Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

เปรียบเทียบความแม่นยำของการตรวจหนองใน แต่ละวิธี อย่างไหนดีที่สุด

เปรียบเทียบความแม่นยำของการตรวจหนองใน แต่ละวิธี อย่างไหนดีที่สุด

เปรียบเทียบความแม่นยำของการตรวจหนองใน แต่ละวิธี อย่างไหนดีที่สุด

หนองใน (Neisseria Gonorrhea) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่งที่อันตราย ส่งผลเสียต่อสุขภาพของทั้งชายและหญิงที่เป็นโรคนี้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

อ่านต่อ : ผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น หากไม่ได้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การตรวจหาเชื้อหนองใน มีอยู่หลายวิธี ทั้งที่มีราคาถูกแต่ความแม่นยำไม่มาก เช่น การย้อมสีบนสไลด์แก้วแล้วส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ไปจนถึงวิธีตรวจ DNA ของเชื้อ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีความแม่นยำสูงมากกว่า 99.9%

แม้ว่าจะมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่มากมาย หลายเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นหนองในแท้ หนองในเทียม เริม ซิฟิลิส เอชไอวี ฯลฯ แต่สำหรับบทความนี้ จะกล่าวเกี่ยวกับวิธีการตรวจหาเชื้อหนองในแท้ในวิธีแบบต่างๆ และมุ่งเน้นถึงความแม่นยำของแต่ละวิธี เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงความแม่นยำ และเทคโนโลยีในการตรวจที่มีระดับสูง/ต่ำ ที่แพทย์และสถานพยาบาลต่างๆเลือกใช้ในการตรวจหาเชื้อที่แตกต่างกัน

บางวิธีราคาถูกแต่ความแม่นยำต่ำซึ่งก็อาจทำให้การรักษาไม่ตรงโรคเกิดผลเสียติดตามมา ส่วนบางวิธีก็เป็นวิธีที่แม่นยำสูงมากแต่ก็อาจจะมีราคาสูงเกินไปไม่เหมาะสำหรับคนรายได้น้อย และโรงพยาบาล/สถานพยาบาลที่รับสิทธิ์การรักษาฟรีต่างๆ (บัตรทอง/ประกันสังคม) ที่ไม่เลือกใช้เนื่องจากต้องตรวจให้ผู้ป่วยฟรีเป็นภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล เป็นต้น

ตารางเปรียบเทียบการตรวจหนองในด้วยวิธีต่างๆ

วิธีการตรวจหนองใน

การดูด้วยตาเปล่า/สอบถามจากอาการ

หนองในแท้ จะมีลักษณะอาการได้หลายอย่าง ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ดังนี้

– อาการหนองในผู้ชาย : ในผู้ชายที่เป็นหนองในจะมีอาการปัสสาวะขัดอย่างรุนแรง และมีหนองสีเหลืองข้น ไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ
ถ้าไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลุกลามไปยังต่อมลูกหมาก ทำให้ต่อมลูกหมากอักเสบ อัณฑะอักเสบ ฯลฯ ซึ่งทำให้เป็นหมันได้

– อาการหนองในผู้หญิง : ในผู้หญิงที่เป็นหนองใน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ จนกระทั่ง 10 วันไปแล้ว จะมีอาการตกขาว มีกลิ่นเหม็น ปัสสาวะแสบขัด เพราะเกิดการอักเสบที่ท่อปัสสาวะ และปากมดลูก
ถ้าไม่รีบรักษาเชื้อโรคจะลุกลาม ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เป็นฝีบวมโต การอักเสบในอุ้งเชิงกราน ปีกมดลูกอักเสบ การอุดตันของท่อรังไข่ ซึ่งทำให้เป็นหมันหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
นอกจากนี้ หากหญิงมีครรภ์เป็นโรคหนองใน เวลาคลอดอาจทำให้เด็กทารกติดเชื้อเกิดอาการตาอักเสบได้ และหากรักษาไม่ทัน จะทำให้เด็กตาบอดได้

เนื่องจากลักษณะอาการดังกล่าวเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง และสีของหนองจากอวัยวะเพศอาจมีลักษณะที่แตกต่างหลากหลายได้ ดังนั้น วิธีดูด้วยตาเปล่า/สอบถามจากอาการเป็นวิธีที่แย่ที่สุดในการวินิจฉัย แต่ก็ยังมี ร้านขายยา สถานพยาบาล คลินิก หรือโรงพยาบาลระดับล่าง เลือกใช้วิธีนี้อยู่ เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

ข้อดีของการดูด้วยตาเปล่า/สอบถามจากอาการ เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • ไม่ต้องใช้ทรัพยากรใดๆนอกจากประสบการณ์ของผู้ตรวจ (แต่มีโอกาสผิดพลาดได้สูง)

ข้อเสียของการดูด้วยตาเปล่า/สอบถามจากอาการ เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • การวินิจฉัยไม่แม่นยำ ทำให้การรักษาผิดพลาดหรือล่าช้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วย
    • ไม่มีมาตรฐานใดๆมารองรับการวินิจฉัย เนื่องจากใช้ประสบการณ์เฉพาะบุคคล

การย้อมสีบนสไลด์แก้ว (Gram stain, smear)

เชื้อหนองในแท้ (Neiseria gonorrhea) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria Gonorrhoeae ที่มีรูปร่างค่อนข้างกลม อยู่กันเป็นคู่หันด้านเว้าเข้าหากัน ดูคล้ายเมล็ดกาแฟหรือเมล็ดถั่ว ย้อมสีแกรมติดสีแดง เป็นแบคทีเรียที่สามารถเติบโตและเพิ่มจำนวนในเยื่อเมือกบุผิวของร่างกายได้อย่างง่ายดาย

วิธีนี้การย้อมสีบนสไลด์แก้ว (Gram stain, smear) เพื่อส่องกล้องจุลทรรศน์หาเชื้อแบคทีเรียนี้เป็นวิธีที่คิดค้นมานาน ราคาถูก ทำได้รวดเร็ว แต่ความแม่นยำต่ำ โดยมีโอกาสพบเชื้อเพียงแค่ 50-60% เท่านั้น

ข้อดีของการย้อมสีบนสไลด์แก้ว (Gram stain, smear) เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • ราคาถูก
    • ใช้เวลาน้อย (น้อยกว่า 1 ชั่วโมง)

ข้อเสียของการย้อมสีบนสไลด์แก้ว (Gram stain, smear) เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • การวินิจฉัยไม่แม่นยำ ทำให้การรักษาผิดพลาดหรือล่าช้า ส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้ป่วย
    • ไม่มีมาตรฐานใดๆมารองรับการวินิจฉัย เนื่องจากใช้ประสบการณ์เฉพาะบุคคลในการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อหาเชื้อ ซึ่งอาจจะย้อมสีได้ไม่ดี หรือการดูกล้องไม่ละเอียด ทำให้ไม่พบเชื้อได้
    • ตรวจเชื้อได้ไม่กี่ชนิด เนื่องจากเชื้อที่ทำให้ติดโรคทางเพศสัมพันธ์หลายๆชนิด เช่น หนองในเทียม ไม่สามารถย้อมสีเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์

การเพาะเชื้อ (Culture)

การเพาะเชื้อ เป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) ในการตรวจวินิจฉัยเชื้อหนองใน มีประสิทธิภาพอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ โดยมีความแม่นยำแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ใช้ในการเก็บเชื้อ โดยหากเก็บจากท่อปัสสาวะของผู้ชาย (เอาอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจแทงเข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อเก็บเชื้อ) จะมีความแม่นยำสูงถึงมากกว่า 95% ส่วนการเก็บจากในปากมดลูกของผู้หญิงจะมีความแม่นยำอยู่เพียงประมาณ 80-90%

นอกจากประโยชน์ด้านความแม่นยำที่ดีกว่าการย้อมสีบนสไลด์แก้ว (Gram stain, smear) แล้ว การเพาะเชื้อยังสามารถตรวจหาการดื้อยาของเชื้อได้ด้วย ซึ่งจะเหมาะกับผู้ที่เป็นซ้ำ รักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เนื่องจากอาจจะเป็นเชื้อดื้อยาได้

วิธีนี้ เป็นวิธีที่ถือว่าเป็นมาตรฐานก็จริง แต่ก็มีข้อจำกัดของการส่งตรวจอยู่หลายอย่าง เนื่องจากต้องใช้สารเพาะเลี้ยงเชื้อที่แตกต่างกันสำหรับเชื้อแต่ละประเภท โดยเชื้อหนองใน จะต้องเก็บและรีบนำไปเพาะเชื้อทันทีในสิ่งแวดล้อมที่มาก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ปริมาณสูง (optimal recovery rates are achieved when specimens are inoculated directly and when the growth medium is promptly incubated in an increased carbon dioxide (CO2) environment) หากไม่ได้ทำตามขั้นตอนยุ่งยากดังกล่าว ก็อาจจะทำให้เชื้อตายได้ ดังนั้นวิธีนี้จึงเป็นวิธีที่ไม่เหมาะในการเก็บตรวจด้วยตนเอง และไม่สามารถเก็บเชื้อที่ตายแล้วได้

ข้อดีของการเพาะเชื้อ (Culture) เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • ความแม่นยำสูงกว่าการย้อมสี
    • เป็นวิธีมาตรฐาน (Gold standard) ในการวินิจฉัยโรคหนองใน
    • ราคาปานกลาง ไม่แพงมาก

ข้อเสียของการเพาะเชื้อ (Culture) เพื่อวินิจฉัยหนองใน

    • ต้องใช้สารเพาะเชื้อที่หลากหลาย ในการเพาะเชื้อแต่ละชนิด
    • ไม่สามารถเก็บสิ่งส่งตรวจมาตรวจด้วยตนเองได้
    • หากใช้สารเพาะเชื้อผิดชนิด ก็เพาะเชื้อไม่ขึ้น ทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้

การตรวจ DNA ของเชื้อ (NAAT : Nucleic acid amplification test หรือ PCR : Polymerase chain reaction)

การตรวจหา DNA ของเชื้อ ด้วยวิธี PCR คือการทดสอบสมัยใหม่ที่ตรวจสอบการมีอยู่ของแบคทีเรียในระดับโมเลกุล ปัจจุบันการทดสอบนี้ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวินิจฉัยโรคติดเชื้อบางชนิด โดยเฉพาะการตรวจหาแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของหนองในแท้และหนองในเทียม ด้วยความแม่นยำสูงมาก

Multiplex PCR (ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรส) เป็นวิธีเทคนิคทางอณูชีววิทยา เพื่อหา DNA ของโรคหนองในและหนองในเทียมว่ามีอยู่ในสิ่งส่งตรวจหรือไม่ ดังนั้น แม้ว่าเชื้อจะตายแล้ว แต่หากยังมีซากเชื้ออยู่ก็จะสามารถตรวจได้ ต่างจากวิธีอื่นๆที่กล่าวมาด้านบน ที่จะต้องมีเชื้ออยู่เท่านั้นจึงจะสามารถตรวจพบได้

การใช้ Multiplex PCR ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดในปัจจุบันในการตรวจหาหนองใน และนอกจากหนองในแล้ว วิธีนี้สามารถตรวจจับทั้งแบคทีเรียเหล่านี้และเชื้อโรคอื่นๆทั้งเชื้อรา เชื้อไวรัส อีกจำนวนหนึ่งที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบสืบพันธุ์ได้พร้อมๆกัน จึงเพิ่มความสะดวก และสามารถเลือกการรักษาที่ถูกต้องตรงกับโรคได้

ข้อดีของการตรวจ Multiplex PCR เพื่อวินิจฉัยหนองใน

  • เป็นวิธีที่สามารถตรวจได้ด้วยความแม่นยำที่สูงมาก
  • ตรวจได้ทีละหลายๆเชื้อพร้อมกัน
  • ใช้เวลาไม่นานเท่าการเพาะเชื้อ
  • ตรวจพบเชื้อที่ตายแล้วได้
  • สามารถตรวจได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องไปพบแพทย์ ไม่ต้องไปโรงพยาบาล*

ข้อเสียของการตรวจ Multiplex PCR เพื่อวินิจฉัยหนองใน

  • ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ต้องส่งมาตรวจที่ศูนย์กลางเท่านั้น
  • ราคาต่อครั้งยังค่อนข้างสูง (แต่หากเปรียบเทียบกับจำนวนเชื้อก่อโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ตรวจได้ ก็ยังถือว่ามีความคุ้มค่า)

สรุป

จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีการตรวจโรคทางเพศ เช่น หนองในนั้นมีการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ทำให้ความแม่นยำสูงขึ้น ตรวจได้ละเอียดขึ้น แต่ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือการป้องกันการติดโรคทางเพศตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยการใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และไม่จูบปาก หรือมีเพศสัมพันธ์ทางปากโดยไม่ป้องกัน เนื่องจากเชื้อเหล่านี้ก็สามารถติดต่อทางปากได้เช่นเดียวกัน

หากสงสัยว่าจะติดเชื้อทางเพศ ก็แนะนำให้เข้ารับการตรวจรักษาโดยด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการไม่ได้เข้ารับการรักษา และเลือกการตรวจที่มีความแม่นยำสูงเพื่อให้โรคหายขาด

 

Exit mobile version