เมื่อเด็กถูกขัดใจ ผู้ปกครองอาจเห็นพฤติกรรมเด็กก้าวร้าว ลูกแสดงความต่อต้าน นอนดิ้นกับพื้น ร้องไห้ไม่หยุด ทุบตี หยิกผู้ปกครอง ขว้างปาข้าวของ ดุแล้ว สอนแล้ว แต่ลูกดื้อไม่เชื่อฟัง และยังเพิกเฉย นำมาซึ่งความกังวลใจของผู้เลี้ยงดู

เด็กดื้อแบบนี้ต้องโดนอะไรนะ “ตี” หรือ “ดุ” ถึงจะปรับพฤติกรรมเด็กได้ เดี๋ยวก่อนค่ะ อยากให้ผู้ปกครองใจเย็นๆ นะคะ เพราะหากตอบโต้เด็กดื้อด้วยอารมณ์โกรธ ทำการตวาดใส่ อาจไม่ใช่ทางออกที่ดี เด็กอาจซึมซับความก้าวร้าว มีอารมณ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม บทความนี้เลยอยากจะพาไปไขปัญหาพฤติกรรมเด็กก้าวร้าว เด็กดื้อ เด็กเกเร เพื่อหาวิธีแก้พฤติกรรมก้าวร้าว  วิธีปรับพฤติกรรมลูกต่อต้านให้เหมาะสม โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องบวกกลับ

ทำไม? ลูกดื้อมาก เป็นเด็กก้าวร้าว ทั้งที่มีการอบรมเลี้ยงดู 

พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็กวัย 2-5 ปี ดูจะเป็นปัญหากว่าวัยอื่นๆ เพราะหากเด็กถูกขัดใจ จะแสดงความต่อต้านออกมาอย่างชัดเจน เช่น ลงไปนอนดิ้นกับพื้น หยิก ทุบตีผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองกังวลว่า เด็กจะมีพฤติกรรมนี้ยาวไปจนถึงเติบโต เมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน เป็นเด็กเกเร แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ดื้อซนกับเพื่อน และคุณครูที่โรงเรียน จนเกิดปัญหาเพื่อนไม่เล่นด้วย คุณครูเอาไม่อยู่

ผู้ปกครองหลายท่านอาจรู้สึกท้อใจที่ดุ สอนลูกแล้ว แต่ลูกดื้อไม่เชื่อฟัง แสดงความต่อต้านใส่ อาจเป็นเพราะผู้ปกครองยังไม่เข้าใจสาเหตุที่ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้าน ดื้อซนมาก และใช้วิธีสอนลูกไม่เหมาะสม แต่หากผู้ปกครองเข้าใจสาเหตุ ก็จะสามารถหาวิธีแก้พฤติกรรมก้าวร้าว วิธีปรับพฤติกรรมลูกต่อต้านได้อย่างเหมาะสมค่ะ ซึ่งสาเหตุของพฤติกรรมเด็กดื้อ เด็กก้าวร้าวอาจมาจากหลายปัจจัย ดังนี้ 

1.พัฒนาการเด็กด้านอารมณ์เร็วกว่าพัฒนาการด้านสติปัญญา

เด็กเล็กจะมีพัฒนาการสมองด้านอารมณ์ได้เร็วกว่าพัฒนาการด้านสติปัญญา ทำให้เด็กแสดงความต้องการ แสดงออกทางอารมณ์อย่างเห็นได้ชัดเจน และควบคุมอารมณ์ตนเองได้ไม่ดีพอ

2.การอบรมเลี้ยงดูภายในครอบครัวที่ไม่เหมาะสม

การที่เด็กมีนิสัยก้าวร้าว ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูของคนภายในครอบครัว เช่น ขาดการเอาใจใส่ ไม่สร้างวินัยให้เด็ก การตามใจเด็กจนเคยตัว และการลงโทษเด็กที่ไม่เหมาะสม และผู้ปกครองไม่เคยสอนให้เด็กรู้จักอดทน รอคอย หรือสอนให้เด็กควบคุมอารมณ์ตนเอง

3.อารมณ์ พฤติกรรมของผู้ปกครอง

อารมณ์ พฤติกรรมของผู้ปกครอง ที่มีอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง จะเป็นตัวกล่อมเกลาให้เด็กมีพื้นฐานเป็นคนอารมณ์ร้อน เพราะเมื่อเด็กพบเห็นอาจเกิดการเลียนแบบพฤติกรรม และทำให้เด็กมีสภาพจิตใจเศร้า กังวล คับข้องใจ จนแสดงความก้าวร้าว ดื้อซนออกมา

4.เด็กอาจมีปัญหาด้านพัฒนาการ หรืออาการป่วยทางด้านจิตใจ

ผู้ปกครองควรคอยสังเกตพฤติกรรมเด็กสม่ำเสมอ เพราะบางครั้งการที่ลูกดื้อมาก ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังบ่อยๆ อาจไม่ใช่เด็กดื้อธรรมดา แต่อาจแฝงด้วยความบกพร่องทางพัฒนาการ หรืออาการป่วยทางด้านจิตใจ เช่น เด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้น ไฮเปอร์แอคทีฟ โรคออทิสติก หรือโรคซึมเศร้า

5.เด็กเลียนแบบพฤติกรรมจากสื่อ

การเลี้ยงเด็ก โดยให้เด็กดูแต่จอ อาจทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าว จากตัวละครในทีวี YouTube เด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบตามได้ และอาจรู้สึกเครียดตาม เมื่อไม่ได้ทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อคลายเครียด จึงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา

 9 กฎเหล็ก ปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว ต่อต้าน ให้ได้ผล!

1. “เข้าใจ” ผู้ปกครองควรเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งกระตุ้นให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา

ผู้ปกครองต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา มีเหตุการณ์หรือตัวกระตุ้นอะไรที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว เช่น เด็กอาจต้องการความใส่ใจ ต้องการรับความรักจากผู้ปกครอง และควรเข้าใจด้วยว่า เหตุการณ์นั้นส่งผลให้เด็กรู้สึกอย่างไร

2. “หยุด” บวกกลับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการดุด่า ลงโทษรุนแรง

การสอนลูกตอนที่อารมณ์ผู้ปกครองร้อนไม่ต่างกันกับเด็ก ก็เหมือนเอาน้ำมันไปราดไฟ เป็นการเพิ่มความก้าวร้าวในตัวเด็ก เพราะเด็กเห็นผู้ปกครองเป็นตัวอย่าง

3. “หลีกเลี่ยง” ถ้อยคำที่ทำให้เด็กรู้สึกมีปม เช่น นิสัยเสีย ไม่มีใครรัก

การใช้คำเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ หรือประชดเด็ก ด้วยคำพูดที่อยากเอาชนะ อาจทำให้เด็กรู้สึกมีปม และอาจเป็นปมในใจพวกเขาไปจนถึงเติบโต

4. “หลีกเลี่ยง” การแยกเด็กให้อยู่ในห้องคนเดียวเป็นเวลานานๆ

ไม่ควรสั่ง time out โดยการแยกเด็กอยู่คนเดียวนานๆ เพราะเด็กอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกโดดเดี่ยว และเครียด จนอาจคิดทำร้ายตนเอง

5. “หลีกเลี่ยง” การเอาใจในขณะที่เด็กก้าวร้าว เช่น ตอบตกลง หรือต่อรองกับสิ่งที่เด็กต้องการ

ผู้ปกครองไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์ หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพราะต้องการหลอกล่อให้เด็กหยุด จะทำให้เด็กเคยตัวกับการที่แสดงพฤติกรรมแบบนี้ แล้วผู้ปกครองจะตอบสนองในสิ่งที่เขาต้องการ แต่ควรตอบสนองเด็ก เฉพาะช่วงที่อารมณ์สงบลง และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น

6. “ต้องทำ” ลูบหัว หรือโอบกอดด้วยความรัก เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย

ผู้ปกครองไม่ควรประชด หรือแสดงความรำคาญด้วยการเดินหนี แต่ควรแสดงความรัก ด้วยการลูบหัว โอบกอด เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย ที่มีผู้ปกครองคอยอยู่ข้างๆ แต่ถ้าลูกต่อต้านไม่ให้กอด ควรคอยอยู่ข้างๆ ไม่ทิ้งให้เขาอยู่เพียงลำพัง

7. “ต้องทำ” เมื่อเด็กสงบลง ควรคุยกับเขาด้วยเหตุผล และถามว่ารู้สึกอย่างไร พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหา โดยใช้เสียงที่นุ่มนวล

เป็นการรับฟังเหตุผลที่เด็กทำลงไปเพราะอะไร และแนะนำทางออกให้เด็ก ว่าถ้าเด็กมีอารมณ์โกรธควรทำอย่างไร เพื่อเป็นการให้เขารู้จักกับอารมณ์ของตนเอง และเรียนรู้ที่จะระบาย หรือหาทางออกได้อย่างเหมาะสม

8. “ควร”  ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่ทำลงไป เช่น เก็บสิ่งของที่ขว้างปา

ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง เช่น เก็บของเล่นที่ขว้างปาจนกระจัดกระจาย โดยพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ใช่สิ่งที่เด็กทำเองไม่ได้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า หากทำแบบนี้ ผลที่ตามมาคืออะไร

9. “เพิ่ม” การชื่นชม เมื่อเด็กควบคุมอารมณ์ตนเองได้ แสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม

หากเด็กมีความตั้งใจ พยายามจัดการอารมณ์ของตนเอง แม้จะยังจัดการอารมณ์ หรือพฤติกรรมของตนเองได้ไม่ดีนัก ควรมีการชื่นชม ให้กำลังใจที่เด็กมีความพยายามที่จะจัดการอารมณ์ตนเอง

ทุกปัญหาพฤติกรรมเด็ก ผู้ปกครองช่วยแก้ไขได้ เพียงเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมดังกล่าว และมีวิธี เทคนิครับมือกับพฤติกรรมเด็ก เพราะคนที่จะช่วยปรับพฤติกรรมเด็กได้ดีที่สุด จะเป็นคนอื่นไปไม่ได้ นอกจากผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด นอกจากการเข้าใจสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมดังกล่าว การเข้าใจพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเช่นกัน เพื่อคัดกรองพัฒนาการเด็กได้เองเบื้องต้น และเตรียมพร้อมรับมือกับอารมณ์ที่เปลี่ยนผ่านของเด็ก  และฝึกเด็กได้เหมาะสมตามวัย เมื่อก้าวเข้าสู่สังคมใหม่ๆ เด็กจะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ สามารถทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ โดยไม่มีปัญหา

หากผู้ปกครองไม่สามารถรับมือได้ เพราะลูกดื้อมาก ก้าวร้าว สอนแล้วแต่ยังเพิกเฉย ลูกดื้อไม่เชื่อฟัง ต้องการวิธีแก้พฤติกรรมก้าวร้าว เด็กดื้อ วิธีปรับพฤติกรรมลูกต่อต้าน สามารถปรึกษา และขอเทคนิคปรับพฤติกรรมลูกจากเด็กเกเรให้กลายเป็นเด็กน่ารัก ได้จากนักจิตวิทยาคลินิกของ HealthSmile ได้ที่ 📱 Line ID : @healthsmilecenter หรือคลิกลิงก์นี้เลยค่ะ👉https://lin.ee/CDUgd8d

Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์