9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

เนื้อหาในบทความนี้

เรียบเรียงโดย นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ สูตินรีแพทย์

โดยปกติ หญิงให้นมบุตรจะมีระดับฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะยับยั้งการตกไข่และเป็นกลไกธรรมชาติในการคุมกำเนิด และเว้นช่วงระยะห่างในการมีบุตรตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม กลไกนี้จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณหกเดือนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อทารกกินนมแม่น้อยลงหรือเริ่มกินอาหารตามวัย ทำให้หญิงให้นมบุตรก็อาจมีการตกไข่และตั้งครรภ์ได้อีก ทำให้มีคุณแม่ส่วนหนึ่งตั้งครรภ์โดยที่บุตรยังกินนมแม่อยู่

ทางการแพทย์นั้น ถือว่าการให้ลูกกินนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย มีประโยชน์ต่อลูกหลายอย่าง ไม่เพิ่มโอกาสของการแท้งบุตรในครรภ์หรือการคลอดก่อนกำหนด และพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาวะทารกโตช้าในครรภ์ แต่มีข้อพึงระวังและข้อห้ามบางประการดังนี้

โดยทั่วไปการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อลูก
และไม่ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ และลูกที่ดื่มนมแม่


9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

1. ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์

เพื่อประเมินความเสี่ยงของการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่หัวนมถูกกระตุ้นระหว่างให้นมนั้นอาจทำให้เกิดการหลังของฮอร์โมนออกชิโทชิน (oxytocin) ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูก ดังนั้น ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น มีภาวะปากมดลูกสั้น หรือเคยมีการผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ควรงดการถูกกระตุ้นที่หัวนม เนื่องจากหากเกิดการหดรัดตัวของมดลูกอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ในกรณีรุนแรงอาจตกเลือดอย่างรุนแรงได้

ส่วนกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ปกติ หากระหว่างที่ให้นมอยู่เกิดอาการท้องแข็งสม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดควรพบแพทย์ทันที

2. คุณแม่ต้องได้รับโภชนาการครบถ้วน สมบูรณ์

เนื่องจากทั้งการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายของมารดาจะต้องการพลังงานและสารอาหารต่างๆ มากขึ้นกว่าปกติ หากจะให้นมบุตรไปด้วยในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้เพียงพอ โดยเฉพาะ แคลเซียมและธาตุเหล็ก โดยทั่วไป แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำในปริมาณมากเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง เน้นอาหารประเภทโปรตีน กินผักและผลไม้สดที่มีความหลากหลาย เพิ่มปริมาณแคลเชียมจากอาหารประเภทปลาตัวเล็กและเต้าหู้ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ไข่แดง ตับ เป็นต้น หรือรับประทานเหล็กเสริมในรูปแบบของยาให้เพียงพอ

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การให้นมบุตรนั้น ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และเมื่อร่วมกับการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นอีก เพื่อใช้ในการเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย และบางกรณีการแพ้ท้องอาจทำให้มีการเสียน้ำได้มาก หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง และรู้สึกไม่ได้รับน้ำที่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับยาแก้แพ้ท้อง ร่วมกับน้ำเกลือเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกายอย่างรวดเร็ว

4. พิจารณาอายุของลูก

หากลูกอายุมากกว่า 6 เดือนและเริ่มกินอาหารเสริมแต่ละมื้อแล้ว อาจจะง่ายขึ้นในการให้นมแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีอาหารเสริมจากมื้ออื่นๆช่วยนอกจากนมแม่ แต่อย่างไรก็ดี การให้นมแม่ถือว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับลูกน้อยเสมอ และไม่ควรหยุดให้นมแม่หากไม่มีความจำเป็น

5. รักษาอาการเจ็บหัวนมและเต้านม

เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก หญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มีอาการเจ็บหัวนมและเต้านมได้บ่อย การให้ลูกดูดนมในช่วงนี้จึงอาจมีความเจ็บปวดและทรมานมาก รวมทั้งในหญิงตั้งครรภ์บางรายมีอาการแพ้ท้องมาก จนรู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

ในกรณีนี้คุถแม่อาจตัดสินใจหยุดการให้ลูกกินนม ซึ่งคุณแม่สามารถเข้าพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อรับการรักษาประคับประคองด้วยยาแก้แพ้ท้อง หรือยาอื่นๆเท่าที่จะทำได้ ส่วนการจะให้ลูกกินนมต่อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่และครอบครัว

จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าในมารดาที่ตั้งใจให้ลูกกินนมแม่ต่อระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เลิกล้มความตั้งใจเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมและเต้านม

หากมีอาการเจ็บหัวนมและเต้านม แต่ยังต้องการให้นมลูกต่อ อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคลินิกนมแม่ เพื่อปรับท่าทางการให้นม หรือใช้ nipple shield เพื่อช่วยป้องกันหัวนมแตกและอาการเจ็บหัวนมได้

6. พูดคุย และสื่อสารกับลูกที่ยังดูดนมอยู่

หากลูกที่ดูดนมอยู่เริ่มโตพอที่จะพูดรู้เรื่องแล้ว คุณแม่อาจพูดคุยกับน้องว่าระหว่างนี้ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อาจจะมีท้องโตขึ้นทำให้ดูดนมลำบากขึ้น อาจจะต้องปรับมื้อในการให้นม และพูดเตรียมตัวเรื่องจะมีน้องแล้ว หากคลอดแล้วแม่อาจต้องให้ความสนใจกับน้องมากขึ้นเพราะน้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และที่สำคัญ ต้องเน้นย้ำว่ายังรักคนพี่อยู่เสมอ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาดูแลคนน้องที่กำลังจะคลอดมากกว่า

7. หาคนช่วย

การให้นมบุตรขณะตั้งครรภ์นั้น ต้องใช้พลังทั้งทางกาย และทางใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรหาความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือกลุ่มที่ช่วยเหลือคุณแม่ตั้งครรภ์ต่างๆ อย่าให้การให้นมแม่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เพราะนอกจากความเครียดจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดน้อยลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ด้วย

พึงตระหนักว่า คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกให้หรือไม่ให้นมลูกขณะตั้งครรภ์ก็ได้ ไม่ควรจะมีการบังคับใดๆ

8. ทำความเข้าใจว่าปริมาณน้ำนมอาจเปลี่ยนแปลงไประหว่างตั้งครรภ์

แม้โดยทั่วไปแล้วคุณค่าและสารอาหารในนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจทำให้น้ำนมมีปริมาณลดลงได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาที่ 2-3 ซึ่งปริมาณที่ลดน้อยลงนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกคนโตหย่านมด้วยตนเองเนื่องจากไม่อยากดูดนมแม่ต่อได้

9. ในกรณีที่ครรภ์นั้นมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะรกเกาะต่ำควรงดการให้นมแม่

ข้อห้ามในการให้นมแม่ขณะตั้งครรภ์ มีหลักๆอยู่ 2 ข้อ คือ 1. มีความเสี่ยงที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนด และ 2. คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ

เนื่องจากการให้นมแม่ หัวนมของคุณแม่จะถูกกระตุ้นทำให้มีการหลั่งสาร oxytocin ซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้เกิดความผูกพันธ์ระหว่างแม่ลูก แต่สารนี้ก็ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ ดังนั้น หากมีข้อห้ามดังกล่าว ก็ไม่ควรให้นมลูกต่อ


แนวทางการเลือกว่าจะให้นมต่อหรือไม่

ในรายที่เป็นการตั้งครรภ์ปกตินั้น ควรให้ความมั่นใจแก่แม่ว่าสารอาหารที่มีประโยชน์ยังมีอยู่น้ำนมที่ผลิตระหว่างตั้งครรภ์ ในการให้นมบุตรต่อไปนั้นจะไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรบอกให้ทราบถึงข้อควรระวังด้วย

กรณีคุณแม่เลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่ต่อไป

คุณแม่ควรขอรับคำแนะนำ และสนับสนุนเรื่องภาวะโภชนาการจากแพทย์ โดยประเมินรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับวิตามินหรือแร่ธาตุเสริมในรายที่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

การให้ลูกกินนมนั้นสามารถให้ไปได้ตลอดการตั้งครรภ์จนถึงตอนคลอด และหลังคลอดก็ยังสามารถให้นมลูกควบคู่กันไปทั้ง 2 คนได้ ในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งคุณแม่อาจจะอ่อนเพลียมากและยังไม่มีความมั่นใจในการให้ลูกเข้าเต้าพร้อมกัน ควรเริ่มจากให้ลูกกินนมแม่ทีละคนก่อน ซึ่งโดยทั่วไปมักจะ
ให้คนน้องดูดก่อน เพราะนมแม่เป็นแหล่งอาหารเดียวของน้อง เมื่อน้องอิ่มแล้วจึงให้คนพี่ดูด ต่อมา หากมีความมั่นใจและมีปริมาณน้ำนมมากเพียงพอแล้วอาจให้ดูดพร้อมกันทั้ง 2 คนโดยดูดคนละเต้าก็ได้ (nursing trio) ซึ่งการให้ลูกดูดพร้อมกันทั้งสองคนนั้นมีข้อดีคือลดความโกรธและความหงุดหงิดจากการรอคอยที่จะได้ดูดนมของลูกแต่ละคน และลดความเหนื่อยล้าของคุณแม่ที่จะต้องให้นมด้วย

นอกจากนี้ ควรให้แพทย์ช่วยประเมินความเสี่ยงว่าจะสามารถให้นมต่อไประหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่ แพทย์อาจทำการประเมินความเสี่ยงของการให้นมแม่ขณะตั้งครรภ์จากประวัติในอดีต การตรวจร่างกาย และการอัลตราซาวนด์เพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดในช่วงท้ายของบทความ

กรณีที่คุณแม่ตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ต่อในตอนแรก แต่ไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจ

ซึ่งอาจจะเป็นด้วยมีอาการเจ็บห้วนม หรือปริมาณน้ำนมลดน้อยลงมาก คุณแม่ไม่ต้องกังวบ และควรมีกำลังใจเสมอ แม้จะหย่านมไปชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ แต่หลังคลอดเมื่อปริมาณน้ำนมมีเพียงพอ หากคนพี่ยังอยากกินนมแม่ต่อก็สามารถกลับมากินได้ใหม่ได้ โดยร่างกายจะสามารถปรับตัวเพื่อผลิตน้ำนมให้เพียงพอต่อลูกทั้งสองคนได้เอง

กรณีที่คุณแม่ตัดสินใจหย่านมเลยในขณะที่ตั้งครรภ์

กรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงของการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจมีความไม่พร้อมบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หลังจากได้รับข้อมูลรอบด้านจากแพทย์แล้ว ก็ควรสนับสนุนการตัดสินใจของมารดา โดยแนะนำว่าควรหย่านมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดโอกาสเกิดอาการคัดตึงเต้านมหรือเต้านมอักเสบ


การประเมินความเสี่ยงในการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

การซักประวัติ

  • ประวัติการคลอดครั้งก่อน ว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดมาก/น้อย
  • ประวัติการผ่าตัดที่บริเวณตัวมดลูก และปากมดลูก เช่น การตัดเอาปากมดลูกออกบางส่วนเพื่อรักษาเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ การทำผ่าตัดมดลูก ฯลฯ
  • ประเมินภาวะโภชนาการ เพื่อให้ยาบำรุงเสริมได้อย่างเหมาะสม

การตรวจร่างกาย

  • ตรวจดูหัวนม เต้านม ลานนม ว่าสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่ มีอุปสรรคหรือสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้นมได้ง่ายขึ้นหรือไม่
  • ตรวจดูภาวะการแข็งตัวของมดลูก และ/หรือ ตรวจภายใน กรณีที่ระหว่างให้นมบุตรแล้วมีท้องแข็ง หรือเลือดออกจากช่องคลอด

การอัลตราซาวนด์

  • แนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ตั้งใจจะให้นมบุตร ควรอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อ
    • ตรวจหาภาวะรกเกาะต่ำ (placenta previa) ซึ่งอาจทำให้เกิดการตกเลือดได้
    • วัดความยาวปากมดลูก (cervical length) ตรวจหาภาวะปากมดลูกสั้น ซึ่งอาจจะทำให้คลอดบุตรก่อนกำหนดได้

สรุป

ในคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกส่วนใหญ่ หากเกิดการตั้งครรภ์ซ้อนขึ้นมาขณะให้นมบุตรอยู่ ก็สามารถให้นมต่อได้ ไม่มีผลเสียต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่องสารอาหาร และต้องเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด และภาวะรกเกาะต่ำ จากแพทย์ร่วมด้วยเสมอ

คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจให้นมต่อ หรือจะหย่านมเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ หากสามารถให้ต่อได้ก็จะดีที่สุด เนื่องจากนมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างหาอาหารอื่นๆเปรียบเทียบไม่ได้เลย

อ้างอิง :

  • พรรณวรา ปริตกุล. (2559). ส่วนประกอบสำคัญของนมแม่และการเปลี่ยนแปลงในภาวะต่างๆ. ใน เวชปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ Clinical Practice of Breastfeeding (พิมพ์ครั้งที่ 1)
  • Baby-Friendly Hospital Initiative: Revised, Updated and Expanded for Integrated Care. Geneva: World Health Organization; 2009. สืบค้นทาง Online เมื่อ 12 ธันวาคม 2566 จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK153456/

ต้องการคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม หรือนัดหมายตรวจ NIPT คลิกที่นี่

call to action NIPT ท้ายบทความ สีชมพู

✅✅✅✅✅

เฮลท์สไมล์ บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ และตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ครบ 23 คู่ทุกโครโมโซมที่มีในมนุษย์ รู้เพศ และโรคอื่นๆที่เกิดจากการขาด/เกินของโครโมโซมขนาดเล็กได้มากถึง 92 โรค กับ Brand NIFTY® และ NGD NIPS

✔ ตรวจเลือดดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมอื่นๆ ผลแม่นยำสูง 99.9%

✔ เจาะเลือดเพียง 10 ซีซี ไม่เสี่ยงแท้ง

✔ ราคาคุ้มค่า ประหยัด ค่าบริการเริ่มต้นที่ 9,500 บาท รวมค่าบริการเจาะเลือดถึงบ้าน และแพทย์อ่านผลให้ทุกเคส

✔ สะดวก สบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกนอกสถานที่

✔ บริการตรวจถึงบ้านทั่วประเทศ ฟรี

✅ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : @Healthsmile

📞 โทร : 089 874 9565

🌐 อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมของทารกในครรภ์ ได้ที่นี่ https://healthsmile.co.th/prenatal-screening/

ตารางราคา NGD NIPT 5chromosome 8900 บาท NIFTY focus 10900 บาท NGD NIPS 23 chromosomes 11900 บาท NIFTY Core 12900 บาท NIFTY Pro 17400 บาท
สูตินรีแพทย์ ที่สนใจด้านโครโมโซม ยีน DNA และการตรวจสุขภาพเชิงลึก ให้การดูแลมารดาตั้งครรภ์ ตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์ รักษาสุขภาพทางเพศ และให้ความรู้ด้านการตรวจยีนสุขภาพ การศึกษา - สถานะความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่แพทยสภารับรอง : สาขา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ( Obstetrics and Gynaecology ) - ประกาศนียบัตรฯ ที่แพทยสภารับรอง : ด้านเวชศาสตร์จีโนมเบื้องต้นสำหรับแพทย์เฉพาะทาง