Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

เรา / คู่นอนของเรา สามารถเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่มีอาการได้ไหม

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่มีอาการได้ไหม

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยไม่มีอาการได้ไหม

คุณสามารถมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แต่ไม่มีอาการเลยได้หรือไม่? และโรคอะไรบ้างที่เป็นแล้วอาจจะไม่แสดงอาการ?

คำตอบคือ เป็นโรคติดต่อโดยไม่มีอาการใดๆได้ คุณสามารถติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้และไม่มีอาการใดๆ ในขณะที่บางคนมีอาการของการติดเชื้อ เช่น ตกขาว แสบร้อน หรือคันบริเวณอวัยวะเพศ แต่ในโรคบางโรคหรือกับคนบางคนก็สามารถติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้และไม่มีอาการใดๆ เลย

เราต้องทราบก่อนว่า ถุงยางอนามัยเป็นวิธีที่ดีมากในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่อย่างไรก็ดี ถุงยางอนามัยก็ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ทั้งหมด และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หลายๆโรค ก็สามารถเป็นได้โดยไม่มีอาการใดๆ

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention : CDC) พบว่า ในแต่ละปี มีผู้หญิงมากถึง 24,000 คน กลายเป็นผู้มีบุตรยาก เนื่องจากเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับการวินิจฉัย ดังนั้นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีอาการแสดงชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่ทั้งคุณผู้หญิงและคุณผู้ชายควรระวังไว้

สถิติการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในไทย

มีการเก็บตัวอย่างในประเทศไทย เมื่อปี 2558 โดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อ้างอิง) โดยตรวจในผู้หญิงไทยที่มี และไม่มีอาการอักเสบในทางเดินปัสสาวะและอวัยวะเพศ

ในตัวอย่างที่มีอาการอักเสบในทางเดินปัสสาวะและอวัยวะเพศ พบว่ามีเชื้อ หนองในเทียม (Chlamydia Trachomatis) 22%, หนองในแท้ (Neisseria Gonorrhea) 6% และ เอชพีวี (Human Papilloma Virus) 48%

แต่ที่สำคัญคือ ในงานวิจัยกลับพบว่า ผู้หญิงที่ไม่มีอาการใดๆ ก็พบว่ามีการติดเชื้อ หนองในเทียม (C. Trachomatis) 3%, หนองในแท้ (N. Gonorrhea) 16% และ เอชพีวี 10%

แต่ที่สำคัญคือ
ผู้หญิงที่ไม่มีอาการใดๆ ก็พบว่ามีการติดเชื้อ
หนองในเทียม (C. Trachomatis) 3%
หนองในแท้ (N. Gonorrhea) 16%
และ เอชพีวี 10%

สำหรับผู้ชายไทยที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย (กลุ่มชายรักชาย) ที่ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ยังพบว่ามีการติดเชื้อ หนองในเทียม (C. Trachomatis) 14.3%, หนองในแท้ (N. Gonorrhea) 6.4% (อ้างอิง)

สำหรับผู้ชายไทยทั่วไปที่ไม่มีอาการ ยังมีงานวิจัยที่เก็บตัวอย่างกลุ่มดังกล่าว

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แม้จะไม่มีอาการใดๆ แต่การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงเป็นเรื่องที่เราทุกคนควรจะใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพราะการติดเชื้อมักแพร่กระจายระหว่างคู่นอนที่ไม่มีอาการของการติดเชื้อ

เชื้อที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดไหน ที่ไม่ค่อยมีอาการ

เชื้อหนองในเทียม Chlamydia Trachomatis (C. Trachomatis)

เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อันเกิดจากแบคทีเรีย ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และถือว่าเป็นโรคที่ไม่ค่อยมีอาการแสดงใดๆให้ผู้ที่ติดเชื้อทราบ โดยพบว่าประมาณ 75% ของผู้หญิง และ 50% ของฝ่ายชาย จะติดเชื้อนี้โดยไม่มีอาการ

อาการของหนองในเทียม ได้แก่ ตกขาวผิดปกติ หรือรู้สึกแสบร้อนระหว่างปัสสาวะหลังจากมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ติดเชื้อ

CDC แนะนำให้ตรวจหนองในเทียมเป็นประจำทุกปีสำหรับผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์ หรือใครก็ตามที่มีคู่นอนใหม่ (หรือหากคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะ STI ของคู่ของคุณ) หากพบในระยะแรก หนองในเทียมสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ

แต่โรคนี้ สามารถทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาได้มากมายทั้งในผู้ชาย และผู้หญิง โดยเชื้อนี้สามารถติดต่อได้ผ่านทางปาก (จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์ทางปาก) ทางช่องคลอดและทางทวารหนัก โดยในผู้หญิงสามารถทำให้เกิด อุ้งเชิงกรานอักเสบ ฝีหนองในอุ้งเชิงกราน และการอักเสบเหล่านี้จะทำให้เกิดแผลเป็นในท่อนำไข่ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายถาวรที่ทำให้มีบุตรยาก นอกจากนี้แผลเป็นที่เกิดจากตัวโรคยังสามารถทำให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตทั้งแม่และลูกได้ ส่วนในเพศชายจะทำให้เกิด ท่อนำอสุจิอักเสบ และทำให้มีปัญหากับตัวอสุจิ ทำให้มีบุตรยากได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ หากมารดาที่ตั้งครรภ์แล้วติดเชื้อ ก็อาจจะทำให้ทารกที่คลอดทางช่องคลอดติดเชื้อได้ด้วย

เนื่องจากคนที่ติดโรคนี้ มักจะไม่ค่อยมีอาการ ดังนั้น ในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา จะแนะนำให้ทั้งหญิงและชายที่มีเพศสัมพันธ์ (ไม่จำเป็นต้องมีคู่นอนหลายคน เพราะแม้มีคู่นอนคนเดียว ก็อาจติดได้เช่นกันหากคู่นอนมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่น) เข้ารับการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ

อ่านต่อ : Chlamydia trachomatis โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการน้อย แต่ปัญหาเยอะ

ฮิวแมนแพปพิลโลมาไวรัส (Human Papilloma Virus)

HPV เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยที่สุด และถุงยางอนามัยอาจจะไม่สามารถป้องกันโรคได้ มีโอกาสที่คุณจะติดเชื้อ HPV ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตโดยที่คุณอาจจะไม่รู้ตัว บางสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศได้ แต่หลายสายพันธุ์จะไม่แสดงอาการใดๆเลย 

ในขณะที่คุณอาจจะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยไม่รู้ตัว แต่เชื้อ HPV บางสายพันธุ์สามารถทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ดังนั้น การได้รับการตรวจแปปสเมียร์ เป็นประจำมีความสำคัญ เพื่อหาความผิดปกติที่เกิดจากเชื้อนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากหากตรวจพบผลการตรวจที่ผิดปกติแต่เนิ่นๆ จะสามารถรักษาให้หายขาด และป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้

เชื้อหนองในแท้ Neisseria gonorrhea

หนองในแท้พบได้บ่อยในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์อายุต่ำกว่า 25 ปี และส่วนใหญ่จะไม่พบอาการใดๆ แพทย์มักจะให้การวินิจฉัยและรักษาทั้งหนองในแท้และหนองในเทียมพร้อมๆกัน 

อาการที่ไม่รุนแรงสำหรับโรคทั้งคู่จะคล้ายกัน หากหนองในแท้ไม่ได้รับการรักษา ก็อาจนำไปสู่โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ แผลเป็น และความเสียหายต่ออวัยวะสืบพันธุ์ ความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวีจะสูงขึ้น เช่นเดียวกับโอกาสที่คุณจะติดเชื้อที่คุกคามถึงชีวิตในส่วนอื่นๆของร่างกาย 

โรคหนองในในระหว่างตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด การแท้งบุตร น้ำหนักแรกเกิดต่ำ และภาวะแทรกซ้อนทางสุขภาพที่ร้ายแรงสำหรับทารกแรกเกิด

CDC สหรัฐอเมริกาแนะนำให้ตรวจคัดกรองโรคหนองในทุกปี ในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี สตรีมีครรภ์ หรือใครก็ตามที่มีคู่นอนใหม่ (หรือหากคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะ STI ของคู่ของคุณ) เช่นเดียวกับหนองในเทียม โรคหนองในสามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ 

เชื้อเริม Herpes simplex

เริมคือการติดเชื้อไวรัสที่ชื้อว่า Herpes simplex สามารถปรากฏที่ปาก หรือที่อวัยวะเพศของคุณได้ จากข้อมูลของ CDC สหรัฐอเมริกา พบว่า หนึ่งในหกคนที่มีอายุระหว่าง 14 ถึง 49 ปีในสหรัฐอเมริกาเคยติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ ในขณะที่โดยส่วนใหญ่โรคเริมจะทำให้เป็น ตุ่มน้ำใส แตกออกเป็นแผล ทำให้เกิดอาการเจ็บแสบ ปวดแสบปวดร้อน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อจะแสดงอาการออกมา 

เริมจะแพร่เชื้อได้มากที่สุดในช่วงที่มีอาการและเป็นแผล แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อได้เมื่อไม่มีอาการใดๆ วิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงต่อโรคเริมคือ การใช้ถุงยางอนามัย และแผ่นอนามัยเวลามีเพศสัมพันธ์ด้วยลิ้นหรือปาก อย่างถูกต้องทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์  

เชื้อปรสิตในช่องคลอด Trichomoniasis

โรคติดต่อนี้พบได้บ่อย และเกิดจากการติดเชื้อปรสิต ตามรายงานของ CDC สหรัฐอเมริกา พบรายงานโรคนี้ประมาณ 3.7 ล้านคนต่อปี แต่มีเพียงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นี้แสดงอาการ 

อาการ ได้แก่ คัน แสบร้อน แดง เจ็บ ปัสสาวะลำบาก และตกขาวที่มีกลิ่นคาว สำหรับผู้ชาย อาการอาจรวมถึง คันและระคายเคืองที่ปลายอวัยวะเพศ รู้สึกแสบร้อนหลังจากปัสสาวะหรือหลั่งน้ำอสุจิ อาจมีของเหลวไหลออกจากอวัยวะเพศ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นภายในห้าถึง 28 วันหลังจากติดเชื้อ

หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา โรคนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ รวมถึงเอชไอวี 

หากสตรีตั้งครรภ์ติดเชื้อ Trichomoniasis อาจทำให้ทารกคลอดก่อนกำหนดหรือน้ำหนักแรกเกิดต่ำ 

การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่คุณมีเพศสัมพันธ์ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ แต่ก็ไม่อาจป้องกันโรคนี้ได้ 100% โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่สามารถติดเชื้อได้หลายครั้ง 


ที่มา :

Bazan DO, J. A. (2022, February 15). 6 Sexually Transmitted Infections (STIs) a person may have without knowing it. Osu.edu; The Ohio State University. https://wexnermedical.osu.edu/blog/stis-without-symptoms

Exit mobile version