Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เป็นแบคทีเรียที่พบในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะของมนุษย์ ซึ่งสามารถทำให้เกิดโรคหนองในเทียมได้ เชื้อสามารถแพร่กระจายได้ง่ายและมักไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น การวินิจฉัยและการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีไซคลีน หรือ แมคโครไลด์ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและการแพร่กระจายของเชื้อ

ยูเรียพลาสมา คืออะไร

ยูเรียพลาสมา (Ureaplasma) เป็นแบคทีเรียขนาดเล็กที่สามารถพบได้ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะของมนุษย์ [1][3.1] เป็นเชื้อแบคทีเรียกลุ่มหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดโรคหนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis – NGU) ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย[1] เชื้อ Ureaplasma มักไม่มีอาการเด่นชัดในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ที่ติดเชื้ออาจไม่รู้ตัวว่าเชื้ออยู่ในร่างกายและสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ Ureaplasma การวินิจฉัย การรักษา และผลกระทบต่อสุขภาพของเรา

สายพันธุ์ของเชื้อยูเรียพลาสมา

เชื้อ Ureaplasma มีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่สองสายพันธุ์ที่พบได้บ่อยในมนุษย์คือ Ureaplasma urealyticum และ Ureaplasma parvum การวินิจฉัยเชื้อนี้สามารถทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งรวมถึงการตรวจปัสสาวะ การตรวจสารคัดหลั่งจากระบบสืบพันธุ์ (ช่องคลอด. ท่อปัสสาวะ) แนะนำว่าควรตรวจด้วยวิธี Multiplex PCR เนื่องจากมีความสามารถในการตรวจพบได้ดีกว่าการตรวจด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ หรือการตรวจปัสสาวะทั่วๆไป หรือการตรวจภายในแบบย้อมสี มาก

อ่านต่อ : เปรียบเทียบความแม่นยำของการตรวจหนองใน แต่ละวิธี อย่างไหนดีที่สุด

การติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง

การติดเชื้อยูเรียพลาสมามักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปาก กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีคู่นอนจำนวนมาก และเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะผู้หญิงที่เยื่อบุปากมดลูกยังไม่พัฒนาเต็มที่[1]

อาการของโรคหนองในเทียม

ในผู้ชาย ประมาณ 50% จะไม่มีอาการแสดง ส่วนที่เหลือจะมีอาการแสบที่ปลายท่อปัสสาวะ ปัสสาวะขัด และมีหนองไหล ซึ่งจะมีลักษณะเป็นมูกใสหรือมูกขุ่น ๆ ไม่เป็นหนองข้นแบบหนองในแท้ อาจทำให้เกิดอาการท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) ซึ่งจะมีอาการปวดแสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย หรือมีสารคัดหลั่งออกจากท่อปัสสาวะ [1] เชื้อนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบในท่อปัสสาวะและต่อมลูกหมาก ส่งผลให้การผลิตน้ำเชื้อบกพร่อง และมีบุตรยากได้

ในผู้หญิง อาจมีอาการปัสสาวะแสบขัด มีน้ำหรือมูกไหลผิดปกติจากช่องคลอด มีอาการตกขาวผิดปกติรักษาไม่หาย (เนื่องจากรักษาไม่ตรงเชื้อ) ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) หรือปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคัน แสบแดง และมีตกขาวผิดปกติ นอกจากนี้ เชื้อ Ureaplasma ยังสามารถแพร่กระจายขึ้นไปยังมดลูกและท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบที่สามารถส่งผลกระทบต่อการมีบุตรได้ และหากเป็นมาก อาจมีอาการปวดท้องน้อย เป็นฝีในช่องท้อง และทำให้มีลูกยากได้ [3.2][3.3] ในหญิงตั้งครรภ์ การติดเชื้อนี้อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทำให้มีน้ำคร่ำรั่ว เพิ่มโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ [3.4]

การวินิจฉัยการติดเชื้อยูเรียพลาสมา

การวินิจฉัยการติดเชื้อ Ureaplasma ทำได้โดยการตรวจปัสสาวะหรือเก็บตัวอย่างจากช่องคลอดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ [3.3][3.4] โดยการตรวจด้วยวิธี PCR จะมีความแม่นยำสูงกว่าการตรวจวิธีอื่นๆ หากพบว่าติดเชื้อ แพทย์จะพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) หรือแมคโครไลด์ (Macrolide) เช่น azithromycin [3.1] อย่างไรก็ตาม การรักษาเชื้อ Ureaplasma ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เนื่องจากเชื้อนี้สามารถอยู่ในร่างกายได้โดยไม่ก่อให้เกิดอาการ[1][3] ดังนั้น การรักษาจึงควรพิจารณาเป็นรายกรณี โดยมีการตรวจหาสาเหตุอื่นๆ ก่อน และรักษาเมื่อมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเท่านั้น

การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหนองในเทียมจากเชื้อยูเรียพลาสมาเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น หากสงสัยว่าอาจติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาโดยเร็วที่สุด

การป้องกันและการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อยูเรียพลาสมา

การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย โดยใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อ Ureaplasma และเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ[3][5] นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพทางเพศอย่างสม่ำเสมอ และการรักษาเมื่อพบปัญหา ก็มีความสำคัญในการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ[4][5]

สรุป

เชื้อ Ureaplasma เป็นเชื้อแบคทีเรียที่สามารถพบได้ในระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินปัสสาวะของมนุษย์ การตรวจหาเชื้อ การรักษาอย่างถูกต้อง และการป้องกันการติดเชื้อเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพและความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อ การมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ Ureaplasma จะช่วยให้เราดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

References

 1. Ureaplasma infection [Internet]. Medscape.com. 2022 [cited 2024 Jul 28]. Available from: https://emedicine.medscape.com/article/231470-overview
2. บำรุงศักดิ์ บ. การตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 7 ชนิด ในกลุ่มหญิงที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ ด้วยวิธี Multiplex Real-Time PCR. 2023; Available from: https://he02.tci-thaijo.org/index.php/ThaiAIDSJournal/article/download/260286/179134
3. Cassano O. What is Ureaplasma? Symptoms and treatment [Internet]. Evvy.com. Evvy; 2024 [cited 2024 Jul 28]. Available from: https://www.evvy.com/blog/ureaplasma-symptoms
4. Clinics C. What is Ureaplasma? Symptoms, Causes, and Prevention [Internet]. Clarewell Clinics. 2020 [cited 2024 Jul 28]. Available from: https://clarewellclinics.co.uk/sti/ureaplasma/
5. Ureaplasma: Everything you need to know [Internet]. Flo.health – #1 mobile product for women’s health. [cited 2024 Jul 28]. Available from: https://flo.health/menstrual-cycle/sex/sexual-health/sexual-health/ureaplasma
6. Ureaplasma symptoms, testing and treatment [Internet]. Better2know.co.uk. [cited 2024 Jul 28]. Available from: https://www.better2know.co.uk/std-sti-testing/ureaplasma
Exit mobile version