ตรวจปัสสาวะขึ้นสองขีดชัดมาก แต่ทำไมไปตรวจที่โรงพยาบาลแล้วไม่ตั้งครรภ์?

อันนี้เป็นปัญหา ที่คุณผู้หญิงพบได้อยู่บ่อยๆ เวลาที่ไปซื้อแถบตรวจการตั้งครรภ์จากร้านสะดวกซื้อ หรือตามร้านขายยาต่างๆมาตรวจ แล้วปรากฎว่า ขึ้นสองขีด แต่พอไปถึงโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอตรวจกลับไม่พบการตั้งครรภ์ เรื่องนี้มีได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

สาเหตุที่ทำให้ผลตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะผิดพลาด (ตรวจขึ้น 2 ขีด แต่ไม่ได้ตั้งครรภ์)

ปัญหาจากชุดตรวจปัสสาวะ

— ซื้อชุดตรวจปัสสาวะผิดชนิด

แถบตรวจปัสสาวะนั้น มีการตรวจได้หลายอย่าง โดยหลักๆ แถบตรวจปัสสาวะที่ขึ้นสองขีดได้นั้น จะมี

  1. แถบตรวจปัสสาวะหาการตั้งครรภ์ (หาฮอร์โมน HCG) อันนี้ใช้ตรวจหาการตั้งครรภ์ โดยต้องมีฮอร์โมนขึ้นเกิน 25 mIU/ml จึงจะสามารถตรวจขึ้น 2 ขีดได้ (บางยี่ห้อต้องมีระดับฮอร์โมนมากกว่า 50 mIU/ml) ซึ่งปกติคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์จะมีระดับฮอร์โมนนี้อยู่ที่น้อยกว่า 5 mIU/ml
  2. แถบตรวจไข่ตก (หาฮอร์โมน LH) อันนี้จะใช้ตรวจเพื่อหาวันไข่ตกเพื่อจะได้เตรียมพร้อมจะมีเพศสัมพันธ์ให้เกิดการตั้งครรภ์ หากขึ้นสองขีด แสดงว่ามีไข่ตก ควรรีบมีเพศสัมพันธ์เพื่อจะได้ตั้งครรภ์ได้

ดังนั้นหากซื้อแถบตรวจผิด เอาแถบตรวจฮอร์โมน LH มาตรวจ ถึงแม้จะขึ้นสองขีด ก็ไม่ตั้งครรภ์นะครับ

— แถบตรวจการตั้งครรภ์เสื่อมสภาพ

กรณีนี้พบบ่อยได้เหมือนกันค่ะ ที่แถบตรวจหมดอายุ ทำให้รายงานผลผิดพลาด

ปัญหาจากความผิดปกติของการตั้งครรภ์ หรือโรคต่างๆของคุณผู้หญิง

— ถุงการตั้งครรภ์ฝ่อไปแล้ว

กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้บ่อยเช่นกัน ในบางครั้ง การที่เราตรวจพบการตั้งครรภ์เร็ว แต่ว่าถุงการตั้งครรภ์นั้นไม่สามารถฝังตัวในครรภ์ได้ ทำให้เกิดการฝ่อหลุดออกไปได้ ดังนั้น เวลามาตรวจที่โรงพยาบาลก็จะไม่พบการตั้งครรภ์ได้

— โรคที่ทำให้ตรวจปัสสาวะพบการตั้งครรภ์ผิดได้

  • มีการตั้งครรภ์จริง แต่ว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ ไม่มีทารกที่สามารถมีชีวิตต่อไปได้ แพทย์ก็จะต้องให้การรักษาตามโรคที่พบ
    • เป็นครรภ์ไข่ปลาอุก (Molar pregnancy)
    • เป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
  • เป็นโรคถุงน้ำ(ซีสต์) ที่รังไข่ ชนิดที่หายากบางชนิด
  • โรคไต
  • มะเร็งบางชนิด ที่สร้างฮอร์โมน HCG เช่น มะเร็งรังไข่ชนิด Germ cell, มะเร็งของรก เป็นต้น
  • ความผิดปกติที่ส่งผลต่อระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในสตรีวัยหมดประจำเดือนหรือวัยใกล้หมดประจำเดือน

— ยาบางชนิดที่มีผลให้ตรวจปัสสาวะพบการตั้งครรภ์ผิดได้

  • ยารักษาภาวะมีบุตรยาก เช่น Novarel, Pregnyl, Ovidrel, Profasi เป็นต้น
  • ยาอื่นๆ เช่น
    • ยาต้านซึมเศร้า / ยานอนหลับ diazepam (Valium) or alprazolam (Xanax)
    • ยาเกี่ยวกับโรคทางจิตเภทต่างๆ เช่น clozapine or chlorpromazine
    • ยากันชัก เช่น phenobarbital หรือกลุ่ม barbiturates
    • ยารักษาโรคพาร์กินสัน ได้แก่ bromocriptine
    • ยาขับปัสสาวะ กลุ่ม furosemide (Lasix, Diuscreen)
    • ยาแก้แพ้ ได้แก่ promethazine
    • ยาสำหรับรักษาอาการติดยาเสพติด ได้แก่ methadone (Dolophine)

ปัญหาจากสาเหตุอื่นๆ

— มีการแอบปลอมผลตรวจ

กรณีเกิดขึ้นได้ ในกรณีที่ฝ่ายหญิงต้องการผลบางอย่าง ก็เลยแอบปลอมผล เช่น อาจใช้เพื่อการหลอกลวงเอาผลประโยชน์จากผู้อื่น หรืออาจในบางกรณีอาจจะใช้หลอกว่าตนเองแท้งบุตร และเรียกเอาค่าเสียหายต่างๆโดยมีวิธีปลอมผลตรวจหลักๆอยู่ 2 วิธี ได้แก่

  • เอาผลของคนที่ตั้งครรภ์แล้วมาถ่ายรูปให้ดู (ทั้งๆที่ตนเองไม่ตั้งครรภ์)
  • เอาปากกาสีคล้ายๆกันมาเขียนขีดขึ้นอีกเส้น

ข้อควรปฏิบัติ เมื่อตรวจพบแถบตรวจปัสสาวะขึ้น 2 ขีด หรือสงสัยการตั้งครรภ์

ควรพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือคลินิกเพื่อเข้ารับการยืนยันผลตรวจการตั้งครรภ์ทันทีที่ทราบ และเข้ารับการฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆที่รู้ว่าตั้งครรภ์

อ่านเพิ่มเติม

สิทธิ์คุณแม่คนไทยต้องรู้ ตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2566 ของฟรีที่รัฐมอบให้คุณแม่ตั้งครรภ์

4 วิธีตรวจครรภ์ เช็กได้ หายสงสัย ท้องจริง หรือท้องมโน?

References

Adcock, D. (n.d.). 7 reasons your pregnancy test gave A false-positive. Thesource.org. Retrieved May 31, 2024, from https://www.thesource.org/post/reasons-your-pregnancy-test-gave-a-false-positive

Whelan, C. (2021, February 2). Early symptoms of pregnancy.

Last Updated on 31 พฤษภาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์