Site icon HealthSmile.co.th ตรวจสุขภาพ

น้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์ แก้ไขอย่างไร?

น้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์ แก้ไขอย่างไร?

น้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์ แก้ไขอย่างไร?

คุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ อาจมีอาการผิดปกติของการตั้งครรภ์บางอย่างที่คาดไม่ถึง ภาวะที่มี น้ำลายมากเกินไป (ptyalism) ในหญิงตั้งครรภ์ ก็เป็นหนึ่งในอาการแปลกๆที่พบได้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่มักจะไม่อันตรายใดๆ

ภาวะที่มี น้ำลายที่มากเกินไป (ptyalism) คืออะไร?

Ptyalism คือภาวะที่คุณสร้างน้ำลายมากเกินไป โดยปกติ คนจะมีการสร้างน้ำลายวันละ 1-1.5 ลิตร แต่คนที่เป็นโรค ptyalism อาจผลิตน้ำลายได้ถึงสองลิตรต่อวัน ภาวะนี้ อาจเรียกอีกอย่างว่า sialorrhea มักพบในระยะแรกของการตั้งครรภ์

Ptyalism จะไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยของคุณและไม่ใช่อาการร้ายแรง แต่อาการเหล่านี้ก็มักจะทำให้หงุดหงิดและไม่สบายใจได้

โอกาสเกิดภาวะน้ำลายที่มากเกินไป

ในตุรกี อาการน้ำลายไหลมากเกินไปเป็นหนึ่งใน 5 อันดับแรกของอาการไม่สบายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานประมาณ 0.08% แต่ในญี่ปุ่นพบว่ามีรายงานสูงถึง 0.3% ของผู้หญิงตั้งครรภ์เลยทีเดียว

จากการค้นข้อมูลของรายงานในประเทศไทย ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับโอกาสเกิดภาวะน้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์

น้ำลายมากเกินไป ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก

Ptyalism เป็นเรื่องปกติในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ หากมีน้ำลายมากจนรำคาญคุณอาจต้องบ้วนน้ำลายทิ้งใส่ทิชชู่บ่อยๆ และรสขมของน้ำลายอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ อาการเหล่านี้จะดีขึ้นในไตรมาสที่สอง และจากรายงานผู้ป่วยจนถึงปัจจุบัน อาการนี้จะหาย 100% หลังคลอดบุตร

สาเหตุของน้ำลายมากเกินไป

เช่นเดียวกับสิ่งต่างๆ ส่วนใหญ่ในการตั้งครรภ์ ฮอร์โมน betaHCG ซึ่งเป็นฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุของน้ำลายที่มากเกินไป นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการเจ็บป่วยจากการตั้งครรภ์ เนื่องจากอาการคลื่นไส้อาจทำให้ผู้หญิงพยายามกลืนน้อยลง โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะ hyperemesis gravidarum (อาการแพ้ท้องรุนแรง)

สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ อาการเสียดท้องซึ่งพบได้บ่อยในการตั้งครรภ์ และสารระคายเคือง เช่น ควัน สารพิษ และอาการทางการแพทย์บางอย่าง

การรักษาน้ำลายมากเกินไป

ไม่มียา หรือการรักษาโดยเฉพาะสำหรับ ptyalism แต่คุณแม่อาจบรรเทาอาการได้โดย

  • ผู้หญิงบางคนเคี้ยวหมากฝรั่งและกินลูกกวาดแข็งเพื่อบรรเทาอาการ แต่การบริโภคขนมหวานจำนวนมากในช่วง 2 ไตรมาสแรกอาจทำให้เกิดโรคอ้วนในทารกแรกเกิด/วัยเด็กเพิ่มขึ้นจากการได้รับขนมหวานก่อนคลอด
  • ผู้หญิงบางรายที่มีอาการ ptyalism ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน มีแนวโน้มที่จะได้รับยาแก้อาเจียน และยาแก้แพ้ท้องจากแพทย์ (อ่านเพิ่มเติม : อาหารสำหรับคนแพ้ท้อง ที่ดีต่อคุณแม่และลูกในครรภ์)
  • การรับประทานอาหารมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งมากขึ้น
  • แปรงฟันและใช้น้ำยาบ้วนปากหลายครั้งต่อวัน
  • เคี้ยวหมากฝรั่งไม่มีน้ำตาล
  • จิบน้ำเล็กๆ น้อยๆ บ่อยๆ
  • มีรายงานการใช้ Clonidine hydrochloride ซึ่งเป็นยาลดความดันโลหิต มาทดลองรักษาแล้วได้ผลดี แต่ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะ น้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์ กับโรคของมารดาและทารกในครรภ์

มีอาการหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้ เช่น ต่อมน้ำลายบวม ภาวะแพ้ท้องรุนแรง เป็นต้น ทำให้การนอนหลับลดลง ความเหนื่อยล้า ความอยากอาหารลดลง และการรับประทานอาหารที่ลดลง

ptyalism มีความสัมพันธ์กับ เพศชายของทารกในครรภ์ และการคลอดบุตรที่มีน้ำหนักน้อยด้วย แต่สาเหตุที่ทารกน้ำหนักน้อย น่าจะเป็นจากภาวะแพ้ท้องรุนแรงมากกว่า และไม่น่าจะเกิดจากภาวะน้ำลายมาเกินไปเองโดยตรง

ไม่พบความแตกต่างระหว่างประชากรที่มีหรือไม่มีภาวะ ptyalism ในอายุของมารดา ส่วนสูง น้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ น้ำหนักเพิ่มขณะตั้งครรภ์ หรืออายุครรภ์ขณะคลอด และโดยส่วนใหญ่ภาวะนี้ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียต่อการตั้งครรภ์

สรุป

ภาวะ น้ำลายมากเกินไปในหญิงตั้งครรภ์ Ptyalism Gravidarum มักไม่ได้รับความสนใจจากแพทย์มากนักในการฝากครรภ์ เนื่องจากถือว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการที่รุนแรง ควรแจ้งแพทย์เสมอ เพื่อหาสาเหตุอื่น และรับการรักษาร่วมกัน

References

De Braga, V., Dahdouh, E. M., & Balayla, J. (2022). Successful treatment of ptyalism gravidarum with clonidine hydrochloride: A case report. Case Reports in Women’s Health34(e00409), e00409. https://doi.org/10.1016/j.crwh.2022.e00409

Excessive saliva in pregnancy. (2011, June 2). NCT (National Childbirth Trust); NCT. https://www.nct.org.uk/pregnancy/worries-and-discomforts/common-discomforts/excessive-saliva-pregnancy

Thaxter Nesbeth, K. A., Samuels, L. A., Nicholson Daley, C., Gossell-Williams, M., & Nesbeth, D. A. (2016). Ptyalism in pregnancy – a review of epidemiology and practices. European Journal of Obstetrics, Gynecology, and Reproductive Biology198, 47–49. https://doi.org/10.1016/j.ejogrb.2015.12.022

ดื่มน้ำมากๆ รักษาความสะอาดช่องปาก ป้องกัน “นิ่วน้ำลาย” – รามา แชนแนล. (2016, October 17). รามา แชนแนล. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ดื่มน้ำมากๆ-รักษาความสะ/

Exit mobile version