Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
พฤติกรรมเด็กหวงของเล่น ชอบแย่งของเล่นกับเพื่อน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ของตัวเอง หรือแม้แต่ของเล่นตัวเองก็ไม่ยอมแบ่งปันให้กับเพื่อนๆ หรือพี่น้องเล่นด้วย จนทำให้ทะเลาะกัน เรื่องนี้คงทำให้ผู้ปกครองปวดหัวอยู่ไม่น้อยใช่ไหมคะ จนบางครั้งคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองเองก็อาจจะเผลอมีอารมณ์ ดุลูกหรือเผลอลงโทษลูก จากการทะเลาะกันระหว่างเด็กๆ แต่หากเราลองมาทำความเข้าใจอารมณ์ลูก และค่อยๆ สอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน เชื่อว่า ลูกจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ค่ะ
สาเหตุเด็กหวงของเล่น ชอบแย่งของเล่น
โดยธรรมชาติของเด็กแล้ว การแย่งของเล่น หวงของเล่นสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน และถือเป็นพัฒนาการด้านอารมณ์อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไป เขาจะเริ่มอยากเป็นเจ้าของทุกอย่าง ไม่เพียงแต่สิ่งของ แต่หมายรวมถึงพ่อแม่ของเขาด้วย ซึ่งเด็กอายุ 1 ขวบ ส่วนมากมักจะติดพ่อแม่ จึงหวงพ่อแม่กับเด็กคนอื่นๆ ส่วนเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป อาจแสดงพฤติกรรมหวงของเล่นมาก มากจนไม่ยอมแบ่งปันให้ใคร แม้กับพี่น้องด้วยกัน เพราะเด็กจะมองว่า ของเล่นเป็นส่วนสำคัญในชีวิตของเขา เมื่อมีคนมาแย่งของเล่นไป เขาจะแย่งของเล่นกลับทันที โดยไม่สนว่า อีกฝ่ายกำลังถือ หรือเล่นอยู่
การที่เด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา ทำให้พ่อแม่ หรือคนอื่นมองว่า เป็นเด็กไม่น่ารัก เป็นเด็กก้าวร้าว เอาแต่ใจ แต่ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่อย่าเพิ่งตัดสินเด็กเลยค่ะ เพราะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ จะยังแยกแยะเองไม่ได้ ว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ รวมถึงการรู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจต่อผู้อื่น เพราะสมองเขายังไม่ได้รับการพัฒนามากนัก ส่งผลให้อาจแสดงพฤติกรรมแย่งของเล่นของคนอื่น หวงของเล่นของตัวเองมากจนไม่รู้จักแบ่งปัน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสามารถสอนให้เด็กๆ เข้าใจและเรียนรู้ได้ค่ะ สามารถเกิดพฤติกรรมใหม่ ที่แบ่งปัน มีน้ำใจกับคนอื่นๆ ได้ค่ะ เพราะหากเด็กๆ ไม่ได้รับการสอน การแนะนำที่ถูกต้องในช่วงวัยนี้ จะส่งผลต่ออนาคต ทำให้เมื่อโตขึ้นจะควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ อาจเป็นเด็กก้าวร้าว เช่น เด็กทะเลาะกัน พี่น้องทะเลาะกัน อาจถึงขั้นลงไม้ลงมือ ปาข้าวของ หรือทำร้ายร่างกายกัน
การที่เด็กจะแสดงพฤติกรรมออกมาอย่างไร ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานอารมณ์ของเด็ก ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ วิธีเลี้ยงลูกและการอบรมสั่งสอนลูกของผู้ปกครอง ที่จะเป็นตัวบ่มเพาะ ขัดเกลาพฤติกรรม อารมณ์ ความคิดของเด็กๆ ดังนั้น ถ้าอยากให้บุตรหลานเป็นเด็กแบบไหน ผู้ปกครองเองก็ควรจะทำเป็นแบบอย่างให้เขา และค่อยๆ สอนเขาไปตามวัยนะคะ เพราะเด็กๆ จะมีพัฒนาการทางด้านสังคม เรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ ก็ขึ้นกับคุณพ่อ คุณแม่และผู้ดูแล ซึ่งหากคุณพ่อ คุณแม่ทำความเข้าใจเด็กในแต่ละช่วงวัยได้ถูกต้อง ก็จะเข้าใจอารมณ์ลูกมากยิ่งขึ้นค่ะ ไม่บีบคั้นเด็กจนเกินไป หรือเกิดคาดหวังในตัวลูกมากจนเด็กวิตกกังวล ว่าจะทำไม่ถูกใจคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
ทักษะการแบ่งปัน จำเป็นและสำคัญต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม
“ทักษะการแบ่งปัน” ผู้ปกครองสามารถสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันได้ตั้งแต่เล็กๆ นะคะ ไม่ควรปล่อยปละละเลย หรือ มองข้ามว่า เป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก เพราะหากเด็กไม่ได้รับการฝึกทักษะนี้ตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเขาโตขึ้น เข้าโรงเรียนก็อาจมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ และคุณครูได้
โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยเผยว่า การเข้าสังคม ไม่รู้จักแบ่งปัน คือปัญหาที่พบบ่อยในรั้วโรงเรียน ในขณะเดียวกันเด็กบางกลุ่มกลับไม่มีปัญหาเช่นนี้ เพราะการที่จะปรับตัวให้เข้าสังคมได้ดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานวิธีเลี้ยงลูกของผู้ปกครอง และการสอนลูกให้เข้าสังคมเป็นตั้งแต่เล็กๆ หากเด็กไม่เคยฝึกให้รู้จักแบ่งปันมาก่อนโดยผู้ปกครอง พอถึงวัยเข้าโรงเรียน เด็กอาจไม่รู้จักวิธีที่จะเล่นกับเพื่อน หรือสื่อสารกับคุณครูได้ดี
พ่อแม่ควรรู้! พัฒนาการด้านสังคมของเด็กอายุ 1-6 ปี
การรู้จักพัฒนาการด้านสังคมของลูก จะช่วยให้คุณพ่อ คุณแม่ รู้จักลูกน้อยของเรามากยิ่งขึ้น และสอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจกับคนอื่นได้อย่างเหมาะสม และไม่เป็นการบังคับเด็กจนเกินไป ดังนั้น เราจึงอยากชวนให้คุณพ่อ คุณแม่ มารู้จักพัฒนาการลูกรัก ด้านสังคมแต่ละช่วงวัยว่าเขาจะมีพัฒนาการทางอย่างไรบ้างค่ะ
●พัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัย 1 ปี
เด็กเริ่มสนใจสิ่งรอบตัวมากขึ้น รู้จักชื่อตนเอง หันตามเสียงเรียกชื่อได้ แต่จะกลัวคนแปลกหน้า ติดผู้ปกครองมากขึ้นโดยเฉพาะแม่ และจะมีพฤติกรรมหวงของ หวงผู้ปกครอง และเริ่มบอกความต้องการได้ โดยใช้การชี้สิ่งที่ตนเองสนใจ หรือบอกด้วยคำพูดสั้นๆ จะชอบโชว์หรืออวดของเล่นกับคนอื่น และเล่นของเล่นได้
●พัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัย 2 ปี
เด็กวัยนี้จะเริ่มสนใจเล่นกับผู้อื่น แต่จะยังสนใจตนเองมาเป็นอันดับแรก เด็กวัย 2 ปีนี้จะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ชอบอิสระ ไม่ชอบการบังคับ มักหวงของเล่น และไม่ยอมแบ่งปันสิ่งของให้กับเพื่อนๆ หรือให้ใครมาเล่นของเล่นด้วย และที่สำคัญเด็กวัยนี้จะชอบเลียนแบบพฤติกรรม คำพูดของผู้ใหญ่ และเพื่อนๆ วัยเดียวกัน ดังนั้นผู้ปกครอง คุณพ่อคุณแม่ จึงจำเป็นจะต้องสร้างพฤติกรรมทั้งคำพูด การกระทำที่เป็นแบบอย่างที่ถูกต้อง เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าสังคมให้กับลูกน้อยค่ะ
●พัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัย 3 ปี
เด็กจะชอบเล่นคนเดียว หรือชอบเล่นบทบาทสมมติมากกว่าเล่นกับเพื่อน แต่หากเล่นกับเพื่อนๆ เขาจะรู้จักรอคอย ปฎิบัติตามกฎกติกาง่ายๆ ได้ และแยกแยะได้ว่าของเล่น หรือสิ่งของใดเป็นของตน ของเล่นหรือสิ่งของใดเป็นของส่วนรวม ซึ่งการสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กวัย 3 ขวบนี้จะทำให้เด็กๆ สามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น เมื่อต้องเข้าสู่ระบบโรงเรียนค่ะ
●พัฒนาการด้านสังคมของเด็กวัย 4 ปี
เด็กจะชอบเล่นกับเพื่อนๆ มากกว่าเล่นคนเดียว โดยสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ เพราะรู้จักการให้อภัย การขอโทษ รู้จักเก็บของเล่นเข้าที่ แต่เด็กจะยังชอบแบ่งแยก โดยจะเลือกเล่นด้วยกับเพศเดียวกันมากกว่าเพศตรงข้าม และเลือกแบ่งปันสิ่งของ หรือของเล่นเฉพาะคนที่ถูกใจเท่านั้น
●พัฒนาการทางด้านสังคมของเด็กวัย 5 ปี
เด็กจะสามารถเล่นกับเพื่อนได้โดยไม่เลือกแบ่งแยกเพศ และมีความสามัคคีกับเพื่อนๆ เข้าใจกติกาการเล่นได้ง่ายๆ รู้จักแบ่งปันสิ่งของ หรือของเล่นให้กับเพื่อนๆ และมีมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น รู้จักไหว้ทำความเคารพผู้ใหญ่
●พัฒนาการทางด้านสังคมของเด็กวัย 6 ปี
เมื่อเข้าสู่การเรียนชั้นประถม เด็กจะเริ่มสนุกสนานกับการเล่นกับเพื่อน ให้ความสำคัญกับเพื่อนๆ พยายามทำให้เพื่อนพึงพอใจ รู้จักรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และรู้จักสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง แม้จะไม่สนิทก็ตาม เริ่มที่จะเข้าใจอารมณ์ของตนเองมากขึ้น และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้นเช่นเดียวกัน
ผลกระทบของการไม่ฝึกลูกให้รู้จักแบ่งปัน
หากเด็กไม่ได้ถูกฝึกทักษะการแบ่งปันตั้งแต่เล็กๆ เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนเขาจะมีแสดงพฤติกรรมอย่างไรบ้าง ที่ทำให้เพื่อนๆ ไม่อยากเล่นด้วย และคนรอบข้างไม่อยากเป็นเพื่อนกับเขา
●ลูกเอาแต่ใจ ลูกร้องไห้ไม่หยุดเมื่อไม่ได้สิ่งที่ต้องการ และไม่ค่อยยอมรับกฎกติกาของการเล่นกับผู้อื่น
●ไม่รู้จักรอคอย เมื่ออยากได้อะไร ต้องเอาให้ได้ในทันที
●ร่วมเล่นกับคนอื่นไม่เป็น ไม่รู้จักพูดในสิ่งที่ต้องการอย่างเหมาะสม แต่ใช้อารมณ์และแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแทน
●เป็นเด็กก้าวร้าว อาจปาข้าวของ ทุบตีเพื่อน เพราะยับยั้งชั่งใจไม่ได้ เมื่อรู้สึกโกรธ ไม่ได้ดั่งใจและหงุดหงิด
●ไม่แคร์ความรู้สึกของผู้อื่น ตั้งตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ลูกหวงของเล่น แย่งของเล่น สอนลูกอย่างไรให้รู้จักแบ่งปัน
เรามาดูกันต่อว่า เมื่อลูกหวงของเล่น ชอบแย่งของเล่น คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองควรสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันอย่างไร เพื่อฝึกทักษะการเข้าสังคมให้กับเขาตั้งแต่ยังเด็ก และเป็นการเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมที่โรงเรียนโดยไม่มีปัญหา
1.เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก เพราะพ่อแม่คือต้นแบบของพวกเขา เด็กจะจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้ปกครอง
2.เมื่อลูกได้รับการแบ่งปันสิ่งของ หรือของเล่นจากเด็กคนอื่นๆ ควรแสดงความชื่นชมเด็กที่รู้จักแบ่งปัน เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้ว่า หากทำพฤติกรรมเหมือนกับเด็กที่รู้จักแบ่งปัน ลูกจะได้รับความชื่นชม และทำให้พ่อแม่ภูมิใจ
3.เมื่อพบว่า ลูกอยากเล่นของเล่นของคนอื่น และแย่งของเล่นจากคนอื่น ไม่ควรเริ่มต้นด้วยการดุ ตี ให้เด็กรู้สึกอาย หรือเสียหน้า เพราะเหมือนเป็นการปลูกฝังให้เขาเป็นเด็กก้าวร้าว แต่ควรสอนลูกให้รู้ว่า ของชิ้นไหนที่ไม่ใช่ของเขา เมื่ออยากเล่นก็ต้องมีการขออนุญาตเจ้าของก่อน หรือรู้จักรอคอย ผลัดกันเล่นตามคิว
5.หากเด็กทะเลาะกัน พี่น้องทะเลาะกัน เพราะแย่งของเล่น ผู้ปกครองควรสอนให้เขารู้จักแสดงพฤติกรรมเพื่อขอแบ่งปันจากเพื่อน/พี่น้อง อย่างเหมาะสม เช่น รู้จักพูดว่า “ขอเล่นด้วยนะ” และรอให้เจ้าของอนุญาตก่อนเล่น ไม่ใช่แย่งของเล่นจากมือคนอื่น จนเกิดการทะเลาะกัน
6.ในกรณีที่ลูกขอแบ่งปันของเล่น แต่อีกฝ่ายไม่แบ่งปัน ก็ควรสอนให้เขารู้ว่า “วันนี้เพื่อนยังไม่พร้อมที่จะแบ่ง แต่ครั้งหน้าเพื่อนจะแบ่งให้เล่นด้วย” หากลูกร้องไห้ไม่หยุด เพราะต้องการจะเอาให้ได้ ให้เบี่ยงเบนความสนใจเด็ก
7.เมื่อเด็กหวงของเล่นของตนเอง ไม่พร้อมที่จะแบ่งปัน ไม่ควรบีบบังคับเด็กจนเกินไป ควรค่อยๆ สอน ถึงแม้วันนี้เขาจะไม่ยอมแบ่งปันก็ตาม เพราะหากเด็กแบ่งปัน โดยเกิดจากการบังคับ จะทำให้เด็กคับข้องใจ ยิ่งจะแสดงพฤติกรรมเป็นเด็กก้าวร้าวออกมา
8.สอนลูกให้รู้จักแบ่งปันกับคนในครอบครัว เช่น แบ่งขนม แบ่งของเล่นให้พี่น้อง และพ่อแม่ จะเป็นการปลูกฝังให้เขารู้จักแบ่งปัน และนำพฤติกรรมนี้ไปใช้กับเพื่อนๆ
9.เมื่อลูกแบ่งปัน ควรชื่นชม และแสดงความภูมิใจในตัวเขา เขาจะรู้สึกมั่นใจที่จะแบ่งปันของเล่น และสิ่งของให้กับผู้อื่น โดยไม่เกิดการคับข้องใจ
คุณพ่อ คุณแม่คงเห็นแล้วใช่ไหมคะว่า ทักษะการแบ่งปันของเด็กสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เขาเติบโตไปอย่างมีคุณภาพ และเข้าสังคมได้อย่างมีความสุข
หากผู้ปกครองท่านใด อยากได้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ถึงเทคนิคสอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน เพื่อปรับพฤติกรรมเด็กหวงของเล่น ชอบแย่งของเล่นให้ได้ผล ปรึกษานักจิตวิทยา ของ HealthSmile ผ่านช่องทางออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็สามารถปรึกษาได้ ทักหาเราได้ที่ LINE @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ https://lin.ee/CDUgd8d
เขียนโดย ปรางค์ทิพย์ ทาบุราณ content creator
ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลทางการแพทย์ในบทความ โดย วริษฐา ถิ่นถลาง นักจิตวิทยาคลินิก และ นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา