Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

รวม 7 โรค (มากกว่า 11 เชื้อ) ที่ทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ และแนวทางการรักษา

รวม 7 โรค (มากกว่า 11 เชื้อ) ที่ทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ และแนวทางการรักษา

รวม 7 โรค (มากกว่า 11 เชื้อ) ที่ทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ และแนวทางการรักษา

ภาวะตกขาวผิดปกติ เป็นอาการที่พบได้บ่อยผู้หญิง มีหลายสาเหตุที่ทำให้ตกขาวผิดปกติ เช่น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาหาร ความเครียด การดูแลความสะอาด เป็นต้น แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้เกิดตกขาวผิดปกติ ก็คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (STIs) เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก การรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือช้าจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ฝีหนองในช่องท้อง มดลูกอักเสบ เป็นหมัน ฯลฯ

จากข้อมูลการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาในประเทศไทย พบว่าตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยโรคหนองในและโรคหนองในเทียมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้หญิงมีภาวะตกขาวผิดปกติ

ในบทความนี้ จะกล่าวถึง 7 สาเหตุของตกขาวผิดปกติจากการติดเชื้อ ที่เกิดจากเชื้อมากกว่า 14 ชนิด ที่พบบ่อยๆค่ะ (เชื้อโรคที่แปลกๆ และหมอมักจะลืมรักษา จะอยู่ด้านล่างๆของบทความนะคะ)***

ตกขาวผิดปกติจากเชื้อรา (Vaginal Candidasis : VC)

เชื้อราในช่องคลอด เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของตกขาวผิดปกติ เชื้อที่พบบ่อยคือ Candida albicans ประมาณ 80-90% อันดับถัดมาคือ Candida glabrata, ฯลฯ เชื้อราเป็นเชื้อปกติที่สามารถอาศัยอยู่ในช่องคลอดได้ ดังนั้น การติดเชื้อราในช่องคลอดจึงไม่จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการตกขาวผิดปกติจากเชื้อรา

จะมีอาการคันด้านในหรือด้านนอกของช่องคลอด และตกขาวปริมาณมากผิดปกติ อาจมีตกขาวเป็นก้อนสีขาว/เหลืองมีลักษณะคล้ายนมเปรี้ยว ในกรณีที่มีอาการรุนแรง หรือมีอาการเกี่ยวข้องกับบริเวณอวัยวะเพศภายนอกจะทำให้เกิดผื่นแดง บวม แสบตามผิวหนัง มีแผลถลอก ได้

ปัจจัยเสี่ยงตกขาวผิดปกติจากเชื้อรา

การติดเชื้อราในช่องคลอดสัมพันธ์กับ ระดับน้ำตาลในเลือด เช่นในคนเป็นเบาหวานที่ควบคุมไม่ดี, สตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือการใช้ยาปฏิชีวนะ (ยาฆ่าเชื้อ) ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน และภาวะที่มีฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป (เช่น การคลอดบุตร การรับประทานยาควบคุมที่มีเอสโตรเจน, การรับประทานฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือน) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมอื่นๆด้วย ได้แก่ ความเครียดหรืออารมณ์แปรปรวน โรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และการทำความสะอาดอวัยวะเพศมากเกินไปก็ทำให้เชื้อราเพิ่มปริมาณขึ้นมากได้เช่นกัน

การรักษาตกขาวผิดปกติจากเชื้อราที่แนะนำ (Update ล่าสุด 2022)

กรณีเป็นเชื้อราในช่องคลอดเฉียบพลัน (Acute vaginal candidiasis)

ยาที่ใช้

  • Fluconazole 150-200 มก. รับประทานครั้งเดียว
  • Itraconazole 200 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 1 วัน
  • Clotrimazole 500 มก. เหน็บทางช่องคลอดครั้งเดียว
  • Clotrimazole 200 มก. เหน็บช่องคลอดทุกวันเป็นเวลา 3 วัน
  • Clotrimazole 100 มก. เหน็บช่องคลอดทุกวันเป็นเวลา 6-7 วัน
  • Miconazole 200 มก. เหน็บช่องคลอดทุกวันเป็นเวลา 3 วัน

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีอาการ

การรักษาคู่นอน

  • ไม่จำเป็น เว้นแต่คู่นอนจะมีอาการ

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

กรณีเป็นเชื้อราในช่องคลอดซ้ำๆ (Recurrent vaginal candidiasis)

ยาที่ใช้

  • Fluconazole 150-200 มก. รับประทานทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 3 โดส
    จากนั้น Fluconazole 150-200 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 6 เดือน
  • Fluconazole 150-200 มก. รับประทานทุกๆ 3 วัน เป็นเวลา 3 ครั้ง ตามด้วย Fluconazole 150-200 มก. รับประทานสัปดาห์ละครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน
    • ในการนัดติดตามผลครั้งถัดมา ควรทำการเพาะเชื้อรา หากเป็นลบ ให้ฟลูโคนาโซล 150-200 มก. รับประทานทุกๆ 2 สัปดาห์เป็นเวลาอีก 2 เดือน
    • ในการนัดติดตามผลครั้งถัดมา ควรทำการเพาะเชื้อรา หากเป็นลบ ให้ฟลูโคนาโซล 150-200 มก. รับประทานทุกๆ 4 สัปดาห์เป็นเวลาอีก 4 เดือน
    • ในการติดตามผล ควรทำการเพาะเชื้อรา หากผลเป็นลบ สามารถหยุดยาได้*
  • *หากมีอาการรุนแรง ควรทำการประเมินซ้ำ และฟลูโคนาโซลโดสเดียวกับโดสก่อนหน้านี้

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีอาการ

การรักษาคู่นอน

  • ไม่จำเป็น เว้นแต่คู่นอนจะมีอาการ

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

อาการที่ไม่ดีขึ้นอาจเกิดจากการดื้อต่อยา หรือเป็นเชื้อราที่ไม่ใช่ Candida albicans ที่พบบ่อยๆ

การรักษาทางเลือก คือ

  • nystatin เหน็บช่องคลอด 100,000 ยูนิต เป็นเวลา 12-14 คืน
  • หรือยาเหน็บช่องคลอด Amphotericin B 50 มิลลิกรัมเหน็บช่องคลอดเป็นเวลา 14 คืน
  • มีการศึกษาในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่าการใช้ยา dequalinium 10 มิลลิกรัมเหน็บในช่องคลอดก็มีประสิทธิภาพที่ดี

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด (Bacterial vaginosis : BV)

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด BV ไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่มักจะเกิดจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ซึ่งทำให้มีแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Gardnerella vaginalis เพิ่มปริมาณมากกว่าปกติ

อาการตกขาวผิดปกติจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

การติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดส่วนใหญ่จะไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนก็มักจะมีตกขาวที่มีปริมาณมากขึ้นอาจมีสีขาวหรือสีเทา ที่สำคัญคือตกขาวมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ซึ่งกลิ่นเหม็นนี้มักจะมากขึ้น เมื่อมีเพศสัมพันธ์หรือว่ามีประจำเดือน

ปัจจัยเสี่ยงตกขาวผิดปกติจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

ความผิดปกติในช่องคลอด ที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลของเชื้อนั้นเกิดจากการสวนล้างช่องคลอด การใช้น้ำยาล้างที่ไม่เหมาะสม การมีประจำเดือนที่มากและนานเกินไป รวมไปถึงการติดเชื้อ อื่นๆในช่องคลอด

การรักษาตกขาวผิดปกติจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด

โดยปกติจะให้ยาฆ่าเชื้อเเบคทีเรียร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยยาหรือสารเคมี รักษาการติดเชื้ออื่นๆที่พบร่วม

ยาที่ใช้

  • Metronidazole 400-500 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน
  • Metronidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
  • Metronidazole 750 มก. เหน็บช่องคลอดทุกวันเป็นเวลา 7 วัน
  • Tinidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
  • Clindamycin 300 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีอาการ

การรักษาคู่นอน

  • ไม่จำเป็นต้องรักษา

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

ปรสิตในช่องคลอด (Vaginal trichomoniasis)

โรคนี้ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases : STDs) เกิดจากเชื้อปรสิตที่ชื่อว่า Trichomonas vaginalis ซึ่งเป็นปรสิตที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีขนาดเล็ก (ใหญ่กว่าขนาดเม็ดเลือดขาวเพียงเล็กน้อย)

อาการตกขาวผิดปกติจากเชื้อปรสิตในช่องคลอด

การติดเชื้อปรสิตในช่องคลอด ในระยะต้นอาจจะไม่มีอาการผิดปกติ แต่บางคนก็มักจะมีตกขาวที่มีปริมาณมากขึ้นอาจมีสีเหลืองหรือเขียว มีฟอง อาจมีตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือปัสสาวะแสบขัดได้ บางกรณีถ้าเป็นรุนแรงอาจจะมีเลือดออกที่บริเวณปากมดลูก ทำให้มีตกขาวปนเลือดได้

ปัจจัยเสี่ยงตกขาวผิดปกติจากเชื้อปรสิตในช่องคลอด

เนื่องจากโรคนี้ติดต่อกันทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น ดังนั้นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดคือ การมีเพศสัมพันธ์กับผู้อื่นและไม่ได้มีการป้องกันด้วยถุงยางอนามัย

การรักษาตกขาวผิดปกติจากเชื้อปรสิตในช่องคลอด

อาการของการติดเชื้อปรสิตในช่องคลอด อาจจะคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆได้ นอกจากนี้ การติดเชื้อร่วมกันทีละหลายๆเชื่อ ก็พบได้บ่อย ดังนั้น การรักษา อาจจะแนะนำให้รักษาโรคหลายโรคพร้อมๆกัน โดยเลือกยา ที่มีความเหมาะสมในการรักษาแต่ละโรค

ยาที่ใช้

  • สูตรที่แนะนำ
    – Metronidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
    – Metronidazole 400-500 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 5-7 วัน
  • สูตรยาทางเลือก
    – Tinidazole 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
  • ติดตามผลใน 1-2 สัปดาห์:
    หากยังมีอาการอยู่และตรวจพบเชื้อ
    • ให้ยา Metronidazole 400 – 500 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน หากใช้สูตรยาชนิดรับประทานครั้งเดียว
    • ติดตามผลใน 1-2 สัปดาห์:
      หากยังมีอาการอยู่และตรวจพบเชื้อ ซ้ำอีก
    • ให้ยา Metronidazole 2 กรัม รับประทานวันละครั้ง เป็นเวลา 5-7 วัน หรือ
      Metronidazole 800 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน
      การรักษาคู่นอน การรักษาแบบเร่งด่วนด้วยระบบการปกครองเดียวกัน
      ติดตามผล 1-2 สัปดาห์ และ 3 เดือน นับจากวันที่ทำการรักษา

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศ จนกว่าคู่นอนทุกรายจะได้รับการรักษา

การรักษาคู่นอน

  • จำเป็นต้องรักษา โดยใช้สูตรยาเดียวกัน

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1-2 สัปดาห์ นับจากวันที่ได้รับการรักษา
  • ตรวจซ้ำอีกครั้ง ใน 3 เดือน นับจากวันที่ได้รับการรักษา

การติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดใช้ออกซิเจนในการหายใจ (Aerobic vaginitis : AV)

การติดเชื้อแบคทีเรียชนิดที่ ใช้ออกซิเจนในการหายใจนั้นไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่มักจะเกิดจาก เชื้อแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอด ได้แก่แลคโตบาซิลัส มีปริมาณเปลี่ยนแปลงลดลง ซึ่งเกิดจาก เชื้อแบคทีเรีย อื่นๆมีมากขึ้น นอกจากนี้ ตัวโรคนี้มักสัมพันธ์กับการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ทั้งหนองในแท้ หนองในเทียม ปรสิตในช่องคลอด และทำให้เกิดผลเสียหลายๆอย่าง เช่นการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน การคลอดก่อนกำหนด ภาวะถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด เป็นต้น

อาการตกขาวผิดปกติจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดใช้ออกซิเจนในการหายใจ

โรคชนิดนี้ มักจะมีอาการอักเสบที่ รุนแรงและมีตกขาวสีเหลือง ออกปริมาณมาก คุณผู้หญิง มักมีอาการตกขาวเป็นๆหายๆ มาเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าจะเคยรักษา ด้วยยาฆ่าเชื้อหลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งการวินิจฉัยโรคนี้ค่อนข้างยาก

การรักษาตกขาวผิดปกติจากเชื้อแบคทีเรีย ชนิดใช้ออกซิเจนในการหายใจ

เป้าหมายของการรักษาโรคนี้ ประกอบไปด้วยการรักษา 3 ภาวะ ได้แก่ การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง (Atrophy) การลดการอักเสบ และการ เสริมสร้างแบคทีเรียชนิดดีในช่องคลอด

ยาที่มีส่วนประกอบของ เอสโตรเจน สำหรับทาเฉพาะที่ในช่องคลอดเพื่อแก้ภาวะช่องคลอดแห้ง การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ทาเพื่อลดการอักเสบ สำหรับยาปฏิชีวนะรวมทั้งการใช้แลคโตบาซิลลัสที่เป็นยาเหน็บช่องคลอด ยังไม่มีข้อมูลขัดเจนว่ายาชนิดใดและควรใช้ในรูปแบบใด

มีบางกรณีใช้ยาฆ่าเชื้อ Amoxicillin/Clavulanic acid ขนาด 1 กรัม รับประทานวันละสองครั้ง หรือ Moxifloxacin 400 มก. รับประทานวันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีอาการ

การรักษาคู่นอน

  • ไม่จำเป็นต้องรักษา

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

ช่องคลอดอักเสบ จากสารทำลายเซลล์ (Cytolytic vaginitis)

ช่องคลอดอักเสบชนิดนี้ เกิดจากการมีเชื้อแลคโตบาซิลลัส มากเกินไป ทำให้มีการสร้างกรดแลคติกมาก และมีสารเคมี hydrogen peroxide ถูกสร้างขึ้น ทำให้เยื่อบุผิวช่องคลอดถูกทำลาย มีอาการระคายเคืองในช่องคลอด

อาการช่องคลอดอักเสบ จากสารทำลายเซลล์

โรคชนิดนี้ มักจะมีอาการอักเสบที่รุนแรงและมีตกขาวสีเหลือง ออกปริมาณมาก คุณผู้หญิง มักมีอาการตกขาวเป็นๆหายๆ มาเป็นระยะเวลานาน แม้ว่าจะเคยรักษา ด้วยยาฆ่าเชื้อหลายครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งการวินิจฉัยโรคนี้จะใช้การส่องกล้องจุลทรรศน์ตรวจที่เรียกว่า Wet smear

การรักษาช่องคลอดอักเสบ จากสารทำลายเซลล์

เนื่องจากโรคนี้เกิดจากการมีสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดปริมาณมาก ดังนั้นการรักษา คือทำให้ช่องคลอดมีภาวะความเป็นดาบมากขึ้น ด้วยการสวนล้างช่องคลอดด้วยสารละลายที่ชื่อว่า ไบคาร์บอเนต (Bicarbonate) แต่เนื่องจาก ในประเทศไทยการใช้ การสวนล้างช่องคลอดอาจจะไม่เป็นที่นิยม ดังนั้นจึงแนะนำเป็นการรักษาด้วยวิธีดังนี้

  • การสวนล้างช่องคลอดด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ถึง 2 ช้อนโต๊ะ (NaHCO3) หรือ เบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำอุ่น 1 -1.5 ลิตร
  • การสวนล้างช่องคลอด โดยใช้เวลาการสวนล้างที่นานขึ้น จะมีประสิทธิภาพในการรักษาโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
  • แนะนำให้ทำการสวนล้างสัปดาห์ละสองครั้ง ทุก 2 สัปดาห์ (ประมาณเดือนละ 4 ครั้ง)
  • อาการน่าจะดีขึ้นประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากเริ่มการรักษา
  • * จากประสบการณ์ของผู้เขียนงานวิจัยนี้ พบว่าการใช้ยาเม็ด โซเดียมไบคาร์บอเนต 300 มก. ชนิดเม็ด (Sodamint®) เหน็บทางช่องคลอด 2-3 ครั้งต่อวันเป็นเวลาสองสัปดาห์แสดงให้เห็นผลการรักษาที่ดี

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • ควรงดมีเพศสัมพันธ์ถ้ามีอาการ

การรักษาคู่นอน

  • ไม่จำเป็นต้องรักษา

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ตรวจซ้ำในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น

ตกขาวจากการติดเชื้อหนองใน (Gonococcal infection)

เชื้อที่ก่อโรคนี้คือ Neisseria gonorrhoeae ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ สามารถพบเชื้อหนี้นอกอวัยวะเพศได้ เช่น ในท่อปัสสาวะ ในมดลูกและปีกมดลูก ในเยื่อบุตา ในช่องคอ เชื้อนี้สามารถเข้าไปในกระแสเลือดและไปติดเชื้อในอวัยวะแปลกๆได้เช่น ในข้อเข่า ข้อนิ้วต่างๆ ในเยื่อหุ้มสมอง ในหัวใจ เป็นต้น

อาการตกขาวจากการติดเชื้อหนองใน

ได้แก่ การมีตกขาวผิดปกติ หรือมีหนอง/เมือกผิดปกติออกจากท่อปัสสาวะ มีอาการปัสสาวะแสบขัดได้

ในการวินิจฉัยโรคนี้ โดยวิธี PCR จะมีประสิทธิภาพสูง มากกว่าการตรวจด้วยการย้อมสี หรือการดูด้วยตาเปล่า แต่หากสงสัยว่าเชื้อจะดื้อยาก็จำเป็นต้องนำไปเพาะเชื้อ

การรักษาตกขาวจากการติดเชื้อหนองใน

ปัจจุบัน เชื่อนี้มีความดื้อยาได้สูง เนื่องจากตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการใช้ยาฆ่าเชื้อโดยที่ไม่ได้มีการวินิจฉัยที่แน่ชัด และให้ยาฆ่าเชื้อแบบไม่ตรงกับโรค

สูตรยาที่แนะนำ

  • Ceftriaxone 500 มก. ฉีดเข้ากล้าม ครั้งเดียว*

สูตรยาทางเลือก

  • Cefixime 800 มก. รับประทานครั้งเดียว*
  • Gentamicin 240 มก. ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียว ร่วมกับการให้ยา Azithromycin 2 กรัม รับประทานครั้งเดียว
    * ควรรักษาการติดเชื้อ C. trachomatis ไปพร้อมๆกัน หากใช้การตรวจชนิดที่ไม่สามารถแยกชนิดของเชื้อได้

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • งดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ จนถึง 7 วันหลังการรักษา และจนกว่าคู่นอนจะเสร็จสิ้นการรักษา

การรักษาคู่นอน

  • ให้ตรวจคู่นอน และรักษาคู่นอนทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนผู้ป่วยจะมีอาการ

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ติดตามผล 7 วันหลังจากวันที่ทำการรักษา

การตรวจว่าหายสนิทหรือไม่ (Test of cure)

ควรมีการตรวจว่าหนองในหายสนิทหรือไม่ ในเคสที่หลังการรักษายังมีอาการอยู่ หรือว่า มีการติดเชื้อหนองในแท้ที่อวัยวะอื่นๆนอกจากอวัยวะเพศ หรือว่ามีการใช้ยารักษาหนองในแท้สูตรอื่นๆ ทีไม่ได้แนะนำไว้ เพื่อหาว่าหนองในที่เป็นนั้นมีการดื้อยาหรือไม่

การติดเชื้อหนองในเทียม (Non-gonococcal infection)

ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีการติดเชื้อหนองในเทียม มักจะเกิดจากเชื้อที่ชื่อว่า C. trachomatis รองลงมาคือ Mycoplasma genitalium, Mycoplasma hominis, Ureaplasma urealyticum, Ureaplasma parvum และอื่นๆ เนื่องจากโรคนี้มีอาการเล็กน้อย ทำให้การติดเชื้อ สามารถแพร่กระจายได้ง่าย และติดเชื้อซ้ำได้บ่อยๆ และการตรวจวินิจฉัย ต้องใช้การตรวจ PCR เป็นวิธีหลัก

อาการตกขาวจากการติดเชื้อหนองในเทียม

อาการคล้ายกับหนองในแท้ แต่ว่ามีความรุนแรงน้อยกว่า

การรักษาตกขาวจากการติดเชื้อหนองในเทียม

เชื้อที่ก่อโรคหนองในเทียมมีหลายเชื้อ ข้อมูล ในการรักษาในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนถึงการรักษาที่เป็นมาตรฐาน มีเพียงเชื้อ C. trachomatis และ M.  เท่านั้นที่มีคำแนะนำในการรักษาที่ชัดเจน ดังนี้

ยารักษาหนองในเทียม ชนิดเชื้อ C. trachomatis

  • Doxycycline 100 มก. รับประทานวันละสองครั้งหลังอาหารเป็นเวลา 7 วัน หรือ
  • Azithromycin 1 กรัม รับประทานครั้งเดียว หรือ
  • Erythromycin stearate 500 มก. รับประทานวันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 14 วัน หรือ
  • Amoxycillin 500 มก. รับประทานวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร เป็นเวลา 7 วัน

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • งดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ จนถึง 7 วันหลังการรักษา และจนกว่าคู่นอนจะเสร็จสิ้นการรักษา

การรักษาคู่นอน

  • ให้ตรวจคู่นอน และรักษาคู่นอนทุกคนที่เคยมีเพศสัมพันธ์ภายใน 60 วันก่อนผู้ป่วยจะมีอาการ

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ติดตามผล 2 สัปดาห์ หลังจากวันที่ทำการรักษา

การรักษาหนองในเทียม ชนิดเชื้อ Mycoplasma genitalium

  • Doxycycline 100 มก. รับประทานวันละสองครั้งเป็นเวลา 7 วัน ตามด้วย Azithromycin 1 กรัม รับประทานครั้งแรก ตามด้วย 500 มก. รับประทานหนึ่งครั้งทุกวันเพิ่มอีก 3 วัน
  • หากยังมีอาการอยู่ ให้รับประทานยา Moxifloxacin 400 มก. รับประทานวันละครั้งเป็นเวลา 10 วัน

ระยะเวลาที่ต้องงดมีเพศสัมพันธ์

  • งดเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ จนถึง 7 วันหลังการรักษา และจนกว่าคู่นอนจะเสร็จสิ้นการรักษา

การรักษาคู่นอน

  • ให้ตรวจคู่นอน และรักษาคู่นอนในปัจจุบันเท่านั้น

การตรวจติดตามหลังการรักษา

  • ติดตามผล 2 สัปดาห์ หลังจากวันที่ทำการรักษา

การตรวจว่าหายสนิทหรือไม่ (Test of cure)

ไม่แนะนำให้ตรวจซ้ำ เนื่องจากสามารถพบซากเชื้อได้นานถึง 5 สัปดาห์หลังการรักษา เว้นแต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาจนครบ หรือมีอาการไม่ดีขึ้น และควรตรวจซ้ำใน 3-6 เดือนหลังการรักษา กรณีที่ผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 25 ปี

สรุปเชื้อก่อโรคตกขาวผิดปกติ ที่กล่าวถึงในบทความนี้

  • เชื้อรา
    • Candida albicans ประมาณ 80-90%
    • Candida glabrata
    • Candida tropicalis
    • Candida krusei
    • ฯลฯ
  • เชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด
    • Gardnerella vaginalis
    • แบคทีเรียที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการหายใจชนิดอื่นๆ
  • ปรสิตในช่องคลอด
    • Trichomonas vaginalis
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดใช้ออกซิเจนในการหายใจ
  • ช่องคลอดอักเสบ จากสารทำลายเซลล์
    • Lactobacillus spp.
  • หนองในแท้
    • Neisseria gonorrhoeae
  • หนองในเทียม
    • Chlamydia trachomatis
    • Mycoplasma genitalium
    • Mycoplasma hominis
    • Ureaplasma urealyticum
    • Ureaplasma parvum
    • ฯลฯ
Exit mobile version