว่าปกติ คิดเร็ว พูดมากกว่าที่เคย วอกแวกง่าย ไม่รู้สึกง่วงนอน โดย 2 อารมณ์ จะอยู่นานอย่างน้อยเป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือน
3.1 หญิงตั้งครรภ์เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) ส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
แม่ท้องที่เป็นผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) ซึ่งแน่นอนอยู่แล้วว่า อาการส่วนหนึ่งคือโรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีจนน่าใจหาย ซึ่งอารมณ์ที่สวิงไปมาย่อมส่งผลต่อทารกในครรภ์ เช่น ทารกคลอดก่อนกำหนด มีภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ จากการตั้งครรภ์ และมีโอกาสที่โรคจะกำเริบขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด
3.2 การดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar)
การรักษาโรคอารมณ์สองขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ (Bipolar) ทางการแพทย์อาจทำการรักษาโดยการให้ยา ซึ่งการเลือกใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นอยู่กับอาการ การใช้ยารักษาบางชนิดอาจกระทบต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นการใช้ยาจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ในบางรายอาจมีการทำจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมร่วมด้วย
4.โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD (Obsessive-Compulsive Disorder)
โรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD คือหนึ่งโรคที่แม่ท้องหลายคนไม่ค่อยได้ยินหรือรู้จัก หากเคยได้ยิน หลายๆคนก็มักจะคิดว่า เป็นเพียงอาการย้ำคิดย้ำทำปกติ สามารถหายไปได้เอง ซึ่งจริงๆแล้วอาการย้ำคิดย้ำทำนี่แหละคือหนึ่งโรคจิตเวชค่ะ ซึ่งแม่ท้องก็มีแนวโน้มเกิดโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD นี้ได้เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากช่วงตั้งครรภ์แม่ท้องอาจจะกังวลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย รวมถึงสุขภาพตนเองและลูกน้อยในครรภ์มากเป็นพิเศษ จึงเกิดความกังวลภายในใจตลอดเวลา จนแสดงออกมาในรูปแบบพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ
โรคย้ำคิดย้ำ หรือโรค ocd อาการมักจะแสดงออกให้เห็นชัดเจนในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้คลอด แม่ท้องจึงเกิดอาการวิตกกังวลมากเป็นพิเศษ นำมาซึ่งพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ โดย ocd อาการของผู้ป่วยจะมีอาการย้ำคิด คือ การมีความรู้สึกหรือคิดวกวนกับเรื่องนั้นๆ ซ้ำๆ ไม่สบายใจ รู้สึกว่าตนเองอาจทำอะไรผิดไป หรือลืมทำอะไรหรือไม่จนเกิดความวิตกกังวลหรือทุกข์ใจเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่พฤติกรรมย้ำทำซ้ำๆ เพื่อลดความกังวลหรือความทุกข์ที่เกิดขึ้น เช่น กังวลว่ามือไม่สะอาด จึงล้างมืออยู่บ่อยครั้ง กังวลว่าลูกในท้องปกติดีหรือไม่ จึงต้องเช็กลูกดิ้นตลอดเวลาจนไม่เป็นอันจะทำอะไร ซึ่งหากอาการรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบด้านอื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ
4.1 หญิงตั้งครรภ์เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรค OCD (Obsessive-Compulsive Disorder) ส่งผลอย่างไรต่อทารกในครรภ์
หากอาการย้ำคิดย้ำทำไม่ได้รุนแรงมาก และไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางจิต อาจไม่กระทบต่อทารกในครรภ์ แต่ก็ไม่ควรวางใจนะคะ เพราะหากไม่หาวิธีรับมือหรือจัดการกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำของตนเอง ยิ่งนานวันอาการย้ำคิดย้ำทำอาจรุนแรงขึ้น กระทบต่อทารกในครรภ์ได้ค่ะ ซึ่งจะส่งผลในเรื่องของสุขภาพคุณแม่ โดยอาจทำให้แม่ท้องมีความวิตกกังวลตลอดเวลา เพราะคิดวกวนอยู่ในหัวถึงเรื่องนั้นๆ มากเกินไป จนกินไม่ได้นอนไม่หลับ สุขภาพของแม่ท้องแย่ตามมา ส่งผลไปถึงทารกในครรภ์ได้ เช่น ทารกในครรภ์โตช้า หรือแม่ท้องอาจคลอดก่อนกำหนด
4.2 โรคย้ำคิดย้ำทํารักษาอย่างไรในหญิงตั้งครรภ์
หากแม่ท้องมีอาการย้ำคิดย้ำทำ โดยอาการไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหาเวลาทำกิจกรรมยามว่างที่ช่วยให้ผ่อนคลาย จะช่วยให้แม่ท้องลืมโฟกัสสิ่งที่วิตกกังวลอยู่ได้ แต่ในกรณีที่อาการย้ำคิดย้ำทำเริ่มส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แม่ท้องควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษานะคะ ซึ่งการรักษาทางการแพทย์อาจใช้วิธีรักษาโดยการทำพฤติกรรมบำบัด แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรง โรคย้ำคิดย้ำทํารักษาโดยการใช้ยาร่วมกับการทำพฤติกรรมบำบัด ซึ่งการให้ยาจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
ผู้ป่วยโรคจิตเวช มีลูกได้ไหม
ผู้ป่วยโรคจิตเวชที่ได้รับการรักษาโดยการใช้ยาตามแพทย์สั่ง เชื่อว่า ย่อมมีความวิตกกังวล หรือสงสัยว่า ตนเองสามารถมีลูกได้หรือไม่ ซึ่งต้องบอกว่าควรทำการพิจารณาถึงความพร้อมทางร่างกาย อารมณ์และความคิดของตนเอง เพราะบางครั้งอาการที่เรากำลังเป็นอยู่อาจกระทบต่อพฤติกรรม ความคิด อารมณ์จนส่งผลต่อทารกในครรภ์ หรือแม่ๆ เองก็อาจจะมีความบกพร่องในการดูแลตนเองและลูกให้ดี
กรณีที่อยากมีลูกจริงๆ ควรวางแผนการมีบุตร โดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงการพิจารณาการให้ยาในหญิงตั้งครรภ์ และควรศึกษาวิธีดูแลตนเองอย่างเคร่งครัด ร่วมถึงการใช้ยาที่ปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากยาจิตเวชบางกลุ่ม สามารถผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อพัฒนาการสมองของทารกตั้งแต่ในครรภ์ จนถึงหลังคลอดได้
วิตกกังวล เครียด สับสน จะเป็นโรคจิตเวชไหม?
เบื้องต้นแนะนำคุณแม่ทำแบบสอบถามเพื่อตรวจโรคซึมเศร้าออนไลน์ และโรคจิตเวชอื่นๆ เพื่อเช็กว่าอาการที่เป็นอยู่ อยู่ในระดับรุนแรงหรือไม่ หรือมีแนวโน้มความเสี่ยงโรคจิตเวชมากน้อยแค่ไหน เริ่มทำแบบทดสอบ คลิกเลย ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย https://form.typeform.com/to/kAdPCxYr?typeform-source=healthsmile.co.th