การเจาะเลือดเป็นกระบวนการสำคัญในการตรวจสุขภาพที่ช่วยวินิจฉัยและติดตามโรคต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อ ฯลฯ การเจาะเลือดสามารถตรวจหาภาวะขาดสารอาหาร ระดับฮอร์โมน และสารพิษในร่างกาย รวมไปถึงการตรวจระดับสูง เช่น เจาะเลือดตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมของทารกในครรภ์  การตรวจยีนต่างๆ เช่น ยีนมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ในการตรวจสุขภาพประจำปีและการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที การเจาะเลือดเป็นวิธีที่รวดเร็ว ปลอดภัย และมีความแม่นยำสูงในกระบวนการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์

ปัจจุบันการเจาะเลือดนั้นปลอดภัยมาก แต่ก็อาจจะเกิดปัญหาจากการเจาะเลือดได้ แบ่งเป็น ปัญหาที่ทำให้เจาะเลือดยาก (เส้นจม เส้นเล็ก ไม่มีเส้น ฯลฯ) และปัญหาที่เกิดภายหลังจากการเจาะเลือด

ปัญหาจากการเจาะเลือดยาก

สาเหตุของการเจาะเลือดยาก

  1. เส้นเลือดเล็กหรืออยู่ลึก : ในแต่ละคนก็จะมีลักษณะของเส้นเลือดที่แตกต่างกัน ผู้ป่วยบางรายมีเส้นเลือดเล็กมากหรืออยู่ลึกทำให้ยากต่อการเจาะ  สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในการเจาะเลือดยาก
  2. การขาดน้ำ : ผู้ป่วยที่ภาวะขาดน้ำ (Dehydration) รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีภาวะเสียเลือดมาก หรือชํอค อาจทำให้เส้นเลือดยุบตัวและยากต่อการเจาะ
  3. อายุและสภาพร่างกาย : ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่มีสุขภาพไม่ดี อาจมีเส้นเลือดที่เปราะบางหรือเส้นเล็ก ก็อาจจะทำให้เส้นเลือดแตก เข็มหลุดออกจากเส้นเลือดได้ง่าย ทำให้เกิดรอยบวมช้ำหลังการเจาะเลือดได้
  4. การขยับตัวของผู้ป่วย : เด็กหรือผู้ที่กลัวการเจาะเลือด อาจเคลื่อนไหวหรือเกร็ง ทำให้การเจาะเลือดยากขึ้น ดังนั้นหากรู้ตัวว่าเจาะเลือดยาก ควรพยายามเคลื่อนไหวตัวให้น้อยที่สุด และไม่ทำให้ผู้เจาะเสียสมาธิ
  5. ผู้ป่วยมีความวิตกกังวล : และบางคนจะเป็นโรคกลัวเข็ม หรือที่เรียกว่า Trypanophobia ซึ่งอาจจะแสดงออกเล็กน้อย แต่ก็อาจจะทำให้พนักงานเจาะเลือด รู้สึกเครียด และพลาดได้ง่ายขึ้น ในบางกรณีที่ผู้ป่วยกังวลมากก็อาจจะเกิดภาวะแพนิคและเป็นลมระหว่างการเจาะเลือดได้
  6. การได้รับยาเคมีบำบัด : ยาเคมีบำบัด ทำให้เส้นเลือด นั้นมีขนาดเล็กลงและขาดความยืดหยุ่นได้ มากทำให้การเจาะเลือดนั้นยากขึ้น
  7. การใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม : การเจาะเลือดบางครั้ง หากเลือกใช้เข็มที่ใช้เจาะเลือดไม่เหมาะสมกับเส้นเลือดของผู้ป่วย เช่น เข็มเล็กเกินไปก็อาจจะทำให้กาดูเลือดออกมาช้า หรือเม็ดเลือดแดงสลายระหว่างการดูดเลือด หรือกรณีใช้เข็มขนาดใหญ่ในเส้นเลือดที่มีขนาดเล็ก ก็จะทำให้เลือดเลือดฉีกขาด เป็นรอยช้ำได้
  8. การใช้ยาเสพติดที่ฉีดเข้าเส้น : กรณีมีการฉีดยาเข้าที่เส้นเดิมติดต่อกันหลายๆครั้ง ก็จะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นในเส้นเลือด ทำให้การเจาะเลือดยากขึ้นมาก
  9. ประสบการณ์ของผู้เจาะเลือด : หากมีความชำนาญและประสบการณ์ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการเจาะเลือดมาก ก็จะทำให้เจาะได้ง่ายขึ้น

วิธีแก้ไขปัญหาเจาะเลือดยาก และลดความเจ็บระหว่างเจาะเลือด

  1. การเตรียมตัวของผู้ป่วย : ในกรณีที่ไม่ต้องงดน้ำก่อนการตรวจ (เช่น การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซม รวมไปถึงการตรวจค่ามะเร็งและยีนมะเร็งต่างๆ) และไม่ได้มีข้อจำกัดในการดื่มน้ำ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ ก่อนการเจาะเลือดเพื่อให้เส้นเลือดขยายตัวและเจาะเลือดได้ง่ายขึ้น
  2. อย่ากลั้นหายใจ : แต่แนะนำให้หายใจเข้าออกลึกๆ เพื่อช่วยลดความวิตกกังวล และทำให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทคลายตัว
  3. แจ้งเจ้าหน้าที่ว่าเส้นเลือดที่บริเวณไหนเจาะได้บ่อย และง่ายที่สุด : เพื่อให้สามารถทำได้ในครั้งแรก ลดความวิตกกังวล ทั้งนี้ไม่ต้องกังวลว่าการเจาะเส้นเลือดเดิมซ้ำๆจะทำให้เส้นเลือดนั้นเสียและเจาะไม่ได้ในอนาคต
  4. การประคบอุ่น หรือการออกกำลังกายที่แขนเบาๆ : ทำให้เลือดไหลเวียนไปบริเวณที่จะถูกเจาะได้ดีขึ้น เส้นเลือดเห็นได้ชัดเจนขึ้น งดชา กาแฟ เครื่องดื่มคาเฟอีน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ และเจาะเลือดยากขึ้นได้ นอกจากนี้ การเลือกเจาะเลือดในช่วงบ่าย ก็อาจจะเจาะได้ง่ายมากกว่าเช่นกัน
  5. อยู่นิ่งๆ ไม่ขยับตัวหรือบริเวณที่ถูกเจาะ : หากกังวลสามารถพูดคุยกับพยาบาลหรือนักเทคนิคการแพทย์ ที่ทำการเจาะเลือดในเรื่องสบายๆ เพื่อผ่อนคลายตัวคุณเองได้เช่นกัน
  6. ใช้ยาชาช่วย : ในบางกรณีที่เส้นเลือดเจาะยาก อาจจะพิจารณา ทาครีมยาชา ช่วยลดความเจ็บปวดได้

การเจาะเลือดเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ความระมัดระวังและเทคนิคที่ถูกต้อง การเตรียมตัวและการแก้ไขปัญหาตามที่กล่าวมาจะช่วยให้การเจาะเลือดเป็นไปอย่างราบรื่นและลดความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วยได้

ปัญหาที่เกิดจากการเจาะเลือด

แม้การเจาะเลือดจะใช้ในการวินิจฉัย และรักษาโรคมาเป็นเวลานานมากกว่า 100 ปี และมีเทคโนโลยีต่างๆช่วยในการเจาะเลือดมากขึ้น แต่ก็ยังอาจจจะเกิดปัญหาได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดจากการเจาะเลือดมักจะไม่รุนแรง และหายเองได้ แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ปัญหานั้นรุนแรงได้ ซึ่งปัญหารุนแรงที่เกิดจากการเจาะเลือดมักเกิดจากการเจาะเส้นเลือดที่มีขนาดใหญ่ หรือเส้นเลือดอยู่ในบริเวณที่เจาะยาก

ปัญหาที่พบได้ มีดังนี้ รอยช้ำบริเวณที่เจาะเป็นผลจากการเจาะเลือดที่พบได้บ่อยที่สุด ส่วนการบาดเจ็บอื่นๆ เช่น การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทใกล้เคียง เส้นเลือดฉีกขาด พลาดเจาะเลือดที่เส้นเลือดแดง แพ้อุปกรณ์ที่ใช้ในการเจาะเลือด ความวิตกกังวล การติดเชื้อบริเวณที่เจาะเลือด หน้ามืดเป็นลม บวม และลิ่มเลือดอุดตัน พบได้น้อยมาก โดยปัญหาที่เกิดจากการเจาะเลือดอย่างรุนแรง พบได้เพียงประมาณ 293 ใน 1 ล้านครั้ง นอกจากนี้ปัญหาการเกิดการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท พบได้น้อยกว่า 0.0005 % และปัจจุบันมีแนวทางการเจาะเลือดที่ชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก (คลิกอ่านที่นี่) ทำให้ลดโอกาสเกิดผลเสียร้ายแรงได้

วิธีป้องกันไม่ให้บริเวณที่ถูกเจาะเป็นรอยช้ำ

  1. หลังถูกเจาะเลือด ให้กดบริเวณที่ถูกเจาะ เพื่อหยุดเลือด อย่างน้อย 5 ถึง 10 นาที
  2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก อย่างน้อย สอง ถึง 3 ชั่วโมง
  3. หลีกเลี่ยงการรับประทานยาอื่นๆ นอกเหนือจากที่แพทย์สั่ง ซึ่งอาจจะมีส่วนประกอบที่ทำให้เลือดหยุดช้าได้

กรณีที่บริเวณที่ถูกเจาะเลือดเกิดรอยช้ำ ให้ประคบเย็นประมาณ 20 นาที ทำซ้ำๆบ่อยๆ ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกเพื่อช่วยให้เลือดที่ออกอยู่ภายในหยุดไหล จากนั้น เปลี่ยนเป็นการประคบร้อนนานประมาณ 20 นาที ทำซ้ำๆบ่อยๆหลัง 24 ชั่วโมง เพื่อให้รอยช้ำหายได้เร็วขึ้นเนื่องจากกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณดังกล่าว

ในกรณีที่รอยช้ำนั้น ขยายวงกว้างมากขึ้น หรือมีความรู้สึกช้า ที่บริเวณผิวหนังหรือนอกบริเวณผิวหนังบริเวณที่ถูกเจาะ หรือมีอาการ เจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น มีหนองไหล จากบริเวณที่เจาะเลือด ให้รีบพบแพทย์

References

5 causes of difficult blood draws: An intro for students in Medical Lab Tech courses. (2018, October 19). Medix College. https://medixcollege.ca/Home/NewsArticle/650-5-causes-of-difficult-blood-draws-an-intro-for-students-in-medical-lab-tech-courses/

Best practices in phlebotomy. (2010). World Health Organization.

Borrer, T. (2020, December 15). Phlebotomy: 5 tips on finding difficult veins. PhlebotomyU. https://phlebotomyu.com/phlebotomy-finding-difficult-veins/

Buowari, O. Y. (2013). Complications of venepuncture. Advances in Bioscience and Biotechnology04(01), 126–128. https://doi.org/10.4236/abb.2013.41a018

e7 Health. (2016, September 6). Tips for a successful blood draw. E7 Health. https://www.e7health.com/post/51/tips-for-a-successful-blood-draw/

Queval, A. (2019, March 11). How to do a painless blood draw (needle-free!) —. Loop Medical. https://www.loop-medical.com/blog/drawing-blood-guide

What to know about bruising after a blood draw. (n.d.). WebMD. Retrieved July 2, 2024, from https://www.webmd.com/a-to-z-guides/what-to-know-about-bruising-after-blood-draw