Last Updated on 16 พฤษภาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
เนื้อหาในบทความนี้
Last Updated on 16 พฤษภาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
IUGR คืออะไร?
IUGR ย่อมาจาก IntraUterine Growth Retardation หรือ ภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์ ซึ่งหมายความว่าลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่เติบโตช้าและมีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานของเด็กที่อายุครรภ์นั้นๆ โดยปกติจะถือว่าน้ำหนักของทารกที่มีภาวะนี้จะมีน้ำหนักน้อยกว่า เปอร์เซนไทล์ที่ 10
ตารางแสดงน้ำหนักทารกในครรภ์ เทียบตามอายุครรภ์
ที่มาภาพ
วิธีอ่านตารางแสดงน้ำหนักทารกในครรภ์
ตัวอย่าง หากคุณแม่อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ ทารกในครรภ์ก็ควรจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 570-1320 กรัม โดยหากทารกน้ำหนักตัวจากการอัลตราซาวนด์น้อยกว่า 570 กรัม ก็แสดงว่าอาจจะเสี่ยงที่จะเป็นทารกโตช้าในครรภ์
ตัวอย่าง หากคุณแม่อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ (อายุครรภ์ครบกำหนดคลอด) ทารกในครรภ์ก็ควรจะมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ประมาณ 2310-3470 กรัม หากคุณแม่อัลตราซาวนด์แล้วทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2310 กรัม ก็แสดงว่าน้องในครรภ์เสี่ยงที่จะเป็นทารกโตช้าในครรภ์
ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์หากสงสัยว่าทารกในครรภ์น้ำหนักตัวน้อย
นอกจากนี้ IUGR ยังใช้เพื่ออธิบายทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าทารกแรกคลอดที่มีน้ำหนักปกติ สำหรับทารกที่เกิดครบกำหนด น้ำหนักที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ ไม่ต่ำกว่า 2,500 กรัม
แพทย์ที่รับฝากครรภ์ของคุณแม่อาจสงสัยภาวะ IUGR ได้ หากอัลตราซาวนด์แล้วพบว่าลูกในครรภ์ของคุณแม่เติบโตน้อยกว่าเกณฑ์ที่คาดไว้ โดย IUGR มักได้รับการวินิจฉัยในระหว่างการตรวจอัลตราซาวนด์ แพทย์มักพบในช่วงเดือนที่ 6, 7 หรือ 8 ของการตั้งครรภ์
สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่า IUGR หมายถึงการเติบโตที่ช้าเท่านั้น ทารกตัวเล็กเหล่านี้ไม่ได้เชื่องช้าหรือปัญญาอ่อน ทารกตัวเล็กส่วนใหญ่เติบโตขึ้นมาเป็นเด็กและผู้ใหญ่ที่แข็งแรง “ยกเว้น” ในกรณีที่สาเหตุของภาวะ IUGR เกิดจากโรคที่โครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม ก็จะทำให้เด็กเหล่านั้นมีภาวะปัญญาอ่อนได้
ทำไมลูกในครรภ์ถึงตัวเล็ก?
ปัจจุบัน แพทย์ทราบสาเหตุเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของทารกที่มี IUGR เท่านั้น แต่สาเหตุหลายประการของ IUGR ยังไม่สามารถสรุปได้ โดยสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดที่ทำให้ทารกตัวเล็กมีดังต่อไปนี้:
- ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ เป็นสาเหตุได้มากถึง 5-20%
– ดาวน์ซินโดรม (trisomy 21), เอ็ดเวิร์ดซินโดรม (Trisomy 18), พาทัวซินโดรม (Trisomy 13), และ Trisomy 16
– การขาดของ โครโมโซมคู่ที่ 4 (Wolf-Hirschhorn syndrome), คู่ที่ 5 (Cri du chat syndrome), คู่ที่ 13, คู่ที่ 18, และการเกิด ring chromosome structural alterations
– ความผิดปกติของโครโมโซมอื่นๆ ได้แก่ uniparental disomy of chromosome 6, 14, and 16
– ความผิดปกติของโครโมโซมเพศ ได้แก่ Turner’s syndrome (45XO), หรือภาวะขาด-เกินของโครโมโซมเพศอื่นๆ ก็ทำให้เป็นได้ - ทารกในครรภ์มียีนที่ผิดปกติ เช่น Cornelia de Lange syndrome, Russell Silver syndrome, Fanconi’s anemia, Bloom syndrome และ skeletal dysplasias
- ทารกมีโรค หรือการเจริญเติบโตของอวัยวะภายในผิดปกติ
- ครรภ์แฝด
- แม่สูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์
- มารดาดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างตั้งครรภ์
- มารดามีความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์
- มารดามีการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ (เช่น หัดเยอรมัน เอดส์ เริม เป็นต้น)
- มารดาใช้ยาบางชนิดในระหว่างตั้งครรภ์ (เช่น ยากันชัก ยากดภูมิ ยารักษามะเร็ง เป็นต้น)
- ภาวะขาดสารอาหารของมารดา
- แม่เป็นคนมีรูปล่างเล็กอยู่แล้ว (สูงไม่เกิน 150 เซนติเมตร หรือน้ำหนักขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ไม่ถึงเกณฑ์)
สาเหตุอื่นๆที่พบได้ แบ่งตามต้นเหตุ
ตารางแสดงสาเหตุที่ทำให้ทารกในครรภ์ตัวเล็ก (IUGR)
ที่มาภาพ
สามารถแบ่งสาเหตุที่ทำให้ทารกตัวเล็กในครรภ์ได้หลักๆ เป็น 3 สาเหตุ คือ
- สาเหตุจากมารดา
- สาเหตุจากตัวทารก
- สาเหตุจากรก
ทำไมขนาดและน้ำหนักของลูกน้อยจึงสำคัญ?
ตัวทำนายที่ดีที่สุดของการอยู่รอดของทารกและสุขภาพที่ดีของทารกในช่วงแรกเกิด ก็คือน้ำหนักแรกเกิด ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำอาจมีปัญหาในช่วงเวลาคลอดเหล่านี้ได้ เช่น ภาวะอุณหภูมิในร่างกายต่ำ (น้ำหนักน้อยทำให้การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้เป็นปกติทำได้ยาก) หรือ ภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้ต่อสู้กับการติดเชื้อได้ยาก หากทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย แพทย์จะต้องทำการตรวจทดสอบ และให้การดูแลอย่างพิเศษหลายๆอย่าง เช่น ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เอกซ์เรย์ เจาะเลือด เอาเข้าตู้อบ ให้น้ำเกลือ ให้ออกซิเจน หรือใส่สายให้นม ฯลฯ เพื่อดูว่าลูกน้อยของคุณเจริญเติบโตได้ดีหรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนใดๆหรือไม่ในช่วงแรกของชีวิต
เราจะตรวจพบภาวะ IUGR ได้อย่างไร?
การตรวจด้วยการอัลตราซาวนด์อย่างน้อยสองครั้งห่างกันประมาณ 2-4 สัปดาห์ เพื่อดูว่าทารกน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ที่ควรจะเป็นหรือไม่ จะสามารถตรวจได้ว่าลูกน้อยของคุณมี IUGR หรือไม่ และติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ โดยหากพบว่าการตรวจอัลตราซาวนด์สองครั้งในระยะเวลาที่ห่างกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์
– หากทารกในครรภ์ไม่เจริญเติบโตตามเกณฑ์เท่าที่ควร ก็ให้สงสัยภาวะ IUGR ไว้ก่อนเสมอ
– หากทารกในครรภ์ตัวเล็กแต่การเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์ทุกสัปดาห์ ก็อาจจะเป็นภาวะที่ทารกมีน้ำหนักน้อยแบบที่เป็นปกติได้เช่นกัน (Constitutional small fetus)
นอกจากการตรวจอัลตราซาวนด์แบบทั่วไป ที่ดูการเจริญเติบโต และอวัยวะภายในของทารกในครรภ์แล้ว แพทย์ยังอาจทำอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจดู Biophysical Profile (BPP) โดยที่แพทย์ผู้ตรวจจะคอยดูการหายใจ การเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวของทารก ปริมาณน้ำคร่ำ ด้วย
การทดสอบอื่นที่ช่วยวินิจฉัยได้ คือ Nonstress test โดยการติดสายรัดหน้าท้องของมารดา เพื่อวัดว่าหัวใจของทารกเต้นเร็วแค่ไหน ทารกที่แข็งแรงมักมีการเต้นของหัวใจที่เร็วขึ้นเมื่อทารกเคลื่อนไหวการทดสอบนี้ใช้เวลาประมาณ 20 ถึง 30 นาที อาจใช้เวลานานกว่านี้หากลูกน้อยของคุณหลับอยู่ในครรภ์
ภาพแสดงการติดเครื่อง NST (Nonstress test)
ที่มาภาพ : babylist.com
จะเกิดอะไรขึ้นหากการทดสอบไม่ปกติ
หากการทดสอบอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ปกติ แพทย์ของคุณแม่อาจต้องการทำการทดสอบอื่นเพิ่มเติม และอาจต้องปรึกษาแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ (Maternal fetal medicine : MFM) เพื่อทำการอัลตราซาวนด์เชิงลึก ตรวจดูการไหลเวียนของเส้นเลือดสายสะดือ (umbilical doppler) โดยหากพบความผิดปกติที่อาจจะเกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แพทย์ของคุณอาจแนะนำให้คลอดก่อนกำหนด (ชักนำให้เกิดการคลอดบุตร) เพื่อนำทารกออกมาเลี้ยงข้างนอก และให้สารอาหารกับทารกได้อย่างเต็มที่ ดีกว่าปล่อยให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้าลงๆจนเกิดอันตรายได้
ตัวอย่างแผนภาพแสดงแนวทางการตรวจติดตาม กรณีสงสัยว่าทารกในครรภ์มีภาวะโตช้า หรือน้ำหนักน้อย
*สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
ที่มาภาพ
แพทย์จะทำอะไรเพื่อช่วยลูกของคุณแม่ปลอดภัย?
กรณีที่ไม่รุนแรง หลังคลอดแล้วแพทย์อาจจะไม่จำเป็นต้องช่วยเหลืออะไรทารก เพียงแต่ให้สารอาหารอย่างเพียงพอ ให้ออกซิเจนกรณีหายใจเร็ว เป็นต้น แต่หากทารกเกิดมามีขนาดเล็กมาก แพทย์สามารถให้ออกซิเจนผ่านทางจมูกหรือใส่ท่อช่วยหายใจ ให้อาหารผ่านทางสายป้อนอาหาร ให้ของเหลวผ่านทางท่อในหลอดเลือดดำ และบางครั้งอาจให้ยาปฏิชีวนะ
ฉันจะทำอย่างไรเพื่อป้องกัน หรือรักษากรณีทารกโตช้าในครรภ์?
คุณสามารถทำสิ่งสำคัญ 5 ประการเพื่อช่วยให้ลูกน้อยของคุณโตเพียงพอก่อนคลอด:
- ถ้าคุณสูบบุหรี่—เลิกเดี๋ยวนี้ บุหรี่ทำร้ายรก ซึ่งเป็นทางเดียวของลูกน้อยที่จะได้ “อาหาร” ยังไม่เคยสายเกินไปที่จะเลิกสูบบุหรี่ตอนนี้เนื่องจากทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่งในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอด
- ถ้าคุณดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์—เลิกเดี๋ยวนี้ เพียงดื่มแอลกอฮอล์วันละแก้วก็มีโอกาสมีลูกตัวเล็กได้ นอกจากนี้คุณสามารถมีลูกที่มีสมองผิดปกติจากการโดนแอลกอฮอล์ทำลายก็ได้ สิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดการตั้งครรภ์
- หากคุณใช้ยาเสพติด หรือซื้อยาต่างๆมารับประทานเอง—เลิกเดี๋ยวนี้ ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเกือบทั้งหมดทำให้ทารกตัวเล็กเกินไป และสุขภาพไม่แข็งแรง นอกจากนี้ ยาบางตัวที่ซื้อมารับประทานเองก็อาจส่งผลเสียกับทารกในครรภ์ได้โดยคุณไม่รู้ตัว คุณอาจต้องการความช่วยเหลือจากแพทย์ในการยาเสพติด หรือสอบถามแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยาใดๆ
- กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ และรับประทานยาบำรุงที่แพทย์ให้อย่างสม่ำเสมอ
- ไปพบแพทย์ตรวจตามนัดทุกครั้ง
ที่มา
- Suhag, A., Berghella, V. Intrauterine Growth Restriction (IUGR): Etiology and Diagnosis. Curr Obstet Gynecol Rep 2, 102–111 (2013). https://doi.org/10.1007/s13669-013-0041-z
- นนทิกานต์ อโนทัยสถาพร, อาจารย์ที่ปรึกษา รศ. พญ. เฟื่องลดา ทองประเสริฐ. การคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimate fetal weight) (2018). https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lecturestopics/topic-review/5812/
- Am Fam Physician. 1998;58(6):1393-1394. https://www.aafp.org/afp/1998/1015/p1393.html
- นายแพทย์ ธีระ ศิวดุลย รพ.ชลบุรี. Clinical Practice Guildline เรื่อง : Intrauterine growth restriction. http://www.cbh.moph.go.th/app/intranet/files/km/1384936330_Intrauterine%20growth%20restriction.pdf
ตรวจทานข้อมูลโดย นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 14 พย 2566
✅✅✅✅✅
เฮลท์สไมล์ บริการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมทารกในครรภ์ และตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ ครบ 23 คู่ทุกโครโมโซมที่มีในมนุษย์ รู้เพศ และโรคอื่นๆที่เกิดจากการขาด/เกินของโครโมโซมขนาดเล็กได้มากถึง 92 โรค กับ Brand NIFTY® และ NGD NIPS
✔ ตรวจเลือดดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมอื่นๆ ผลแม่นยำสูง 99.9%
✔ เจาะเลือดเพียง 10 ซีซี ไม่เสี่ยงแท้ง
✔ ราคาคุ้มค่า ประหยัด ค่าบริการเริ่มต้นที่ 9,500 บาท รวมค่าบริการเจาะเลือดถึงบ้าน และแพทย์อ่านผลให้ทุกเคส
✔ สะดวก สบาย ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ลดความเสี่ยงจากการเดินทางออกนอกสถานที่
✔ บริการตรวจถึงบ้านทั่วประเทศ ฟรี
✅ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Line ID : @Healthsmile
📞 โทร : 089 874 9565
🌐 อ่านข้อมูลเกี่ยวกับโปรแกรมตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม และโครโมโซมของทารกในครรภ์ ได้ที่นี่ https://healthsmile.co.th/prenatal-screening/