เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคอะไรได้บ้าง
การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ทำให้มีอาการผิดปกติได้หลากหลาย เช่น หากเลือดออกมีปริมาณมาก ก็จะออกมาเป็นลิ่มเลือด หรือเป็นเลือดสด แต่หากเลือดออกปริมาณน้อย ก็จะมีอาการตกขาวปนเลือด ตกขาวเป็นเลือดเก่าๆสีคล้ำ หรือเป็นสีน้ำตาล ซึ่งสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดมีได้จากหลายสาเหตุ บทความนี้ จะเน้นให้ความสำคัญสำหรับการติดเชื้อในอวัยวะของเพศหญิง เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก โพรงมดลูก หรืออุ้งเชิงกราน ที่อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ได้แก่ การติดเชื้อโรคต่างๆ
การติดเชื้อที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
ปากมดลูกอักเสบ (Cervicitis) หรือ ช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis)
Cervicitis คือ การอักเสบของปากมดลูก (Cervix) ซึ่งเป็นส่วนล่างของมดลูกที่เปิดเข้าสู่ช่องคลอด ส่วนช่องคลอดอักเสบ (Vaginitis) คืออวัยวะที่อยู่ถัดออกมาจากปากมดลูก อาการอักเสบของสองอวัยวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การระคายเคือง หรือการบาดเจ็บ บางครั้งอาจไม่มีอาการชัดเจน แต่บางคนอาจมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ตกขาวที่มีสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปวดท้องน้อย มีเลือดออกผิดปกติ อาจมีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะหรือขณะมีเพศสัมพันธ์
สาเหตุของปากมดลูกอักเสบ และช่องคลอดอักเสบ
- การติดเชื้อจากเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส หรือโปรโตซัว ซึ่งอาจเป็น หรือไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ได้
- แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคหนองในเทียม (Chlamydia, Mycoplasma, Ureaplasma) และหนองในแท้ (Gonorrhea)
- ไวรัส เช่น ไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งเกี่ยวข้องกับมะเร็งปากมดลูก และไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus, HSV)
- โปรโตซัว เช่น Trichomonas vaginalis
- เชื้อรา เช่น การติดเชื้อ Candida (เชื้อราในช่องคลอด)
- การระคายเคืองจากการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น
- การใช้ผลิตภัณฑ์ สบู่ น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือน้ำหอมที่มีสารเคมีรุนแรง
- การใช้อุปกรณ์ทางเพศ การใช้ถุงยางอนามัยหรืออุปกรณ์ทางเพศที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองหรือบาดเจ็บ
- การทำสวนล้างช่องคลอด การสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินไปอาจทำลายสมดุลของจุลชีพในช่องคลอด
การรักษาปากมดลูกอักเสบ และช่องคลอดอักเสบ
ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอักเสบ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้ามีการติดเชื้อ หรือให้คำแนะนำเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
หนองในเทียม ชนิด Chlamydia trachomatis
หนองในเทียม คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย Chlamydia trachomatis เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยหนุ่มสาว จะไม่มีอาการชัดเจนในช่วงแรก แต่หากมีอาการก็จะมีอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงได้แก่ ตกขาวผิดปกติ ปวดท้องน้อยหรือปวดในอุ้งเชิงกราน มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ในผู้ชาย ส่วนใหญ่อาจจะไม่มีอาการ อาจมีน้ำหนองไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ อัณฑะบวม เจ็บ หรือมีอาการไม่สบาย
สาเหตุของหนองในเทียม ชนิด Chlamydia trachomatis
Chlamydia สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านทาง การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศของผู้ที่ติดเชื้อ การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในระหว่างการคลอด ทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาหรือปอดได้
การรักษาหนองในเทียม ชนิด Chlamydia trachomatis
รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ซึ่งการรักษาควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรแจ้งคู่นอนให้เข้ารับการตรวจและรักษาด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
อ่านเพิ่มเติม : Chlamydia trachomatis โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาการน้อย แต่ปัญหาเยอะ
หนองในเทียม ชนิด Ureaplasma vaginitis
Ureaplasma vaginitis คือการอักเสบของช่องคลอดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Ureaplasma urealyticum หรือ Ureaplasma parvum เชื้อ Ureaplasma เป็นเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็กที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งผู้ชายและผู้หญิง ในบางกรณี เชื้อ Ureaplasma สามารถทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ เชื้อนี้ การตรวจด้วยวิธีมาตรฐานทั่วไปจะไม่สามารถตรวจพบได้ง่ายนัก ลักษณะอาการทั้งในเพศชาย และหญิง อาการจะเป็นไม่รุนแรงมากนัก แต่อาจทำให้มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดได้
สาเหตุของหนองในเทียม ชนิด Ureaplasma vaginitis
Ureaplasma สามารถแพร่เชื้อได้เหมือนกับหนองในเทียม Chlamydia คือ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในระหว่างการคลอด ทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาหรือปอดได้ นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุของน้ำคร่ำรั่ว และการคลอดก่อนกำหนดได้
การรักษาหนองในเทียม ชนิด Ureaplasma vaginitis
รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ซึ่งการรักษาควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรแจ้งคู่นอนให้เข้ารับการตรวจและรักษาด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
หนองในแท้ (Gonorrhea)
มีอาการ วิธีการติดต่อ เหมือกันกับหนองในเทียม (Chlamydia) แต่ว่าอาการมักจะรุนแรง และชัดเจนกว่า หนองในแท้ คือ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากแบคทีเรีย Neisseria gonorrhea เป็นการติดเชื้อที่พบได้บ่อยและสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่งผลกระทบต่อบริเวณต่างๆ ของร่างกาย เช่น ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก ทวารหนัก คอ และดวงตา อาจจะไม่มีอาการชัดเจนในช่วงแรกแต่ก็สามารถติดต่อได้แม้จะไม่มีอาการ แต่หากมีอาการก็จะมีอาการที่พบบ่อยในผู้หญิงได้แก่ ตกขาวผิดปกติ ปวดท้องน้อยหรือปวดในอุ้งเชิงกราน มีเลือดออกระหว่างรอบเดือนหรือหลังมีเพศสัมพันธ์ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ในผู้ชาย ส่วนใหญ่อาจจะไม่มีอาการ อาจมีน้ำหนองไหลออกจากปลายอวัยวะเพศ เจ็บหรือแสบขณะปัสสาวะ อัณฑะบวม เจ็บ หรือมีอาการไม่สบาย หากมีการติดเชื้อที่คอและทวารหนัก จะมีอาการเจ็บคอ หรือมีอาการท้องเสียหรือมีเลือดออกจากทวารหนัก หากติดเชื้อที่ทวารหนัก
สาเหตุของหนองในเทียม ชนิด Neisseria gonorrhea
Gonorrhea สามารถแพร่เชื้อได้ผ่านทาง การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก หรือทางปากกับผู้ที่ติดเชื้อ การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศของผู้ที่ติดเชื้อ การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกในระหว่างการคลอด ทำให้ทารกเกิดการติดเชื้อที่ตาหรือปอดได้ เช่นเดียวกับการติดเชื้อหนองในเทียม
การรักษาหนองในเทียม ชนิด Neisseria gonorrhea
รักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะฉีด ได้แก่ เซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone) ร่วมกับการรับประทานยา อะซิโทรมัยซิน (Azithromycin) หรือ ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ซึ่งการรักษาควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรแจ้งคู่นอนให้เข้ารับการตรวจและรักษาด้วย เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ
เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ (Endometritis) และ อุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic inflammatory disease (PID))
Endometritis คือ การอักเสบของเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) ซึ่งเป็นชั้นในสุดของผนังมดลูก ส่วนอุ้งเชิงกรานอักเสบ จะเป็นการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายในของผู้หญิง ซึ่งรวมถึงมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และอวัยวะอื่นๆในอุ้งเชิงกราน สาเหตุหลักของการเกิดของโรคทั้งสองมักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเกิดขึ้นหลังการคลอดบุตร การแท้งบุตร หรือการทำหัตถการที่เกี่ยวข้องกับมดลูก เช่น การใส่ห่วงอนามัย (IUD) การขูดมดลูก (D&C) หรือการผ่าตัดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ มีลักษณะอาการผิดปกติ ได้แก่ ปวดท้องน้อย มีไข้ ตกขาวผิดปกติ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ มีเลือดออกผิดปกติ รู้สึกไม่สบายหรืออ่อนเพลีย บางกรณีหากการติดเชื้อรุนแรงมาก อาจมีความดันโลหิตต่ำ และช็อกได้
สาเหตุของเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ และ อุ้งเชิงกรานอักเสบ
สาเหตุหลักของเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ และอุ้งเชิงกรานอักเสบ มักมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ตามปกติในช่องคลอด หรือเชื้อแบคทีเรียที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งลุกลามขึ้นไปยังมดลูกและก่อให้เกิดการติดเชื้อ โดยการติดเชื้อหลังการคลอดบุตร ทั้งการคลอดบุตรทางช่องคลอดหรือการผ่าตัดคลอดอาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อ การทำหัตถการทางการแพทย์ เช่น การใส่ห่วงอนามัย การขูดมดลูก หรือการตรวจทางสูตินรีเวชที่ไม่สะอาด
การรักษาเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ และ อุ้งเชิงกรานอักเสบ
การรักษา Endometritis มักใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดการติดเชื้อ หากมีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เทคนิคตรวจการติดเชื้อที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
การตรวจโรคติดเชื้อเกี่ยวกับอวัยวะเพศ มีอยู่หลายวิธี สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความนี้
สาเหตุอื่นๆ นอกจากการติดเชื้อที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
สาเหตุที่เกิดจากมะเร็ง หรือรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง (Cancers and precancerous conditions)
- มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer)
- มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial cancer (uterine cancer))
- ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ (Endometrial hyperplasia)
- มะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)
- มะเร็งเนื้อมดลูก (Uterine sarcoma)
- มะเร็งช่องคลอด (Vaginal cancer)
สาเหตุจากฮอร์โมน หรือต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติ (Endocrine system factors)
- ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ , ไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism (overactive thyroid))
- ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยผิดปกติ (Hypothyroidism (underactive thyroid))
- ภาวะมีถุงน้ำในรังไข่ (Polycystic ovary syndrome (PCOS))
- การเริ่ม , เปลี่ยน หรือหยุด ยาคุมกำเนิด (Stopping or changing birth control pills)
- การได้รับยาฮอร์โมนสำหรับวัยทอง (Withdrawal bleeding, a side effect of menopausal hormone therapy)
สาเหตุจากการตั้งครรภ์ และอวัยวะเพศ (Fertility and reproduction factors)
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic pregnancy)
- ระดับฮอร์โมนที่ผันผวน (Fluctuating hormone levels)
- การแท้งบุตร (Miscarriage, Abortion)
- วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy) ที่อาจจะมีเลือดออกจากภาวะแท้งคุกคาม (Threatened abortion)
- รอบการตกไข่ที่ไม่สม่ำเสมอ (Random ovulatory cycles)
- การมีเพศสัมพันธ์ (Sexual intercourse) อาจมีการบาดเจ็บต่ออวัยวะเพศ ทำให้มีเลือดออกได้
- การฝ่อของช่องคลอด (Vaginal atrophy) หรือเรียกอีกอย่างว่ากลุ่มอาการทางเดินปัสสาวะของวัยหมดประจำเดือน (genitourinary syndrome of menopause)
สาเหตุจากการติดเชื้อ (Infections)
กล่าวไว้ในรายละเอียดของบทความด้านบนแล้ว
สาเหตุจากภาวะทางการแพทย์ (Medical conditions)
- โรคเซลิแอค (Celiac disease)
- โรคอ้วน (Obesity)
- โรคเรื้อรังรุนแรง เช่น โรคไตหรือโรคตับ (Severe systemic disease, such as kidney or liver disease)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
- โรคที่มีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand disease)
สาเหตุจากยารักษาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medications and devices)
- ยาคุมกำเนิด (Birth control pills)
- การลืม (Forgotten) หรือการทิ้งไว้ (retained) ผ้าอนามัยแบบสอด (tampon)
- ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device, IUD)
- ยาทาม็อกซิเฟน (Tamoxifen, Soltamox) สำหรับรักษามะเร็งเต้านม
- การมีเลือดออกจากการถอนยา (Withdrawal bleeding) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการบำบัดฮอร์โมนวัยหมดประจำเดือน (menopausal hormone therapy)
สาเหตุจากเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งและสภาพมดลูกอื่น ๆ (Noncancerous growths and other uterine conditions)
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis)
- ติ่งเนื้อที่ปากมดลูก (Cervical polyps)
- ติ่งเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial polyps)
- เนื้องอกในมดลูก (Uterine fibroids)
- ติ่งเนื้อในมดลูก (Uterine polyps)
สาเหตุจากการบาดเจ็บที่บริเวณอวัยวะเพศ (Trauma)
- การบาดเจ็บจากแรงกระแทกหรือการบาดเจ็บจากการเจาะที่ช่องคลอดหรือปากมดลูก (Blunt trauma or penetrating injury to the vagina or cervix)
- การผ่าตัดทางสูตินรีเวชหรือการคลอดบุตรในอดีต (Past obstetric or gynecological surgery) ซึ่งรวมถึงการผ่าคลอด (cesarean sections)
- การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual abuse)
เทคนิคการสืบค้นสาเหตุอื่นๆ นอกจากการติดเชื้อที่ทำให้เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
เลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด อาจต้องคิดถึงเรื่องสาเหตุอื่นๆด้วย โดยปกติทางการแพทย์จะมีแนวทางการวินิจฉัยเรื่องเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด หรือเลือดออกผิดปกติจากมดลูก ตามแนวทางที่เรียกว่า PALM COEIN (ปาล์ม คอยน์)
PALM : Polyp, Adenomyosis, Leiomyoma, Malignancy / hyperplasia เหล่านี้จะเป็นสาเหตุทางโครงสร้างในมดลูกที่สามารถตรวจวัดได้จากภาพทางรังสี/อัลตราซาวด์ หรือผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
COEIN : Coagulopathy, Ovulatory disorders, Endometrium, Iatrogenic, และ Not classified เหล่านี้จะเป็นความผิดปกติที่ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างในมดลูกหรือตรวจไม่ได้จากภาพวินิจฉัยหรือผลชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา
สำหรับสาเหตุต่างๆ ด้านบน สามารถอ่านเพิ่มได้จากบทความของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ที่นี่ https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/34499/
Reference
References
1. Vaginal bleeding [Internet]. Mayo Clinic. 2023 [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://www.mayoclinic.org/symptoms/vaginal-bleeding/basics/causes/sym-20050756
2. Cervicitis [Internet]. Mayo Clinic. 2023 [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cervicitis/symptoms-causes/syc-20370814
3. Abnormal Uterine Bleeding [Internet]. Cmu.ac.th. [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://w1.med.cmu.ac.th/obgyn/lessons/34499/
4. Endometritis [Internet]. Medlineplus.gov. [cited 2024 Jul 19]. Available from: https://medlineplus.gov/ency/article/001484.htm