เรียบเรียงโดย นพ.ประสิทธิ์ วิริยะกิจไพบูลย์ สูตินรีแพทย์
นมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและมีประโยชน์มากต่อทารกในช่วงระยะเวลาแรกๆ ของชีวิต มีโภชนาการครบทุกชนิดที่ทารกต้องการในระยะแรกของชีวิต ช่วยป้องกันโรค ช่วยพัฒนาสมอง สร้างเซลล์สมอง สร้างความผูกพันและสัมพันธ์กับมารดา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นอ้วนทั้งของแม่และลูก และมีโอกาสปนเปื้อนเชื้อโรคต่างๆน้อย (ยกเว้น มารดาที่ติดเชื้อ HIV จะมีเชื้อผ่านไปสู่ทารกที่ดื่มนมได้ ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้คุณแม่ที่มีเชื้อ HIV ให้นมตนเองต่อบุตร)
ถ้าเรานำตัวอย่างน้ำนมแม่ในรอบ 24 ชั่วโมงมาวิเคราะห์จะพบว่า ไม่ว่าแม่จะมีเชื้อชาติใด รวยหรือจน หรือมีภาวะขาดอาหารที่ไม่เท่ากัน น้ำนมแม่ก็จะยังมีส่วนประกอบหลักคือ โปรตีน ไขมัน น้ำตาล เกลือแร่ วิตามิน แร่ธาตุ ค่อนข้างคงที่ เนื่องจากร่างกายแม่จะมีกลไกที่จะคอยชดเชยส่วนที่ขาด โดยนำมาจากสารอาหารที่แม่สะสมในร่างกายแม่
นอกจากประโยชน์ที่กล่าวกันโดยทั่วไปแล้ว นมแม่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารอาหาร (non-nutritional component) หรือส่วนประกอบทางชีวภาพ (bioactive components) คือสารที่มีการออกฤทธิ์ต่อกระบวนการทางชีวภาพ หรือเป็นสารตั้งต้นที่มีผลต่อกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกายด้วย
สารที่มีผลต่อการเจริญเติบโต
ช่วยพัฒนาและช่อมแชมการทํางานในหลายระบบ ดังนี้
ระบบทางเดินอาหาร
- epidermal growth factor (EGF) กระตุ้นการเติบโตและยังยั้งการเสียชีวิตของเซลล์ลำไส้ มีความเข้มข้นมากในหัวน้ำนม (Colostrum) และต้องการมากขึ้นในทารกที่เกิดก่อนกำหนด EGF กระตุ้นการเพิ่มจำนวนของเซลล์เยื่อบุ (epidermal and epithelial tissues) และมีผลอย่างสำคัญในทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด
- เพิ่มการเจริญเติบโต และการพัฒนาเซลล์บุผิวปอด
- กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ และการสังเคราะห์ DNA ในทางเดินอาหาร
- ช่วยเร่งการหายของแผลบนผิวของเยื่อบุกระจกตา
- กระตุ้นเซลล์บุผิวลำไส้เล็กส่วน duodenum ให้พัฒนาขึ้นเต็มที่EGF ในน้ำนมอาจจะมาจาก เลือดแม่ หรือผลิตขึ้นที่เต้านม เมื่อกินทางปาก จะไม่ถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร จึงสามารถไปออกฤทธิ์ในลำไส้ได้ นอกจากนี้ EGF ยังมีผลช่วยสมานแผลที่ลำไส้ได้ด้วย เช่น เมื่อมีเชื้อไวรัสมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร EGF ในน้ำนมแม่ช่วยให้แผลที่ลำไส้หายเร็วขึ้นการวัดปริมาณ EGF ในน้ำนมแม่โดยเทคนิคหลายวิธี พบว่ามีจำนวน 30-40 ng/ml เทียบกับในนมวัว มี 2 ng/ ml และไม่พบในนมผงหลายชนิด เมื่อเอานมแม่ไปแช่แข็งหรือแช่เย็นมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้อยมาก ( Iacopetta BJ. Grieu F, Horlsber M et al :Epidermal growth factor in human and bovine milk, Acta Paediatr 81:287,1992)ดังนั้น การให้นมแม่ จะช่วยลดโอกาสเกิดลำไส้อักเสบในเด็กได้เป็นอย่างดี
ระบบหลอดเลือดและการไหลเวียนโลหิต
- vascular endothelial growth factor (VEGF) ช่วยสร้างหลอดเลือด ลดภาวะตาบอดในทารกเกิดก่อนกำหนด (retinopathy of prematurity) ช่วยควบคุมการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต
สารนี้จะมีผลต่อการสร้างหลอดเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งในทารกที่คลอดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงในเรื่องตาบอดจากภาวะ retinopathy of prematurity (ROP) ซึ่งเกิดจากการให้ออกซิเจนและการทำงานที่ผิดปกติของการเจริญของหลอดเลือดของจอประสาทตา ดังนั้น การให้ทารกได้กินนมแม่จะช่วยให้กลไกการสร้างหลอดเลือดเป็นปกติและเชื่อว่าอาจลดภาวะแทรกซ้อนของการเกิด ROP ได้ - erythropoietin (Epo) กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เพิ่มความเข้มขันของเลือดและมีบทบาททำให้เซลล์ที่ผนังลำไส้ยึดติดแน่นขึ้น ช่วยในการพัฒนาการของลำไส้และป้องกันภาวะซีด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซีดจากการเสียเลือด ความผิดปกติภายในลำไส้ หรือการทำงานที่ไม่สมบูรณ์ของระบบการสร้างเม็ดเลือด ซึ่งจะมีผลทำให้การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของทารกผิดปกติ การให้ erythropoietin จะช่วยเพิ่มการความเข้มข้นของเลือดได้ด้วย แต่ทั้งนี้ก็จำเป็นต้องให้ธาตุเหล็กเสริมอย่างเพียงพอ
นอกจากนี้ erythropoietin ยังช่วยให้รอยต่อของเซลล์ที่ผนังลำไส้เกาะติดกันแน่นขึ้น มีรายงานว่าอาจช่วยลดการติดเชื้อ HIV จากมารดาสู่ทารก และลดการเกิด ภาวะลำไส้อักเสบชนิดเนื้อตาย (necrotizing enterocolitis) ลงได้
ระบบประสาทในทางเดินอาหาร
- neuronal growth factor กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ โดยเฉพาะในทารกเกิดก่อนกำหนด
การเติบโตของเนื้อเยื่อ
- insulin-like growth factor (IGF-I, IGF-II) พบมากในหัวน้ำนม (Colostrum) มีความสัมพันธ์กับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และสามารถช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของทารก
ระบบต่อมไร้ท่อ
- calcitonin มีผลต่อการเติบโตและการสร้างกระดูก โดยเซลล์ประสาทในทางเดินอาหารจะมีตัวรับฮอร์โมน calcitonin ที่จะเกิดปฏิกิริยาและทำให้ออกฤทธิ์กระตุ้นการสร้างกระดูกได้
- somatostatin ปกติมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโต เมื่อได้รับผ่านเข้าสู่ทางเดินอาหารจะถูกย่อยทำลายและไม่ส่งผ่านเข้าสู่ผนังลำไส้ แต่เมื่ออยู่ในน้ำนม น้ำนมจะป้องกันการย่อยทำลาย ทำให้สามารถออกฤทธิ์ในช่องทางเดินอาหารได้ สำหรับบทบาทหน้าที่ของ Somatostatin ต่อทารกยังไม่ชัดเจน
- adiponectin จะช่วยควบคุมการเผาผลาญลดการอักเสบและ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคอ้วนเมื่อทารกเดิบโตขึ้น
- นอกจากนี้ยังมี leptin, resistin และ ghrelin ซึ่งเป็นฮอว์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการหิว-อิ่ม การสร้างพลังงาน ส่วนประกอบของร่างกายและการสร้างอาหาร
สารที่ส่งเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย
Cytokine
เป็นเปปไทด์ที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้น เพื่อตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น แบ่งเป็น
1. กลุ่มที่ต่อต้านการอักเสบ
- transfroming growth factor-β (TGF-β) ควบคุมการอักเสบ ช่อมแซมบาดแผล และป้องกันภาวะภูมิแพ้
- granulocyte-colony stimulating factor (G-CSF) ช่วยพัฒนาการทำงานของลำไส้ ป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด
2. กลุ่มที่กระตุ้นการอักเสบ
- tumor necrosis factor-α (TNF-α), interieukin 6 (IL-6), interleukin 8 (IL-8) และ interferon (IFN)
อิมมูโนโกลบูลิน
ที่สำคัญได้แก่ secretory IgA พบในนมแม่ระยะแรก ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดท้องเสียได้ถึง 9 เท่าเมื่อเทียบกับทารกที่ไม่ได้รับนมแม่
โอลิโกแชคคาไรด์ (oligosaccharide)
เป็นพรีไบโอติกที่กระตุ้นการเติบโตจุลินทรีย์สุขภาพในลำไส้
โปรตีนอื่นๆ ที่ช่วยต่อต้านเชื้อโรค
ได้แก่ lactoferrin, lactadherin. bile salt stimulated lipase (BSSL), haptocorrin
สรุป
จะเห็นได้ว่า นอกจากสารอาหารทั่วๆไปแล้ว นมแม่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่ใช่สารอาหาร (non-nutritional component) หรือส่วนประกอบทางชีวภาพ (bioactive components) ที่ออกฤทธิ์ต่อกระบวนการทางชีวภาพ หรือเป็นสารตั้งต้นที่มีผลต่อกระบวนการทำงานต่างๆ ของร่างกายด้วย ซึ่งสารต่างๆพิเศษเหล่านี้ อาจจะไม่สามารถปรับสูตรจากนมวัว หรือนมผสมต่างๆให้มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับนมแม่ได้ ดังนั้น หากไม่ได้มีข้อห้ามในการให้นมแม่ต่อทารก ก็ควรที่จะพยายามให้นมแม่ได้นานที่สุดเท่าที่จะสามารถให้ได้ โดยแนะนำว่าอย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆต่อเนื่อง
อ้างอิง :
- ฐานิตรา ตันติเตมิท. (2559). ส่วนประกอบสำคัญของนมแม่และการเปลี่ยนแปลงในภาวะต่างๆ. ใน เวชปฏิบัติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ Clinical Practice of Breastfeeding (พิมพ์ครั้งที่ 1)
- พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล. (2017). ของดีที่มีเฉพาะนมแม่เท่านั้น ตอนที่ 4. สืบค้นทาง Online เมื่อ 7 ธค 2566 จาก https://thaibf.com/ของดีที่มีเฉพาะนมแม่เท-2/
- รศ.นพ.ภาวิน พัวพรพงษ์. (2013). สารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภาพในนมแม่ที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิต. สืบค้นทาง Online เมื่อ 7 ธค 2566 จาก http://guruobgyn.com/สารที่ออกฤทธิ์ทางชีวภา-6/