Last Updated on 25 ธันวาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
จากข้อมูลของ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง (สายด่วน 1548) ได้แจ้งที่วิธี จดทะเบียนรับรองบุตร ซึ่งทางทีมงานเฮลท์สไมล์ ขอแจกแจงรายละเอียดให้อ่านง่ายๆดังนี้
- หากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ลูกที่เกิดมาจะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว หมายความว่า ลูกจะไม่มีสิทธิ์ได้รับมรดก และไม่ได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อ และพ่อจะไม่มีสิทธิ์ใดๆในการปกตครองลูก
(บิดามารดาของเด็กเป็นสามีภรรยากันโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรที่เกิดมาจึงเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของมารดาแต่เพียงฝ่ายเดียว) - หากบิดาประสงค์จะให้บุตรของตนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถดำเนินการได้ 3 วิธี คือ
- 1) ไปจดทะเบียนสมรสกัน ที่สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของคู่สมรส
- 2) ไปจดทะเบียนรับรองบุตร ที่สำนักทะเบียนอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขต
- 3) ยื่นฟ้องให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดา
1. จดทะเบียนสมรส เพื่อรับรองบุตร
วิธีการจดทะเบียนสมรส เอกสาร และ มีรายละเอียดดังนี้ https://stat.bora.dopa.go.th/callcenter1548/A211_voice.htm
ซึ่งในบทความนี้ จะขอกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับวิธีจดทะเบียนสมรส คือ
ขั้นตอนในการขอจดทะเบียนสมรส
- การจดทะเบียนสมรส สามารถยื่นคำร้องขอจดทะเบียนได้ทุกแห่ง ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักทะเบียนเขตใดก็ได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนาของ คู่สมรส
- คู่สมรสที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องนำบิดาและมารดาหรือผู้ปกครองโดยชอบธรรมมาให้ความยินยอม
- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่าย เป็นคนต่างด้าว ต้องขอหนังสือรับรองสถานภาพบุคคลจากสถานทูตหรือกงสุลสัญชาติที่ตนสังกัด หนังสือรับรองนั้น ต้องแปลเป็นภาษาไทยและมีคำรับรอง การแปลถูกต้อง ยื่นพร้อมคำร้องขอจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเขต
หลังจากจดทะเบียนสมรสเรียบร้อยแล้ว บุตรของหญิงคนนั้น ก็จะเป็นบุตรของฝ่ายชายตามกฎหมายด้วยทันที และมีผลนับแต่วันที่เด็กเกิด
กรณีนี้ต้องได้รับความยินยอมของทั้งสองฝ่ายในการสมรสกัน ซึ่งการรับรองบุตรด้วยวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์ DNA ความเป็นพ่อลูก
2. จดทะเบียนรับรองบุตร
หากไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส (เพื่อไม่ให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง) แต่ว่าต้องการจดทะเบียนรับรองบุตร ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เอกสารที่ใช้ในการจดทะเบียนรับรองบุตร
- บัตรประจำตัวประชาชน/บัตรประจำตัวอื่นที่ราชการออกให้/หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว/หรือเอกสารราชการอื่นที่สามารถใช้แสดงตัวบุคคลได้ ของผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยาน (กรณีเป็นเอกสารภาษาต่างประเทศต้องผ่านการรับรองนิติกรณ์โดยกรมการกงสุล กต.)
- หนังสือยินยอม (กรณีฝ่ายมารดาหรือเด็กไม่สามารถมาให้ความยินยอมด้วยตนเองต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
- คำสั่งศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด (ใช้แทนกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่สามารถให้ความยินยอมได้) เอกสารนี้จะได้จากการยื่นต่อศาลเพื่อขอรับรองบุตร
- พยานบุคคล จำนวน 2 คน ลงลายมือชื่อรับรู้ในเรื่องความสมัครใจยินยอมของฝ่ายบิดา มารดา และบุตรในการจดทะเบียนรับรองบุตร
ขั้นตอนการจดทะเบียนรับรองบุตร
- บิดายื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอ สำนักทะเบียนเขต สถานทูต/กงสุลไทย ได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงภูมิลำเนา
- เด็กและมารดาเด็กต้องมาให้ความยินยอมในการจดทะเบียนรับรองบุตรด้วยตนเองหรือมีหนังสือให้ความยินยอมแทนได้
- หากเด็กและมารดาเด็กหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความยินยอมหรือไม่อาจให้ความยินยอมได้ การจดทะเบียนเด็กเป็นบุตรต้องมีคำพิพากษาของศาล
- นายทะเบียนตรวจสอบคำร้อง หลักฐานแสดงตัวบุคคลของบิดา มารดา และเด็ก และเอกสารหลักฐานข้างต้น
- นายทะเบียนลงรายการในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11) ให้ครบถ้วน
- ให้ผู้ร้อง ผู้ให้ความยินยอม และพยานลงลายมือชื่อในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11) หากมีหนังสือให้ความยินยอมจากมารดาหรือเด็ก หรือทั้งสองฝ่าย ให้ลงรายละเอียดหนังสือยินยอมนั้นแทนการลงลายมือชื่อ
- เมื่อเห็นว่าถูกต้องให้นายทะเบียนลงลายมือชื่อในทะเบียนรับรองบุตร (คร.11)
ติดต่อเราเพื่อรับคำปรึกษาเรื่องการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกที่
LINE ID : @HealthSmile
ค่าตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกเริ่มต้นเพียง 12,000 บาท บริการทั่วประเทศ
3. ยื่นฟ้องศาล เพื่อขอรับรองบุตร
กรณีหากไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยวาจา หรือมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยินยอมในการรับรองบุตร ก็จำเป็นต้องร้องต่อศาล เพื่อขอคำพิพากษาของศาลมาประกอบการรับรองบุตร ซึ่งสำหรับเนื้อหาของการฟ้องร้อง แนะนำให้ปรึกษากับทนายความที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว ประกอบการตัดสินใจ และดำเนินการต่อเนื่อง
โดยปกติ หากจำเป็นต้องยื่นฟ้องศาล เพื่อขอรับรองบุตร มักจำเป็นต้องใช้หลักฐานการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูก
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการจดรับรองบุตร
Q : พ่อแม่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่มีชื่อพ่อในสูติบัตรของเด็ก ถือว่าเป็นการรับรองบุตรแล้วหรือไม่?
การที่มีชื่อของชายอยู่ในสูติบัตรระบุว่าเป็นบิดานั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการรับรองว่าเด็กคนนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่บิดามารดายังมิได้มีการสมรสกันตามกฎหมาย ซึ่งก็คือการจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายนั้น เมื่อบุตรเกิดขึ้นมาโดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนสมรส เด็กคนนั้นก็ยังไม่เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือชายผู้นั้นแม้จะมีชื่อปรากฎในสูติบัตรแล้วก็ตาม
Q : ถ้าศาลสั่งให้บิดาสามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้ว มารดาหรือเด็กจะสามารถคัดค้านไม่ให้บิดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้หรือไม่?
แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้สามารถดำเนินการจดทะเบียนรับรองบุตรได้แล้วนั้น แต่มารดาหรือบุตรยังมีสิทธิที่จะสามารถแจ้งไปยังนายทะเบียนว่าบิดาเป็นผู้ไม่สมควรใช้อำนาจปกครองบุตร ซึ่งหากบิดาต้องการจะมีอำนาจในการปกครองบุตรด้วยนั้น ก็ต้องดำเนินการร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลท่านพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยสามารถดำเนินการยื่นคำร้องขอจดทะเบียนรับรองบุตรและขอใช้อำนาจในการปกครองบุตรไปพร้อมกันได้เลยตามมาตรา 1449
อ่านเพิ่มเติม : วิธีตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูก มีกี่วิธี ข้อดี/ข้อเสียของการตรวจความเป็นพ่อลูก
อ่านเพิ่มเติม : วิธีอ่านผลตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูก
ข้อดีของการจดทะเบียนรับรองบุตร (4)
ข้อดีสำหรับบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
- มีสิทธิฟ้องคดีแทนผู้เยาว์ กรณีผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 5 (1) เพราะถือว่าเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ( ฎ.1988/2514 )
- มีสิทธิฟ้องคดีแพ่งแทนผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 56
- บิดามีสิทธิเรื่องอำนาจปกครองบุตร อำนาจในกำหนดที่อยู่อาศัย กำหนดสถานที่ศึกษา การทำโทษ การให้ทำงานตามฐานานุรูป การเรียกคืนบุตรจากบุคคลที่กักไว้โดยไม่ชอบ เพราะถือว่าเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่เป็นผู้ปกครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567
- บิดาได้รับสิทธิในการรับเงินต่างๆ เช่น เงินบำนาญตกทอด หรือเงินช่วยเหลือๆของราชการ ตามที่กฎหมายกำหนดให้บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีสิทธิได้รับ
- กรณีบุตรถูกทำร้ายหรือทำละเมิดเสียชีวิต บิดามีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ เพราะถือว่าบุตรมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบิดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 เนื่องจากเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย
- บิดาได้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีตามกฎหมายเกี่ยวกับบุตร ทั้งนี้เพราะ คำว่าบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง บุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2526 อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตร“
- บิดาได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอุทลุม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บุตรไม่สามารถฟ้องบิดาเป็นคดีแพ่งและอาญาได้ อ่านรายละเอียดได้ในบทความเรื่อง “คำอธิบายเรื่องอุทลุมตามกฎหมาย”
- บิดามีสิทธิดำเนินการใดๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ รวมทั้งมีอำนาจขออนุญาตต่อศาล เพื่อทำนิติกรรมแทนผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574
ข้อดีสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
- บุตรได้รับสิทธิในการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร เพราะเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของบิดา (ฎ.1601/2492 )
- บุตรและบิดา ได้รับสิทธิในการรับเงินต่างๆ เช่น เงินบำนาญตกทอด หรือเงินช่วยเหลือๆของราชการ ตามที่กฎหมายกำหนดให้บิดาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมีสิทธิได้รับ อ่านเพิ่มเติมได้ใน บทความเรื่อง “บุตรกับบำเหน็จตกทอดกรณีบิดาถึงแก่ความตาย”
- กรณีบิดาถูกทำร้ายหรือทำละเมิดเสียชีวิต บุตรมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะต่างๆ เพราะถือเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย มีหน้าที่ในการให้การอุปการะเลี้ยงดู ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิช์ มาตรา 1564 ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1409/2548
- บุตรได้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีตามกฎหมายเรื่องการอุปการเลี้ยงดูบิดามารดา ทั้งนี้เพราะ คำว่าบุตรชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร หมายถึง บุตรชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยครอบครัว ทั้งนี้ตามนัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1437/2526 อ่านเพิ่มเติมได้ในบทความเรื่อง “หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาและบุตร“
- บุตรสามารถใช้นามสกุลของบิดาได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1561
ติดต่อเราเพื่อรับคำปรึกษาเรื่องการตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกได้ที่
LINE ID : @HealthSmile เรายินดีให้ความช่วยเหลือ
ค่าตรวจ DNA ความเป็นพ่อลูกเริ่มต้นเพียง 12,000 บาท บริการทั่วประเทศ
References
1. Kids. จดทะเบียนรับรองบุตร ทำอย่างไร ลูกอายุเท่าไหร่ถึงจดได้? [Internet]. AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข. AMARIN Baby And Kids; 2020 [cited 2024 Sep 8]. Available from: https://www.amarinbabyandkids.com/family/registration-of-child-certification/
2. Super User. การจดทะเบียนรับรองบุตร [Internet]. Dopa.go.th. [cited 2024 Sep 8]. Available from: https://www.bora.dopa.go.th/
3. ศรีสังข์ ท. ขั้นตอนการจดทะเบียนรับรองบุตร – การฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร ฉบับเข้าใจง่าย [Internet]. srisunglaw – สำนักงาน พิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ. 2021 [cited 2024 Sep 9]. Available from: https://srisunglaw.com/บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย/
4. บุญช่วย ส. กฎหมายเรื่องลูก มีอะไรบ้าง ? พ่อกับแม่ใครมีสิทธิในตัวลูกมากกว่ากัน [Internet]. theAsianparent-คู่มือการตั้งครรภ์ พัฒนาการเด็ก และการเลี้ยงลูก. theAsianparent; 2017 [cited 2024 Sep 9]. Available from: https://th.theasianparent.com/mom-or-dad-who-have-more-custody-over-baby