Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

ความสัมพันธ์ระหว่าง ประจำเดือน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ระหว่าง ประจำเดือน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ความสัมพันธ์ระหว่าง ประจำเดือน และ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการผิดปกติเกี่ยวกับอวัยวะเพศของผู้หญิง เช่น ตกขาวผิดปกติ กลิ่นเหม็น มีแผลที่ช่องคลอด ฯลฯ สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงของชีวิต โดยสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าวส่วนหนึ่งคือการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งการตรวจโรคติดต่อทางเพศนั้นมีวิธีการตรวจได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การเจาะเลือด การเก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอด หรือว่าการเก็บปัสสาวะตรวจ แต่ไม่ว่าจะเป็นการตรวจวิธีใดก็สามารถตรวจหาโรคติดต่อทางเพศได้ตลอดแม้ว่าคุณผู้หญิงจะกำลังมีประจำเดือนอยู่ก็ตาม

คุณผู้หญิงไม่จำเป็นต้องรอให้ประจำเดือนหมด ถึงจะตรวจโรคติดต่อทางเพศได้ เนื่องจาก ระหว่างมีประจำเดือนนั้น หากมีการติดเชื้ออยู่ เชื้อนั้นก็สามารถแพร่ไปให้กับผู้อื่นได้ ดังนั้น การตรวจให้เร็วที่สุด ก็จะช่วยสามารถป้องกัน ไม่ให้โรคติดต่อไปสู่ผู้อื่น และนอกจากนั้น ระหว่างมีประจำเดือน คุณผู้หญิงก็มีโอกาสติดเชื้อขึ้นไปในโพรงมดลูก ได้มากกว่าปกติด้วย ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบตรวจโดยเร็วที่สุดจะดีกว่า

วิธีการตรวจโรคติดต่อทางเพศ

การตรวจโรคติดต่อทางเพศ โดยการเจาะเลือด

โรคที่สามารถตรวจได้ ได้แก่ เริม เอชไอวี ซิฟิลิส ตับอักเสบบี และตับอักเสบซี

การตรวจเลือดสามารถตรวจได้ตลอดโดยไม่มีผลกระทบจากการเป็นประจำเดือน

การตรวจโรคติดต่อทางเพศ โดยการเก็บปัสสาวะ

การเก็บปัสสาวะเป็นอีกวิธี หนึ่ง ที่ง่าย และไม่เจ็บ สามารถตรวจได้หลายโรค เช่น หนองในเทียม หนองในแท้ ปรสิตในช่องคลอด หรือการติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินปัสสาวะอื่นๆ ทั้งนี้ ในขณะมีประจำเดือน หากต้องการตรวจโรคติดต่อทางเพศด้วยการเก็บปัสสาวะ จะแนะนำ ให้ตรวจด้วยวิธี PCR ซึ่งมีความแม่นยำสูง เนื่องจากหากตรวจ ด้วยการย้อมสีส่องกล้องจุลทรรศน์ตามวิธีปกติ ซึ่งมีความแม่นยำต่ำกว่า เชื้อต่างๆอาจจะถูกบดบังจากเลือดประจำเดือน ทำให้การวินิจฉัยผิดพลาดได้

การตรวจโรคติดต่อทางเพศ โดยการใช้ไม้ป้ายในช่องคลอด (Swab)

วิธีนี้เป็นวิธีการตรวจโรคติดต่อทางเพศที่มีประสิทธิภาพดี เนื่องจาก ได้เก็บสิ่งส่งตรวจจากช่องคลอดโดยตรง ซึ่งสามารถตรวจได้หลายโรค ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม การติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ โรคเริม เชื้อเอชพีวีที่ก่อมะเร็งปากมดลูก เชื้อรา เชื้อปรสิตในช่องคลอด ฯลฯ ซึ่งการใช้ไม้ป้ายในช่องคลอดจะเป็นการเก็บเอาเชื้อมาตรวจจโดยตรง กรณีที่คุณผู้หญิงยังมีประจำเดือนอยู่ ก็สามารถตรวจได้ แต่จะแนะนำให้ตรวจเป็นวิธี PCR เช่นเดียวกับการตรวจปัสสาวะ เนื่องจากว่ามีประสิทธิภาพความแม่นยำสูงกว่าการย้อมสี ซึ่งการย้อมสีอาจจะทำให้มีเม็ดเลือดแดงบดบังเชื่อโรค ทำให้วินิจฉัยผิดพลาดได้

ผลของประจำเดือน ต่อโรคติดต่อทางเพศ

ช่วงระหว่างมีประจำเดือน จะทำให้ติดโรคติดต่อทางเพศได้ง่ายขึ้น และรุนแรงขึ้น

แน่นอนว่าโรคติดต่อทางเพศสามารถติดต่อได้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน ยิ่งเมื่อมีประจำเดือน จะทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในช่องคลอดเปลี่ยนแปลงไป ช่องคลอดจะมีความเป็นกรดน้อยลง ทำให้ติดเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้การติดเชื้ออาจจะรุนแรงได้มากขึ้น เนื่องจากปากมดลูกจะเปิดให้เลือดประจำเดือนไหลออกมา ทำให้เชื้อโรคสามารถย้อนสวนขึ้นไปที่ในปากมดลูก และโพรงมดลูก ทำให้มดลูกอักเสบ อาจจะรุนแรงจนถึงขั้นต้องผ่าตัดเมื่อเป็นฝี และมีบุตรยากได้

อ่านเพิ่ม : ผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น หากไม่ได้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เลือดประจำเดือนของคนที่เป็นโรค สามารถติดต่อให้คนอื่นได้

แน่นอน หากคุณติดโรคทางเพศ และมีเชื้อโรคเหล่านั้นในช่องคลอด การที่มีประจำเดือนก็จะนำพาให้เชื้อโรคหรือไวรัสต่างๆ ติดตามออกมากับเลือดประจำเดือนได้ และติดต่อให้กับผู้อื่นได้

ผลของการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศ ต่อประจำเดือน

เชื้อชนิดใดบ้างที่ทำให้ประจำเดือนผิดปกติ หรือมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด

อาการผิดปกติเกี่ยวกับประจำเดือนที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศ

การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น อาจจะทำให้มีอาการปวดประจำเดือนมากขึ้นได้ เนื่องจากมีการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ นอกจากนี้ การติดโรคติดต่อทางเพศบางชนิด เช่น หนองในแท้ ก็สามารถทำให้เลือดประจำเดือนออกมามากกว่าปกติ หรือมีประจำเดือนออกกระปริบกระปรอย ได้

มีงานวิจัยพบว่า ในคนที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาจจะทำให้กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS : Pre-menstrual syndrome) รุนแรงมากขึ้น เช่นปวดหัว ปวดเกร็งหน้าท้อง อารมณ์หงุดหงิดง่าย เทียบกับคนที่ไม่มีโรคติดต่อทางเพศ

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน

การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือนสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่มีบางสิ่งที่ควรคำนึง ได้แก่ การป้องกันโรคติดต่อทางเพศ และการรักษาความสะอาดทั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ – ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และ หลังมีเพศสัมพันธ์ โดยมีข้อแนะนำดังนี้

1. ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง : ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ และช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น

2. รักษาความสะอาดทุกขั้นตอน : ควรชำระล้างร่างกายให้สะอาดก่อนมีเพศสัมพันธ์ ขณะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรใช้ผ้าขนหนูหรือแผ่นรองที่นอนเพื่อป้องกันการเลอะเทอะ และทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องนอนทันทีหลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จแล้ว เพื่อป้องกันการติดเชื้อ และการหมักหมมของเชื้อในคราบเลือด

3. การสื่อสารกับคู่ครอง : การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีประจำเดือน ต้องอาศัยการสื่อสารเปิดใจเกี่ยวกับความรู้สึก ความยินยอม และความต้องการของทั้งสองฝ่ายเป็นสำคัญ การบอกถึงสิ่งที่ทำให้รู้สึกสบายหรือไม่สบายระหว่างมีเพศสัมพันธ์จะช่วยให้การมีเพศสัมพันธ์เป็นไปด้วยดี

4. เลือกท่าของเพศสัมพันธ์ที่เหมาะสม : บางท่าอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกว่าในช่วงมีประจำเดือน เช่น ท่าที่ให้ผู้หญิงอยู่ข้างบน (woman on top) เพราะจะทำให้เลือดไหลออกมาได้มากขึ้น อาจเกิดความรู้สึกไม่สบายได้

5. มีเพศสัมพันธ์อย่างอ่อนโยน : ควรมีการกระทำที่อ่อนโยนและระมัดระวัง เนื่องจากช่วงมีประจำเดือนอวัยวะเพศหญิงอาจจะมีความไวต่อการสัมผัสมากขึ้น

สรุป

การตรวจโรคติดต่อทางเพศนั้นสามารถตรวจได้ขณะมีประจำเดือน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรือการใช้ไม้ป้ายบริเวณช่องคลอดมาตรวจ แต่แนะนำว่าควรจะใช้วิธีตรวจที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ วิธี PCR เนื่องจากวิธีนี้เป็นการตรวจหาก DNA ของเชื้อ จะไม่ถูกบดบังโดยเม็ดเลือดแดงจากประจำเดือน

ประจำเดือน และการติดโรคทางเพศนั้น ส่งผลต่อกันและกัน โดยระหว่างมีประจำเดือนจะทำให้ติดเชื้อง่ายขึ้น รุนแรงขึ้น และ การติดเชื้อโรค ก็จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ มีอาการปวดท้องประจำเดือนได้

References

Alvergne, A., Vlajic Wheeler, M., & Högqvist Tabor, V. (2018). Do sexually transmitted infections exacerbate negative premenstrual symptoms? Insights from digital health. Evolution, Medicine, and Public Health2018(1), 138–150. https://doi.org/10.1093/emph/eoy018

Franklin, A. (2018, May 3). Can you get STD (STI) tested on your period? Health. https://www.health.com/condition/sexual-health/std-risk-during-your-period

STDs that affect your period. (n.d.). Everlywell.com. Retrieved June 27, 2024, from https://www.everlywell.com/blog/sti-testing/stds-that-affect-your-period/

Exit mobile version