Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

อายุครรภ์ที่เหมาะจะเจาะตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม (NIPT, NIPS, NIFTY) คือช่วงไหน

อายุครรภ์ในการตรวจนิฟตี้ กี่สัปดาห์ดีที่สุด? อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ตรวจนิฟตี้ได้ไหม อายุครรภ์เท่าไหร่ไม่ควรตรวจคัดกรองดาวน์แล้ว

การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมมีกี่วิธี

การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมนั้นมีอยู่หลายวิธี แต่ละวิธีมีความแม่นยำแตกต่างกัน และเริ่มตรวจในอายุครรภ์ที่แตกต่างกันเช่นกัน แต่ ณ ปัจจุบัน มีการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย และมีความแม่นยำที่สูงมาก ซึ่งเราเรียกวิธีการตรวจดังกล่าวว่า NIPS (Non-invasive prenatal screening) หรือ NIPT (Non-invasive prenatal testing) ซึ่งก็คือการตรวจหาส่วนของ DNA จากรกของลูกในครรภ์ ที่ลอยปะปนอยู่ในเลือดของคุณแม่ โดยวิธีนี้นั้น มีความแม่นยำสูงถึง 99.9% เลยทีเดียว

เปรียบเทียบความแม่นยำของการคัดกรองดาวน์ซินโดรมวิธีต่างๆ
เปรียบเทียบความแม่นยำของการคัดกรองดาวน์ซินโดรมวิธีต่างๆ

ในบทความนี้ เราจะพูดถึงการตรวจคัดกรองที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งก็คือ การตรวจ NIPT, NIPS หรือแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันก็คือ NIFTY, NGD NIPS

โดยปกติ เราสามารถเจาะตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม (NIPT, NIPS) นั้นมีหลายแบรนด์ เช่น NIFTY, NGD NIPS, Thai NIPT, Panorama ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันทางเทคนิคการตรวจ, ผลที่สามารถรายงานได้, ประกันความผิดพลาด, ประกันการเจาะน้ำคร่ำ และมีความแม่นยำแตกต่างกันเล็กน้อย แล้วแต่คุณแม่จะเลือกตรวจตามความต้องการ แต่โดยปกตินั้น ความแม่นยำในการตรวจคัดกรองของแทบจะทุกแบรนด์ อยู่ที่ 99.9% ใกล้เคียงกัน

เริ่มต้นตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วย NIPT หรือ NIPS ได้ตั้งแต่อายุครรภ์กี่สัปดาห์ (กี่เดือน)

การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมด้วย NIPS หรือ NIPT นี้มีข้อดีหลายอย่าง คือ ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อยๆ คือ ได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ (ประมาณ 2 เดือนครึ่ง) และบาง Brand สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 9 สัปดาห์เลยด้วยซ้ำ และที่สำคัญคือ มีความแม่นยำสูง และไม่ต้องเสี่ยงในการเจาะน้ำคร่ำอีกด้วย

แต่โดยปกติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มักจะแนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นช่วงที่ทารกในครรภ์มีโอกาสแท้งน้อย และจำนวนปริมาณส่วนของ DNA (Fetal fraction) ในเลือดคุณแม่ก็จะมากขึ้นไปด้วย ทำให้ลดโอกาสการต้องเจาะเลือดตรวจซ้ำกรณีปริมาณส่วนของ DNA ของลูกในครรภ์มีไม่เพียงพอ (โดยทั่วไป ต้องการส่วนของ DNA ในเลือดคุณแม่อย่างน้อย 4% จึงจะรายงานผลได้)

ผลการตรวจ ใช้เวลาประมาณ 5-14 วัน แล้วแต่แบรนด์ และการตรวจ ว่าสามารถทำในประเทศไทย หรือต้องส่งตรวจต่างประเทศ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจประมาณเท่าไหร่?

ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่คุณแม่เลือกฝากครรภ์, จำนวนโรค, จำนวนโครโมโซมที่รายงานผล, ค่าบริการต่างๆของแต่ละสถานที่

โดยปกติจะประมาณ 10,000 – 25,000 บาท

มีวิธีตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมที่ราคาประหยัดกว่านี้ไหม?

แต่หากว่าคุณแม่ไม่สามารถจ่ายการตรวจคัดกรองชนิดที่ความแม่นยำสูง 99.9% ได้ คุณแม่ก็สามารถไปตรวจคัดกรอง Quad test ที่มีความแม่นยำประมาณ 80% ได้ฟรีที่โรงพยาบาลรัฐ

สามารถตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้จนถึงอายุครรภ์กี่สัปดาห์?

จริงๆแล้ว การตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม ด้วยวิธี NIPS หรือ NIPT นั้น ไม่มีกำหนดอายุครรภ์ที่ไม่สามารถตรวจคัดกรองได้ แต่ในใบแจ้งยินยอมการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมของ NIFTY จะมีให้รับทราบว่า หากตรวจตอนอายุครรภ์มากกว่า 24 สัปดาห์ จะต้องเซ็นต์ยินยอมเพิ่มเติม

แต่โดยทั่วไป สูตินรีแพทย์โดยส่วนใหญ่ จะแนะนำว่า ไม่ควรตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมหลังอายุครรภ์ 20-21 สัปดาห์ (แนะนำให้เจาะน้ำคร่ำตรวจเลยหากมีความสงสัยว่าจะผิดปกติ) เนื่องจากหากตรวจคัดกรองแล้วผลพบความเสี่ยงสูง ก็จะจำเป็นต้องไปเจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนยันความผิดพลาดเพิ่มเติมอีก ทำให้ทารกอาจจะมีอายุครรภ์มากเกินไปที่จะยุติการตั้งครรภ์หากพบว่าเป็นดาวน์ได้

สรุปอายุครรภ์ที่สามารถตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม

เราสามารถตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมได้ตามอายุครรภ์ดังนี้

  • 1st Trimester screening (เจาะเลือด + อัลตราซาวน์ความหนาต้นคอเด็ก) ความแม่นยำ 85-90%
    • ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-14 สัปดาห์
  • Quad test (เจาะเลือด) ความแม่นยำ 80-85%
    • ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 15-18 สัปดาห์
  • NIPT (Non-invasive Prenatal Testing) ความแม่นยำ 99.9%
    • ตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 9 หรือ 10 สัปดาห์เป็นต้นไป (ขึ้นอยู่กับแบรนด์) แต่แนะนำว่า ไม่ควรตรวจเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 20-21 สัปดาห์ เนื่องจากหากผิดปกติ จะไม่สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้

หากต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรมเพิ่มเติม สามารถคลิกสอบถามได้ที่รูปภาพหรือลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ

Exit mobile version