การตรวจวิตามินดี

เราตรวจวิตามินดีไปทำไม ?

     เพื่อดูว่าเรามีภาวะขาดวิตามินดีหรือไม่ หรือประเมินว่าวิตามินดีที่ทานอยู่นั้นมีขนาดที่เหมาะสมหรือไม่

เมื่อไหร่ถึงต้องตรวจวิตามินดี ?

     แพทย์จะทำการตรวจระดับของวิตามินดี เมื่อคุณมีอาการ หรืออาการแสดงเช่น ระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส

หรือฮอร์โมนพาราไทรอยด์ผิดปกติ หรือมีอาการของโรคกระดูกพรุน เป็นต้น ดังนั้นหากคุณมีอาการหรือภาวะดังกล่าว

แพทย์จะทำการตรวจวิตามินดี เพื่อพิจารณาการรักษาภาวะขาดวิตามินดี หรือเพื่อประเมินการรักษาอีกด้วย

ต้องใช้อะไรในการตรวจ และต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษหรือไม่ ?

     ทำการเจาะเลือดคล้ายกับการตรวจตรวจเลือดปกติทั่วไป และการตรวจวิตามินดีไม่ต้องมีการเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ

ในการตรวจวิตามินดีประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ?

     ในการตรวจจะทำการตรวจวิตามินดีในกระแสเลือด ที่เป็งองค์ประกอบสำคัญในการเจริญเติบโต รวมถึงการสร้างกระดูกและฟัน

     ซึ่งวิตามินดีที่อยู่ในร่างกาย มี 2 แบบคือ 25-hydroxyvitamin D และ 1,25-dihydroxyvitamin D ที่มีความแตกต่างกันในโครงสร้าง ในที่นี้จะขอเรียกว่า D-25 (ดี-สองห้า) และ D-1-25 (ดี-หนึ่ง-สองห้า) ตามลำดับ

     วิตามินที่ทำการตรวจได้โดยทั่วไป คือ วิตามิน D-25 (ซึ่งประกอบไปด้วย D2 และ D3) เนื่องจากเป็นชนิดที่พบมากที่สุดในเลือด มีเวลาอยู่ในเลือดนาน แต่ D-25 นั้นไม่ใช่รูปที่ออกฤทธิ์ได้ แต่จะออกฤทธิ์เมื่อถูกเปลี่ยนให้อยู่ D-1-25 ก่อน

แหล่งของวิตามินดี

แหล่งของวิตามินดีที่ร่างกายจะได้รับมาจาก 2 ที่คือ 

     1) สังเคราะห์เองในร่างกาย จากการกระตุ้นของแสงแดด 

     2) ได้รับจากอาหารหรือวิตามินเสริม โดยวิตามินดีที่ได้รับจากแต่ละแหล่งมีความแตกต่างกันเล็กน้อยประกอบด้วย วิตามินดีที่ได้จากพืช หรือวิตามินเสริมคือ D2 (เออโกแคลซิเฟอรอล) วิตามินดีที่ได้จากสัตว์ หรือที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นมาคือ D3 (โคลีแคลซิเฟอรอล) แต่วิตามินทั้งสองเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็น D-1-25 โดยตับและไต ที่ออกฤทธ์ได้พอๆกัน

     ซึ่งในการตรวจวิตามินดีในสมัยก่อน ไม่สามารถแยกความแตกต่างของวิตามินที่ได้จากพืช (D2) และจากสัตว์ (D3) ได้ทำให้รายงานได้เฉพาะผลรวมของวิตามินทั้งสองชนิด แต่ในปัจจุบันสามารถแยกปริมาณของวิตามินทั้งสองชนิดได้

หน้าที่ของวิตามินดี

     หน้าที่ของวิตามินดีที่ช่วยในการเจริญเตติบโต รวมถึงสร้างกระดูกและฟันแล้วนั้น ยังทำงานร่วมกับแร่ธาตุอื่นในร่างกายคือ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม ดังนั้นหากขาดวิตามินดีแล้ว จะทำให้ร่างกายไม่สามารถสร้าง รวมถึงซ่อมแซมกระดูกได้อย่างปกติ เป็นเหตุให้เกิดโรคกระดูกอ่อนในเด็ก หรือกระดูกอ่อนในผู้ใหญ่ นอกจากนี้ในเรื่องของการเจริญเติบโตสามารถบกพร่องได้เช่นกัน โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน และการเกิดมะเร็ง

     จากการสำรวจในระดับนานาชาติพบว่า 1 ใน 4 ของชาวอเมริกันเสี่ยงต่อการขาดวิตามินดี และ 8% มีความเสี่ยงที่เกิดภาวะขาดวิตามินดีจากการได้รับอย่างไม่เพียงพอ โดยมีความเสี่ยงมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ คนอ้วน คนที่ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ (แสงแดดที่ควรได้รับคือ สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 5 – 20 นาที) คนผิวดำ และคนที่ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้วิตามินดีลดลง ดังนั้นบุคคลเหล่านี้อาจต้องพิจารณาการทานวิตามินดีเสริม หรือทานอาหารที่มีวิตามินดีสูงขึ้น

ประโยชน์จากการตรวจวิตามินดีคืออะไร ?

     – เพื่อประเมินว่าปัญหาของกระดูก หรือระดับของแร่ธาตุในร่างกายที่ผิดปกติเกิดจากการขาดวิตามินดีหรือมีวิตามินดีสูงเกินไปหรือไม่

     – เพื่อช่วยในการวินิจฉัย หรือติดตามอาการของต่อมพาราไทรอยด์ เนื่องจากฮอร์โมนพาราไทรอยด์และวิตามิดีต้องทำงานร่วมกัน

     – เพื่อดูความเสี่ยงของภาวะขาดวิตามินดีของคนที่มีความเสี่ยงสูงจากคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ

     – ประเมินภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยที่มีโรคที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมไขมัน หรือได้รับการผ่าตัดที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เนื่องจากวิตามินดีละลายในไขมัน ดังนั้นหากดูดซึมไขมันไม่ได้ จะทำให้ขาดวิตามินดีไปด้วย

     – เพื่อติดตามการรักษาหลังจากการให้วิตามินดีเสริมไปแล้ว รวมถึงแร่ธาตุอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันได้แก่ แคลเซียมฟอสฟอรัส และแมกนีเซียม

เมื่อไหร่ถึงควรตรวจวิตามินดี ?

     ในการตรวจ D-25 จะทำการตรวจเมื่อผู้ป่วยมีภาวะขาดแคลเซียม หรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกับกระดูกทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ซึ่งแพทย์สงสัยว่าอาการดังกล่าวเกิดจากการขาดวิตามินดี พิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงเช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้าน ซึ่งมีความเสี่ยงในการได้รับแสงแดดพียงพอ ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้ป่วยที่ผ่าตัดกระเพาะอาหาร หรือมีปัญหาที่การดูดซึมอาหาร ผู้ที่ให้นมบุตร รวมถึงกลุ่มคนผิวดำเป็นต้น โดยส่วนมากแพทย์จะให้ตรวจ D-25 ก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน

     สำหรับการตรวจ D-1-25 นั้นจะตรวจในผู้ป่วยมีโรคไตเรื้อรัง เนื่องจากเอนไซม์ที่เปลี่ยน D-25 เป็น D-1-25 สร้างมาจากไต ดังนั้นหากไตไม่ดี จะไม่มีเอนไซม์ที่เปลี่ยน D-25 ให้อยู่ในรูปที่ออกฤทธิ์ได้ตามไปด้วย นอกจากนี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะขาดแคลเซียม หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็อาจขาด D-1-25 ได้เช่นกัน

มีการแปลผลการตรวจอย่างไร ?

     ในการตรวจวิตามินดี ถึงแม้จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน แต่ทั่วไปแล้วจะยึดเกณฑ์คล้ายๆกันในการประเมิน โดยพิษที่เกิดจากวิตามินดีสูงเกินไปนั้นพบได้ยาก ส่วนมากแพทย์จึงเน้นการประเมินที่ภาวะขาดวิตามินดีมากกว่า

     ซึ่งทางสมาคมต่อมไร้ท่อได้ให้เกณฑ์ปกติของวิตามินดีในกระแสเลือดคือ 21 – 29 นาโนกรัม/ มิลลิลิตร ดังนั้นหากผู้ป่วยมีวิตามินดีในเลือดน้อยกว่า 20 นาโนกรัม/มิลลิลิตร จะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะขาดวิตามินดี แต่ในกรณีที่มากกว่า 30 นาโนกรัม/มิลลิลิตร ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตามการที่บอกว่าผู้ที่มีวิตามินดีในระดับปกติจะสามารถป้องกันโรคได้นั้นยังมีข้อถกเถียงและอยู่ในช่วงกำลังศึกษาอยู่

     ในคนที่มีวิตามิน D-25 ในเลือดต่ำนั้นสามารถแปลผลได้หลากหลายเช่น ได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ทานอาหารที่มีวิตามินดีน้อยเกินไป ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินดีได้ หรือใช้ยาบางอย่างเช่น ยากันชักที่รบกวนการสังเคราะห์วิตามินดีจากตับ ทำให้ D-25 ในเลือดต่ำลง จนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพได้เช่น เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น แต่สำหรับ D-25 สูงไปนั้นอาจบอกได้ว่ามีการให้ยาเสริมวิตามินดีมากเกินไป

     สำหรับผู้ที่มี D-1-25 ต่ำนั้นมักพบในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง และ D-1-25 สูงนั้นจะพบในผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูงเกินไป หรือมีโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองทำมีการสร้าง D-1-25 ที่อื่นเพิ่มเติมได้

มีเรื่องอื่นที่ควรทราบเกี่ยวกับการตรวจวิตามิดีหรือไม่ ?

     การที่วิตามินดีต่ำเกินไปเป็นสิ่งที่เกิดปัญหาสุขภาพ แต่หากวิตามินสูงเกินไปก็ไม่ดีเช่นกัน โดยหากสูงร่วมกับแคลเซียมแล้ว อาจทำให้เกิดการสร้างหินปูนเกาะตามที่ต่างๆในร่างกายทำให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาได้

     หรือถ้าหากระดับแมกนีเซียมต่ำลง ส่งผลให้ระดับแคลเซียมต่ำลงตามไปด้วย เป็นเหตุให้มัปัญหาของวิตามินดี

และพาราไทรอยด์ตามมา ดังนั้นในการรักษาบางครั้งต้องให้แมกนีเซียมและแคลเซียมไปพร้อมกันเพื่อแก้ไขสาเหตุดังกล่าว

ใน 1 วันควรได้รับวิตามินดีเท่าไหร่ ?

     ปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับอายุและเพศ โดยปริมาณที่ควรได้รับสัมพันธ์กับปริมาณแคลเซียมด้วย แต่ไม่ขอกล่าวในที่นี้ สามารถสืบค้นต่อได้ที่ Dietary reference intake for calcium and vitamin D

การทานอาหารที่เสริมวิตามินดีเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ ?

     การทานอาหารที่เสริมวิตามินดี เป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ไม่ค่อยออกแดด เพราะน่าจะมีการสร้างวิตามินดีไม่เพียงพอ โดยอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินดีนั้นมีน้อยเช่น น้ำมันตับปลา ทำให้การได้รับวิตามินดีจากอาหารนั้นมีน้อยเช่นกัน ดังนั้นอาหารที่เสริมวิตามินดีจึงเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการวิตามินดีสูง โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการเสริมวิตามินดีเช่น นม ซีเรียลต่างๆ น้ำผลไม้ต่างๆ หรือนมผงสำหรับเด็ก เป็นต้น

เราสามารถทานวิตามินดีจากโยเกิร์ต หรือชีสได้หรือไม่ ?

     อาจเป็นไปได้ เนื่องจากโยเกิร์ตและชีสทำมาจากนม แต่ในนมที่ไม่ได้เสริมวิตามินดีนั้น มีวิตามินดีค่อนข้างน้อย

การรับประทานโยเกิร์ตหรือชีสนั้นอาจจะทำให้ได้วิตามินดีไปบ้าง แต่อาจไม่เพียงพอต่อความต้องการต่อวัน

มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทานวิตามินดี ร่วมกับแคลเซียม ?

     มีความจำเป็น เนื่องจากการดูดซึมแคลเซียมจำเป็นต้องใช้วิตามินดี

     ดังนั้นหากวิตามินดีไม่เพียงพอการทานแคลเซียมเสริมอาจไม่มีประโยชน์มากนัก เพราะดูดซึมไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาหารเสริมแคลเซียมในปัจจุบันจึงเพิ่มวิตามินดีเข้ามาในเม็ดด้วย เพื่อเพิ่มการดูดซึมและทำให้ออกฤทธิ์ดียิ่งขึ้น