Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์

การตรวจเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 (ซี-ดี-โฟร์)

ทำไมจึงต้องตรวจ CD4

     -การตรวจหาจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิด CD4 เป็นการตรวจเพื่อประเมินความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อ HIV (เอช-ไอ-วี) อยู่ในร่างกาย เพราะนอกจากตรวจเพื่อประเมินความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันแล้ว ยังตรวจเพื่อประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอีกด้วย

เมื่อไหร่ถึงต้องตรวจ CD4

     – การตรวจครั้งแรกจะทำเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีเชื้อ HIV ในร่างกายและก่อนเริ่มยาต้านไวรัสครั้งแรกเพื่อเก็บเป็นข้อมูลของผู้ป่วยคนนั้นๆ จากนั้นจะทำการตรวจซ้ำในอีก 3 ถึง 6 เดือนเพื่อประเมินการตอบสนองต่อยาต้านไวรัส และเมื่อผลการตรวจต่างๆอยู่ในเกณฑ์ปกติ ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจทุกๆ 6 ถึง 12 เดือน

สิ่งส่งตรวจและการเตรียมตัวก่อนการตรวจ

     – ใช้เลือดเป็นสิ่งส่งตรวจ โดยไม่ต้องอดอาหารหรือการเตรียมตัวพิเศษก่อนการตรวจ

เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 คืออะไร

เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายแบ่งออกเป็น T-cell (ที-เซลล์) และ B-cell (บี-เซลล์) โดย CD4 จัดเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cell ทำหน้าที่กำจัดสิ่งแปลกปลอมรวมทั้งเชื้อโรคต่างๆที่เข้ามาในร่างกาย การตรวจจะรายงานผลออกมาเป็นจำนวนเซลล์ของ CD4 ประเมินร่วมกับการตรวจหาจำนวน HIV ไวรัสในกระแสเลือดเพื่อแปลผลออกมาเป็นการตอบสนองต่อยาและความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยรายนั้นๆ

เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายถูกสร้างมาจากต่อไทมัส (อยู่บริเวณคอ) จากนั้นจะเข้าสู้กระแสเลือดและระบบท่อน้ำเหลืองแล้วทำหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆที่เข้าสู่ร่างกายเช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น เซลล์เม็ดเลือดขาวแต่ละชนิดมีตัวรับที่เปลือกนอกของเซลล์ที่แตกต่างกัน หนึ่งในชนิดของเซลล์เม็ดเลือดขาวคือ CD4 หรืออีกชื่อคือ T-Helper cell (ที-เฮล-เปอร์-เซลล์) 
 ซึ่ง CD4 นั้นเป็นเป้าหมายของเชื้อ HIV จึงต้องมีการตรวจจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดดังกล่าวในผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ

            เชื้อ HIV เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดจะวิ่งตรงเข้าไปในเซลล์ CD4 จากนั้นจะแบ่งตัวภายในเซลล์เมื่อการแบ่งตัวเสร็จสิ้น
 เซลล์จะแตกและตายไปในขณะที่จำนวนไวรัสเพิ่มมากขึ้น และวิ่งเข้าไปในเซลล์ CD4 เซลล์ถัดไป ดังนั้นถ้าผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ HIV ไม่ได้รับการรักษาจำนวน CD4 จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่มีเซลล์เพื่อใช้เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกายและเกิดภาวะบกพร่องทางภูมิคุ้มกัน (AIDs; เอดส์) นั่นเอง

            ยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV ถูกเรียกว่า “ยาต้านไวรัส” มักจะเป็นสูตรผสมของยาอย่างน้อย 3 ชนิดที่ใช้ในการรักษา เมื่อผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเข้าไป ยาจะไปยับยั้งการแบ่งตัวของ HIV ทำให้ร่างกายค่อยๆสร้างและเพิ่มจำนวนของ CD4 ขึ้นเรื่อยๆจนใกล้เคียงกับคนสุขภาพดี บางครั้งการตรวจหา CD4 จะถูกรายงานเป็นจำนวนที่ตรวจพบ และสัดส่วนของ CD4 ในเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งหมดในร่างกายเพื่อให้ง่ายต่อการแปลผลภูมิคุ้มกันนั่นเอง

            ซึ่งการตรวจหา CD4 นี้ไม่จำเป็นต้องทำในผู้ป่วย HIV อย่างเดียว ภาวะโรคอื่นๆมีการใช้ผลตรวจเพิ่อพยากรณ์โรคเช่นกัน  ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเป็นต้น

การตรวจ CD4 นำไปใช้ได้อย่างไร

            ในผู้ป่วยที่มีเชื่อ HIV จะมีการตรวจจำนวน CD4 คู่ไปกับปริมาณไวรัส HIV ในกระแสเลือดเพื่อแปลผลเรื่องต่างๆดังนี้

– ประเมินความแข็งแรงของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

– การตอบสนองต่อยาต้านไวรัสที่ได้รับ

– การประเมินเพื่อรับยาป้องกันเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ ในผู้ป่วยที่มีจำนวน CD4 น้อยมากๆ (เชื้อฉวยโอการคือเชื้อโรคต่างๆเช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ที่จะมีการก่อโรคได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง)

            คำแนะนำการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ในผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับวินิจฉัยว่ามีเชื้อ HIV ในร่างกาย ควรเริ่มยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพื่อหยุดการดำเนินของโรค (เพื่อไม่ให้ CD4 ต่ำ จนกระทั่งติดเชื้อฉวยโอกาส) แม้กระทั่งในสตรีมีครรภ์ก็จะต้องรับยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด เพื่ออผลการักษาที่ดีเช่นกัน

            กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัส แบ่งจากว่ายาชนิดนั้นไปยับยั้งที่ขั้นตอนใดของกระบวนการแบ่งเซลล์ของไวรัส
 โดยสูตรยาที่ใช้จะต้องประกอบด้วยยาต้านไวรัสอย่างน้อย 3 ชนิดจากกลไกอย่างน้อย 2 กลไกที่ใช้ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อ
 ทั้งนี้ด้วยสูตรยาดังกล่าวทำให้พบการตอบสนองที่ดีและยับยั้งการดื้อยาของเชื้อได้

            สำหรับการติดตามค่า CD4 นั้น เป็นวิธีที่พัฒนามาภายหลัง เพราะนอกจาก CD4 แล้วในอดีตมีการติดตามผลการตอบสนองด้วยค่าอื่นๆเช่นกัน แต่ที่ CD4 เป็นการติดตามที่ดีนั้นเพราะ จำนวนของ CD4 เพิ่ม-ลดเร็วแบบวันต่อวัน ทำให้สามารถติดตามและปรับปรุงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งการติดตาม CD4 จะใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง อีกด้วย

เมื่อไหร่ที่แพทย์จะสั่งการตรวจ CD4

            การตรวจ CD4 มักทำควบคู่กับการตรวจหาปริมาณไวรัสในกระแสเลือด โดยผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจทั้ง 2 อย่างในครั้งแรกที่ได้รับการวินิจฉัยจากนั้นเพื่อเก็บเป็นค่ากลางในผู้ป่วยรายนั้นๆ จากนั้นความถี่ในการตรวจจะขึ้นอยู่กับบปัจจัยต่างๆที่แสดงดังตาราง

ปัจจัยต่างๆของผู้ป่วยการตรวจปริมาณไวรัสในเลือดการตรวจจำนวน CD4
เมื่อได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกตรวจทันทีตรวจทันที
หากไม่ได้เริ่มยาต้านไวรัสทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์ทุกๆ 3 ถึง 6 เดือน
หลังจากเริ่มยาต้านไวรัสครั้งแรกตรวจภายใน 2 ถึง 4 สัปดาห์หลังเริ่มยาต้านไวรัส จากนั้นตรวจทุกๆ 4 ถึง 8 สัปดาห์จนกระทั่งผลการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในกระแสเลือดต่อเนื่องกัน 3 เดือน
ผลตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดน้อยกว่า 2 ปีตรวจทุกๆ 3 ถึง 4 เดือนตรวจทุกๆ 3 ถึง 6 เดือน
ผลตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในเลือดมากกว่า 2 ปีตรวจทุกๆ 6 เดือนตรวจปีละ 1 ครั้ง (หาก CD4 มากกว่า 500 เซลล์ / ลบ.เมตร)
 หรือตามดุลยพินิจของแพทย์
ปัจจัยต่างๆของผู้ป่วยการตรวจปริมาณไวรัสในเลือดการตรวจจำนวน CD4
ได้รับยาต้านไวรัสและยังพบเชื้อไวรัสมากกว่า 200 เซลล์ / มล.ตรวจทุกๆ 3 เดือนทุกๆ 3 ถึง 6 เดือน
ในผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบ หรือได้รับยาที่มีผลกดภูมิคุ้มกันอื่นๆตรวจทุกๆ 3 เดือนขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์

การแปลผลการตรวจทำอย่างไร

CD4 จะรายงานผลออกมาเป็นจำนวนเซลล์ต่อลูกบาศก์เมตรของเลือด หรือเป็นสัดส่วนของ CD4 ต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวทั้งหมด

– ในคนสุขภาพดีจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาวเท่ากับ 500 – 1,200 เซลล์/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV มีปริมาณ CD4 ที่สูงจะหมายถึงผู้ป่วยรายนั้นยังมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง เชื้อ HIV ในร่างกายยังทำลายร่างกายไปไม่มากนัก

– หากผู้ที่มีเชื้อ HIV มีจำนวน CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์ / ลุกบาศก์เมตรหมายถึงเชื้อ HIV เริ่มทำให้ผู้ป่วยมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะ AIDS (เอดส์) และมีโอกาสที่จะติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆ เช่นเชื้อแบคทีเรีย PCP (พี-ซี-พี) ที่ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบ เชื้อราชนิดแคนดิดาที่ทำให้เกิดฝ้าขาวในช่องปาก เป็นต้น โดยในผู้ป่วย AIDs จะต้องกินยาเพื่อป้องกันการติดเชื้อฉวยโอกาสต่างๆเพิ่มขึ้นมาจากยาต้านไวรัสที่เคยกินอยู่เดิม

– หากผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV ตอบสนองต่อยาต้านไวรัสได้ดี (เชื้อไม่ดื้อยา) เชื้อ HIV ในกระแสเลือดจะถูกลดจนกระทั่งไม่พบเชื้อและปริมาณ CD4 จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ย 50 – 150 เซลล์ / ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อผู้ป่วยกินยาต้านไวรัสไปเรื่อยๆ
 การเพิ่มขึ้นของ CD4 อาจจะช้าลงได้ ก็ขอให้อย่าตกใจว่าจะต้องเปลี่ยนสูตรการรักษา เพราะแพทย์จะทำการประเมินร่วมกับผลตรวจอื่นๆ และแนวโน้มของ CD4 ของผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมาเพื่อประเมินการรักษาต่อไป

มีเรื่องอื่นๆที่ควรทราบก่อนรับการตรวจหรือไม่

– จำนวน CD4 มักจะต่ำในช่วงเช้าและสูงในช่วงเย็น นอกจากนี้ภาวะโรคต่างๆเช่น ปอดอักเสบ ไข้หวัดใหญ่ เชื้อเริม
 จะทำให้ CD4 ต่ำลงได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดค่า CD4 จะต่ำลงเป็นอย่างมาก

– ไม่มีความจำเป็นว่าผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV ที่มีค่า CD4 ที่สูง จะมีอาการน้อยกว่าผู้ป่วยที่มี CD4 ต่ำ เพราภูมิคุ้มกันของร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ค่ากลางต่างๆเป็นเพียงค่าเฉลี่ยที่นำมาใช้ประเมินในทางการแพทย์ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออาการทางคลินิกของผู้ป่วย

การวินิจฉัยว่ามีเชื้อ HIV ทำอย่างไร

– การตรวจ HIV จะทำการคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจภูมิคุ้มกันชื่อ p24 จากนั้นหากผลคัดกรองเป็นบวก
 แพทย์จะการตรวจชื่อ HIV-1 และ HIV-2 เพื่อยืนยัน หากผลของการตรวจทั้ง 2 รอบขัดแย้งกัน จะทำการตรวจยืนยันด้วยวิธีการหาสารพันธุกรรมของ HIV ในเลือด (HIV-1 RNA test) ซึ่งหากผลการตรวจหาสารพันธุกรรมเป็นบวก ผู้ป่วยจะถูกวินิจฉัยว่าเป็น
 “ผู้ที่ได้รับเชื้อ HIV”

เชื้อฉวยโอกาสที่มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีเชื้อ HIV จนกระทั่งมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

– เชื้อฉวยโอกาสมักจะก่อโรคในผู้ป่วยที่มี CD4 น้อยกว่า 200 เซลล์ / ลูกบาศก์เมตร โดยเชื้อที่พบได้ เช่น
 1) PCP ที่ก่อโรคปอดอักเสบ 2) เชื้อ toxoplasma (ท็อก-โซ-พลาส-มา) ก่อโรคเยื่อบุสมองอักเสบ 3) เชื้อไวรัส CMV (ซี-เอ็ม-วี) ก่อโรคเยื่อบุตาขาวอักเสบ 4) เชื้อวัณโรค 5) เชื้อราชนิดต่างๆ เป็นต้น

ทางเลือกในการรักษา

– การรักษาส่วนใหญ่เป็นการกินยาเพื่อควบคุมการติดเชื้อทั้งไวรัส HIV และเชื้อฉวยโอกาส โดยยาแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพและผลขข้างเคียงแตกต่างกันไป ทั้งนี้ผู้ป่วยและแพทย์ผู้ให้การรักษาจะเป็นผู้วางแผนการรักษาร่วมกัน
 เพื่อให้ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของการรักษาออกมาเป็นที่พึงพอใจของผู้ป่วยและแพทย์

การตรวจ CD4 ใช้ในโรคอื่นนอกจากการติดเชื้อ HIV หรือไม่

– การตรวจ CD4 จะทำในผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะต่างๆ เพราะการที่มี CD4 สูง จะทำให้การปลูกถ่ายอวัยวะล้มเหลวได้ ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะจะต้องกินยากดภูมิคุ้มกันเพื่อลดปริมาณ CD4 ในร่างกายและเพิ่มความสำเร็จในการปลุกถ่ายอวัยวะ

– การตรวจ CD4 ร่วมกับ CD8 (ซี-ดี-เอ้ก) เป็นการตรวจเพื่อวินัจฉัยและประเมินการรักษาในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว

– การตรวจปริมาณ CD4 ในผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรม DiGeorge syndrome (ดิ – จอร์ช) เนื่องจากโรคทำให้ทารกที่เกิดมามีภูมิคุ้มกันบกพร่อง