Last Updated on 24 ธันวาคม 2024 by นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์
ข้อควรรู้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัว
ตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร
การตั้งครรภ์และการเตรียมพร้อมสำหรับการมีสมาชิกใหม่ในครอบครัวเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็มาพร้อมกับความกังวลใจ โดยเฉพาะกับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์ การเตรียมตัวและเตรียมใจรวมถึงการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด และการเลี้ยงดูบุตรจะช่วยให้คุณแม่มั่นใจและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมั่นใจ นอกจากมิติด้านสุขภาพแล้ว มิติด้านการเงินและสวัสดิการสังคมก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน สำหรับบทความนี้จะเป็นตอนแรกของซีรีย์ข้อควรรู้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัว ซึ่งจะพูดถึงการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ค่ะ
การเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร
การตัดสินใจที่จะมีบุตรเป็นขั้นตอนสำคัญในชีวิตที่ต้องการความพร้อมทั้งทางสุขภาพกาย สุขภาพใจ อายุ และสถานะทางการเงิน เพื่อให้คุณและคู่ของคุณสามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเติบโตของลูกน้อย ความพร้อมก่อนการมีบุตรแบ่งหลักๆออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
สุขภาพใจและสุขภาพกาย
สุขภาพกายเป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมตัวก่อนมีบุตร การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์จะช่วยให้คุณแม่ทราบถึงสภาพร่างกายและความพร้อมในการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม การทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยเสริมสร้างร่างกายให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และการดูแลลูกน้อยในอนาคต
เพื่อให้สภาพร่างกายของคุณแม่กลับมาแข็งแรงเป็นปกติหลังคลอดลูกคนแรกแล้ว คุณแม่ควรเว้นระยะระหว่างการมีบุตรคนถัดไปอย่างน้อย 2 ปี
สุขภาพใจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ การมีสุขภาพใจที่ดีช่วยให้คุณสามารถเผชิญกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตรได้ดีขึ้น การพูดคุยกับคู่ของคุณเกี่ยวกับความคาดหวัง ความกังวล และการเตรียมตัวก่อนมีบุตรสามารถช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน
อายุ
อายุของพ่อแม่มีผลต่อการตั้งครรภ์และสุขภาพของลูก การตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือเบาหวานขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ การตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่เหมาะสมยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมในลูกน้อย
สำหรับผู้หญิง : ช่วงอายุที่เหมาะสมในการมีบุตรอยู่ระหว่าง 20-34 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ร่างกายยังคงมีความพร้อมและลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้หมายความว่า คุณผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี จะไม่ควรตั้งครรภ์ เพราะว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจหาความผิดปกติต่างๆที่จะเกิดขึ้นกับหญิงตั้งครรภ์ที่อายุมาก และมีการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการรักษาปัญหาหลายๆอย่างก็สามารถทำได้ดีมากขึ้นเรื่องๆเช่นกัน
ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากคุณแม่ที่มีอายุมาก เช่น
อ่านเพิ่ม : ตารางรวมความเสี่ยงทารกในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรม ตามอายุของคุณแม่ หน้าเดียวจบ ครบทุกอายุ
อ่านเพิ่ม : การตั้งครรภ์ในสตรีอายุมาก (Pregnancy in advanced maternal age)
สำหรับผู้ชาย : แม้ว่าจะไม่ได้มีข้อพึงระวังโดยตรงเกี่ยวกับอายุของคุณพ่อ ต่อความผิดปกติของทารกในครรภ์ แต่ก็ควรตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจมีผลต่อคุณภาพของสเปิร์มและความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมในลูก
อ่านเพิ่ม : อายุของพ่อ ส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในครรภ์
รายได้
รายได้เป็นปัจจัยสำคัญในการเตรียมตัวก่อนมีบุตร การมีรายได้ที่เพียงพอจะช่วยให้คุณสามารถจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับลูกน้อยได้อย่างเหมาะสม เช่น ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ค่าแพทย์ และค่าใช้จ่ายในการศึกษา การวางแผนการเงินที่ดีจะช่วยลดความเครียดและทำให้คุณสามารถมุ่งเน้นไปที่การดูแลลูกน้อยได้อย่างเต็มที่
การเลี้ยงลูกต้องการค่าใช้จ่ายที่หลากหลาย ไม่มีข้อกำหนดว่ารายได้ขั้นต่ำเท่าไรจึงจะเพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายของการตั้งครรภ์ และการมีบุตรจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เช่น อาหาร เสื้อผ้า และที่อยู่อาศัย ไปจนถึงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและสุขภาพ อย่างไรก็ตาม จำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงลูกจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย ระดับการศึกษาและการดูแลสุขภาพที่ต้องการ และค่าใช้จ่ายเฉพาะของครอบครัวแต่ละครอบครัว
ค่าใช้จ่ายพื้นฐาน
1. อาหารและของใช้จำเป็น : ค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร นม ข้าวของเครื่องใช้ เช่น ผ้าอ้อม สบู่ โลชั่น เป็นค่าใช้จ่ายรายเดือนที่สำคัญ
2. ที่อยู่อาศัย : ค่าที่อยู่อาศัยหากต้องการห้องหรือบ้านที่ใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับลูกน้อย และค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านให้เหมาะสมกับการเลี้ยงดูเด็ก
ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาและการพัฒนา
1. ค่าเล่าเรียน : ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของลูก ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษา และอาจรวมถึงการเรียนพิเศษหรือกิจกรรมนอกหลักสูตร
2. กิจกรรมเสริมทักษะ : ค่าใช้จ่ายในการลงเรียนกิจกรรมเสริมทักษะต่างๆ เช่น การเรียนดนตรี กีฬา หรือภาษา
3. ค่ารักษาพยาบาล : ค่าประกันสุขภาพและค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็น
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว การจัดงานวันเกิด หรือค่าใช้จ่ายสำหรับงานฉลองต่างๆ
การวางแผนทางการเงิน
แม้จะไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนว่าควรมีรายได้เท่าไร แต่การคำนวณคร่าวๆ คือการพิจารณารายได้ต่อปีของครอบครัวและแบ่งสัดส่วนไปตามค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยทั่วไป ควรมีรายได้ที่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายพื้นฐานรายเดือนอย่างน้อย 20,000-30,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับพื้นที่และมาตรฐานการใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว นอกจากนี้ การมีเงินออมสำหรับเหตุฉุกเฉินหรือแผนการศึกษาในอนาคตจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การวางแผนและบริหารการเงินอย่างรอบคอบเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณสามารถเตรียมพร้อมทางการเงินได้ดีขึ้นในการเลี้ยงดูบุตรในอนาคตได้
การตรวจสุขภาพก่อนมีบุตร
1. ตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์
2. ตรวจโรคติดต่อที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
3. ตรวจโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคโลหิตจางและพาหะธาลัสซีเมีย
การเตรียมสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์เป็นขั้นตอนสำคัญที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีการตั้งครรภ์ที่สุขภาพดีและการคลอดบุตรที่ปลอดภัย นี่คือวิธีการเตรียมสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ที่ควรพิจารณาดังนี้ค่ะ
1. การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์
– ตรวจร่างกายทั่วไป :
ตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อประเมินสุขภาพโดยรวม เพื่อหาโรคประจำตัวอื่นๆที่อาจจะไม่ทราบมาก่อน เช่น ตรวจความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด การตรวจหัวใจเพื่อดูว่ามีโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือหัวใจโตหรือไม่ ฯลฯ
– ตรวจสุขภาพฟัน :
สุขภาพฟันที่ดีสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดการเหงือกอักเสบที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ได้
– การปรึกษาแพทย์และเตรียมแผนการตั้งครรภ์
– การได้พูดคุยกับแพทย์เกี่ยวกับการวางแผนตั้งครรภ์ โดยเฉพาะหากคุณมีประวัติการแพ้ยา ปัญหาทางสุขภาพ หรือใช้ยาบางชนิดที่อาจมีผลต่อการตั้งครรภ์ หรือมีโรค/ความผิดปกติบางอย่างของคนในครอบครัว ก็ควรที่จะแจ้งแพทย์ให้ทราบด้วย เพื่อจะได้วางแผนการตรวจโรคและป้องกันโรคที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ได้
– ตรวจประเมินอวัยวะทางระบบสืบพันธ์ (ถ้าสามารถตรวจได้)
เช่น การตรวจภายใน ตรวจมะเร็งปากมดลูก การตรวจอัลตราซาวด์เพื่อหาเนื้องอกมดลูก หรือความผิดปกติอื่นๆที่อาจทำให้เป็นปัญหาระหว่างการตั้งครรภ์ได้ เช่น ท่อนำไข่บวม ถุงน้ำรังไข่ มดลูกมีผนังกั้น หรือมดลูกผิดปกติอื่นนๆ เป็นต้น
2. ตรวจโรคติดต่อที่สามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก
– โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
เช่น การติดเชื้อเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี
– ตรวจหาภูมิคุ้นกันโรคที่ทำให้ทารกในครรภ์พิการ
ได้แก่ ภูมิคุ้มกันโรคหัดเยอรมัน (เฉพาะฝ่ายหญิง) ซึ่งหากตรวจไม่พบว่าภูมิคุ้มกันโรคนี้ ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพราะหัดเยอรมันทำให้เกิดความผิดปกติในทารกได้รุนแรง อาทิ ตาบอด หูหนวก หัวใจพิการ เป็นต้น
3. ตรวจโรคทางพันธุกรรม
– ตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่พบบ่อยในคนไทย
ตรวจหาโรคติดต่อทางพันธุกรรมหรือโรคที่อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคทาลัสซีเมีย ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดโรคโลหิตจางทาลัสซีเมียรุนแรงในทารกได้ ทำให้มีอาการตับโต ม้ามโต ตัวเหลือง เลือดจาก พัฒนาการช้า ฯลฯ
– ตรวจหาโรคทางพันธุกรรมที่พบน้อย แต่มีความเสี่ยงสูง (ถ้าสามารถตรวจได้)
การตรวจหาโรคทางพันธุกรรมอื่นๆ เช่น Duchenne Muscular Dystrophy – โรคกล้ามเนื้อเสื่อมที่พบมากที่สุดในเด็ก, Wilson Disease – โรควิลสัน พบได้ทั่วโลกในคน 1 ใน 30,000 คน, Cystic Fibrosis – หนึ่งในโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากที่สุดในชาวคอเคซอยด์ (คนผิวขาว), Spinal Muscular Atrophy – มีการพบว่าคน 1 ใน 50 คนเป็นพาหะของโรคนี้
อย่างไรก็ตาม ในคุณแม่และคุณพ่อที่ไม่มีประวัติความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครับ การตรวจโรคทางพันธุกรรมอื่นๆนอกจากทาลัสซีเมีย ในประเทศไทย เป็นการตรวจทางเลือกเท่านั้น เนื่องจากโอกาสเกิดความผิดปกติดังกล่าว ยังพบค่อนข้างน้อยในคนไทย แต่ถ้าต้องการตรวจก็สามารถเลือกตรวจกับ เฮลท์สไมล์ ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการตรวจโรคทางพันธุกรรมเริ่มต้นเพียง 22,000 บาท
Add LINE ID : @HealthSmile เพื่อสอบถามการตรวจโรคทางพันธุกรรม
การเตรียมร่างกายสำหรับว่าที่คุณแม่
คุณแม่ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และเสริมสารอาหารบางอย่างที่จำเป็น ได้แก่ โฟลิก (Folic acid) ทีจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือดแดง และลดโอกาสเกิดความพิการแต่กำเนิดของทารก โดยควรเริ่มกินโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือนและต่อเนื่องตลอดการตั้งครรภ์จนถึง 6 เดือนหลังคลอด
– เสริมโฟลิก
โฟลิก เป็นวิตามินที่สามารถหาได้จากอาหารทั่วไปรจำพวก น้ำนม เครื่องในสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง ยีสต์ ไข่แดง ผักใบเขียวเข้ม คะน้า แครอท แคนตาลูป ฟักทอง ถั่ว ผักบุ้ง ตำลึง นอกจากนี้ยังสามารถขอรับยาบำรุงที่มีส่วนผสมของโฟลิกได้ฟรี ที่สถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ
อ่านรายละเอียดการขอรับโฟลิกฟรีได้ที่นี่
– เสริมวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ :
การรับประทานวิตามินเสริม เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และแคลเซียม สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีทั้งสำหรับมารดาและทารก
– ลดการบริโภคคาเฟอีน และงดเครื่องดิ่มแอลกอฮอล์
คาเฟอีน มีผลหากได้รับในปริมาณที่มาก อาจทำให้การเจริญเติบโตช้า หรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ บางรายมีโอกาสพิการแต่กำเนิดได้ บางองค์กร เช่น American College of Obstetricians and Gynecologists, European Food Safety Authority, UK National Health Service มีข้อแนะนำเกี่ยวกับปริมาณคาเฟอีนที่ผู้หญิงมีครรภ์บริโภคว่าไม่ควรเกินวันละ 200 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่าการดื่มกาแฟ 1-2 แก้ว (แก้วละ 240-250 มิลลิลิตร) แต่อย่างไรก็ตามมีการศึกษาที่พบผลเสียต่อทารกเมื่อผู้หญิงมีครรภ์บริโภคคาเฟอีนในปริมาณเพียงวันละ 50 มิลลิกรัมตลอดช่วงเวลาที่ตั้งครรภ์
แอลกอฮอล์ นั้นผลเสียมีมากมาย เช่น ประสบปัญหาด้านการเรียนรู้ การพูด สมาธิภาษา และอาจเป็นโรคสมาธิสั้นได้ ดังนั้นต้องเลิกเด็ดขาดก่อนการตั้งครรภ์
– การออกกำลังกาย
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แบบแอโรบิกอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ การทำโยคะหรือพิลาทิสที่เน้นการเสริมสร้างกล้ามเนื้อแกนกลางและเพิ่มความยืดหยุ่นก็เป็นตัวเลือกที่ดีในการออกกำลังกายค่ะ
– การจัดการความเครียดและสุขภาพจิต
เทคนิคการผ่อนคลาย การฝึกการหายใจลึกๆ การทำสมาธิ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดสามารถช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตและความพร้อมทางจิตใจสำหรับการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การพูดคุยและรับการสนับสนุนจากคู่ครองและครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางจิตใจได้เป็นอย่างดีค่ะ
การเตรียมสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์เป็นกระบวนการที่ต้องให้ความสำคัญทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นไปอย่างราบรื่นและทารกที่เกิดมามีสุขภาพที่ดี
ในบทความในซีรีย์ ข้อควรรู้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์และครอบครัว ยังมีต่อเนื่องรวมทั้งสิ้น 4 ตอน คุณแม่สามารถเลือกอ่านตอนที่สนใจได้จากลิงค์ด้านล่างนี้ค่ะ
-
ตอนที่ 2 การดูแลตนเองเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์
-
ตอนที่ 3 สิทธิ์ต่างๆด้านบริการสุขภาพ ที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับจากภาครัฐ
-
ตอนที่ 4 สิทธิ์ต่างๆด้านสวัสดิการสังคม ที่หญิงตั้งครรภ์จะได้รับจากภาครัฐ