เจาะเลือดครั้งใด ค่าเท่าไหร่จึงเรียกว่า “ปกติ”

หลายๆครั้งที่คุณมาโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพประจำปี หรือมาติดตามอาการจากโรคที่รักษามานานก็ตาม แพทย์จะให้คุณเจาะเลือดเพื่อตรวจค่าต่างๆเช่น ปริมาณน้ำตาลในเลือด การทำงานของไต การทำงานของตับเป็นต้น เมื่อแพทย์เห็นค่าต่างๆนั้นแล้ว จึงแจ้งผลการตรวจให้คุณได้ทราบว่าค่าต่างๆนั้นดีแล้วไม่มีปัญหาอะไร จากนั้นคุณพยาบาลจะยื่นซองหรือสมุดที่ใส่ผลการตรวจของคุณให้กลับมาที่บ้านแล้วคุณเคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ค่าเหล่านั้นคือค่าอะไรและแพทย์ใช้เกณฑ์ใดมาบอกว่าค่าเหล่านั้นปกติหรือไม่ปกติ

            ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือที่เรียกติดปากว่า “ผลเลือด” จะออกมาในสองรูปแบบคือ

  1. พบหรือไม่พบ เช่นการตรวจหาเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อราต่างๆว่ามีเชื้อดังกล่าวอยู่ในเลือดหรือสิ่งที่ส่งตรวจหรือไม่
  2. บอกเป็นปริมาณ โดยที่ปริมาณดังกล่าวจะต้องเทียบกับค่าอ้างอิงที่ห้องปฏิบัติการนั้นๆใช้ ดังนั้นทุกครั้งที่แพทย์บอกว่าผลเลือดของคุณดีแล้วนั้นคือน้ำผลที่ได้ เทียบกับค่าอ้างอิงหรือมักถูกเรียกว่า “ค่าปกติ” แล้วผลของคุณอยู่ในช่วงดังกล่าวนั่นเอง

            ดังนั้นวิธีการตรวจผลเลือดของตัวเองง่ายๆคือการนำผลเลือดที่ได้ เทียบเคียงกับค่าปกติดังกล่าว จะทำให้สามารถบอกได้ว่าคุณมีปัญหาร่างกายที่ส่วนใดหรือมีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาสุขภาพใดๆในอนาคตนั่นเอง ในบทความนี้จึงจะกล่าวถึงค่าผลเลือดบางประเภทที่มักได้รับการตรวจบ่อย เพื่อให้คุณพูดคุยกับแพทย์ของคุณเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่มีสิ่งสำคัญที่คุณต้องทราบก่อนไปทำความเข้าใจกับค่าเลือดต่างๆคือ

            1) ค่าปกติของแต่ละ รพ. หรือคลีนิกมีความแตกต่างกัน – นั่นคือคุณมีผลตรวจบางอย่างที่คลีนิก A แล้วแพทย์แจ้งว่าผลออกมาปกติ แต่เมื่อคุณนำผลที่ได้จากคลีนิก A ไปเทียบกับค่าปกติของคลีนิก B แล้วพบว่าผิดปกติ คุณไม่ต้องตกใจเพราะวิธีการตรวจของแต่ละคลีนิกหรือโรงพยาบาลอาจแตกต่างกัน ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ตรวจ สารที่ใช้ในการตรวจ หรือวิธีวิเคราะห์ แม้ว่าจะเป็นการตรวจค่าเลือดเหมือนกันก็ตาม ดังนั้นคุณอาจสังเกตุได้ว่า คุณไม่สามารถหาค่าปกติเหล่านั้นได้ง่ายนักในสื่อออนไลน์เพราะแต่ละที่มีค่าปกติที่แตกต่างกันนั่นเอง

            2) ผลเลือดที่ออกมาปกติ ไม่ได้การันตีว่าสุขภาพของคุณดี – เนื่องจากผลการตรวจบางชนิดมีค่าใกล้เคียงกันมากระหว่างในคนที่สุขภาพแข็งแรงและผู้ป่วยโรคนั้นๆ รวมถึงโรคที่ไม่สามารถตรวจได้ง่ายนัก โดยเฉพาะโรคที่อยู่ในระยะเริ่มต้น ผลเลือดต่างๆที่ควรมีปัญหานั้น กลับพบว่าใกล้เคียงกับค่าปกติได้

            3) ผลเลือดที่อยู่นอกช่วงปกติ ไม่ได้หมายถึงว่าคุณป่วยเสมอไป – เพราะค่าปกตินั้นได้มาจากการเก็บผลเลือดของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงมา แล้วนำมาคิดเป็นช่วงโดยใช้สถิติ ดังนั้นคุณอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในสถิตินั้น ทำให้ค่าที่ออกมาแม้อยู่นอกช่วงปกติคุณก็ยังแข็งแรงอยู่ แต่อย่างไรก็ตามผลที่ได้ออกมานอกช่วงปกตินั้นแพทย์มักบอกคุณถึงสาเหตุต่างๆที่ทำให้ผลเลือดเหล่านั้นผิดปกติได้

ค่าอ้างอิงคืออะไร?

            ค่าอ้างอิงของผลเลือดประเภทต่างๆ ได้มาจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในกลุ่มคนสุขภาพดีหลายพันคน แล้วนำมาแปลผลว่าคนที่สุขภาพดีทั่วไปนั้นควรมีค่าที่ได้จากการตรวจต่างๆในช่วงเท่าไหร่ โดยค่าผลเลือดดังกล่าวสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยได้แก่ อายุ เพศ เชื้อชาติ สภาวะของร่างกาย (ตรวจขณะออกกำลังกาย ตรวจขณะอดอาหาร) รวมถึงสิ่งที่ส่งตรวจเช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำไขสันหลังเป็นต้น บางครั้งเราจึงเรียกค่าเหล่านี้ว่า “ช่วงปกติ”

            หลังจากทราบที่มาของค่าอ้างอิงหรือช่วงปกติแล้ว เรามาดูการใช้งานกันบ้าง โดยหลังจากที่ผลเลือดออกมาแล้ว แพทย์จะทำการนำผลเลือดของคุณมาเทียบกับค่าดังกล่าว แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งที่จะนำมาแปลผลเป็นสุขภาพของคุณได้ นั่นคือการแปลผลว่าสุขภาพของคุณเป็นเช่นไรนั้น จะต้องรวมกับการตรวจร่างกายทางกายภาพ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ประวัติครอบครัว ยาที่ใช้อยู่เป็นประจำ รวมถึงสุขภาพโดยรวมของคุณขณะนี้ด้วย แพทย์จึงสามารถแปลผลและแจ้งคุณได้ว่าสุขภาพของคุณเป็นเช่นไร

            ในโลกของอินเตอร์เนตในยุคปัจจุบันทำให้คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆได้มากมาย แต่มีเพียงไม่กี่ที่เท่านั้นที่จะใช้ภาษาที่ที่เข้าใจง่าย บทความนี้จะช่วยทำให้คุณเข้าใจการแปลผลเลือดของคุณได้มากขึ้น รวมถึงสามารถเตรียมคำถามที่ดีเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อปรึกษาแพทย์ของคุณด้วย แต่คุณต้องเข้าใจเสมอว่า

  • ค่าอ้างอิงที่คุณใช้เปรียบเทียบนั้นควรมาจากคลีนิกหรือโรงพยาบาลที่คุณไปตรวจ เพราะแต่ละที่มีความแตกต่างกัน
  • ค่าอ้างอิงทุกชนิดไม่ได้มาเป็นช่วงเสมอ บางครั้งจะใช้เป็นค่ามาตรฐานเช่นระดับน้ำตาลในเลือด หากคุณมีค่าระดับน้ำตาลในเลือดเกินมาตรฐานแพทย์จะวินิจฉัยว่าคุณมีอาการของโรคเบาหวาน
  • ค่าอ้างอิงเป็นเพียงแนวทางที่จะใช้แปลผลเท่านั้น ในการแปลผลภาวะสุขภาพต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เพราะมีหลาย   ปัจจัยที่ทำให้ผลเลือดของคุณไม่เป็นไปตามความเป็นจริง
  • ค่าอ้างอิงที่ใช้ในเด็กทารก เด็กเล็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ไม่เหมือนกันเพราะในช่วงเวลาที่เด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ค่าอ้างอิงต่างๆของเด็กจะไม่เท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นหากทำการเจาะผลแลปในเด็กควรใช้ค่าอ้างอิงที่เป็นไปตามช่วงอายุของเด็กด้วย
  • ค่าอ้างอิงเป็นเพียงแนวทางในการแปลผลเท่านั้น ไม่ควรที่จะยึดติดกับผลที่ออกมาโดยปราศจากการรับฟังความคิดเห็นของแพทย์ผู้ตรวจ ในบทความนี้ต้องการให้คุณมีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการตรวจเท่านั้น การแปลผลภาวะสุขภาพต่างๆยังคงเป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ตรวจ เพราะการแปลผลต้องทำอย่างเป็นองค์รวมตามที่กล่าวมา

ค่ามาตรฐานคืออะไร

            ค่าอ้างอิงหรือช่วงปกติได้มาจากการศึกษาในคนสุขภาพดี แต่ค่ามาตรฐานนั้นได้มาจากการศึกษาในกลุ่มคนที่เป็นโรคนั้นๆ เป็นเวลานาน นั่นคือหากจะใช้ค่าใดในการวินิจฉัยโรค หรือแบ่งระยะของโรคแล้วการใช้ค่ามาตรฐานที่ได้มาจากการศึกษาในกลุ่มคนที่เป็นโรคนั้นๆเลยจะดีกว่าการใช้ค่าอ้างอิงหรือช่วงปกติ เช่น

            ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเป็นสิ่งที่แพทย์ใช้วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โดยจะทำการวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยค่ามาตรฐานคือ 126 มก./เดซิลิตร (1 เดซิลิตร = 100 มิลลิลิตร) ดังนั้นหากระดับน้ำตาลในเลือดของคุณสูงกว่า 126 จะถือว่าคุณเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นอกจากนี้ค่าดังกล่าวยังใช้ในการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เบาหวานขึ้นตา อาการชาปลายมือปลายเท้า เป็นต้น แพทย์จึงต้องทำการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดทุกครั้งที่คุณไปพบแพทย์เพราะนอกจากวินิจฉัยโรคแล้ว ยังช่วยประเมินความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนได้อีกด้วย

ค่าอ้างอิงมีวิธีการวัดอย่างไร

            หลักการวัดค่าอ้างอิงคือรวบรวมคนที่อยู่ในสภาวะเหมือนกันมากที่สุด มาหลายร้อยคนแล้วทำการตรวจค่าที่ต้องการ หลังจากนั้นทำการแปลผลโดยใช้สถิติจึงได้ค่าอ้างอิงเพื่อใช้ในการอ้างอิงและเป็นแนวทางการรักษา โดยวิธีโดยละเอียดมีดังนี้

            1) กำหนดเกณฑ์ว่าต้องการวัดค่าอ้างอิงของคนกลุ่มใด โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าที่ต้องการวัดเช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ สุขภาพโดยรวม ยาที่รับประทาน ประวัติความเจ็บป่วยเป็นต้น โดยจำนวนคนที่ผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้แล้วรวบรวมมาจะถูกเรียกว่า “กลุ่มตัวอย่าง”

            2) เมื่อรวบรวมกลุ่มอย่างได้แล้ว (มักใช้มากกว่า 120 คนขึ้นไป) จะทำการตรวจค่าอ้างอิงที่ต้องการโดยทำการตรวจด้วยวิธีและสภาพแวดล้อมที่กำหนดมาอย่างดี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าค่าที่ได้ออกมาไม่ได้ถูกสิ่งอื่นรบกวน

            3) เมื่อได้ผลออกมาแล้วจะนำมาวิเคราะห์ได้ใช้สถิติ แล้ววิเคราะห์ว่ากลุ่มตัวอย่าง 95% มีช่วงของค่าที่วัดได้เท่าไหร่ แล้วแปลผลออกมาเป็นช่วงปกติ

ทำไมค่าอ้างอิงหรือช่วงปกติจึงมีหลายค่าแม้ว่าจะทำการวัดด้วยวิธีเดียวกัน

            หากสังเกตุดีๆแล้วการรตรวจบางชนิดจะมีค่าอ้างอิงหลายค่าทั้งๆที่ตรวจจากคลีนิกเดียวกัน เพราะว่าผลตรวจบางชนิดมีปัจจัยหลายอย่าง ทำให้ค่าอ้างอิงที่ใช้ในเพศ หรือกลุ่มอายุต่างๆไม่เท่ากัน เช่น การตรวจครีเอตินีน**ในเลือด (แสดงถึงค่าการทำงานของไต) แสดงดังตาราง

อายุเพศช่วงปกติ (ค่าอ้างอิง)
18 – 20 ปีชาย0.9 – 1.3 มก./ดล.*
 หญิง0.6 – 1.1 มก/ดล.
60 – 90ชาย0.8 – 1.3 มก/ดล.
 หญิง0.6 – 1.2 มก/ดล.

*ดล. = เดซิลิตร (1 เดซิลิตร = 100 มิลลิลิตร)

**ครีเอตินีนคือสารที่สร้างมาจากกล้ามเนื้อและถูกกำจัดออกทางไต ดังนั้นการตรวจปริมาณครีเอตินีนที่ร่างกายสามารถกำจัดได้ จึงบอกถึงการทำงานของไตได้ โดยปริมาณกล้ามเนื้อในผู้ชาย-ผู้หญิง และ เด็ก-ผู้สูงอายุ ไม่เท่ากัน การสร้างครีเอตินีนจากกล้ามเนื้อจึงไม่เท่ากัน จึงต้องใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันในการวัดการทำงานของไต

แต่สำหรับค่าอ้างอิงในเด็กนั้น (อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 12 ปี) จะมีค่าอ้างอิงที่แตกต่างกันตามอายุของเด็กแบบละเอียดมากขึ้นอีก เนื่องจากร่างกายและอวัยวะของเด็กนั้นยังมีการเจริญเติบโตขึ้นทุกๆวัน ทำให้ค่าอ้างอิงต่างๆเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว เช่น เอนไซม์ ALP ที่สร้างมาจากกระดูกแล้วปล่อยสู่กระแสเลือด ในเด็กนั้นมีการเติบโตของกระดูกทุกๆวัน ทำให้ค่าอ้างอิงของ ALP ตั้งแต่เด็กจนถึงวัยรุ้นนั้นสูงกว่าของผู้ใหญ่เป็นต้น

และก็ยังมีกลุ่มคนที่มีค่าอ้างอิงที่จำเพาะเช่น ในหญิงตั้งครรภ์พบว่า ผลเลือดต่างๆนั้นแตกต่างจากหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์โดยสิ้นเชิง หากต้องการทราบถึงสภาวะที่แท้จริงของหญิงตั้งครรภ์แล้วจะต้องคุยกับแพทย์เจ้าของไข้ โดยไม่ควรนำค่าที่ได้จากอินเตอร์เนตมาเปรียบเทียบ

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ทำให้ค่าอ้างอิงมีหลายค่า ตัวอย่างเช่น

  • สิ่งส่งตรวจที่ต่างกัน เช่นการตรวจค่าบางอย่างใน ที่ตรวจจากเลือด พลาสมา ซีรั่ม (พลาสมาและซีรั่มเป็นองค์ประกอบของเลือดเมื่อแยกออกมา) ปัสสาวะ น้ำลาย การตรวจสิ่งเดียวกัน จากสิ่งที่ต่างกันเหล่านี้จะมีค่าอ้างอิงที่ต่างกัน
  • เวลาในการตรวจ เช่นการตรวจน้ำตาลหลังอดอาหารและหลังทานอาหาร หรือตรวจฮอร์โมนตอนเช้าและตอนเย็น เป็นต้น
  • การตรวจในช่วงสภาวะที่ต่างกัน เช่นการตรวจฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงรอบเดือนที่ต่างกัน จะมีค่าอ้างอิงที่ต่างกัน
  • วัตถุประสงค์ในการตรวจแต่ละคั้ง ได้แก่ ตรวจเพื่อหาความเสี่ยง ตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค การตรวจเพื่อติดตามว่าคนไข้สามารถควบคุมอาการของโรคได้หรือไม่ เช่นการตรวจน้ำตาลสะสมในเลือด (HbA1c) ค่าอ้างอิงที่ใช้ในการเทียบในแต่ละวัตถุประสงค์แสดงดังตาราง
วัตถุประสงค์ในการตรวจระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c)
ตรวจเพื่อหาความเสี่ยงในคนที่ไม่ได้เป็นเบาหวานน้อยกว่า 5.7%
คนที่มีความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานสูง5.7% – 6.4%
วินิจฉัยการเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 6.5%
ตรวจเพื่อติดตามการรักษา หรือประเมินการควบคุมโรคน้อยกว่า 7%

ตัวอย่างการแปลผลเช่น ในคนที่เจาะระดับ HbA1c ในเลือดได้ค่าเท่ากับ 6.6% เหมือนกัน

            คนที่ 1 เป็นคนที่สุขภาพดี มาตรวจเพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน แพทย์จะทำการนะนำการปฏิบัติตัวเพราะถือว่าเป็นคนที่มีความเสี่ยง และทำการตรวจซ้ำอีกครั้งในเดือนถัดไป หากครั้งถัดไปผลที่ได้ยังมีค่ามากกว่า 6.5% คนนี้จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานและต้องได้รับการรักษา

            คนที่ 2 เป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน การที่ระดับ HbA1c < 7% ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนนี้สามารถควบคุมโรคได้ด้วยการรักษาที่กำลังทำอยู่การปฏิบัติตัวที่ดีเช่นเคย จะทำให้คนไข้มีโรคแทรกซ้อนลดลง

หากผลเลือดที่ออกมาไม่อยู่ในช่วงปกติหมายถึงอะไร

ในทุกๆครั้งที่ทำการตรวจ อาจจะมีค่าบางอย่างที่ไม่ได้อยู่ในช่วงปกติ โดยค่าเหล่านั้นมักถูกพิมพ์ด้วยตัวหนังสือสีแดงหรือถูกไฮไลท์ไว้ สิ่งที่ต้องคำนึงคือการที่ค่านั้นไม่อยู่ในช่วงปกติ อยู่ในเกณฑ์ที่รับได้หรือไม่ โดยที่คลีนิกหรือโรงพยาบาลบางแห่งอาจใส่คำอธิบายถึงสิ่งที่ผิดปกติเหล่านั้น ว่าต้องผิดปกติถึงเกณฑ์เท่าใดจึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิต

โดยเมื่อมีค่าที่ผิดปกติแพทย์จะนำไปรวมกับประวัติที่ผ่านมาของคุณได้แก่ ยาที่กินเป็นประจำ ผลการตรวจร่างกาย ประวัติครอบครัว และประวัติความเจ็บป่วย แล้วจึงประมวลออกมาเป็นผลตรวจสุขภาพของคุณ โดยคุณอาจถามคำถามเหล่านี้แก่แพทย์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน

1. ค่าดังกล่าวอยู่นอกช่วงปกติมากแค่ไหน – เพราะการที่ผลตรวจบางอย่างออกนอกช่วงปกติไปมากๆนั้นอาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากออกนอกช่วงเพียงเล็กน้อยก็สามารถปรับพฤติกรรมได้ หรืออาจเป็นเพราะภาวะร่างกายบางอย่างผิดปกติแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่สำหรับการตรวจบางชนิดเช่นตรวจหามะเร็ง หรือตรวจครีเอตินีนการที่ผลอยู่นอกช่วงปกติเพียงเล็กน้อยอาจบอกได้ว่าคุณกำลังมีปัญหาสุขภาพ แพทย์จะแนะนำให้คุณตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อดูว่าค่ามะเร็งหรือครีเอตินีนกลับมาปกติแล้ว หรือยังอยู่นอกช่วงเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป

2. ผลตรวจที่ออกมาเป็นแบบที่คุณหมอคิดไว้หรือไม่ – เพราะระหว่างที่รอผลตรวจแพทย์จะทำการรวบรวมประวัติต่างๆ และคาดการณ์ไว้เบื้องต้นว่าคุณน่าจะมีปัญหาสุขภาพเรื่องใดหรือไม่ ผลตรวจเลือดเป็นเพียงหนึ่งในสิ่งท่ช่วยในการตัดสินใจ บอกความรุนแรงของปัญหาสุขภาพที่กำลังเผชิญ บางครั้งต้องมีการตรวจเพิ่มเติมหรือตรวจซ้ำ หากผลที่ออกมาไม่ได้เป็นไปตามข้อมูลที่แพทย์รวบรวมได้ ซึ่งเหตุผลที่แพทย์ต้องตรวจซ้ำได้แก่

– ขณะที่เจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจนั้น เจาะในเวลาที่ไม่เหมาะสม

– มีความผิดพลาดในการขนส่งสิ่งส่งตรวจทำให้ผลที่ได้ออกมาไม่ตรงตามความเป็นจริง เช่นสิ่งส่งตรวจบางอย่างต้องส่งขณะแช่เย็น แล้วอุณหภูมิขณะขนส่งอาจไม่คงที่ ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้

– ผู้ป่วยไม่ได้ทำตามสิ่งที่แพทย์บอกอย่างเคร่งครัดเช่น ในระหว่างที่อดอาหาร 8 ชั่วโมงนั้นมีการทานอาหารบางอย่างระหว่างนั้น การดื่มแอลกอฮอล์-สูบบุหรี่ก่อนวันตรวจ การทานยา อาหารเสริมบางชนิดก่อนการตรวจซึ่งส่งผลต่อผลเลือดด้วยเป็นต้น เนื่องจากขณะที่เก็บค่าอ้างอิงทำการควบคุมสิ่งเหล่านี้ในกลุ่มตัวอย่างอย่างเค่งครัด

3. ผลตรวจครั้งนี้เป็นอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับครั้งก่อนหน้า – เนื่องจากค่าอ้างอิงที่ดีที่สุดคือค่าของตัวผู้ป่วยเองในแต่ละราย การเทียบผลตรวจครั้งนี้กับครั้งก่อนจะทำให้เราแปลผลได้ดียิ่งขึ้น

ปัจจัยที่มีผลต่อผลตรวจ

มีสาเหตุบางประการที่ทำให้ผลตรวจของคุณออกมาอยู่นอกช่วงปกติแม้ว่าร่างกายคุณยังแข็งแรงอยู่ แต่ปัจจัยเหล่านี้จะทำมาใช้พิจารณาเมื่อผลที่ได้อยู่นอกช่วงปกติเล็กน้อยและยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ได้แก่

  • ปัจจัยทางสถิติ ตามการสร้างค่าอ้างอิงที่จะนำผลของคนส่วนใหญ่ที่ 95% มาสร้างเป็นค่าอ้างอิง ซึ่งผลของคุณอาจเป็นในอีก 5% ที่เหลือก็เป็นได้
  • ปัจจัยทางชีวภาพ ยิ่งแพทย์ส่งตรวจค่าใดของคุณบ่อยครั้ง ค่าเหล่านั้นอาจจะออกนอกช่วงปกติได้บ้างและไม่เท่ากันในการตรวจแต่ละครั้ง เนื่องจากร่างกายของคุณมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงอาหารที่คุณทาน ฮอร์โมนต่างๆที่ทำงานในร่างกาย การใช้ชีวิต การดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งฤดูกาล สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จะมีผลต่อผลตรวจบางชนิดของคุณ
  • ปัจจัยจากตัวคนไข้เอง เพราะช่วงปกติเป็นค่าที่รวบรวมจากคนส่วนใหญ่แล้วแปลผลด้วยสถิติ ตัวของคุณเองนั้นอาจมีค่าปกติเหมือนคนส่วนน้อยได้ ดังนั้นหากคุณทราบว่าคุณมีปัจจัยเหล่านี้ หรือมีการกระทำใดๆที่ส่งผลตรวจผลตรวจควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที
  • สถานที่ตรวจ ตามที่กล่าวมาข้างต้นว่าแต่ละคลีนิกและโรงพยาบาลใช้วิธีการตรวจ และเกณฑ์ที่แตกต่างกัน คำแนะนำในที่นี้คือ คุณควรตรวจกับแพทย์หรือโรงพยาบาลเดิมเป็นประจำ เพื่อความต่อเนื่องในการรักษา เพราะทุกๆครั้งที่ย้ายที่ตรวจ ก็เสมือนการเริ่มนับหนึ่งใหม่

สิ่งที่มักถูกเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ

            โดยหลักๆแล้วจะมีอยู่ 2 ประเด็นที่มักถูกเข้าใจผิดเนื่องจากความเชื่อและความจริงที่แตกต่างกัน

1. ความเชื่อที่ว่าเมื่อไหร่ที่ผลตรวจออกมาอยู่นอกช่วงปกติ นั่นหมายถึงเรากำลังป่วยอยู่

            ความจริง คือไม่ใช่ทุกครั้งเสมอไปที่ผลตรวจอยู่นอกช่วงปกติ แล้วหมายความว่าป่วย ผลตรวจเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจเท่านั้น การที่ผลตรวจของคุณออกนอกช่วงปกติเพียงเล็กน้อย เป็นเพียงสัญญาณให้แพทย์หาสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งอาจเป็น หรือไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ได้

            การถือช่วงปกติเป็นหลักใหญ่นั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรเพราะเป็นเพียง 95% ของกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น ยังมีอีก 5% ที่อยู่นอกช่วงปกติทั้งๆที่กลุ่มคนเหล่านั้นสุขภาพดี และผลตรวจบางอย่างขึ้นอยู่กับเวลาในการตรวจเช่น

            – ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงมากๆได้ หากแพทย์ตรวจหลังจากที่เพิ่งทานอาหารมา น้ำตาลที่สูงนั้นก็จะไม่ได้มาจากโรคเบาหวาน

            – ระดับไขมันที่สูงผิดปกติ เพราะว่าผู้ป่วยไม่ได้อดอาหารก่อนการตรวจ

            – ค่าเอนไซม์ตับที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการตรวจ ไม่ใช่สัญญาณของโรคตับแข็ง

            ดังนั้นหากผลตรวจออกมามีอยู่นอกช่วงปกติ แพทย์อาจทำการส่งตรวจซ้ำอีกครั้ง ผลที่ได้ครั้งที่สอง อาจอยู่ในช่วงปกติ หรือยังผิดปกติอยู่ แต่สิ่งสำคัญคือผลที่อยู่นอกช่วงปกตินั้นอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้หรือไม่

2. ความเชื่อที่ว่าหากผลตรวจทุกอย่างอยู่ในช่วงปกติ หมายความว่าเราแข็งแรงดี

            ความจริงคือการที่ผลตรวจออกมาปกตินั้นเป็นสัญญาณที่ดี แต่ไม่เสมอไปเพราะยังมีผลตรวจบางประเภทที่คาบเกี่ยวกันระหว่างช่วงปกติของคนสุขภาพดี และช่วงของผู้ป่วยอยู่ ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่าผลตรวจที่ออกมาผิดปกตินั้น จะทำให้แปลผลผิดเนื่องจากอยู่ในช่วงที่คาบเกี่ยวนั่นเอง หรือเป็นไปได้ว่าคุณอาจอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ผลตรวจยังไม่สามารถตรวจพบได้

            โดยสิ่งที่คุณต้องคิดเสมอคือผลตรวจเป้นเพียงหนึ่งในตัวช่วยในการตรวจสุขภาพ แต่สิ่งที่บอกสุขภาพที่แท้จริงคือพฤติกรรม หากคุณมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว ผลตรวจที่ออกมาจะน่าเชื่อถือ แต่หากคุณเป็นคนที่ไม่ดูแลสุขภาพ อื่มเหล้า สูบบุหรี่ ทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ผลตรวจที่ออกมาปกตินั้น ก็จะไม่การันตีว่าคุณจะสุขภาพแข็งแรงต่อไปในอนาคต

            แต่หากผลตรวจที่ออกมาปกติในครั้งนี้ แล้วคุณมีประวัติว่าผลตรวจอยู่นอกช่วงปกติในครั้งก่อน จะหมายถึงว่าคุณสามารถดูแลตัวเองได้ดีมากขึ้น แพทยจะนัดตรวจติดตามครั้งถัดไปเพื่อประเมินว่าผลการตรวจอยู่ในเกณฑ์ตลอดหรือไม่ โดยเฉพาะผลตรวจที่สำคัญเช่นค่ามะเร็งเป็นต้น