- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง
- อาการไอแห้งๆ ถี่ๆ
- เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
- อาการท้องอืด
- การขับปัสสาวะผิดปกติ
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- อาการขับถ่ายเป็นเลือด
- การกลืนลำบาก
- อาการเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด
- ปัญหาในช่องปาก
- น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- การมีไข้เป็นเวลานานๆ
- อาการแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อย
- อาการอ่อนเพลีย
1. มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง
การเปลี่ยนแปลงของผิวที่ว่าคือ การที่คุณมีจุดหรือผื่นขึ้นมาที่ผิวของคุณ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือหากคุณมีจุดนั้นอยู่แล้ว แต่จุดดังกล่าวมีขนาด รูปร่าง หรือสีที่เปลี่ยนไป อาการเหล่านี้อาจบอกถึงโรคมะเร็งได้ การพบแพทย์เพื่อตรวจว่าจุดดังกล่าวเป็นเนื้อร้ายหรือไม่เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะแพทย์จะนำชิ้นส่วนจุดนั้นๆไปตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
2. อาการไอแห้งๆ ถี่ๆ
อาการไอแห้งๆ เป็นอาการที่เกิดจากหลายสาเหตุเช่น อาการน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด กรดไหลย้อน หรือการติดเชื้อบางขนิด อาการเหล่านี้มักหายไปหลังจากที่กำจัดสาเหตุของอาการไอออกไปได้ แต่หากอาการยังคงอยู่เรื่อยๆ และหนักขึ้นถึงขั้นมีเลือดปนออกมาโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่จัด ควรไปพบแพทย์เพิ่อตรวจอย่างละเอียดเพราะอาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณของโรคมะเร็งปอดได้
3. เต้านมมีการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงของเต้านมนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งส่วนมากไม่ใช่การเกิดมะเร็งเต้านม แต่การสังเกตุถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ ก็มีความสำคัญต่อสุขภาพของคุณเอง
การเปลี่ยนแปลงที่ควรสังเกตุได้แก่ การคลำว่ามีก้อนผิดปกติหรือไม่ มีอาการเจ็บ คัดเต้านม สีของหัวนมว่ามีลักษณะแดงผิดปกติ หนาขึ้นผิดปกติ หรือหลั่งสารใดๆผิดปกติหรือไม่ เพราะหากแพทย์พิจารณาแล้วว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สงสัยการเกิดมะเร็ง ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงจะมีการตรวจที่ละเอียดและจำเพาะขึ้น เช่น การตรวจแมมโมแกรม
4. อาการท้องอืด
อาการท้องอืด เฟ้อ จุกแน่นท้อง เป็นได้มาจากหลายสาเหตุทั้งการทานอาหาร ความเครียดและอื่นๆ ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างทราบสาเหตุ แล้วอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ก็ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอย่างไร แต่หากอาการเหล่านี้ยังคงอยู่เรื่อยๆอย่างไม่ทราบสาเหตุ รวมทั้งมีอาการอ่อนเพลีย น้ำหนักลด หรือปวดหลังร่วมด้วยนั้น เป็นสัญญาณที่จำเป็นในการรับการตรวจอย่างละเอียดโดยเฉพาะคุณผู้หญิงเพราะเป็นอาการเริ่มต้นของมะเร็งรังไข่ด้วย
5. การขับปัสสาวะผิดปกติ
ปัญหาเรื่องการขับปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบบ่อยในคุณผู้ชายที่อายุมากขึ้นเนื่องจากมีการโตของต่อมลูกหมากทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่พุ่ง และปัสสาวะไหลกะปริบกะปรอย สิ่งที่คุณควรทำคือไปพบแพทย์และไม่ควรวินิจฉัยตัวเอง เพราะหลายครั้งไม่ได้เกิดจากต่อมลูกหมากโต แต่เป็นอาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก การตรวจที่ถูกต้องจะทำให้การรักษาได้ผลมากกว่าการปล่อยให้เรื้อรังเป็นเวลานาน
6. ต่อมน้ำเหลืองโต
ต่อมน้ำเหลืองจะมีลักษณะเหมือนรูปถั่วเม็ดเล็กๆ ที่อยู่ทั่วร่างกาย แต่ที่คนรู้จักกันมากที่สุดคือต่อมน้ำเหลืองที่คอนั่นเอง เมื่อมีอาการต่อมน้ำเหลืองโตนั่นหมายความว่าร่างกายคุณกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคอยู่ หากคุณสังเกตุคุณมักเจ็บคอขณะที่คุณเป็นหวัดไม่ว่าจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย แต่หากอาการดังกล่าวเป็นเรื้อรัง หรือต่อมน้ำเหลืองโตผิดปกติควรพบแพทย์เนื่องจากมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็ทำให้มีก้อนโตที่คอได้เหมือนๆกัน
7. อาการขับถ่ายเป็นเลือด
เมื่อคุณทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำไม่ว่าจะหนักหรือเบาก็ตาม การมีเลือดปนออกมากนั่นไม่ใช่สัญญาณที่ดีนัก เช่นการถ่ายเป็นเลือดสดเป็นอาการทั่วๆไปของริดสีดวงก็จริง แต่หากเลือดนั้นมีปริมาณที่มาก (1 ถ้วยหรือ 2 ถ้วย) สาเหตุของเลือดดังกล่าวอาจเป็นมะเร็งลำไส้ได้ เช่นเดียวกันกับการปัสสาวะเป็นเลือดที่มักพบในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกรวยไตอักเสบแต่อาการดังกกล่าวก็มาจากมะเร็งกระเพาะปัสสาวะได้เช่นกัน ดังนั้นการพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรักษาที่สาเหตุก็เป็นหนทางที่ดีที่สุด
8. อัณฑะมีการเปลี่ยนแปลง
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคือการมีก้อนที่อัณฑะ ไม่ว่าจะเจ็บหรือไม่เจ็บก็ตาม การที่คุณรู้สึกว่าอัณฑะของคุณบวมโตขึ้น บางครั้งคุณผู้ชายที่มีอาการหนักมากจะมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย แพทย์จะทำการอัลตราซาวด์และตรวจด้วยวิธีอื่นๆเพื่อดูว่าเกิดจากมะเร็งอัณฑะ หรือว่าสาเหตุอื่นกันแน่ๆ
9. การกลืนลำบาก
สาเหตุที่พบบ่อยของอาการกลืนลำบากได้แก่ ไข้หวัด กรดไหลย้อน หรือการทานยาบางชนิดที่ทำให้มีผลต่อการกลืน อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้อง แต่หากอาการยังเป็นต่อเนื่องอาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งกล่องเสียง หรือมะเร็งหลอดอาหาร แพทย์จะทำการตรวจโดยให้ผู้ป่วยกลืนแป้ง หลังจากนั้นจะใช้วิธีการทางรังสีวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง
10. อาการเลือดออกผิดปกติในช่องคลอด
อาการเลือดออกกะปริดกะปรอยที่ระหว่างรอบเดือนที่ยังไม่ถึงรอบประจำเดือน มีสาเหตุมาจากการเนื้องอกในรังไข่ มดลูก วิธีคุมกำเนิดบางชนิด การมีเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เป็นอาการที่ไม่ปกติคุณควรปรึกษาแพทย์เพื่อแยกให้ได้ว่าสาเหตุไม่ใช่มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะหากคุณมีสารคัดหลั่งที่มีเลือดปน และการมีเลือดออกหลังจากที่คุณเข้าสู่ช่วงวัยทองแล้ว การตรวจที่ถูกต้องจะทำให้คุณมั่วใจได้ว่าคุณปลอดภัยจากโรคมะเร็ง
11. ปัญหาในช่องปาก
ปัญหาในช่องปากที่พบบ่อยเช่น การหายใจมีกลิ่นเหม็น มีแผลเปื่อย แผลร้อนในในช่องปากและหายไปเองใน 1-2 สัปดาห์ เป็นอาการที่ปกติ แต่หากอาการเหล่านั้นไม่หายไปโดยเฉพาะในคนที่สูบบุหรี่ คุณควรรับการตรวจมะเร็งในช่องปาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีก้อน หรือแผลขึ้นที่กระพุ้งแก้ม เจ็บปาก หรือมีปัญหาเรื่องการขยับขากรรไกร
12. น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
น้ำหนักที่ลดลงนั้นเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นสัญญาณว่าคุณมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีขึ้นในกรณีที่คุณตั้งใจที่จะเปลี่ยน แต่หากน้ำหนักลดลงอย่างมากทั้งๆที่คุณทำพฤติกรรมเช่นเดิม อาจมีสาเหตุมาจากความเครียดหรือฮอร์โมนไทรอยด์ของคุณผิดปกติ และหากคุณน้ำหนักลดลง 5 – 10 กิโลกรัม โดยที่คุณไม่ได้ตั้งใจลดมัน สาเหตุอาจมาจากมะเร็งกะเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน มะเร็งปอด หรือมะเร็งชนิดอื่นๆได้เช่นกัน
13. การมีไข้เป็นเวลานานๆ
การมีไข้นั้นเป็นอาการที่พบได้บ่อยอยู่แล้วไม่ว่าคุณจะมีการติดเชื้อ หรือว่าการทานยาบางชนิดที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายของคุณสูงขึ้น แต่หากอาการดังกล่าวไม่หายไปหลังจากรักษา และคุณมีไข้ต่ำๆอย่างต่อเนื่องอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้
14. อาการแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อย
อาการแสบร้อนกลางอก หรืออาหารไม่ย่อยเป็นอาการทั่วๆไป เมื่อคุณมีพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม หรือการทานอาหารมื้อใหญ่ในบางมื้อ แต่หากมีการปรับพฤติกรรมแล้ว และรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อตรวจว่าเป็นอาการของมะเร็งกระเพาะอาหารหรือไม่
15. อาการอ่อนเพลีย
การเหนื่อยกับอาการอ่อนเพลียแตกต่างกัน การเหนื่อยคือการที่คุณออกไปทำกิจกรรมมาทั้งวัน หรือออกกำลังกายอย่างหนักทำให้พลังงานของคุณในวันนั้นถูกใช้ไปอย่างมากจึงเหนื่อย แต่อ่อนเพลียนั้นมักเกิดขึ้นแม้ว่าไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรเลย อาการอ่อนเพลียเป็นสัญญาณเบื้องต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือแม้กระทั่งมะเร็งลำไส้และกระเพาะอาหารเพราะว่า มะเร็ง 2 ชนิดนี้จะทำให้คุณมีเลือดออกในทางเดินอาหารโดยที่คุณไม่ทราบได้ การตรวจที่เหมาะสมจะช่วยรักษาอาการดังกล่าวได้อย่างตรงจุด
Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์