กล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skills) กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) ถือเป็นต้นทุนในการต่อยอดสู่พัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็ก ไม่แพ้พัฒนาการทางด้านสมอง จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม แต่ควรให้ความใส่ใจ ส่งเสริมพัฒนาการตั้งแต่ปฐมวัย (แรกเกิด-6 ปี) เพราะการที่ลูกรักมีพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรงตามวัย ย่อมเป็นสิ่งที่ล้ำค่า เพราะเด็กๆ สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ผ่านการหยิบจับ เดิน ยืน วิ่งอย่างมั่นคง ดังนั้น ย่อมทำให้พัฒนาการด้านอื่นๆ ดีตามไปด้วย บทความนี้เฮลท์สไมล์จึงอยากพาไปรู้จักกับ กล้ามเนื้อมัดเล็ก คืออะไร กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คืออะไร พร้อมแนะนำกิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่เด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กๆ มีพัฒนาการแต่ละช่วงวัยที่ดี
กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
● กล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skills) มีอะไรบ้าง
กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ ส่วนของกล้ามเนื้อตั้งแต่ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือทุกนิ้ว ดังนั้น กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ ส่วนที่สำคัญในการหยิบจับสิ่งของ ใช้ออกแรงเพื่อควบคุมทิศทางของสิ่งของได้ เช่น การจับดินสอ การผูกเชือกรองเท้า ติดกระดุมเสื้อผ้า จับช้อนส้อมรับประทานอาหาร
● กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) มีอะไรบ้าง
กล้ามเนื้อมัดใหญ่ คือ ส่วนของกล้ามเนื้อแขน ขา ลำตัว รวมถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว เคลื่อนไหวร่างกาย กล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่แข็งแรงจึงมีความสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย เช่น การชันคอ ยกศีรษะ พลิกคว่ำ คลาน ยืน เดิน วิ่ง
ซึ่งพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่เด็กปฐมวัยย่อมมีพัฒนาการแต่ละช่วงวัยที่ต่างกันออกไป ดังนั้น ก่อนที่ผู้ปกครองจะพาลูกๆ ทำกิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรเรียนรู้แนวทางวิธีการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการแต่ละช่วงวัยด้วย จึงจะทำให้เด็กไม่รู้สึกเครียด หรือกดดันจนเกินไป
กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ของเด็กปฐมวัย
● กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 2-3 เดือน
เด็กวัยนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ได้ง่ายๆ ที่บ้านเลยค่ะ โดยช่วยจัดท่าให้ลูกน้อยนอนคว่ำ และหาของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ นั่นคือ กรุ๊งกริ๊งสีสันสดใส มาเขย่าส่ายไป-มา ขึ้น-ลงในระดับสายตา เพื่อให้เกิดเสียง จะช่วยกระตุ้นให้เด็กยกศีรษะ ชันคอ หันหน้าไปมาตามเสียง เอื้อมมือคว้าจับ
● กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 4-5 เดือน
พัฒนาการเด็กวัยนี้จะรู้จักกดน้ำหนักขาตัวเองเมื่ออยู่บนพื้นแข็งได้แล้ว ดังนั้น กิจกรรมฝึกกล้ามเนื้อมัดใหญ่ทำได้ง่ายๆ ไม่ต้องใช้อุปกรณ์เยอะเลยค่ะ เพียงแค่ผู้ปกครองช่วยประคองให้ลูกเอาเท้าแตะพื้น เพื่อฝึกให้เด็กได้กดน้ำหนักขาเมื่อเท้าอยู่บนพื้น นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจจะหาของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กที่มีสีสันสดใส เข้ามาช่วยเสริมอีกทางได้ค่ะ โดยการวางของเล่นในมือลูกน้อยและช่วยเขาถือ หรือวางของเล่นไว้ใกล้ๆ เพื่อให้เด็กสามารถเอื้อมมือหรือแตะเท้าถึง
● กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 6-8 เดือน
พัฒนาการเด็กวัยนี้จะเริ่มนั่งได้เองโดยไม่ต้องประคอง และเริ่มคลานได้ ซึ่งเด็กวัยนี้แนะนำว่า ควรเริ่มฝึกพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ด้วยการให้ลูกได้ขยับแขนขามากขึ้น โดยอาจช่วยกระตุ้นให้เด็กพลิกตัวจากหน้าไปหลัง หลังไปหน้า หรือกระตุ้นให้เด็กกลิ้งตัวไปคว้าของเล่น หรือจะเป็นการฝึกให้ลูกได้ฝึกทรงตัวจากการหัดนั่ง
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 9-11 เดือน
พัฒนาการเด็กวัยนี้จะเริ่มหยิบของโดยใช้นิ้วโป้งกับนิ้วชี้ได้แล้วค่ะ ดังนั้น ผู้ปกครองไม่ควรรีรอที่จะฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก ด้วยการหาของชิ้นเล็กๆ ที่อ่อนนุ่ม เช่น ข้าวสุก เศษขนมปัง มาวางไว้ให้ลูกได้ใช้นิ้วมือหยิบอาหารชิ้นเล็กๆ เหล่านี้ นอกจากนี้ในด้านของการฝึกพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ผู้ปกครองอาจเปิดโอกาสให้ลูกได้คลาน ยืนเกาะตามสิ่งของได้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ โดยคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 1-1.5 ปี
เด็กวัยนี้ผู้ปกครองควรฝึกให้ลูกได้หัดเดินด้วยตัวเอง แม้ลูกจะยังเดินได้เองไม่กี่ก้าวก็ตาม ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจกระตุ้นให้เขายอมลุกขึ้นเดินโดยอาจจะเอาของเล่นมาหลอกล่อ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาลูกน้อยแข็งแรง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะส่วนของนิ้วมือของลูกน้อย ด้วยการเริ่มฝึกให้ลูกได้จับดินสอขีดเขียนได้แล้วนะคะ
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 1.6 ปี
เด็กวัยนี้มีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวและเริ่มทรงตัวได้มากขึ้น ดังนั้น ถือเป็นโอกาสทองของผู้ปกครองที่จะหากิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่มาช่วยส่งเสริมร่างกายลูกน้อยให้แข็งแรงได้เยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การเล่นโยนลูกบอลกับลูก การให้ลูกช่วยเปิดหนังสือนิทานทีละ 2-3 หน้า การให้ลูกพยายามช่วยเหลือตัวเอง เช่น ใช้ช้อนทานอาหาร จับแก้วดื่มน้ำเอง รวมถึงให้ลูกฝึกก้าวขึ้นลงบันไดทีละก้าว โดยผู้มีปกครองคอยดูแลใกล้ๆ
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 2 ปี
เด็กวัยนี้จะเริ่มรู้จักเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ และรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เล่นกับเพื่อนๆ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจจะหากิจกรรมที่ช่วยให้เขาได้สนุก ไปพร้อมๆ กับช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ได้เลยค่ะ โดยอาจจะพาลูกไปสวนสาธารณะเพื่อให้เขาได้วิ่งเล่น ปีนป่ายเครื่องเล่นกับเพื่อนๆ โดยมีผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือหากอยู่บ้านอาจจะให้ลูกช่วยจับไม้กวาดกวาดบ้าน ช่วยถือสิ่งของให้ เป็นต้น
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 3 ปี
ผู้ปกครองอาจจะหาของเล่นของเด็กช่วยเสริมพัฒนาการ หรืออุปกรณ์ที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ มาช่วยกระตุ้นให้เด็กสนใจ เช่น สมุดภาพ ดินสอสี แล้วกระตุ้นให้เขาได้ลองวาดภาพระบายสี หรือจะชวนลูกมาตัดแปะ ทำงานประดิษฐ์ก็ได้เช่นกัน นอกจากจะช่วยให้เด็กมีกล้ามเนื้อมือที่แข็งแรง ยังถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวอีกด้วย นอกจากนี้ผู้ปกครองอาจฝึกให้ลูกได้ขี่จักรยาน 3 ล้อ ซึ่งจะช่วยให้ลูกได้ขยับแขนขามากขึ้น และฝึกการทรงตัว
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 4 ปี
เด็กในช่วงวัยนี้จะชอบวิ่งเล่น กระโดด ปีนป่ายเป็นพิเศษ รู้จักร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะหากิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ผ่านการเล่นเดาะลูกบอล โยน-รับสิ่งของ หรือเปิดเพลงโปรดของลูกพร้อมกับเต้นไปกับเขา อีกทั้งหากที่บ้านมีชุดอุปกรณ์การเล่นบทบาทสมมติ เช่น ชุดเครื่องครัว คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะชวนลูกเล่นบทบาทสมมติ เพื่อฝึกให้เขาได้หยิบจับสิ่งของอย่างมั่นคง
●กิจกรรมพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่เด็ก 5 ปีขึ้นไป
เด็กน้อยในวันนั้นจะเริ่มโตแล้วนะคะในช่วงวัยนี้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ยังคงต้องพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ให้เขาอยู่นะคะ ซึ่งสำคัญมากๆ เพราะช่วงนี้จะเป็นวัยใกล้เข้าโรงเรียนแล้ว ซึ่งหากเด็กได้รับการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ให้แข็งแรง จะสามารถต่อยอดการเรียนรู้เมื่อถึงวัยเข้าโรงเรียนได้ดีทีเดียวค่ะ โดยผู้ปกครองสามารถพัฒนาผ่านการพาลูกออกไปเดินเล่นตามสถานที่ต่างๆ เช่น สวนสัตว์ หรือปั่นจักรยานตามสวนสาธารณะ เล่นชิงช้า โดยผู้ปกครองอาจสอนให้ลูกโยกขาไปมาขณะนั่งบนชิงช้า โดยมีผู้ปกครองคอยช่วยเหลืออยู่ใกล้ๆ หรือจะชวนลูกปั้นดินน้ำมันเป็นรูปต่างๆ ก็ดีไม่ใช่น้อยเลยค่ะ
Tips! : ผู้ปกครองไม่ควรบังคับเด็กเล็กต่ำกว่า 1 ปีให้ขีดเขียนได้ เพราะเด็กอาจจะยังไม่สามารถจับดินสอหรือขีดเขียนได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากเด็กถูกบังคับอาจทำให้เกิดความเครียดได้ค่ะ ดังนั้น การส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก อาจจะเป็นกิจกรรมอื่นๆ เช่น ฝึกให้เด็กใช้นิ้วมือหยิบสิ่งของชิ้นเล็กที่อ่อนนุ่มและไม่เป็นอันตราย เช่น ข้าวสุก เศษขนมปัง
การเล่นกับลูก หรือฝึกให้เขาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่บ้านก่อนถึงวัยเข้าโรงเรียน เป็นการเตรียมพร้อมพัฒนาการด้านต่างๆ รวมถึงพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skills) กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (Gross Motor Skills) ที่ดีมากๆ นะคะ เพราะเด็กจะคุ้นเคยกับผู้ปกครอง คุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน ทำให้เขาไม่รู้สึกเครียด หรือกดดันค่ะ ขอแค่ผู้ปกครองมีเวลาเล่นกับลูกเยอะๆ ในช่วงปฐมวัย
————————————————————————————————————–
📌📌กังวลพัฒนาการลูกน้อยด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่บกพร่อง ผู้ปกครองสามารถทดสอบพัฒนาการเด็ก ผ่านชุดคำถาม Milestone checklist เพื่อวัดผลคะแนนพัฒนาการเด็กแต่ละด้าน และรับเทคนิคส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่แต่ละวัยผ่านออนไลน์ได้เลยค่ะ
เปิดใช้บริการฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา ดูได้เองง่ายๆ ที่บ้าน ทำซ้ำ ทำให้ลูกกี่คนก็ฟรีไม่ค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ใช้เวลาทำชุดคำถามเพียง 3 นาทีเท่านั้น 👉📲 เริ่มเช็กพัฒนการลูกน้อย คลิกเลย! https://milestone.healthsmile.co.th
📖 ข้อดีของ Milestone Checklist 📖
✔ชุดคำถามพัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC)
✔ครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือน-6 ปี โดยเปิดใช้งานฟรีทั้งหมด!
✔ประมวลผลคะแนนพัฒนาการเด็กทุกด้านตามช่วงวัยผ่านชุดคำถามรายบุคคล
✔แนะนำเทคนิคการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยของลูกน้อยแบบเจาะจงตามปัญหาที่ระบบประมวลผล
✔ได้แนวทางการส่งเสริมพัฒนาการตามวัยผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ฉบับเข้าใจง่าย พ่อแม่ทำตามได้
ชุดคำถามนี้เหมาะกับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลกับพัฒนาการเด็กแต่ละเดือน เช่น ไม่หันตามเสียง ไม่เรียกชื่อผู้เลี้ยงดู พูดเป็นประโยคยังไม่ได้ ทำตามคำสั่งง่ายๆ ไม่ได้ หรือรอทำนัดพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล ให้เราเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดีๆ ส่งเสริมพัฒนาการลูกน้อยได้ทุกวันนะคะ
Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์