เนื้อหาในบทความนี้
เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านมีการดูแลสุขภาพร่างกายตนเองเป็นอย่างดี แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีความกังวลในเรื่องภาวะเสี่ยงขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เพราะแม้ว่าช่วงก่อนตั้งครรภ์ ไม่มีประวัติเป็นเบาหวาน หรือมีน้ำหนักมาก ก็มีโอกาสเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้เช่นกัน และเบาหวานคนท้อง ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติได้
โรคเบาหวาน พบว่าเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 9 ของผู้หญิงทั่วโลก
2 ใน 5 ของผู้หญิงที่เป็นเบาหวาน พบว่าเป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์อัตรา 60 ล้านคนทั่วโลก ซึ่ง IDF สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้ระบุว่า มีจำนวนถึง 20.9 ล้านคน หรือ 16.2% ของหญิงตั้งครรภ์ ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง โดย 85.1% วินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) และ 7.4% เป็นเบาหวานชนิดอื่นที่ตรวจพบตอนตั้งครรภ์ ส่งผลให้ 1 ใน 7 ทารกคลอดจากแม่ที่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ มีภาวะตัวโตและคลอดลำบาก หรือในบางกรณี ก็ทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะเติบโตช้าในครรภ์ได้ และพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักตัวมาก, เป็นโรคอ้วน, อายุมาก, เคยมีประวัติคลอดบุตรคนที่แล้วน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม, ครรภ์ที่แล้วเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะยิ่งเสี่ยงต่อน้ำตาลในเลือดสูงในครรภ์นี้มากขึ้น
สาเหตุเกิดเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ แบ่งออกได้ 2 แบบ ดังนี้
1.เบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ (Overt diabetes mellitus, Overt DM) คือ ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ได้ โดยที่หญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์ อาทิ มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์ เป็นต้น โดยหากคุณแม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานตั้งแต่ก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ จะถือว่าคุณแม่เป็นโรคเบาหวานก่อนการตั้งครรภ์
2.เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus, GDM) เกิดจากหญิงตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนฮิวแมนพลาเซนต้าแลกโตรเจน (Human Placental Lactogen: HPL) ที่สร้างขึ้นจากรก ทำหน้าที่ต้านอินซูลิน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอ หญิงตั้งครรภ์จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงกว่าคนทั่วไป ซึ่งสามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนในตัวมารดา และทารกในครรภ์ได้ โดยภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกระยะการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่พบเบาหวานคนท้องในอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายต่อทารกในครรภ์ และมารดา
โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) คือ หนึ่งในสาเหตุที่เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ กับตัวมารดา และทารกในครรภ์ได้ เนื่องจากมารดามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะส่งผ่านไปสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกมีระดับน้ำตาลสูงเช่นกัน ส่งผลให้ร่างกายของทารกบริเวณตับอ่อนต้องผลิตอินซูลินที่มากขึ้น จึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในตัวทารกได้
1.เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับทารกในครรภ์ ดังนี้
● หลังคลอด ทารกจะมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันที ส่งผลเสียต่อระบบประสาทและสมองอย่างถาวรได้หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที
● น้ำหนักทารกแรกเกิดหลังคลอด มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือกรณีเป็นเบาหวานรุนแรง อาจทำให้มีภาวะเจริญเติบโตช้าในครรภ์ และตัวเล็กกว่าปกติได้เช่นเดียวกัน
● ทารกเสี่ยงเสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ และหลังคลอด
● ทารกคลอดก่อนกำหนด เสี่ยงทารกพิการแต่กำเนิด
● ทารกอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ และเสี่ยงเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) ในอนาคต
2.เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดา ดังนี้
● เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ
● คลอดยาก ทำให้เกิดการบาดเจ็บขณะคลอด และเสี่ยงต่อการผ่าคลอด เพราะทารกในครรภ์ตัวโตมากกว่าปกติ
● เกิดภาวะแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้
● มีโอกาสเป็นเบาหวานขึ้นตา โรคหัวใจ โรคไตได้ในอนาคต
● ตกเลือดหลังคลอด
● มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) ได้ในอนาคต
หมายเหตุ : โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus) คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่เกิดจากสาเหตุมีภาวะดื้อกับฮอร์โมนอินซูลิน ร่วมกับมีภาวะการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อนลดลง
ปัจจัยเสี่ยง! เกิดโรคเบาหวานในอนาคต กับหญิงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์
เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากจะเกิดภาวะแทรกซ้อนกับมารดา และทารกในครรภ์แล้ว หญิงตั้งครรภ์ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ยังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต โดยมีปัจจัยดังนี้
1.มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน
2.มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐานก่อนการตั้งครรภ์
3.มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
4.มีอายุมากกว่า 30 ปี
5.ตรวจพบค่าน้ำตาลในเลือดก่อนอาหารเช้าสูง
คุณแม่หลายท่านอาจเกิดความกังวลว่า หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลให้เป็นโรคเบาหวานได้ในอนาคต ซึ่งการเกิดเบาหวานคนท้องในบางรายจะเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์เพียงชั่วคราวเท่านั้น เพราะหลังจากคลอดบุตรอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็จะหายไป แต่หากตั้งครรภ์อีกครั้งก็มีโอกาสเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อีกรอบ ดังนั้น เพื่อลด เลี่ยง เสี่ยงเป็นเบาหวานในอนาคต คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพตนเองให้ดี อาทิ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อควบคุมอาหาร เป็นต้น
เช็กลิสต์อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หากสังเกตจากลักษณะอาการภายนอก จะมีอาการคล้ายกับคนที่เป็นโรคเบาหวานทั่วไป ซึ่งอาการจะใกล้เคียงกับอาการคนท้อง โดยอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีลักษณะดังนี้
● เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียมากกว่าปกติ
● หิวบ่อย กินเยอะขึ้น กระหายน้ำบ่อยครั้ง
● ลุกปัสสาวะบ่อยครั้งในช่วงกลางคืน
อาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นผลจากระดับน้ำตาลในเลือดสูง ร่างกายจึงทำการขับออกทางปัสสาวะ
นอกจากสังเกตอาการข้างต้นแล้ว ยังสามารถประเมินอาการเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ฝากครรภ์ได้ โดยการคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ จากการตรวจน้ำตาลคนท้องในเลือด หรือการตรวจน้ำตาลคนท้องในปัสสาวะ ดังนั้น การฝากครรภ์เพื่อคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่ครั้งแรก จึงเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ
การคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ โดยการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ ดังนี้
1.การซักประวัติ เพื่อคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
แพทย์จะทำการซักประวัติว่า มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ และมีประวัติความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ เช่น มีประวัติคลอดบุตรน้ำหนักมากกว่า 4,000 กรัม หรือมีประวัติทารกเสียชีวิตตอนคลอด หรือทารกเสียชีวิตในขณะตั้งครรภ์ โดยไม่ทราบสาเหตุ
2.การตรวจร่างกาย เพื่อทำการคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
แพทย์จะทำการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง และคำนวณดัชนีมวลกาย และมีการตรวจครรภ์พบว่าครรภ์ใหญ่กว่าปกติ หรือพบครรภ์แฝดน้ำ (Hydramnios) หรือตรวจพบความผิดปกติของระบบต่าง ๆ จากเบาหวาน เช่น ความดันโลหิตสูงในขณะตั้งครรภ์ เป็นต้น
3.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์
อาทิ ตรวจน้ำตาลคนท้องในปัสสาวะ หรือตรวจน้ำตาลคนท้องในเลือด โดยการตรวจหาระดับน้ำตาลในกระแสเลือด ด้วยวิธี OGTT เป็นต้น
การประเมินความเสี่ยงเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตามหลัก WHO และ ACOG
การตรวจคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ และวินิจฉัยในผู้หญิงตั้งครรภ์ ตามหลักองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 1999 และ American College of Obstetricians and Gynecologists (ACOG) ในปี 2001 การคัดกรองเบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ สามารถตรวจเบาหวานคนท้องในผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกรายได้ (Universal Screening) หรือตรวจเบาหวานคนท้องเฉพาะรายที่มีความเสี่ยง โดยทำการตรวจแบบ 2 ขั้นตอน (2 Step Screening) โดยเริ่มจากการประเมินความเสี่ยงตามแนวปฏิบัติ ดังนี้
● ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์สูง เช่น เป็นโรคอ้วน ตรวจพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะ มีประวัติเกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน กลุ่มคนเหล่านี้ควรตรวจคัดกรองให้เร็วที่สุด ถ้าผลปกติให้ตรวจซ้ำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
● การตรวจแบบ 2 ขั้นตอน (2 Step Screening) ได้แก่
1.การตรวจคัดกรองด้วย 50 กรัม Glucose Challenge Test ให้รับประทานกลูโคสขนาด 50 กรัม ขณะอายุครรภ์ที่ 24-28 สัปดาห์ โดยไม่คำนึงถึงมื้ออาหารที่ผ่านมา ถ้าระดับ Plasma glucose เท่ากับ 140 มก./ดล.หรือมากกว่า ถือว่าผิดปกติ ถ้าผิดปกติให้ตรวจวินิจฉัยต่อด้วย 100 กรัม OGTT
2.การตรวจวินิจฉัยด้วย 100 กรัม Oral Glucose Tolerance Test (OGTT) โดยทำการเจาะเลือดขณะอดอาหาร และหลังให้รับประทานกลูโคส 100 กรัม ที่ 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ เกณฑ์ที่ใช้วินิจฉัย คือ
●ขณะอดอาหารก่อนกลืนน้ำตาล 100 grams น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 95 mg/dL
●หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 1 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 180 mg/dL
●หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 2 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 155 mg/dL
●หลังกลืนน้ำตาล 100 grams ที่ 3 ชั่วโมง น้ำตาลควรจะน้อยกว่า 140 mg/dL
หมายเหตุ : หากตรวจพบความผิดปกติ >= 2 ค่า ของ 100 กรัม-OGTT ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
อ้างอิงข้อมูลจาก พญ.ชนันภรณ์ วิพุธศิริ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ดูแลตัวเองด้วยเมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์-คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร แม่ท้องต้องรู้!
ในช่วงที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เรื่องการเลือกรับประทานอาหารเป็นสิ่งที่คุณแม่ควรเข้มงวด และออกกำลังเบาๆ อย่างสม่ำเสมอควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ดังนั้น เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และคนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร คุณแม่จึงควรรู้ไว้ เพื่อจะได้ระมัดระวังในการรับประทานอาหารมากยิ่งขึ้น
1.คนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร
● ลดปริมาณอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล
● หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน และปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป
● หลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก เงาะ ลำไย เป็นต้น
● หลีกเลี่ยงของหวาน ของทอดที่ใช้น้ำมันปริมาณมาก
● หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยวต่าง ๆ เพราะอาจมีปริมาณเกลือสูง
● งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2.เมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่แนะนำ ดังนี้
● โจ๊กปลา ข้าวต้มปลา รสชาติไม่จัด รับประทานในมื้อเช้า ช่วยให้ย่อยง่าย และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
● แกงจืดเต้าหู้ใส่ไข่ รับประทานกับข้าวกล้องในมื้อเช้า มีใยอาหารสูง ช่วยควบคุมการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือดได้
● ปลานึ่ง ผักลวก น้ำพริกที่ไม่เค็มจัด หวานจัด รับประทานในมื้อกลางวัน ถือเป็นเมนูอาหารสำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบอาหารรสชาติอ่อนๆ แถมได้รับประโยชน์ต่างๆ อีกมากมาย และยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
● ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้น แนะนำใส่ผักเพิ่มคุณประโยชน์ และเลือกใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวเป็นวุ้นเส้น เส้นหมี่จะดีกว่า คุณแม่สามารถรับประทานในมื้อกลางวันได้ เหมาะกับคุณแม่สายเส้นเลยทีเดียว
● ขนมปังโฮลวีต ทานคู่กับมะเขือเทศ ผัก หรือจะทำเป็นแซนด์วิชก็อร่อย ช่วยให้อิ่มนาน และมีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งจะได้รับคาร์โบไฮเดรตจากขนมปังโฮลวีต ช่วยต้านการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือด
● ดื่มนมสดรสจืด และพร่องมันเนย ก่อนนอนสัก 1 แก้ว ช่วยเสริมสร้างสุขภาพร่างกายของคุณแม่ให้แข็งแรง และยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ทารกในครรภ์อีกด้วย
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากการเลือกรับประทานเมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และรู้แล้วว่าคนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไร เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น ตามที่แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญแนะนำแล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ด้วยท่าที่เหมาะสำหรับคนท้องควบคู่ไปด้วยกัน จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพคุณแม่ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น และยังช่วยลดโอกาสการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคตนะคะ
หากคุณแม่ท่านใดมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรืออยากสอบถามเกี่ยวกับเมนูอาหารเบาหวานขณะตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าคนเป็นเบาหวานห้ามกินอะไรบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ช่อง COMMENT ด้านล่าง ได้เลยนะคะ ทาง ADMIN จะรีบหาข้อมูลมาตอบกลับให้ค่ะ
References
https://www.nonthavej.co.th/Gestational-Diabetes.php
https://www.hfocus.org/content/2018/02/15478
https://www.bangkokhospital.com/content/diabetes-and-pregnancy
Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
✅✅✅✅✅
เฮลท์สไมล์ บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ และตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ครบ 23 คู่ทุกโครโมโซมที่มีในมนุษย์ รู้เพศ และโรคอื่นๆที่เกิดจากการขาด/เกินของโครโมโซมขนาดเล็กได้มากถึง 92 โรค กับ Brand NIFTY® และ NGD NIPS
✔ ตรวจเลือดดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมอื่นๆ ผลแม่นยำสูง 99.9%
✔ เจาะเลือดเพียง 10 ซีซี ไม่เสี่ยงแท้ง
✔ ราคาคุ้มค่า ประหยัด ค่าบริการเริ่มต้นที่ 9,500 บาท รวมค่าบริการเจาะเลือดถึงบ้าน และแพทย์อ่านผลให้ทุกเคส
✔ สะดวก สบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกนอกสถานที่
✔ บริการตรวจถึงบ้านทั่วประเทศ ฟรี
✅ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : @Healthsmile
📞 โทร : 089 874 9565
🌐 อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมของทารกในครรภ์ ได้ที่นี่ https://healthsmile.co.th/prenatal-screening/
Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์