Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันผู้ปกครองหลายบ้าน มักให้ลูกดูการ์ตูนในมือถือ แท็บเล็ต หรือดูทีวีเกือบทั้งวัน จนเป็นเรื่องปกติ เพราะตัดรำคาญลูกดื้อ และสะดวกสบายผู้ใหญ่ในการดำเนินชีวิต หรือผู้ปกครองบางบ้านเชื่อว่า การให้ลูกเรียนรู้จากสื่อจะช่วยให้ลูกเก่ง ฉลาดขึ้น เพราะมีสื่อดีๆ มากมายในอินเตอร์เน็ต ผู้ปกครองจึงปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อในมือถือ แท็บเล็ตอย่างอิสระ
แต่รู้หรือไม่ว่า การที่ปล่อยให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ต หรือดูทีวีเกือบทั้งวันก่อนวัยอันควร และไม่มีข้อจำกัดในการดูจอ นำมาซึ่งปัญหาเด็กติดจอ ลูกติดมือถือได้นะคะ โดยปัจจุบันพบว่า เด็กอยู่กับหน้าจอมากถึง 36 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งเป็นสถิติที่สูงเลยทีเดียวค่ะ เพราะปกติไม่ควรเกิน 16 ชั่วโมง/สัปดาห์ และยังพบอีกว่า เด็กที่มีพฤติกรรมติดจอ ลูกติดมือถือจนต้องเข้ารับการบำบัดประมาณ 10-15%
การให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ตอย่างอิสระ และก่อนวัยอันควร นอกจากจะทำให้เด็กติดจอ ลูกติดมือถือแล้ว ยังส่งผลให้ลูกขาดโอกาสฝึกทักษะด้านการสื่อสารกับผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งผลที่ตามมา ทำให้เด็กพูดช้า พูดไม่เป็นภาษา เด็กพูดไม่ชัด ลูกไม่ยอมพูดคำที่มีความหมายเมื่อถึงวัย ผู้ปกครองจึงควรให้ลูกดูจอเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม แล้วควรให้ลูกดูจอ เล่นมือถือ แท็บเล็ต ดูทีวีตอนกี่ขวบกันล่ะ?
ควรให้ลูกใช้มือถือ แท็บเล็ต ดูทีวีตอนกี่ขวบ
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO (World Health Organization) ได้ระบุถึงช่วงอายุเด็ก และมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี มือถือ แท็บเล็ต ในการดูหนัง ดูการ์ตูน และสื่ออื่นๆ ของเด็ก ดังนี้
● เด็กอายุ 0 – 2 ขวบ ควรงดหน้าจอทุกชนิด
● เด็กอายุ 2 ขวบ – 4 ขวบ ไม่ควรปล่อยให้เด็กดูจอเพียงลำพัง ผู้ปกครองควรดูแลในการดูจอเสมอ และควรจำกัดเวลาในการดูจอไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
ทำไมห้ามดูจอก่อน 2 ขวบ เพราะเด็กไม่สามารถเรียนรู้จากสื่อได้อย่างเข้าใจ แต่หากมีความจำเป็นที่เด็กจะต้อง VDO Call กับพ่อแม่ผ่านมือถือ แท็บเล็ต ควรมีผู้ใหญ่ดูแลอย่างใกล้ชิด และใช้เวลากับหน้าจอน้อยที่สุดนะคะ สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป ถึงแม้จะอนุโลมให้ดูจอได้ การที่จะปล่อยให้เด็กดูจอ ก็ควรมีกฎกติกาอย่างชัดเจน เพราะเด็กแรกเกิด จนถึงเด็กอายุ 2 ขวบ เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการด้านสมอง ร่างกาย และอารมณ์อย่างรวดเร็ว การได้ทำกิจกรรมนอกจอ และกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะช่วยให้เด็กได้รับการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมต่างๆ รอบตัวได้ดีกว่าการเรียนรู้ผ่านสื่อ เพราะเด็กได้โต้ตอบกับผู้อื่น และมีผู้ใหญ่คอยดูแลให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด
การให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ตอย่างอิสระ และก่อนวัยอันควร จะส่งผลเสียทั้งต่อร่างกายและพฤติกรรมเด็กนะคะ ซึ่งเราจะพาผู้ปกครองไปเช็กกันต่อค่ะว่า ผลเสียของการดูจอก่อนเด็กอายุ 2 ขวบ และผู้ปกครองไม่มีข้อจำกัดในการดูจอของเด็ก จะส่งผลต่อพฤติกรรมเด็ก และร่างกายอย่างไรบ้าง
ปัญหาเด็กติดจอ ส่งผลเสียอย่างไร
แน่นอนว่าการให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ตอย่างอิสระ และก่อนวัยอันควร ทำให้เด็กติดจอ ลูกติดมือถือ ซึ่งทำให้เด็กขาดโอกาสในพัฒนาการด้านต่างๆ มากมาย เช่น พัฒนาการด้านสังคม ทักษะด้านการใช้ชีวิต พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ พัฒนาการทางด้านภาษา ดังนี้
● มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ากว่าวัย
ผู้ปกครองบางท่านอาจเอะใจว่า ทำไมล่ะในเมื่อสื่อก็เป็นส่วนหนึ่งในการสอนภาษานะ นั่นก็เพราะว่า เด็กเล็กยังไม่เข้าใจภาษา ยังสื่อสารไม่เป็น ทำให้เด็กไม่ได้เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริงจากสื่อ ไม่รู้ว่าคำพูดในจอแปลว่าอะไร ใช้อย่างไร และเด็กไม่ได้ฝึกทักษะสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งสื่อที่อยู่ในจอเป็นการสื่อสารทางเดียว เด็กจึงอาจพูดภาษาต่างดาว พูดไม่เป็นภาษา ลูกพูดช้า เด็กพูดไม่ชัด หรือลูกไม่ยอมพูดคำที่มีความหมาย
อ่านเพิ่มเติม : เด็กพูดช้า เด็กไม่พูด ลูกพูดช้า เมื่อไหร่? ควรสงสัยว่า “พัฒนาการล่าช้า” (https://link.healthsmile.co.th/f5b17e)
●เสี่ยงโรคสมาธิสั้น
ภาพ เสียง สีบนหน้าจอมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว จะกระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา ทำให้เด็กรอคอยอะไรไม่เป็น ไม่อยู่นิ่ง และเมื่อทำกิจกรรมนอกจอ จะไม่มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งอื่นรอบตัวนอกจอ เพราะเคยชินกับแสง สี เสียงในจอ ทำให้เป็นเด็กสมาธิสั้นได้ ซึ่งผู้ปกครองจะพบอาการเด็กสมาธิสั้นได้ดังนี้ เช่น ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง วอกแวกง่าย พูดไม่ฟัง ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่าย เป็นต้น
● เสี่ยงออทิสติกเทียม
การปล่อยเด็กอยู่กับมือถือ แท็บเล็บมากเกินไป คือหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เด็กเป็นโรคออทิสติก ที่ไม่เกี่ยวกับความผิดปกติทางด้านสมอง ซึ่งเรียกว่า ออทิสติกเทียมจากการดูจอ เพราะเด็กขาดการสื่อสารสองทาง ทำให้บกพร่องทางด้านภาษา และการเข้าสังคมตามมา ซึ่งหากลูกติดจอ จนเป็นออทิสติกเทียมผู้ปกครองจะสังเกตอาการออทิสติกเทียมได้ดังนี้ เช่น เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจเล่นกับเพื่อนๆ ยึดติดกับอะไรเดิมๆ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : เด็กสมาธิสั้น Vs ออทิสติกเทียม แตกต่างอย่างไร (https://link.healthsmile.co.th/ce1d68)
●เป็นเด็กก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย โมโหร้าย
เมื่อไหร่ที่ลูกเริ่มติดจอ หากผู้ปกครองห้าม หรือขัดขวางไม่ให้เล่นมือถือ แท็บเล็ต เด็กจะมีพฤติกรรมหงุดหงิดง่าย ใจร้อน โมโหร้าย หรือทำร้ายผู้ปกครองได้เลยค่ะ การที่ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว เด็กเกเร อาจเกิดจากเด็กเคยชินกับภาพ แสง สีบนหน้าจอที่เคลื่อนไหวเร็ว ทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่าย รอคอยได้ยากขึ้นกับสิ่งรอบตัวนอกจอ และบางครั้งเด็กเกเร พูดจาก้าวร้าว อาจเป็นเพราะเลียนแบบคำพูดและพฤติกรรมก้าวร้าวจากสื่อในจอ เพราะเด็กยังไม่เข้าใจภาษา แยกแยะไม่เป็น ดังนั้น เมื่อพบว่า ลูกติดจอจนมีพฤติกรรมก้าวร้าว ผู้ปกครองควรปรับพฤติกรรมเด็กนะคะ เพราะการที่เป็นเด็กก้าวร้าว คนอื่นจะมองว่า เป็นเด็กเกเร ซึ่งจะทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเข้าสังคมต่อไปเมื่อเข้าโรงเรียน
อ่านเพิ่มเติม : 9 กฎเหล็ก ปราบเด็กดื้อซน เด็กก้าวร้าว ให้อยู่หมัด
( https://link.healthsmile.co.th/4f8c83 )
●แยกตัวออกจากสังคม
ด้วยความที่ภาพ แสง สี เสียงในจอ น่าดึงดูดมากกว่าสิ่งอื่นรอบตัว เมื่อปล่อยให้ลูกเล่นมือถือ แท็บเล็ต ดูทีวีอย่างอิสระ จึงทำให้ลูกติดมือถือ ติดจอ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้เด็กมีปัญหาด้านการพูด ลูกพูดช้า ลูกไม่ยอมพูดคำที่มีความหมาย เด็กพูดไม่ชัด ยังส่งผลต่อการเข้าสังคมของเด็กด้วย เพราะเด็กเลือกที่จะอยู่กับมือถือ แท็บเล็ตมากกว่าเล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน และขาดปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว เพราะหมกมุ่นอยู่กับหน้าจอมากเกินไป จึงแยกตัวออกจากสังคม ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านสังคมที่บกพร่อง และขาดการเรียนรู้สิ่งอื่นๆ รอบตัว
●มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ
การดูจอ ทำให้เด็กเพลิดเพลินจนไม่ยอมลุกเดินไปไหน ทำให้ผู้ปกครองต้องนำอาหาร ขนมมาวางไว้ให้ เพราะกลัวลูกหิว เด็กจึงไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาจจะดูจอไปด้วย กินไปด้วย จึงอาจทำให้เด็กเป็นโรคอ้วนได้ และการก้มดูจอนานๆ ส่งผลให้ปวดต้นคอ บ่า ไหล่ และปวดตา เสี่ยงสายตาสั้นตั้งแต่เด็ก และเด็กอาจติดจอ จนไม่ยอมหลับยอมนอน ทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอ อาจเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้อีกเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า เด็กติดมือถือ ติดจอ เสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้น อาจมีอาการเด็กสมาธิสั้น และออทิสติกเทียม ซึ่งเชื่อว่า ไม่มีผู้ปกครองท่านใดอยากให้เกิดปัญหาดังที่กล่าวมากับบุตรหลานตนเองแน่นอน ดังนั้น มาดูกันว่า การให้เด็กดูจอได้ควรมีกฎกติกาอย่างไรบ้าง และเมื่อไหร่ที่ลูกติดมือถือ ติดจอ ควรแก้ไขอย่างไร
ลูกติดมือถือ ติดจอ แก้ไขอย่างไรดี?
เด็กบางคนเมื่อถึงวัยที่สามารถดูจอได้ หากปล่อยให้ลูกดูจออย่างอิสระ เด็กอาจมีพฤติกรรมติดจอ จนทำให้มีอาการเด็กสมาธิสั้น อาการออทิสติกเทียม หรือเป็นเด็กพูดช้ากว่าวัย พูดไม่เป็นภาษา และเป็นเด็กก้าวร้าวตามมาได้ ดังนั้น ผู้ปกครองควรกำหนดกฎกติกาในการดูจอของลูกอย่างชัดเจน ดังนี้
1.เด็กที่มีพัฒนาการด้านภาษา ควรจำกัดเวลาดูจอให้ชัดเจน ซึ่งไม่ควรให้ดูจอเกิน 1 ชม.ในวันธรรมดา และ 2 ชม.ในวันหยุด
2.กำหนดขอบเขตและต่อรองกับลูก ให้อิสระลูกเลือก เพื่อไม่เป็นการบังคับจนเกินไป ซึ่งควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะหากเพิ่งทำตอนโต เด็กจะต่อต้าน และโกหกได้
3.เมื่อจำกัดเวลาดูจอ และมีข้อกำหนดที่ชัดเจนแล้ว ผู้ปกครองต้องมั่นใจว่า เราและลูกสามารถเคารพกฎของเวลาที่ตั้งไว้ได้
4.เลือกประเภทสื่อที่สร้างสรรค์ เช่น สื่อที่มีตัวละคร ตัวการ์ตูนที่มีพฤติกรรมเชิงบวก
5.ไม่ปล่อยให้ลูกดูจอเพียงลำพัง มีส่วนร่วมในการดูจอของลูก โดยการพูดคุย ตั้งคำถาม สอนให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เห็นผ่านสื่อหน้าจอ
6.สลับไปให้เวลากับลูกนอกจอ เช่น ชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ พาออกไปสัมผัสธรรมชาตินอกบ้าน ทำกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น
7.พ่อแม่ควรใช้มือถือ แท็บเล็ตเป็นเวลา ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้
สิ่งสำคัญ! คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมนะคะว่า เด็กห้ามดูจอก่อน 2 ขวบ และควรมีข้อกำหนดเมื่อลูกถึงวัยที่ดูจอได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเด็กติดจอ และหากผู้ปกครองพบว่า ลูกติดมือถือ ติดจอ หากเมินเฉยไม่ปรับพฤติกรรมเด็ก อาจส่งผลต่ออนาคตของลูกทั้งด้านการเข้าสังคม การเรียนรู้ได้ค่ะ ซึ่งเด็กอาจมีปัญหาเป็นโรคสมาธิสั้น อาการออทิสติกเทียม เด็กพูดช้า พูดไม่ชัด เป็นเด็กก้าวร้าวได้นะคะ
ดังนั้น พ่อแม่คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้ดีที่สุด หากผู้ปกครองท่านใดต้องการแก้ไขพฤติกรรมเด็กติดจอ ไม่รู้จะสอนลูกอย่างไรให้ได้ผล ควรกำหนดกฏกติกาแบบไหนลูกถึงยอมรับ เรายินดีให้คำปรึกษาผ่านออนไลน์ โดยนักจิตวิทยาคลินิก ของ HealthSmile ทักหาเราได้ที่ LINE @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ https://lin.ee/CDUgd8d