เชื่อว่า “การตั้งครรภ์” เป็นสิ่งที่แฮปปี้สำหรับคุณแม่ทุกท่าน และตั้งตารอคอยวันที่จะได้พบลูกน้อยในครรภ์ แต่เชื่อว่าคุณแม่หลายคนมีอาการเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ที่ส่งผลกระทบมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงหลังคลอด เพราะภาวะหลังคลอดบุตร ฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในร่างกายของแม่หลังคลอดลดต่ำลง จึงส่งผลต่อร่างกายที่เปลี่ยนแปลง
Highlight
● หลังคลอดผมร่วงเยอะมากผิดปกติ เรื่องปกติที่ควรรับมือ
● ผิวแพ้ง่าย เกิดผื่นคันหลังคลอด ปัญหาชวนกุมขมับสำหรับแม่หลังคลอด
● น้ำหนักหลังคลอด ลดลงถึง 6 กิโลกรัม
● เต้านมคัดตึงบวม ทำให้มีอาการเจ็บเต้านม
● มีน้ำคาวปลา ขับออกจากช่องคลอด นานถึง 3-6 สัปดาห์
● หลังคลอดปวดท้องน้อย นานถึง 1 สัปดาห์
● หน้าท้องหย่อนคล้อย พร้อมผิวแตกลาย
● ตอบคำถามหลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน
● เตรียมพร้อมสำหรับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลก
บทความนี้ จะพาคุณแม่มือใหม่ ไปเตรียมพร้อมรับมือสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย โดยการเช็กว่าภาวะหลังคลอดบุตร จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายส่วนไหนบ้าง พร้อมคำแนะนำการดูแลมารดาหลังคลอด
1.หลังคลอดผมร่วงเยอะมากผิดปกติ เรื่องปกติที่ควรรับมือ
คุณแม่หลังคลอดหลายคน มีอาการผมร่วงหลังคลอด หวีผมทีหลุดร่วงติดมากับหวี หรือมองไปที่พื้นเส้นผมเต็มไปหมด จนเกิดความวิตก กังวล อย่าเพิ่งกังวล และตกใจไปค่ะ เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงของแม่หลังคลอด จึงทำให้หลังคลอดผมร่วงเยอะมากกว่าปกติ แต่คุณแม่เบาใจได้ เพราะอาการผมร่วงจะค่อยๆ ดีขึ้น กลับมาเป็นปกติได้ภายใน 6-12 เดือนหลังคลอด
คำแนะนำ
● ดูแลเส้นผม ด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง อย่าง ธัญพืช เช่น ซีเรียล ข้าวโอ๊ต และไข่แดง สัปดาห์ละ 3 ฟอง
● เลือกใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน หรือหากคุณแม่หลังคลอดกังวลใจ อาจทำการเข้าพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำได้ค่ะ
2.ผิวแพ้ง่าย เกิดผื่นคันหลังคลอด ปัญหาชวนกุมขมับสำหรับแม่หลังคลอด
ผื่นแพ้หลังคลอด อาจทำให้เกิดอาการคัน จนน่าหงุดหงิด คงเป็นปัญหาสำหรับคุณแม่หลังคลอดอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาการผิดปกตินี้เป็นผลมาจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงของแม่หลังคลอด หรือเกิดจากตัวยาบางชนิดที่แม่หลังคลอดกินอยู่ หรือแพ้ครีมบำรุงหลังคลอดก็เป็นได้เช่นกัน จึงส่งผลให้ผิวแห้งมากกว่าปกติ ทำให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ง่าย และผิวหนังแพ้ง่าย
คำแนะนำ
● ดูแลผิวด้วยการเลี่ยงอาบน้ำร้อน เพื่อลดอาการผิวแห้ง
● บำรุงผิวให้ชุ่มชื้น และเลือกครีมบำรุงผิวสูตรอ่อนโยน
● หากมีผื่นแดง เกิดอาการคันมาก ควรรีบทำการพบแพทย์ทันทีค่ะ เพราะอาจเกิดการลุกลามได้
3.น้ำหนักหลังคลอด ลดลงถึง 6 กิโลกรัม
เชื่อว่าแม่ท้องหลายคนคงรอคอยเวลานี้มานานใช่ไหมคะ แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อว่า ความดีใจมักมาพร้อมกับความกังวล ว่าทำไมน้ำหนักหลังคลอดถึงได้ลดลงมาถึง 6 กิโลกรัม และยังลดลงเรื่อยๆ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ ที่น้ำหนักตัวของคุณแม่หลังคลอดลดลงมากถึง 6 กิโลกรัม เนื่องจากหลังคลอด รก น้ำคร่ำ และน้ำที่อยู่ในร่างกายขณะคุณแม่ตั้งครรภ์ ได้ถูกขับออกมาด้วยนั่นเอง แต่เมื่อถึงวันนัดตรวจร่างกายหลังคลอดกับคุณหมอ แม่หลังคลอดควรมีน้ำหนักตัวเท่ากับก่อนตั้งครรภ์
คำแนะนำ
● หากน้ำหนักตัวคุณแม่ไม่ลดลง ควรหมั่นออกกำลังกาย แต่ต้องเป็นการออกกำลังกายที่ไม่หักโหมจนเกินไป
● ควบคุมอาหารตามหลักโภชนาการให้เหมาะสมในแต่ละวัน
● ไม่แนะนำให้กินยาลดความอ้วน หรือเครื่องดื่ม เช่น กาแฟ น้ำอัดลม และอาหารที่มีรสชาติเผ็ด ซึ่งจะส่งผลต่อน้ำนม กระทบต่อลูก
4.เต้านมคัดตึงบวม ทำให้มีอาการเจ็บเต้านม
ภาวะหลังคลอดบุตร คุณแม่จะมีเต้านมขยายใหญ่ขึ้น และมีอาการคัดตึง บวม ปวดตามมาด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติของแม่หลังคลอด เพราะต่อมน้ำนมมีการกระตุ้นให้ผลิตน้ำนมสำหรับลูกน้อย ซึ่งเมื่อลูกน้อยดูดนม จะช่วยบรรเทาอาการคัดตึงลงได้ เพราะน้ำนมมีการระบายออก
คำแนะนำ
● ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบเต้านมก่อนให้นมลูก จะทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณเต้านมได้ดี และน้ำนมไม่คั่ง ไหลเร็วขึ้น
● รักษาน้ำมันจากต่อมไขมันที่ผลิตออกมาบริเวณเต้านม โดยการใช้น้ำต้มสุกเช็ดทำความสะอาดเพียงอย่างเดียว จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บระหว่างลูกดูดนมได้
5.มีน้ำคาวปลา ขับออกจากช่องคลอด นานถึง 3-6 สัปดาห์
เชื่อว่าคุณแม่หลายท่านต้องเคยได้ยินบ่อยๆ สำหรับคำว่าน้ำคาวปลาของแม่หลังคลอด อาจจะเคยได้ยินจากสื่อโฆษณาต่างๆ เรื่องการบำรุงแม่หลังคลอด ซึ่งอาการที่มีน้ำคาวปลาขับออกจากช่องคลอด หลังจากคลอดบุตร เกิดจากเยื่อบุโพรงมดลูก ที่หลงเหลืออยู่ภายหลังการคลอด ลักษณะจะมีสีแดงสด ใน 3-4 วันแรกหลังคลอด หลังจากนั้นจะจางลง และแปรเปลี่ยนเป็นมูกสีเหลืองขาว ไม่มีกลิ่น และหลายคนคงเกิดคำถามสงสัยต่อว่า น้ำคาวปลากี่วันหมด ซึ่งน้ำคาวปลาจะหมดภายใน 21 วัน หรือประมาณ 3 สัปดาห์ แตกต่างออกไปในรายบุคคลค่ะ
คำแนะนำ
● ในช่วง 3-4 วันแรกหลังคลอด น้ำคาวปลาจะขับออกมาเยอะ ควรทำการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ เพื่อรักษาความสะอาด และลดโอกาสการติดเชื้อ
● ควรรักษาความสะอาดของร่างกายสม่ำเสมอ และทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด และสบู่ทุกครั้งหลังจากทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ
● หากมีน้ำคาวปลานานเกิน 4-6 สัปดาห์ และมีกลิ่นเหม็น ควรทำการพบแพทย์ทันที
6.หลังคลอดปวดท้องน้อย นานถึง 1 สัปดาห์
ไม่ว่าคุณแม่จะคลอดโดยธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ย่อมเจอกับปัญหาปวดท้องน้อยหลังคลอด ซึ่งมีอาการปวดเกร็งหน้าท้องส่วนล่าง หรืออุ้งเชิงกราน คล้ายกับอาการปวดท้องประจำเดือน หรืออาการช่วงที่ใกล้คลอด รวมถึงมีอาการปวดหลัง สาเหตุก็เนื่องมาจากมดลูกเกิดการบีบรัดตัว เพื่อปรับสภาพ และจะรู้สึกปวดมากขึ้นใน 2-3 วันหลังคลอดลูก และปวดนานถึง 1 สัปดาห์ จนกว่ามดลูกจะกลับคืนสภาพปกติ ดังนั้น เมื่อหลังคลอดปวดท้องน้อย คุณแม่อย่าวิตกกังวลไปค่ะ เพราะสามารถหายได้เอง และบรรเทาอาการปวดได้
คำแนะนำ
● หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จะช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายได้เร็วยิ่งขึ้น
● นั่งบนหมอนที่ออกแบบมาสำหรับคุณแม่หลังคลอด จะทำให้น้ำหนักไม่ทิ้งลงก้นกบจนเกินไป ซึ่งจะทำให้สบายตัวมากขึ้น
● ประคบน้ำอุ่น หรือน้ำเย็น บริเวณที่ปวด จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้ แต่หากมีอาการปวดมาก และปวดนานเกิน 10 วัน ควรทำการพบแพทย์ทันที
7.หน้าท้องหย่อนคล้อย พร้อมผิวแตกลาย
คุณแม่หลังคลอด คงกลุ้มใจไม่ใช่น้อย สำหรับสรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหน้าท้องที่ไม่กระชับ และมีผิวแตกลายที่หน้าท้องเป็นริ้วๆ ซึ่งสาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ กล้ามเนื้อส่วนหน้าท้อง และมดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ เมื่อหลังคลอดผิวบริเวณหน้าท้องจะยังไม่เข้าที่มากนัก แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นเมื่อมดลูกคืนสภาพปกติ
คำแนะนำ
● แม่หลังคลอดควรออกกำลังกายเพื่อกระชับหน้าท้อง แต่ไม่ควรหักโหม และใช้ท่าที่หนักจนเกินไป เช่น ออกกำลังกายด้วยท่าโยคะ
● อาจใช้ตัวช่วยลดเลือนริ้วรอยหน้าท้องแตกลาย ด้วยครีมบำรุง ช่วยลดเลือนริ้วรอย แต่คุณแม่ควรเลือกใช้ครีมบำรุงที่อ่อนโยนต่อผิว
8.ตอบคำถาม : หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน?
แม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย น้ำคาวปลาขับออกมาหมด และแผลเย็บหายดี มดลูกเข้าที่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด แต่เพื่อความมั่นใจควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพหลังคลอด จึงแนะนำว่าควรงดการมีเพศสัมพันธ์หลังคลอดในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกไปก่อนจะดีที่สุดค่ะ เพื่อลดโอกาศการติดเชื้อ และการเจ็บแผล
9.เตรียมพร้อมสำหรับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ รับมืออย่างไรเมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลก
นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงหลังคลอด ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของแม่หลังคลอดแล้ว สำหรับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ การเตรียมพร้อมต้อนรับเบบี๋สมาชิกตัวน้อยของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารจัดการเวลาระหว่างการทำงาน หรือการดูแลทารกในช่วงวัยแรกเกิด เพราะทารกเป็นวัยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิล และในเรื่องการดูแลทารกแรกเกิดอย่างถูกวิธี อาทิ การอุ้ม การอาบน้ำ การให้นม คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ควรทำการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจ จะได้ลดความกังวล และปฎิบัติอย่างถูกต้อง ดังนั้น การเตรียมพร้อมสำหรับคุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งคุณพ่อ คุณพ่อมือใหม่ ควรให้ความร่วมมือกัน เพื่อลูกน้อยสุดที่รักนะคะ
หากแม่หลังคลอดท่านใดสงสัย หรือมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาภาวะหลังคลอดบุตร และมีอาการหลังคลอดที่ผิดปกติ สามารถสอบถามได้ที่ช่อง COMMENT ด้านล่าง ได้เลยนะคะ ทาง ADMIN จะรีบหาข้อมูลมาตอบกลับให้ค่ะ 👇
📂บทความที่น่าสนใจ : เช็กให้ชัวร์! ก่อนเตรียมตัวเป็นคุณแม่ป้ายแดง อาการแบบไหน ใช่สัญญาณเตือน อาการคนท้องระยะแรก 📋
ลิงก์อ้างอิงข้อมูล
https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/september-2013/after-baby-delivery-th
https://www.rakluke.com/pregnancy-all/birth/item/rash.html
https://www.enfababy.com/postpartum-cramping