
เนื้อหาในบทความนี้
การตรวจ NIPT บอกว่าเป็นกระเทยได้หรือไม่?
การตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) เป็นการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครโมโซมคู่ที่ 21, 18, 13 และโครโมโซมเพศ (X และ Y) ผ่านการเจาะเลือดมารดาเพื่อนำ cfDNA (cell-free DNA) ของทารกมาวิเคราะห์ ซึ่งการตรวจนี้มีความแม่นยำสูง
คุณพ่อ-คุณแม่บางท่าน เห็นว่ามีการตรวจโครโมโซมเพศด้วย เลยสงสัยว่า ถ้าตรวจ NIPT แล้ว และรู้โครโมโซมเพศของลูกว่าไม่มีภาวะขาด-เกินผิดปกติ จะแปลว่าในอนาคต ลูกจะไม่เป็นตุ้ด กระเทย เกย์ ทอม หรือ LGBTQIA+ อื่นๆใช่หรือไม่
คำตอบก็คือ การตรวจ NIPT บอกภาวะขาด-เกิน ของโครโมโซมเพศได้ แต่ไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศหรือรสนิยมทางเพศของบุคคลในอนาคตได้
ซึ่งในบทความนี้จะมาไขข้อสงสัยดังกล่าวกันครับ ว่าเพราะเหตุใดการตรวจ NIPT จึงไม่สามารถบอกได้ว่าในอนาคตลูกเราจะเป็น LGBTQIA+ หรือไม่
ความหมายของ “กระเทย”
ก่อนอื่นเรามาเข้าใจความหมายของคำว่า “กระเทย” ก่อน ซึ่ง คำว่ากระเทยนั้นมีความหมายที่แตกต่างกันตามบริบท ดังนี้:
1. ในบริบททางสังคมและวัฒนธรรม (LGBTQIA+)
“กระเทย” ในภาษาไทยใช้เรียกบุคคลที่เกิดเป็นเพศชายแต่มีการแสดงออกทางเพศหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นหญิง หรือเรียกว่า transgender women (หญิงข้ามเพศ) ซึ่งเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) และไม่ได้ขึ้นกับโครโมโซมหรืออวัยวะเพศที่กำเนิดมา
2. ในบริบททางการแพทย์
ในทางการแพทย์ คำว่า “กระเทย” เดิมเคยใช้เรียกภาวะ Intersex ซึ่งหมายถึงบุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพ เช่น โครโมโซม อวัยวะเพศ หรือฮอร์โมน เพศชายและหญิงผสมกันอย่างผิดปกติ โดยไม่ได้แยกชัดว่าเป็นเพศชายหรือหญิง เช่น มีโครโมโซม XXY (Klinefelter syndrome) หรือมีอวัยวะเพศคลุมเครือ (ambiguous genitalia)
เพศทางเลือก คืออะไร
ในอดีต ความเข้าใจเกี่ยวกับ “เพศทางเลือก” หรือบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศแตกต่างจากเพศกำเนิด มักถูกตีความว่าเป็น “ความผิดปกติทางจิต” ตัวอย่างเช่น เอกสารทางราชการไทยในอดีตเคยระบุว่า “กะเทย” เป็นผู้มีอาการทางจิต หรือแม้แต่ใช้คำว่า “โรคจิตวิกลจริต” ซึ่งเป็นทัศนคติที่สะท้อนถึงอิทธิพลของบรรทัดฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่มุ่งเน้นการแบ่งแยกเพศอย่างเข้มงวด การรับรู้เหล่านี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติในหลายรูปแบบ ทั้งในเชิงกฎหมาย การศึกษา การจ้างงาน รวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่งผลให้บุคคลเพศทางเลือกไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย-หญิงทั่วไป
ในยุคปัจจุบัน การเปิดรับแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนได้ส่งผลให้สังคมไทยเริ่มมีความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น เราสามารถพบเห็นตัวแทนของกลุ่ม LGBTQIA+ ในสื่อต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย เช่น ภาพยนตร์ ซีรีส์วาย (ชายรักชาย) รายการเรียลลิตี้ ไปจนถึงพื้นที่สื่อโซเชียลที่มีการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ความเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงทัศนคติใหม่ที่ว่า ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมหรือผิดปกติ แต่คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติของมนุษย์
มุมมองทางการแพทย์: เพศทางเลือกไม่ใช่ “โรค”
ในทางการแพทย์ปัจจุบัน ชัดเจนว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ถือว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช และไม่ถูกจัดว่าเป็น “โรค” อีกต่อไป
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอดถอน “การมีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” หรือ “Gender Identity Disorder” ออกจากบัญชีโรคทางจิตใน ICD-11 และใช้คำว่า “Gender Incongruence” แทน โดยระบุไว้ในหมวด “ภาวะเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ” แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจใหม่ที่ไม่มองว่าการข้ามเพศเป็นปัญหาทางจิตใจอีกต่อไป และมีมุมมองว่าคนข้ามเพศหรือมีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง ไม่ใช่ผู้ป่วย แต่เป็นบุคคลที่ควรได้รับความเข้าใจและสนับสนุนในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ทางเพศและเพศวิถีของบุคคลนั้น มีความหลากหลาย เช่น
-
ฮอร์โมนเพศ
-
โครงสร้างสมอง
-
สารเคมีในระบบประสาท
-
การเลี้ยงดูและประสบการณ์ในวัยเด็ก
-
วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมทางสังคม
สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้มนุษย์แต่ละคนมีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองแตกต่างกัน ซึ่งไม่ควรถูกมองว่าเป็น “ความผิดปกติ” แต่อย่างใด
ทำความรู้จัก LGBTQIA+
LGBTQIA+ เป็นคำย่อที่ครอบคลุมกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างจากบรรทัดฐานทั่วไป ดังนี้:
-
L – Lesbian: ผู้หญิงที่มีความรักหรือดึงดูดใจทางเพศต่อผู้หญิงด้วยกัน
-
G – Gay: ผู้ชายที่มีความรักหรือดึงดูดใจทางเพศต่อผู้ชายด้วยกัน
-
B – Bisexual: บุคคลที่มีความรักหรือดึงดูดใจทางเพศได้ทั้งเพศชายและหญิง
-
T – Transgender: บุคคลข้ามเพศ หรือผู้ที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ตรงกับเพศกำเนิด
-
Q – Queer: บุคคลที่ไม่จำกัดตนเองตามกรอบเพศหรือรสนิยมแบบเดิม อาจใช้เป็นคำกลางที่ยืดหยุ่น
-
I – Intersex: บุคคลที่เกิดมาพร้อมลักษณะทางกายภาพหรือพันธุกรรมที่ไม่สามารถจัดอยู่ในชายหรือหญิงแบบชัดเจน เช่น โครโมโซม XXY หรืออวัยวะเพศกำกวม
-
A – Asexual: บุคคลที่ไม่มีความต้องการทางเพศ หรือมีน้อยมาก โดยอาจยังมีความรู้สึกผูกพันหรือรักใคร่ในระดับอารมณ์
-
+ (Plus): ตัว “+” หมายถึงความหลากหลายอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากกลุ่มที่กล่าวมา เช่น Non-binary, Pansexual, Genderqueer เป็นต้น
โครโมโซมเพศคืออะไร?
โครโมโซมเพศมีหน้าที่กำหนดเพศของทารกตั้งแต่ปฏิสนธิ โดยมนุษย์มีโครโมโซมทั้งหมด 46 แท่ง แบ่งเป็น 23 คู่ คู่ที่ 23 คือโครโมโซมเพศ
-
หญิง (46,XX)
-
ชาย (46,XY)
ความผิดปกติของโครโมโซมเพศบางชนิด หรือความผิดปกติของยีนบางตัว อาจทำให้เกิดภาวะ Intersex (ตัว I ใน LGBTQIA+) หรือพัฒนาการทางเพศที่ไม่เป็นไปตามปกติ เช่น
-
Androgen Insensitivity Syndrome (AIS)
แต่ LGBTQIA+ ส่วนใหญ่ ไม่ได้มีความผิดปกติของโครโมโซมใด กลุ่มนี้มีโครงสร้างและจำนวนของโครโมโซมเพศที่ปกติ
การตรวจ NIPT สามารถบอกว่า “เป็นกระเทย” ได้หรือไม่?
คำตอบคือ “ไม่ได้โดยตรง”
NIPT เป็นการตรวจระดับโครโมโซม ซึ่งสามารถบอกเพศโครโมโซม (XX หรือ XY) ได้ รวมถึงความผิดปกติของจำนวนโครโมโซมเพศ เช่น
-
47,XXY (Klinefelter syndrome)
-
45,X (Turner syndrome)
-
47,XYY หรือ 47,XXX
แต่ NIPT ไม่สามารถบอกอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) หรือ รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) ได้เลย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากปัจจัยซับซ้อนที่รวมถึงพันธุกรรม ฮอร์โมน ประสบการณ์การเลี้ยงดู และจิตใจ
อย่างไรก็ตาม ในบางกรณีที่พบโครโมโซมเพศผิดปกติ NIPT อาจช่วยบ่งชี้ความเป็นไปได้ของภาวะ Intersex ได้เบื้องต้น ซึ่งต้องยืนยันผลด้วยการตรวจโครโมโซมแบบเต็มรูปแบบ (karyotyping) และการตรวจเพิ่มเติมหลังคลอด
สรุป
-
NIPT ตรวจดูโครโมโซมและเพศทางชีวภาพของทารกได้ ไม่สามารถวินิจฉัยว่าเป็น “กระเทย” ในแง่ของ LGBTQIA+ ได้
-
NIPT อาจพบภาวะที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ซึ่งบางอย่างสัมพันธ์กับภาวะ Intersex แต่ต้องมีการตรวจยืนยันเพิ่มเติม
-
การเป็น “กระเทย” หรือ transgender เกิดจากอัตลักษณ์ภายในที่ไม่มีใครสามารถวินิจฉัยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์
อ้างอิง
-
Bianchi DW, et al. (2014). DNA sequencing versus standard prenatal aneuploidy screening. NEJM.
-
American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) Committee Opinion No. 640.
-
Hughes IA. (2008). Disorders of sex development: a new definition and classification. Best Practice & Research Clinical Endocrinology & Metabolism.
Last Updated on 10 เมษายน 2025 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
✅✅✅✅✅
เฮลท์สไมล์ บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ และตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ครบ 23 คู่ทุกโครโมโซมที่มีในมนุษย์ รู้เพศ และโรคอื่นๆที่เกิดจากการขาด/เกินของโครโมโซมขนาดเล็กได้มากถึง 92 โรค กับ Brand NIFTY® และ NGD NIPS
✔ ตรวจเลือดดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมอื่นๆ ผลแม่นยำสูง 99.9%
✔ เจาะเลือดเพียง 10 ซีซี ไม่เสี่ยงแท้ง
✔ ราคาคุ้มค่า ประหยัด ค่าบริการเริ่มต้นที่ 9,500 บาท รวมค่าบริการเจาะเลือดถึงบ้าน และแพทย์อ่านผลให้ทุกเคส
✔ สะดวก สบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกนอกสถานที่
✔ บริการตรวจถึงบ้านทั่วประเทศ ฟรี
✅ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : @Healthsmile
📞 โทร : 089 874 9565
🌐 อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมของทารกในครรภ์ ได้ที่นี่ https://healthsmile.co.th/prenatal-screening/
Last Updated on 10 เมษายน 2025 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์