Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ ให้ได้ไหม? ต้องระวังอะไรบ้าง?

9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

เรียบเรียงโดย นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ สูตินรีแพทย์

โดยปกติ หญิงให้นมบุตรจะมีระดับฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะยับยั้งการตกไข่และเป็นกลไกธรรมชาติในการคุมกำเนิด และเว้นช่วงระยะห่างในการมีบุตรตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม กลไกนี้จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณหกเดือนเท่านั้น เนื่องจากเมื่อทารกกินนมแม่น้อยลงหรือเริ่มกินอาหารตามวัย ทำให้หญิงให้นมบุตรก็อาจมีการตกไข่และตั้งครรภ์ได้อีก ทำให้มีคุณแม่ส่วนหนึ่งตั้งครรภ์โดยที่บุตรยังกินนมแม่อยู่

ทางการแพทย์นั้น ถือว่าการให้ลูกกินนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นปลอดภัย มีประโยชน์ต่อลูกหลายอย่าง ไม่เพิ่มโอกาสของการแท้งบุตรในครรภ์หรือการคลอดก่อนกำหนด และพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาวะทารกโตช้าในครรภ์ แต่มีข้อพึงระวังและข้อห้ามบางประการดังนี้

โดยทั่วไปการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ ปลอดภัย มีประโยชน์ต่อลูก
และไม่ความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ และลูกที่ดื่มนมแม่


9 ข้อควรทำ กรณีให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

1. ปรึกษาแพทย์ที่ฝากครรภ์

เพื่อประเมินความเสี่ยงของการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากการที่หัวนมถูกกระตุ้นระหว่างให้นมนั้นอาจทำให้เกิดการหลังของฮอร์โมนออกชิโทชิน (oxytocin) ซึ่งจะกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูก ดังนั้น ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อน หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น มีภาวะปากมดลูกสั้น หรือเคยมีการผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำ ควรงดการถูกกระตุ้นที่หัวนม เนื่องจากหากเกิดการหดรัดตัวของมดลูกอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ในกรณีรุนแรงอาจตกเลือดอย่างรุนแรงได้

ส่วนกรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ปกติ หากระหว่างที่ให้นมอยู่เกิดอาการท้องแข็งสม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดควรพบแพทย์ทันที

2. คุณแม่ต้องได้รับโภชนาการครบถ้วน สมบูรณ์

เนื่องจากทั้งการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายของมารดาจะต้องการพลังงานและสารอาหารต่างๆ มากขึ้นกว่าปกติ หากจะให้นมบุตรไปด้วยในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้เพียงพอ โดยเฉพาะ แคลเซียมและธาตุเหล็ก โดยทั่วไป แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำในปริมาณมากเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง เน้นอาหารประเภทโปรตีน กินผักและผลไม้สดที่มีความหลากหลาย เพิ่มปริมาณแคลเชียมจากอาหารประเภทปลาตัวเล็กและเต้าหู้ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ไข่แดง ตับ เป็นต้น หรือรับประทานเหล็กเสริมในรูปแบบของยาให้เพียงพอ

3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ

การให้นมบุตรนั้น ต้องใช้น้ำปริมาณมาก และเมื่อร่วมกับการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ก็ยิ่งต้องการน้ำมากขึ้นอีก เพื่อใช้ในการเพิ่มปริมาณเลือดในร่างกาย และบางกรณีการแพ้ท้องอาจทำให้มีการเสียน้ำได้มาก หากมีอาการแพ้ท้องรุนแรง และรู้สึกไม่ได้รับน้ำที่เพียงพอ อาจจำเป็นต้องได้รับยาแก้แพ้ท้อง ร่วมกับน้ำเกลือเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในร่างกายอย่างรวดเร็ว

4. พิจารณาอายุของลูก

หากลูกอายุมากกว่า 6 เดือนและเริ่มกินอาหารเสริมแต่ละมื้อแล้ว อาจจะง่ายขึ้นในการให้นมแม่ระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากมีอาหารเสริมจากมื้ออื่นๆช่วยนอกจากนมแม่ แต่อย่างไรก็ดี การให้นมแม่ถือว่าเป็นอาหารที่มีประโยชน์สำหรับลูกน้อยเสมอ และไม่ควรหยุดให้นมแม่หากไม่มีความจำเป็น

5. รักษาอาการเจ็บหัวนมและเต้านม

เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก หญิงตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ทำให้มีอาการเจ็บหัวนมและเต้านมได้บ่อย การให้ลูกดูดนมในช่วงนี้จึงอาจมีความเจ็บปวดและทรมานมาก รวมทั้งในหญิงตั้งครรภ์บางรายมีอาการแพ้ท้องมาก จนรู้สึกอ่อนเพลียไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้

ในกรณีนี้คุถแม่อาจตัดสินใจหยุดการให้ลูกกินนม ซึ่งคุณแม่สามารถเข้าพบแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อรับการรักษาประคับประคองด้วยยาแก้แพ้ท้อง หรือยาอื่นๆเท่าที่จะทำได้ ส่วนการจะให้ลูกกินนมต่อหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณแม่และครอบครัว

จากการศึกษาที่ผ่านมา พบว่าในมารดาที่ตั้งใจให้ลูกกินนมแม่ต่อระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เลิกล้มความตั้งใจเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมและเต้านม

หากมีอาการเจ็บหัวนมและเต้านม แต่ยังต้องการให้นมลูกต่อ อาจต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือคลินิกนมแม่ เพื่อปรับท่าทางการให้นม หรือใช้ nipple shield เพื่อช่วยป้องกันหัวนมแตกและอาการเจ็บหัวนมได้

6. พูดคุย และสื่อสารกับลูกที่ยังดูดนมอยู่

หากลูกที่ดูดนมอยู่เริ่มโตพอที่จะพูดรู้เรื่องแล้ว คุณแม่อาจพูดคุยกับน้องว่าระหว่างนี้ร่างกายคุณแม่จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง อาจจะมีท้องโตขึ้นทำให้ดูดนมลำบากขึ้น อาจจะต้องปรับมื้อในการให้นม และพูดเตรียมตัวเรื่องจะมีน้องแล้ว หากคลอดแล้วแม่อาจต้องให้ความสนใจกับน้องมากขึ้นเพราะน้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และที่สำคัญ ต้องเน้นย้ำว่ายังรักคนพี่อยู่เสมอ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาดูแลคนน้องที่กำลังจะคลอดมากกว่า

7. หาคนช่วย

การให้นมบุตรขณะตั้งครรภ์นั้น ต้องใช้พลังทั้งทางกาย และทางใจเป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงควรหาความช่วยเหลือจากครอบครัว เพื่อนฝูง หรือกลุ่มที่ช่วยเหลือคุณแม่ตั้งครรภ์ต่างๆ อย่าให้การให้นมแม่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียด เพราะนอกจากความเครียดจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดน้อยลงแล้ว ยังส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ด้วย

พึงตระหนักว่า คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะเลือกให้หรือไม่ให้นมลูกขณะตั้งครรภ์ก็ได้ ไม่ควรจะมีการบังคับใดๆ

8. ทำความเข้าใจว่าปริมาณน้ำนมอาจเปลี่ยนแปลงไประหว่างตั้งครรภ์

แม้โดยทั่วไปแล้วคุณค่าและสารอาหารในนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจทำให้น้ำนมมีปริมาณลดลงได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาที่ 2-3 ซึ่งปริมาณที่ลดน้อยลงนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกคนโตหย่านมด้วยตนเองเนื่องจากไม่อยากดูดนมแม่ต่อได้

9. ในกรณีที่ครรภ์นั้นมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหรือมีภาวะรกเกาะต่ำควรงดการให้นมแม่

ข้อห้ามในการให้นมแม่ขณะตั้งครรภ์ มีหลักๆอยู่ 2 ข้อ คือ 1. มีความเสี่ยงที่คุณแม่จะคลอดก่อนกำหนด และ 2. คุณแม่มีภาวะรกเกาะต่ำ

เนื่องจากการให้นมแม่ หัวนมของคุณแม่จะถูกกระตุ้นทำให้มีการหลั่งสาร oxytocin ซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้เกิดความผูกพันธ์ระหว่างแม่ลูก แต่สารนี้ก็ทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ ดังนั้น หากมีข้อห้ามดังกล่าว ก็ไม่ควรให้นมลูกต่อ


แนวทางการเลือกว่าจะให้นมต่อหรือไม่

ในรายที่เป็นการตั้งครรภ์ปกตินั้น ควรให้ความมั่นใจแก่แม่ว่าสารอาหารที่มีประโยชน์ยังมีอยู่น้ำนมที่ผลิตระหว่างตั้งครรภ์ ในการให้นมบุตรต่อไปนั้นจะไม่ส่งผลเสียต่อการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรบอกให้ทราบถึงข้อควรระวังด้วย

กรณีคุณแม่เลือกที่จะให้ลูกกินนมแม่ต่อไป

คุณแม่ควรขอรับคำแนะนำ และสนับสนุนเรื่องภาวะโภชนาการจากแพทย์ โดยประเมินรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และรับวิตามินหรือแร่ธาตุเสริมในรายที่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ

การให้ลูกกินนมนั้นสามารถให้ไปได้ตลอดการตั้งครรภ์จนถึงตอนคลอด และหลังคลอดก็ยังสามารถให้นมลูกควบคู่กันไปทั้ง 2 คนได้ ในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ ซึ่งคุณแม่อาจจะอ่อนเพลียมากและยังไม่มีความมั่นใจในการให้ลูกเข้าเต้าพร้อมกัน ควรเริ่มจากให้ลูกกินนมแม่ทีละคนก่อน ซึ่งโดยทั่วไปมักจะ
ให้คนน้องดูดก่อน เพราะนมแม่เป็นแหล่งอาหารเดียวของน้อง เมื่อน้องอิ่มแล้วจึงให้คนพี่ดูด ต่อมา หากมีความมั่นใจและมีปริมาณน้ำนมมากเพียงพอแล้วอาจให้ดูดพร้อมกันทั้ง 2 คนโดยดูดคนละเต้าก็ได้ (nursing trio) ซึ่งการให้ลูกดูดพร้อมกันทั้งสองคนนั้นมีข้อดีคือลดความโกรธและความหงุดหงิดจากการรอคอยที่จะได้ดูดนมของลูกแต่ละคน และลดความเหนื่อยล้าของคุณแม่ที่จะต้องให้นมด้วย

นอกจากนี้ ควรให้แพทย์ช่วยประเมินความเสี่ยงว่าจะสามารถให้นมต่อไประหว่างตั้งครรภ์ได้หรือไม่ แพทย์อาจทำการประเมินความเสี่ยงของการให้นมแม่ขณะตั้งครรภ์จากประวัติในอดีต การตรวจร่างกาย และการอัลตราซาวนด์เพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดในช่วงท้ายของบทความ

กรณีที่คุณแม่ตัดสินใจที่จะให้ลูกกินนมแม่ต่อในตอนแรก แต่ไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งใจ

ซึ่งอาจจะเป็นด้วยมีอาการเจ็บห้วนม หรือปริมาณน้ำนมลดน้อยลงมาก คุณแม่ไม่ต้องกังวบ และควรมีกำลังใจเสมอ แม้จะหย่านมไปชั่วคราวขณะตั้งครรภ์ แต่หลังคลอดเมื่อปริมาณน้ำนมมีเพียงพอ หากคนพี่ยังอยากกินนมแม่ต่อก็สามารถกลับมากินได้ใหม่ได้ โดยร่างกายจะสามารถปรับตัวเพื่อผลิตน้ำนมให้เพียงพอต่อลูกทั้งสองคนได้เอง

กรณีที่คุณแม่ตัดสินใจหย่านมเลยในขณะที่ตั้งครรภ์

กรณีที่คุณแม่มีความเสี่ยงของการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์ หรืออาจมีความไม่พร้อมบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถให้นมบุตรได้ หลังจากได้รับข้อมูลรอบด้านจากแพทย์แล้ว ก็ควรสนับสนุนการตัดสินใจของมารดา โดยแนะนำว่าควรหย่านมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดโอกาสเกิดอาการคัดตึงเต้านมหรือเต้านมอักเสบ


การประเมินความเสี่ยงในการให้นมบุตรระหว่างตั้งครรภ์

การซักประวัติ

  • ประวัติการคลอดครั้งก่อน ว่ามีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนดมาก/น้อย
  • ประวัติการผ่าตัดที่บริเวณตัวมดลูก และปากมดลูก เช่น การตัดเอาปากมดลูกออกบางส่วนเพื่อรักษาเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ การทำผ่าตัดมดลูก ฯลฯ
  • ประเมินภาวะโภชนาการ เพื่อให้ยาบำรุงเสริมได้อย่างเหมาะสม

การตรวจร่างกาย

  • ตรวจดูหัวนม เต้านม ลานนม ว่าสามารถให้นมบุตรได้หรือไม่ มีอุปสรรคหรือสิ่งที่ต้องแก้ไขเพื่อให้นมได้ง่ายขึ้นหรือไม่
  • ตรวจดูภาวะการแข็งตัวของมดลูก และ/หรือ ตรวจภายใน กรณีที่ระหว่างให้นมบุตรแล้วมีท้องแข็ง หรือเลือดออกจากช่องคลอด

การอัลตราซาวนด์

  • แนะนำคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ตั้งใจจะให้นมบุตร ควรอัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด เพื่อ
    • ตรวจหาภาวะรกเกาะต่ำ (placenta previa) ซึ่งอาจทำให้เกิดการตกเลือดได้
    • วัดความยาวปากมดลูก (cervical length) ตรวจหาภาวะปากมดลูกสั้น ซึ่งอาจจะทำให้คลอดบุตรก่อนกำหนดได้

สรุป

ในคุณแม่ที่กำลังให้นมลูกส่วนใหญ่ หากเกิดการตั้งครรภ์ซ้อนขึ้นมาขณะให้นมบุตรอยู่ ก็สามารถให้นมต่อได้ ไม่มีผลเสียต่อทารกในครรภ์แต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงเรื่องสารอาหาร และต้องเข้ารับการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การคลอดก่อนกำหนด และภาวะรกเกาะต่ำ จากแพทย์ร่วมด้วยเสมอ

คุณแม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจให้นมต่อ หรือจะหย่านมเลยก็ได้ แต่ทั้งนี้ หากสามารถให้ต่อได้ก็จะดีที่สุด เนื่องจากนมแม่นั้นมีประโยชน์ต่อลูกน้อยอย่างหาอาหารอื่นๆเปรียบเทียบไม่ได้เลย

อ้างอิง :

  • พรรณวรา ปริตกุล. (2559). ส่วนประกอบสำคัญของนมแม่และการเปลี่ยนแปลงในภาวะต่างๆ. ใน เวชปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ Clinical Practice of Breastfeeding (พิมพ์ครั้งที่ 1)
  • Baby-Friendly Hospital Initiative: Revised, Updated and Expanded for Integrated Care. Geneva: World Health Organization; 2009. สืบค้นทาง Online เมื่อ 12 ธันวาคม 2566 จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK153456/
Exit mobile version