โปรตีนอัลบูมินในกระแสเลือด

ทำไมถึงต้องตรวจระดับอัลบูมินในกระแสเลือด

            เพราะระดับอัลบูมินจะช่วยในการวินิจฉัยการทำงานของตับหรือไตที่ผิดปกติ หรือบางครั้งจะใช้ประเมินการขาดสารอาหารได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล

เมื่อไหร่ถึงต้องตรวจระดับอัลบูมินในกระแสเลือด

            การตรวจจะทำเมื่อแพทย์สงสัยว่าคุณมีการทำงานของตับหรือไตที่ผิดปกติ มีภาวะน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการของภาวะทุพโภชนาการ (ภาวะขาดสารอาหาร) หรือเพื่อวางแผนในการผ่าตัด

ต้องใช้อะไรบ้างในการตรวจ

            ต้องมีการเจาะเลือดที่เส้นเลือดดำ เพื่อไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

            ไม่ต้องมีการเตรียมอะไรเป็นพิเศษ รวมถึงไม่ต้องงดน้ำหรืออาหาร 

โปรตีนอัลบูมินคืออะไร

            อัลบูมิน คือโปรตีนที่ถูกสร้างจากตับ และปล่อยสู่กระแสเลือด นับเป็น 60% ของโปรตีนทั้งหมดในกระแสเลือดซึ่งมีหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ การดึงสารน้ำต่างๆที่รั่วออกจากกระแสเลือดกลับมาในเส้นเลือด การหล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ และการขนส่งฮอร์โมน วิตามิน ยา และแร่ธาตุต่างๆไปทั่วร่างกาย โดยระดับอัลบูมินในกระแสเลือดจะไม่อยู่ในช่วงปกติ ก็ต่อเมื่อเกิดภาวะผิดปกติบางอย่างเช่น การสร้างอัลบูมินจากตับลดลง การเพิ่มการทำลายอัลบูมิน มีการสูญเสียอัลบูมินผ่านทางปัสสาวะ หรือการเพิ่มขึ้นของพลาสมา (น้ำในกระแสเลือด ทำให้ระดับของอัลบูมินที่วัดได้ต่ำกว่าความเป็นจริง) และ 2 สาเหตุที่สำคัญได้แก่

            1. โรคตับขั้นรุนแรง เนื่องจากอัลบูมินสร้างจากตับเป็นหลัก การที่เซลล์ตับถูกทำลายจึงไม่สามารถสร้างอัลบูมินออกมาได้ แต่การที่อัลบูมินจะต่ำจากภาวะนี้ ผู้ป่วยจะต้องเป็นโรคตับในขั้นที่รุนแรงมากเท่านั้น

            2. โรคไต เนื่องจากไตมีหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากร่างกาย ในภาวะปกติอัลบูมินจะไม่ถูกกรองออกไปกับปัสสาวะและจะพบในกระแสเลือดเท่านั้น แต่ในผู้ป่วยโรคไตที่มีการทำงานของไตบกพร่องหรือเนื้อไตเสียหาย จะมีอัลบูมินรั่วออกมากับปัสสาวะได้ ซึ่งการรั่วของอัลบูมินมักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังร่วมด้วยเช่น เบาหวาน หรือความดัน โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการเนฟโฟรติก ซินโดรม (nephrotic syndrome) จะพบอัลบูมินรั่วออกมากับปัสสาวะเป็นจำนวนมาก

มีวิธีการตรวจและใช้ผลของระดับอัลบูมินอย่างไร

            โดยส่วนมากการตรวจระดับอัลบูมินจะถูกบรรจุอยู่ในแพคเกจการตรวจสุขภาพทั่วๆไปอยู่แล้ว ซึ่งแพทย์จะใช้พิจารณาร่วมกับผลตรวจอื่นๆ เพื่อประเมินสุขภาพของคุณว่าเป็นปกติหรือไม่

            นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีสาเหตุอื่นๆอีกมากมายที่จะส่งผลต่อระดับอัลบูมินในกระแสเลือด ดังนั้นระดับของอัลบูมินจึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยของแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรค ติดตามผลการรักษา หรือการดำเนินไปของโรค และช่วยคัดกรองว่าจะต้องมีการตรวจสิ่งอื่นเพิ่มเติมหรือไม่

            เนื่องจากอัลบูมิเป็นโปรตีนที่ถูกสร้างจากตับ ทำหน้าที่ดึงน้ำที่รั่วออกจากกระแสเลือดกลับเข้ามา หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อต่างๆ และขนส่งฮอร์โมน วิจามิน ยา รวมถึงแร่ธาตุต่างๆไปทั่วร่างกาย

            ในการใช้ระดับของอัลบูมินยังสามารถใช้เพื่อประเมินการทำงานของตับ ไตร่วมกับ ระดับเครตินิน (creatinine) และระดับยูเรียในกระแสเลือด (blood urea nitrogen; BUN) และประเมินการได้รับสารอาหารว่าเป็นอย่างไรได้อีกด้วย

เมื่อไหร่แพทย์จึงทำการสั่งตรวจระดับอัลบูมิน

            อย่างที่กล่าวไปข่างต้นว่าระดับอัลบูมินสามารถบอกภาวะของสุขภาพได้หลายอย่าง แพทย์จะทำการสั่งตรวจระดับ
 อัลบูมิน ร่วมกับค่าแลปอื่นๆ เมื่อผู้ป่วยมีอาการของโรคตับ ได้แก่

  • อาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ดีซ่าน)
  • อาการอ่อนแรง ไม่มีแรง
  • น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ
  • ความอยากอาหารลดลง
  • มีท้องบวมหรือเจ็บท้อง
  • ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ในขณะที่อุจจาระสีซีด
  • มีอาการคัน

หรือจะทำการตรวจเมื่อผู้ป่วยมีอาการของเนฟโฟรติก ซินโดรม เช่น

  • มีอาการบวมที่ตา หน้า ข้อมือ ท้อง ต้นขา หรือข้อเท้า
  • ปัสสาวะมีฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด หรือปัสสาวะมีสีเข้มคล้ายกาแฟ
  • มีปัสสาวะออกน้อยลง
  • มีอาการแสบขณะปัสสาวะ หรือมีสารคัดหลั่งที่ผิดปกติขณะขับปัสสาวะ หรือปัสสาวะถี่ขึ้นโดยเฉพาะช่วงกลางคืน
  • มีอาการปวดบั้นเอว ปวดใต้ชายโครง ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับไต
  • มีความดันโลหิตสูงขึ้น

นอกจากนี้แพทย์อาจทำการสั่งตรวจอัลบูมินเพื่อตรวจหรือติดตามภาวะขาดสารอาหาร อย่างไรก็ตามหากผลการตรวจออกมาพบว่ามีระดับอัลบูมินที่ต่ำลง ก็อาจเป็นได้จากหลายสาเหตุมากกว่าการขาดสารอาหาร การประเมินของแพทย์จึงต้องทำอย่างระมัดระวัง

ผลการตรวจอัลบูมินสามารถบอกอะไรได้บ้าง

            ผลการตรวจอัลบูมินจะใช้ประเมินร่วมกับผลการตรวจอื่นๆ ที่รวมอยู่ในแพ็คเกจการตรวจสุขภาพ หรือใช้เพื่อการติดตามการรักษา หรือโรคบางอย่าง

            หากระดับอัลบูมินน้อยกว่าปกติอาจเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ดีเกี่ยวกับสุขภาพ และจะต้องทำการตรวจสิ่งอื่นเพิ่มเติมเนื่องจากการลดลงของอัลบูมินมาได้จากหลายสาเหตุตามที่กล่าวมาข้างต้น อีกทั้งอาจเป็นการลดลงแบบชั่วคราวที่ร่างกายสามารถปรับตัวกลับมาได้เอง หรือเป็นภาวะบางอย่างของร่างกายที่เป็นได้ทั้งเฉียบพลัน และเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษา เช่น

            1. การทำงานของตับที่ไม่ปกติ จำเป็นต้องตรวจค่าเอนไซม์อื่นๆจากตับเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำ หรือผู้ป่วยโรคตับอาจมีระดับของอัลบูมินใกล้เคียงกับค่าปกติก็ได้ จนกระทั่งมีการดำเนินไปของโรคที่แย่ลงเช่น ในผู้ป่วยโรคตับแข็งระดับของอัลบูมินอาจจะอยู่ในระดับต่ำลง แต่ทว่าในโรคตับเรื้อรังส่วนมากที่ไม่ได้พัฒนามาเป็นโรคตับแข็งระดับของอัลบูมินในกระแสเลือดกลับอยู่ในระดับปกติ

            2. การทำงานของไต ที่ไม่สามารถกักเก็บอัลบูมินไว้ในกระแสเลือด แต่รั่วออกมากับปัสสาวะ ซึ่งในสภาวะดังกล่าวต้องมีการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยเช่น การวัดปริมาณอัลบูมินหรือโปรตีนอื่นๆที่รั่วออกมาต่อวัน ระดับเครตินิน (creatinine) ระดับยูเรียในกระแสเลือด (blood urea nitrogen; BUN) หรือสิ่งที่สะท้อนการทำงานของไตอื่นๆ

            3. การเกิดภาวะการอักเสบในร่างกาย ภาวะช็อค หรือภาวะขาดสารอาหารจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมโปรตีนได้อย่างเพียงพอเช่นผู้ป่วยคอร์น ดีซีส (Crohns disease) หรือ ซีลิแอค ดีซีส (Celiac disease) ที่จะเกิดการสูญเสียโปรตีนออกมากับอุจจาระทางลำไส้

            4. การติดเชื้อ ในผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ ผ่าตัด มีโรคเรื้อรัง หรือมะเร็ง ก็อาจพบว่าระดับอัลบูมินต่ำลงได้

            5. ผู้ป่วยเบาหวาน

            6. ผู้ป่วยที่มีภาวะไธรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (hypothyroidism) 

            7. ในผู้ที่เป็นกลุ่มอาการคาร์ซินอยด์ (Carcinoid syndrome) คือมะเร็งที่พบได้ในต่อมต่างๆของร่ากาย

            8. ในผู้ที่มีปริมาณน้ำในร่างกายมากขึ้น เช่นผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว (congestive heart failure) หรือตั้งครรภ์

            ส่วนระดับของอัลบูมินที่สูงขึ้น อาจพบในผู้ป่วยที่มีการสูญเสียน้ำ แม้ว่าระดับของอัลบูมินจะไม่ได้เป็นสิ่งที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการประเมินภาวะดังกล่าว

มีสิ่งอื่นที่ควรทราบเกี่ยวกับอัลบูมินหรือไม่

            สิ่งหนึ่งอาจเป็นสิ่งที่ใช้พิจารณาระดับของอัลบูมินในเลือดคือ การได้รับยาต่างๆ เนื่องจากยาบางชนิดสามารถเพิ่มระดับของอัลบูมินในเลือดได้ เช่น สเตียรอยด์ ฮอร์โมนแอนโดรเจน (androgen) โกรทฮอร์โมน (growth hormone) หรือการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำ เช่น น้ำเกลือในปริมาณมากระดับของอัลบูมินที่วัดได้ ก็อาจไม่ใช่ระดับที่แท้จริง เป็นต้น

แล้วใครบ้างที่มีความเสี่ยงของการมีระดับอัลบูมินที่ผิดปกติ

            ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงคือผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็น โรคตับเรื้อรัง โรคไต ผู้ที่มีการทำงานของทางเดินอาหารที่ไม่ดี ทำให้ไม่สามารถย่อยและดูดซึมโปรตีนได้ หรือผู้ที่ท้องเสียติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจทำให้ระดับอัลบูมินผิดปกติเช่นกัน

มีเครื่องตรวจระดับอัลบูมินเองที่บ้านหรือไม่

            ในต่างประเทศมีชุดทดสอบระดับอัลบูมินสูงที่บ้าน แต่ตรวจได้เฉพาะในปัสสาวะเท่านั้น (เป็นแบบจุ่ม ลักษณะเหมือนที่ตรวจการตั้งครรภ์) ยังไม่มีการตรวจระดับอัลบูมินในเลือดเองที่บ้าน

อะไรคือความแตกต่างระหว่าง อัลบูมินในซีรั่มหรือพลาสม่า พรี-อัลบูมิน และอัลบูมินในปัสสาวะ

            สำหรับอัลบูมินในซีรั่มหรือพลาสม่า คืออัลบูมินในกระแสเลือด แต่พรี-อัลบูมินเป็นโปรตีนคนละชนิดกับอัลบูมิน ที่ถูกสร้างมาจากตับเช่นเดียวกัน ในปัจจุบันในการประเมิน และติดตามโรคต่างๆทางการแพทย์จะใช้อัลบูมินในเลือดเป็นหลัก

            ส่วนอัลบูมินในปัสสาวะ คืออัลบูมินชนิดเดียวกันกับในเลือด จากการรั่วไหลออกมาเนื่องจากไตไม่สามารถทำหน้าที่ได้ จึงใช้เป็นสัญญาณเตือนว่าไตทำงานผิดปกติ หากพบอัลบูมินในปัสสาวะ

Last Updated on 17 กรกฎาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์