ในยุคสมัยใหม่ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น และหลายคนก้มหน้าเข้าหาเทคโนโลยีมากขึ้น แต่ที่น่ากังวล ก็ดูเหมือนจะเป็นเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่ำ 2 ขวบ เพราะการที่เด็กก้มหน้าดูแต่จอ อาจเป็นภัยร้าย มากกว่าผลดีต่อตัวเด็ก แต่ผู้ปกครองหลายบ้าน ไม่ว่าจะเป็นตัวพ่อแม่เอง หรือปู่ ย่า ตา ยาย ผู้เลี้ยงดูเด็ก ก็มักหยิบยื่นมือถือ แท็บแล็ตให้เด็ก เพื่อให้เด็กอยู่นิ่ง หรือใช้เกลี้ยกล่อมเวลาป้อนข้าว ซึ่งอาจได้ความสบายผู้ใหญ่ เด็กกินข้าว อยู่สงบ แต่นั่นเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม เรียกได้ว่า พ่อแม่รังแกฉัน เพราะการที่เด็กนั่งไถๆ หน้าจอ มองภาพที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในจอบ่อยๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคสมาธิสั้น หรือออทิสติกเทียมตามมาได้

โรคสมาธิสั้น หรือออทิสติกเทียม มีปัจจัยดังกล่าวที่สอดคล้องกัน แต่ทั้งอาการสมาธิสั้น และอาการออทิสติกเทียม มีความต่างกัน และไม่ใช่กลุ่มโรคเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่า ผู้ปกครองหลายท่าน ยังคงสับสน แยกไม่ออก หรือคิดว่าทั้ง 2 อาการคือกลุ่มโรคเดียวกัน บทความนี้จะพาไปทำความเข้าใจของโรคสมาธิสั้น สมาธิสั้นอาการเป็นอย่างไร และออทิสติกเทียมอาการเป็นอย่างไร ให้หายสงสัยกันค่ะ

โรคสมาธิสั้น ภัยเงียบใกล้ตัวเด็ก ที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย

โรคสมาธิสั้น (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) หรือ adhd คือ อีกหนึ่งโรคที่มีผลสำรวจจากกรมสุขภาพจิตพบว่า ในประเทศไทยมีเด็กสมาธิสั้นอายุ 6 – 15 ปี เป็นโรคสมาธิสั้นประมาณ 420,000 คน (2559) โดยเด็ก adhd คือ เด็กที่มีอาการสมาธิสั้น จดจ่อกับอะไรไม่ได้นาน ขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่นิ่ง ซนมากกว่าปกติ ทำให้เด็กมีปัญหาด้านการเรียนรู้ และการเข้าสังคมตามมา ซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการเด็กสมาธิสั้น หรือ adhd คือมาจากหลายปัจจัยร่วมกัน โดยมีสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการสมาธิสั้น คือ ปัจจัยทางด้านชีวภาพ ถึงแม้โรคสมาธิสั้นจะมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางด้านชีวภาพ แต่การเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีอาการสมาธิสั้นรุนแรงมากขึ้นได้

สาเหตุของโรคสมาธิสั้น ที่เกิดจากปัจจัยทางด้านชีวภาพ

อาการเด็กสมาธิสั้น เกิดจากความผิดปกติของสมอง ที่มีการหลั่งสารเคมี Dopamine, Noradrenaline น้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ซึ่งเกิดจากกรรมพันธุ์เป็นหลัก และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น การได้รับสารตะกั่ว การสูบบุหรี่ของแม่ในขณะตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ของแม่ในขณะตั้งครรภ์และหลังคลอด ทำให้เด็กควบคุมสมาธิของตนเองได้ยาก

สาเหตุของอาการเด็กสมาธิสั้นที่มากขึ้น ที่เกิดจากการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม

การเลี้ยงดูของผู้ปกครองและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการรุนแรงมากขึ้น เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้ลูก ปล่อยให้เด็กเล่นมือถือ ดูทีวี เล่นแท็บแล็ตมากเกินไป จนทำให้เด็กติดจอ ซึ่งภาพบนหน้าจอที่มีการเคลื่อนไหวเร็ว มีแสง สี เสียง จะกระตุ้นประสาทสัมผัสตลอดเวลา ทำให้เด็กจดจ่อกับสิ่งอื่นรอบตัวที่ไม่มีแสง สี แสงกระตุ้นเหมือนภาพในจอน้อยลง และไม่มีสมาธิจดจ่อ จึงทำให้ลูกสมาธิสั้นกับสิ่งอื่นๆ นอกจอ

เด็กสมาธิสั้นอาการเป็นอย่างไร

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ด้วยความที่สาเหตุของอาการเด็กสมาธิสั้น และออทิสติกเทียมมีความคล้ายคลึงกัน และบางพฤติกรรมยังคล้ายกันอีกด้วย ทำให้ผู้ปกครองอาจแยกไม่ได้ หรือสับสนอาการของทั้งสองโรคได้ ดังนั้น เรามาเช็กกันก่อนเลยว่า หากลูกสมาธิสั้น อาการเด็กสมาธิสั้นจะเป็นอย่างไร

โรคสมาธิสั้น (ADHD) ตามเกณฑ์วินิจฉัย DSM-5 สมาคมจิตแพทย์อเมริกัน

● สมาธิสั้นอาการขาดสมาธิ (inattention) มีอาการอย่างน้อย 6 ใน 9 ข้อ ดังนี้

  1. ขาดความละเอียดรอบคอบ

  2. ไม่มีสมาธิในการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

  3. ดูเหมือนไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย

  4. ทำตามคำสั่งไม่จบ หรือทำกิจกรรมไม่เสร็จ

  5. ไม่เป็นระเบียบ

  6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้ความพยายาม

  7. ทำสิ่งของที่จำเป็นหายบ่อย

  8. วอกแวกได้ง่าย

  9. ขี้ลืม

●สมาธิสั้นอาการซน อยู่ไม่นิ่ง และอาการหุนหันพลันแล่น มีอาการอย่างน้อย 6 ใน 9 ข้อ ดังนี้

1.ยุกยิก นั่งไม่นิ่ง

2.นั่งไม่ติดที่ ลุกเดินบ่อยๆ

3.ชอบวิ่ง ปีนป่ายมากเกินควร

4.เล่นเสียงดัง

5.อยู่ไม่เฉย ตื่นตัวตลอดเวลา

6.พูดมากเกินไป

7.พูดโพล่งโดยยังไม่ได้ฟังให้จบคำถาม

8.รอคอยไม่เป็น

9.มักจะขัดจังหวะหรือพูดแทรกในระหว่างที่ผู้อื่นพูด

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น ควรได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กนะคะ เพราะบางข้อหากเด็กสมาธิสั้นอาการไม่ชัดเจน ผู้ปกครองอาจสังเกตเองได้ยาก และผู้ปกครองอาจไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เด็กสมาธิสั้น ดังนั้น โรคสมาธิสั้น หรือ adhd คือ โรคที่ควรประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้ทำการรักษา หรือปรับพฤติกรรมเด็กสมาธิสั้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป  

โรคสมาธิสั้นรักษาหายไหม-แก้สมาธิสั้นได้ไหม

ความกังวลของผู้ปกครองหลายท่าน มักกังวลว่า ลูกจะเป็นเด็กสมาธิสั้น และหลายท่านที่พบว่า ลูกอาจเข้าข่ายเด็กสมาธิสั้น ก็ยิ่งกังวลมากขึ้น บางรายถึงขั้นเกิดภาวะเครียด เพราะเป็นกังวลว่า โรคสมาธิสั้นรักษาหายไหม เราจะแก้สมาธิสั้นให้ลูกได้ไหม เนื่องจากกลัวว่าลูกจะมีปัญหาการเรียนรู้ไปถึงเติบโต ดังนั้น ก่อนที่จะกังวลไปมากกว่านี้ เรามาดูกันต่อค่ะว่า โรคสมาธิสั้นรักษาหายไหมและเราจะแก้สมาธิสั้นให้ลูกได้ไหม

อาการสมาธิสั้น สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามวัยได้ โดยอาการอยู่ไม่นิ่งอาจดีขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น และอาการสมาธิสั้นอื่นๆ สามารถดีขึ้นได้แต่ต้องอาศัยการบำบัดรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ และการดูแลที่เหมาะสมจากผู้ปกครองตั้งแต่เนิ่นๆ แต่หากไม่ได้รับการบำบัดรักษา และการดูแลที่ถูกต้อง เมื่อเด็กโตขึ้นจะส่งผลกระทบด้านการเรียน การใช้ชีวิตประจำวัน และการเข้าสังคมต่อไปได้ค่ะ

การรักษาโรคสมาธิสั้น ต้องอาศัยการช่วยเหลือผสมผสานหลายวิธีร่วมกัน และจากหลายหน่วยงานเช่นกัน ซึ่งสิ่งสำคัญ คือผู้ปกครองควรได้รับความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น เพื่อช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นได้ถูกวิธีจากผู้เชี่ยวชาญ การประสานงาน กับทางโรงเรียนเพื่อให้การช่วยเหลือในชั้นเรียน การใช้ยาทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมตนเองได้ดีขึ้น รวมถึงร่วมกันหาแนวทางการปรับพฤติกรรมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปกครอง

จากที่กล่าวมา ผู้ปกครองคงพอเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้น อาการของเด็กสมาธิสั้นกันบ้างแล้วใช่ไหมคะ ต่อไปเราจะพาไปดูฝั่งออทิสติกเทียมกันบ้างค่ะ เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจสาเหตุ อาการออทิสติกมากขึ้น แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน เพื่อแยกให้ออกระหว่างโรคสมาธิสั้น อาการของเด็กสมาธิสั้นกับออทิสติกเทียม

ออทิสติกเทียม ภัยเงียบใกล้ตัวเด็ก ผู้ปกครองไม่ควรละเลย

ออทิสติกเทียม หรือที่เรียกว่า “พฤติกรรมคล้ายออทิสติก” ซึ่งจริงๆ แล้วออทิสติกเทียม เป็นชื่อที่ถูกเรียกทั่วไป ไม่ได้ถูกเรียกในทางการแพทย์ เป็นเพียงการสื่อความหมายให้เข้าใจง่าย เพราะออทิสติกเทียม จะมีอาการคล้ายกับโรคออทิสติก (Autistic Disorder) หรือ ออทิสซึม (Autism) แต่ที่แตกต่างกันออกไป คือสาเหตุ ดังนี้

●สาเหตุโรคออทิสติก

โรคออทิสติกคือ ภาวะที่เกิดจากความผิดปกติทางด้านสมอง อาจเกิดจากพันธุกรรม แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู ส่งผลให้เด็กออทิสติก มีอาการเด็กออทิสติกบกพร่องทางด้านสังคม ภาษา และการสื่อความหมายที่ไม่เหมาะสมตามวัย โดยอาการเด็กออทิสติกจะค่อยๆ มีอาการที่เริ่มแสดงออกตั้งแต่ก่อนอายุ 3 ขวบ

โรคออทิสติกคือ กลุ่มการวินิจฉัยโรค ที่เรียกว่า พีดีดี หรือโรคออทิสติกคือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน (Pervasive Developmental Disorders; PDDs) โดยพบสูงสุดถึง 1 คนต่อประชากร 250 คน

●สาเหตุออทิสติกเทียม

ออทิสติกเทียมเกิดจาก เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสารกับผู้อื่น อาจมาจากสาเหตุการเลี้ยงดูของผู้ปกครอง ที่ไม่ค่อยมีเวลาทำกิจกรรมกับลูก แต่ให้เด็กอยู่กับมือถือ แท็บแล็บมากเกินไป ทำให้เด็กรับสารเพียงทางเดียว และขาดการสื่อสารกับผู้อื่น จึงทำให้ออทิสติกเทียมอาการบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ด้านภาษา ซึ่งไม่เกี่ยวกับสาเหตุความผิดปกติทางสมอง

ในปัจจุบันพบว่า เด็กออทิสติกเทียมมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะเด็กขาดทักษะทางด้านภาษาและสังคม อาจมาจากสาเหตุของการดูจอมากเกินไป เพราะในยุคสมัยใหม่ พ่อแม่อาจเลี้ยงลูกโดยการให้อยู่กับมือถือ แท็บแล็บตั้งแต่เล็กๆ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ปกครองต้องคำนึงถึงมาเป็นอันดับต้นๆเลย คือ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดอาการออทิสติกเทียม

ออทิสติกอาการเป็นอย่างไร

อาการเด็กออทิสติก และอาการออทิสติกเทียม จะมีความคล้ายกัน เพียงแต่สาเหตุต่างกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่เด็กออทิสติก และออทิสติกเทียมอาการอาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับการดูแลของผู้ปกครอง และความรุนแรงของอาการออทิสติกที่เป็นอยู่ด้วย ซึ่งเด็กออทิสติกอาการจะมีลักษณะคล้ายกันที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

1.เด็กมีโลกส่วนตัวสูง สนใจสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้น้อย ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่ิอนวัยเดียวกัน

2.เรียกไม่หัน ไม่สบตา ไม่สนใจใครเลย

3.ตอบโต้กับผู้อื่นไม่เป็น

4.เล่นบทบาทสมมติไม่เป็น

5.ไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง พูดเป็นภาษาต่างดาว พูดเลียนแบบไม่เข้าใจความหมาย

6.ชอบหมกหมุ่น ยึดติดกับอะไรเดิมๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

7.บางรายมีการกระตุ้นตัวเองเป็นระยะ เช่น หมุนตัว โยกตัว เขย่งเท้า สะบัดมือ เล่นมือ เล่นเสียง เป็นต้น

หมายเหตุ : อาการเด็กออทิสติกจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี

การที่ผู้ปกครองจะสามารถดูอาการออทิสติกได้เอง อาจเป็นสิ่งที่ค่อนข้างทำเองได้ยาก โดยเฉพาะในรายที่อาการเด็กออทิสติกรุนแรง และมีอาการออทิสติกที่แสดงออกได้น้อยมากๆ หรือออทิสติกเทียมอาการเป็นอย่างไร ดังนั้น จึงต้องอาศัยการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นอกจากนี้การที่ผู้ปกครองจะสามารถรู้ได้ว่า ลูกเป็นออทิสติกเกิดจากภาวะขาดการกระตุ้น หรือเป็นออทิสติกเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ควรเข้าพบปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญเช่นเดียวกัน เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและนำไปสู่การรักษาได้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น

ออทิสติกรักษาหายไหม

ออทิสติกรักษาหายไหม? ผู้ปกครองหลายท่านเกิดความวิตกกังวล เมื่อพบว่า ลูกเข้าข่ายเป็นเด็กออทิสติก ทำให้เกิดคำถามตามมา ซึ่งเชื่อว่าคำถามยอดนิยมของผู้ปกครองหลายท่านคงหนีไม่พ้นคำว่า ออทิสติกรักษาหายไหม เพราะใครๆ ก็อยากเห็นลูกมีพัฒนาการไม่บกพร่อง เรียนรู้ได้สมบูรณ์ตามวัย มีพฤติกรรมเหมือนกับเด็กทั่วไป

ในปัจจุบัน โรคออทิสติก ในทางการแพทย์ยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ปกครอง และผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยให้ออทิสติกอาการดีขึ้นได้ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น อาการชัก ภาวะซึมเศร้า โดยทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญและผู้ปกครอง เพราะการปรับพฤติกรรมจากอาการออทิสติก ผู้เชี่ยวชาญสามารถช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ผู้ปกครองก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความสำคัญมากในการช่วยเหลือลูกได้ดีที่สุด ดังนั้น หากเด็กได้รับการคัดกรองจากผู้เชี่ยวชาญโดยเร็ว ก็จะทำให้รู้ว่า ลูกเป็นออทิสติกเกิดจากอะไรได้เร็ว รักษาได้เร็วเช่นกันค่ะ

ส่วนอาการออทิสติกเทียม หรือพฤติกรรมคล้ายออทิสติก ที่อาจเกิดจากสาเหตุสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูของผู้ปกครอง จะสามารถรักษาอาการออทิสติกให้ดีขึ้นได้เช่นกัน โดยอาจไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษา และหากได้รับการกระตุ้นอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ ออทิสติกเทียมอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายได้ ซึ่งแนวทางการบำบัดรักษาเด็กออทิสติก และอาการออทิสติกเทียมสามารถทำได้โดยการปรับพฤติกรรม ทำกิจกรรมบำบัด ส่งเสริมทักษะทางด้านภาษาและการเข้าสังคม ในบางรายที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประเมินแล้วจำเป็นต้องใช้ยาก็อาจมีการใช้ยารักษาร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ตามการช่วยเหลือ ส่งเสริมจากครอบครัวคือกำลังสำคัญที่ดีที่สุดที่จะช่วยบำบัดรักษาลูกน้อยให้ดีขึ้นจากโรคออทิสติก และอาการออทิสติกเทียม

________________________________________________________

ผู้ปกครองจะเห็นได้ว่า ทั้งออทิสติกเทียม และโรคสมาธิสั้น อาจมีความซับซ้อน ทั้งด้านสาเหตุ อาการที่คล้ายคลึงกัน จึงควรได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญอีกครั้ง และหากไม่ได้รับการบำบัดรักษาจากผู้เชี่ยวชาญ และดูแลที่ถูกต้องจากผู้ปกครองเอง จะส่งผลกระทบต่อตัวเด็กอย่างมากในอนาคต

ดังนั้น หากผู้ปกครองพบว่า ลูกสมาธิสั้น พบอาการของเด็กสมาธิสั้น อาการออทิสติก หรือสงสัยว่า ลูกอาจเข้าข่ายอาการออทิสติกเทียม (พฤติกรรมคล้ายออทิสติก) หรือผู้ปกครองไม่แน่ใจว่า ลูกอาจเป็นโรคออทิสติก ผู้ปกครองสามารถประเมินพัฒนาการเด็ก พร้อมปรึกษาแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก จาก HealthSmile ได้เลยค่ะ

ติดต่อ สอบถามได้ที่ 📱 Line ID : @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ👉https://lin.ee/CDUgd8d

อ้างอิงข้อมูลจาก

กรมสุขภาพจิต. (2565). โรคสมาธิสั้น ใกล้ตัวลูกกว่าที่คิด, สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2565. จาก.https://dmh.go.th/news/view.asp?id=2481

กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล. ออทิสติก (AUTISTIC DISORDER), สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2565. จาก. https://th.rajanukul.go.th/preview-4005.html

วิฐารณ บุญสิทธิ พบ.  (2555, 4 ตุลาคม-ธันวาคม).  “โรคสมาธิสั้น : การวินิจฉัยและรักษา,”  วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย.  57(4) : 357-383.

Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์