มะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตมากที่สุด ได้แก่ โรคมะเร็งเต้านม, มะเร็งต่อมลูกหมาก, มะเร็งลูกอัณฑะ, มะเร็งต่อมไทรอยด์, มะเร็งผิวหนัง, มะเร็งปากมดลูก และ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin
แม้ว่าจะมะเร็งจะเป็นโรคที่รักษาให้หายได้ยาก แต่ว่ามะเร็งบางชนิดก็มีอัตราการหายขาดหลังจากการรักษาสูงกว่ามะเร็งอื่นๆ ในบทความนี้ เราจะพูดถึงมะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตหลังการรักษา 5 ปี ที่มากที่สุด 7 อันดับ แต่เนื่องจากทีมงานของเราสืบค้นข้อมูลในประเทศไทยไม่พบข้อมูลที่เพียงพอ (ส่วนใหญ่ข้อมูลในประเทศไทยมักจะเป็นข้อมูลเฉพาะพื้นที่ของแต่ละโรงพยาบาล) ทางทีมงานจึงได้ค้นที่มาของข้อมูลในบทความนี้จากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงเป็นข้อมูลแนวทางเท่านั้น แต่อาจจะไม่ตรงกับค่าสถิติในประเทศไทย โดยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Hodgkin มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งต่อมไทรอยด์ มีอัตราการรอดชีวิตสูงสุดในระยะเวลา 5 ปี
แม้จะมีการลงทุนจำนวนมากและการวิจัยทั่วโลกเป็นเวลาหลายปี แต่มะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในสหรัฐอเมริกา สถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐ คาดการณ์ว่าจะมีการวินิจฉัยผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 1,800,000 รายทั่วสหรัฐอเมริกาในปี 2563 และจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 600,00 รายในปีดังกล่าว
การวินิจฉัยให้พบโรคตั้งแต่เนิ่นๆ และให้รักษาที่เหมาะสมและประสบความสำเร็จ อาจช่วยขจัดมะเร็งทั้งหมดออกจากร่างกายของบุคคลได้ แต่อย่างไรก็ตาม มะเร็งสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หลังการหายจากโรค บางครั้งอาจใช้เวลาหลายปีต่อมา ดังนั้น เป้าหมายการรักษามะเร็ง ณ ปัจจุบันก็คือการกำจัดตัวมะเร็งให้หมดไป โดยไม่ให้มะเร็งกลับมาเป็นซ้ำอีก ซึ่งมีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการรักษาโรคมะเร็งที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงประเภทของมะเร็งด้วย
เพื่อให้เข้าใจถึงโอกาสรอดชีวิตในโรคมะเร็งแต่ละประเภท นักวิจัยมักใช้สถิติที่เรียกว่าอัตราการรอดชีวิต 5 ปี ตัวเลขนี้หมายถึงเปอร์เซ็นต์ของผู้ที่รอดชีวิตเป็นเวลา 5 ปีภายหลังการวินิจฉัยโรคมะเร็ง โดยอัตราการรอดชีวิต 5 ปีนั้นไม่ได้บ่งชี้ว่าการรักษาได้ขจัดตัวมะเร็งออกทั้งหมดหรือไม่ และไม่ได้หมายความว่าคนที่รอดชีวิตเป็นเวลา 5 ปี จะหายสนิท แต่ตัวเลขนี้มีประโยชน์ในการเปรียบเทียบความรุนแรงสัมพัทธ์ของมะเร็งประเภทต่างๆ ซึ่งยิ่งเปอร์เซนต์การรอดชีวิตที่ 5 ปียิ่งเยอะ ก็แสดงว่าความรุนแรงของโรคนั้นอาจจะไม่มากเท่าโรคมะเร็งที่มีอัตรารอดชีวิตต่ำกว่า และ/หรือ การรักษาโรคมะเร็งนั้นง่ายกว่า เป็นต้น
ในบทความนี้ เราจะมาดู มะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตมากที่สุด ในระยะเวลา 5 ปี โดยอัตราการรอดชีวิตเหล่านี้มีไว้สำหรับโรคมะเร็งที่แพทย์วินิจฉัยในระยะเริ่มแรกเป็นหลัก
ที่มาภาพ : https://mgronline.com/daily/detail/9630000095661
1. มะเร็งเต้านม
มะเร็งที่มีอัตราการรอดชีวิตมากที่สุด อันดับหนึ่ง คือ มะเร็งเต้านม โดยอัตราการรอดชีวิตสัมพัทธ์ 5 ปีสำหรับมะเร็งเต้านมระยะที่ 0 และ 1 คือ 99–100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นผู้ที่เป็นมะเร็งระยะนี้และประเภทนี้มีโอกาสรอดชีวิตได้อย่างน้อย 5 ปีเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับคนที่ไม่มีอาการ
- ระยะ 0 หมายถึงการเจริญเติบโตของเซลล์ผิดปกติในเนื้อเยื่อเต้านมหรือก้อนเนื้อในเต้านม ในระยะนี้ แพทย์ไม่ถือว่าเป็นมะเร็ง แต่สามารถบ่งบอกถึงสัญญาณเริ่มต้นของมะเร็งได้
- ในระยะที่ 1 มะเร็งเต้านม มีเนื้องอกขนาดเล็กที่: ขนาดน้อยกว่า 2 เซนติเมตร และยังไม่แพร่กระจายไปยังบริเวณอื่นของร่างกาย
- อัตราการรอดชีวิต 5 ปี ของมะเร็งเต้ามนมระยะอื่นๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมข้อมูลได้ที่นี่
2. มะเร็งต่อมลูกหมาก
มะเร็งต่อมลูกหมากมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีในระยะที่ 1 และ 2 ที่สูงมาก เนื่องจากมะเร็งชนิดนี้จะโตช้ามากหรือไม่โตเลย และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีมาก มีโอกาสหายขาย โดยหลังการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากเรียบร้อยแล้วก็จะได้รับการนัดตรวจติดตามเมื่อเวลาผ่านไปอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่ามีขนาดเพิ่มขึ้นหรือแพร่กระจายหรือไม่
3. มะเร็งลูกอัณฑะ
อัตราการรอดชีวิต 5 ปีสำหรับมะเร็งอัณฑะคือ 99 เปอร์เซ็นต์ สำหรับเนื้องอกเฉพาะที่ในลูกอัณฑะที่ยังไม่แพร่กระจาย และ 96 เปอร์เซ็นต์สำหรับเนื้องอกซึ่งแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อหรือต่อมน้ำเหลืองใกล้กับลูกอัณฑะ โดยโรคนี้ในระยะแรกๆ แพทย์สามารถผ่าตัดเอาอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสองข้างออกเพื่อรักษาอาการได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีประโยชน์น้อยลงอย่างมากเมื่อมะเร็งแพร่กระจาย
4. มะเร็งต่อมไทรอยด์
มะเร็งต่อมไทรอยด์มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปี อยู่ที่ 98–100 เปอร์เซ็นต์ ในระยะที่ 1 และ 2
หน้าที่ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมในคอที่ผลิตฮอร์โมนเพื่อสนับสนุนการทำงานของร่างกายให้แข็งแรง มะเร็งต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่จะเติบโตช้า ซึ่งทำให้มีเวลาในการรักษามากขึ้น แม้ว่ามะเร็งจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ คอหอย การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก รวมถึงการกลื่นแร่ ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์
5. มะเร็งผิวหนัง ชนิด Melanoma
มีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 5 ปีประมาณร้อยละ 99 ในระยะที่ 1
มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งผิวหนังและมีอัตราการรอดชีวิตสูงเนื่องจากตรวจพบได้ง่าย บ่อยครั้งสามารถระบุและรักษามะเร็งผิวหนังได้ในระยะแรกของการลุกลาม ซึ่งจะเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้มาก อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ มะเร็งผิวหนังสามารถแพร่กระจายไปใต้ผิวหนังและรักษาได้ยากขึ้น
6. มะเร็งปากมดลูก
มะเร็งปากมดลูกมีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีสัมพันธ์กัน 92 เปอร์เซ็นต์ สำหรับระยะที่มะเร็งยังไม่มีการกระจาย ดังนั้นการตรวจหาตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วย PAP smear หรือ HPV testing ช่วยให้แพทย์สามารถพบ และรักษาเซลล์ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้ยังมีวิธีป้องกันด้วยการฉีดวัคซีน HPV ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย
อ่านเพิ่ม : การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต้วยตนเอง
7. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Hodgkin
มะเร็งต่อมน้ำเหลือง Hodgkin มีอัตราการรอดชีวิต 5 ปีประมาณ 92-95 เปอร์เซ็นต์ ในระยะที่ 1 และ 2
มะเร็งชนิดนี้มีอัตราการรอดชีวิตสัมพัทธ์สูงที่สุดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทั้งหมด โรคนี้ตอบสนองต่อการรักษาด้วยรังสีได้ดี ซึ่งหมายความว่าอัตราการรอดชีวิตยังคงอยู่ในระดับสูงสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลาม อย่างไรก็ตาม มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดอื่นอาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาได้ดีเท่ามะเร็งชนิดนี้เช่นกัน
อ่านเพิ่ม : 15 อาการที่บอกว่าคุณอาจเป็น “มะเร็ง”
สรุป
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคมะเร็งให้หายขาดได้ 100% อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ประสบผลสำเร็จอาจส่งผลให้มะเร็งทุเลาลง ซึ่งหมายความว่าโอกาสในการรอดชีวิตก็จะมีมากขึ้น ยาวนานขึ้น และโอกาสในการรอดชีวิตนี้สัมพันธ์โดยตรงกับระยะของมะเร็งที่เป็น ดังนั้น การตรวจหาและรักษามะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสการหายจากโรค หรือช่วยยืดระยะเวลาในการเกิดโรคมะเร็งซ้ำได้อย่างมาก
ที่มา :
Kandola, A. (2018, August 7). Top 7 most curable cancers based on 5-year relative survival rate. Medicalnewstoday.com. https://www.medicalnewstoday.com/articles/322700
วราภรณ์ ภูธิวุฒิ วท.ม., อิสระ เจียวิริยบุญญา พ.บ.. อัตราการรอดชีพผู้ป่วยโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก ที่เข้ารับการรักษาปี 2553 ในโรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี. โรงพยาบาลมะเร็งอุดรธานี https://www.udch.go.th/uploads/doc/Research/2562/1.อัตราการรอดชีพผู้ป่วย%205%20โรค(ลงเว็บ).pdf