NIPT และ Thalassemia คืออะไร
ธาลัสซีเมีย (Thalassemia) เป็นกลุ่มโรคเลือดชนิดหนึ่ง เป็นความผิดปกติในระดับยีน และถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ซึ่งทำให้มีความผิดปกติในการสร้างเฮโมโกบิน (Hemoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนในเซลล์เม็ดเลือดแดงที่สำคัญในการพกพาออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ทำให้เม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และมีโลหิตจาง โดยโรคธาลัสซีเมียมีหลายรูปแบบและระดับความรุนแรงต่างกันไป (อ่านต่อ : ภาวะโลหิตจางในสตรีตั้งครรภ์, ธาลัสซีเมีย(Thalassemia) โรคเลือดจางทางพันธุกรรมที่ป้องกันได้)
การตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Testing) หรือ NIFTY® test เป็นกระบวนการตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของโครโมโซมของทารกที่อยู่ในครรภ์โดยไม่ต้องทำการตรวจด้วยวิธีที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ เช่น การเจาะน้ำคร่ำ หรือการตรวจชิ้นเนื้อรกการทางมดลูก โดยใช้การวิเคราะห์เศษ DNA ของรกของทารกที่ลอยอยู่ในเลือดของคุณแม่ ทำให้มีความปลอดภัยและง่ายๆเพียงเจาะเลือดคุณแม่เพียง 10 ซีซี
สำหรับบทความนี้ จะกล่าวถึงความสัมพันธ์ของธาลัสซีเมียและการตรวจ NIPT หรือ NIFTY ตามหัวข้อดังต่อไปนี้
- Q : ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test เพื่อดูว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียได้ไหม
A : ไม่ได้ - Q : เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้หรือไม่
A : ได้ โดยมีข้อคำนึงที่ต้องพิจารณา - Q : เป็นโรคธาลัสซีเมีย ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้หรือไม่
A : ได้ โดยมีข้อคำนึงที่ต้องพิจารณา และต้องไม่ได้รับเลือดจากผู้อื่นภายใน 3 เดือน
ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test เพื่อดูว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียได้ไหม
คำตอบคือ ไม่ได้
เนื่องจากธาลัสซีเมีย เป็นความผิดปกติในระดับยีน แต่การตรวจ NIPT หรือ NIFTY® นั้น จะสามารถตรวจได้แค่การขาดหายหรือมีเพิ่ม ในระดับโครโมโซม เท่านั้น จะไม่สามารถตรวจลึกลงไปในระดับยีนได้
โรคธาลัสซีเมียนี้ ถ่ายทอดทางพันธุกรรมแบบยีนด้อย ดังนั้น ทั้งบิดา และมารดา จะต้องมียีนที่ผิดปกติทั้งสองคน โดยทั้งสองคนจะเป็นพาหะ หรือเป็นโรคก็ได้ และยีนที่ผิดปกตินั้นจะต้องเป็นยีนที่เมื่อผสมจับคู่กันแล้วทำให้เกิดโรคธาลัสซีเมียรุนแรงเท่านั้นถึงจะรุนแรงจนทำให้ต้องตรวจยืนยัน และยุติการตั้งครรภ์หากผลตรวจทารกในครรภ์ยืนยันเป็นธาลัสซีเมียรุนแรงจริง
การตรวจ NIPT หรือ NIFTY ซึ่งเป็นการตรวจภาวะขาด/เกิน ของโครโมโซมจึงไม่สามารถตรวจธาลัสซีเมียของทารกในครรภ์ได้
วิธีที่จะยืนยันว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมีย
จะเป็นการเจาะเอาเซลล์ของทารกในครรภ์มาตรวจ ซึ่งมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
- เจาะเลือดสายสะดือทารก
- การตัดชิ้นเนื้อรก
- การเจาะน้ำคร่ำ
มารดาเป็นพาหะธาลัสซีเมีย ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ โดยมีข้อคำนึงที่ต้องพิจารณา
มารดาที่เป็นพาหะธาลัสซีเมีย สามารถตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้ โดยผลความแม่นยำของการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมนั้นแม่นยำเทียบเท่ากับมารดาที่ไม่เป็นพาหะ
แต่หากทั้งมารดาและบิดา เป็นพาหะธาลัสซีเมีย ที่มีโอกาสจับคู่กันแล้วเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ก็จะจำเป็นที่จะต้องตรวจยืนยันว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียหรือไม่โดยใช้วิธีการที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากต้องเจาะเอาเซลล์ของทารกในครรภ์ออกมาตรวจอยู่แล้ว ก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจ NIPT หรือ NIFTY® เพราะว่าเราสามารถเอาเซลล์ของทารกที่เจาะตรวจมาตรวจโครโมโซมได้โดยตรงเลย
มารดาเป็นโรคธาลัสซีเมีย ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้หรือไม่
คำตอบคือ ได้ โดยมีข้อคำนึงที่ต้องพิจารณา และต้องไม่ได้รับเลือดจากผู้อื่นภายใน 3 เดือน
มารดาที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย สามารถตรวจ NIPT หรือ NIFTY® test ได้ โดยผลความแม่นยำของการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมนั้นแม่นยำเทียบเท่ากับมารดาที่ไม่เป็นโรค
แต่หากทั้งมารดาและบิดา เป็นพาหะหรือโรคธาลัสซีเมีย ที่มีโอกาสจับคู่กันแล้วเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ก็จะจำเป็นที่จะต้องตรวจยืนยันว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียหรือไม่โดยใช้วิธีการที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากต้องเจาะเอาเซลล์ของทารกในครรภ์ออกมาตรวจอยู่แล้ว ก็จะไม่จำเป็นที่จะต้องตรวจ NIPT หรือ NIFTY® เพราะว่าเราสามารถเอาเซลล์ของทารกที่เจาะตรวจมาตรวจโครโมโซมได้โดยตรงเลย
ตารางสรุปว่ามารดาเป็นพาหะ หรือเป็นโรคธาลัสซีเมีย สามารถตรวจ NIPT หรือ NIFTY® ได้หรือไม่
ผลตรวจเลือดมารดา | ผลตรวจเลือดบิดา | ตรวจ NIPT หรือ NIFTY® ได้หรือไม่ | คำแนะนำ |
ปกติ | ปกติ | ตรวจได้ | ลูกไม่มีโอกาสเป็นโรค หรือเป็นพาหะธาลัสซีเมีย |
ปกติ | เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย | ตรวจได้ | ลูกไม่มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย
แต่มีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมีย |
เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย | ปกติ | ตรวจได้ | ลูกไม่มีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมีย
แต่มีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมีย |
เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย | เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย
แต่ไม่ใช่ชนิดจับคู่แล้วเสี่ยงที่ลูกจะเป็นรุนแรง |
ตรวจได้ | ลูกมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียแบบไม่รุนแรง
หรือมีโอกาสเป็นพาหะธาลัสซีเมียก็ได้ |
เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย | เป็นพาหะ หรือโรคธาลัสซีเมีย
และเป็นชนิดที่จับคู่แล้วเสี่ยงที่ลูกจะเป็นรุนแรง |
ตรวจได้
แต่ไม่แนะนำให้ตรวจ |
ลูกมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียแบบรุนแรงได้
ดังนั้นแนะนำให้ตรวจวินิจฉัย เพื่อหาโรคธาลัสซีเมียของทารกในครรภ์ จากการเจาะน้ำคร่ำ หรือเลือดสายสะดือ หรือชิ้นเนื้อรก และสามารถตรวจโครโมโซมได้พร้อมในการตรวจเดียวกัน |
พาหะ หรือโรคธาลัสซีเมียชนิดใดบ้างที่เมื่อจับคู่กันแล้วมีโอกาสที่ลูกในครรภ์จะเป็นธาลัสซีเมียรุนแรง
โรคธาลัสซีเมียที่รุนแรง หรือโรคธาลัสซีเมียเมเจอร์ (Thalassemia major) จำเป็นต้องได้รับเลือดอย่างสม่ำเสมอ โดยมักมีอาการดังต่อไปนี้
- ภาวะไม่อยากอาหาร (Poor appetite)
- ภาวะผิวซีดจางรุนแรง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตกเฉียบพลัน (Hemolytic crisis)
- ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือดีซ่าน (Jaundice)
- ปัสสาวะมีสีเข้ม หรือสีชา
- กระดูกเปราะ แตกหักง่าย
- มีโครงสร้างกระดูกบนใบหน้าผิดปกติ มีกะโหลกศีรษะหนา โหนกแก้มสูง หน้าผากสูง เนื่องจากมีการขยายตัวของไขกระดูก
- เพิ่มโอกาสการเสียชีวิตของทารกในครรภ์มารดา หรือหลังคลอด โดยมีภาวะซีดมาก บวมน้ำ และหัวใจวาย
โดยโรคธาลัสซีเมียที่รุนแรงนี้ จะแบ่งเป็น 3 โรค ซึ่งเกิดจากการผสมกันของความผิดปกติของยีนทั้งมารดา และบิดา ดังนี้
1. ฮีโมโกลบินบาร์ทไฮดรอพส์ฟีทัลลิส (Hb Bart’s Hydrops Felalis)
เกิดจาก Alpha thalassemia 1 ผสมกับ Alpha thallassemia 1 (α-thal 1/ α-thal 1 หรือเขียนเป็น –/–)
2. Non-deletional Hb H disease
เกิดจาก Alpha thalassemia 1 (SEA) ผสมกับ Hemoglobin constantspring (–SEA/ αCSα ) บางราย
3. โฮโมชัยกัสเบต้าธาลัสซีเมีย (Homozygous beta thalassemia)
เกิดจาก Beta thalassemia 0 ผสมกับ Beta thalassemia 0 (β0 / β0)
หรือ Beta thalassemia 0 ผสมกับ Beta thalassemia + (บางราย) (β0 / β+)
4. เบต้าราลัสซีเมีย/ฮีโมโทลบินอี (Beta-thalassemia/Hb E)
เกิดจาก Beta thalassemia 0 ผสมกับ Beta thalassemia Hemoglobin E (บางราย) (β0 / βE)
สรุป
ณ ปัจจุบัน การตรวจ NIPT (Non invasive prenatal testing) หรือ NIFTY® นั้น ยังไม่สามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงเรื่องธาลัสซีเมียของทารกในครรภ์ได้
ส่วนมารดาที่เป็นพาหะ/โรคเลือดจางธาลัสซีเมียนั้น สามารถตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วยวิธี NIPT ในขณะตั้งครรภ์ได้ “ยกเว้น” มารดาเพิ่งได้รับเลือด หรือส่วนประกอบของเลือดมาในช่วงเวลา 3 เดือนก่อนการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม
และกรณีที่ทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคหรือพาหะโรคธาลัสซีเมีย ที่มีความเสี่ยงลูกจะเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง อาจจะเลือกที่จะไม่เจาะตรวจ NIPT หรือ NIFTY® ก็ได้ เนื่องจากต้องเจาะตรวจยืนยันว่าทารกในครรภ์เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงหรือไม่ และสามารถตรวจโครโมโซมจากการเจาะยืนยันนั้นได้พร้อมกัน